14 เวทีความรู้สาธารณะโดดเด่นด้านการหนุนเสริมสันติภาพปาตานี ในปี 2560 (1)
ในปี 2560 ที่ผ่านมา นับได้ว่าเป็นอีกปีที่พื้นที่สาธารณะของชายแดนใต้/ปาตานีรวมไปถึงเวทีวิชาการที่ร่วมสร้างสรรค์องค์ความรู้ยังมีชีวิตชีวาท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยังคงดำเนินเข้าสู่ปีที่ 14 แน่นอนว่าเราอาจมองว่าเมืองหลวงของประเทศไทยจะเหนือกว่าพื้นที่อื่นๆ ในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะหากเทียบกับพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณูปโภคต่างๆ ฯลฯ ทว่าสิ่งหนึ่งที่พื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีมีไม่แพ้พื้นที่กรุงเทพฯ หรืออาจจะทำได้มากกว่ากรุงเทพฯ ในสภาวการณ์ปัจจุบัน นั่นก็คือเวทีความรู้ในพื้นที่สาธารณะ ทั้งประเด็นและผู้ให้ความรู้ รวมไปถึงการตื่นตัวของผู้ฟังและจำนวนผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีต่างๆ ที่มากกว่ากรุงเทพฯ และพื้นที่อื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ปีนี้จึงเป็นอีกปีที่ผู้เขียนได้ประมวลเวทีสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ทั้งเวทีที่จัดขึ้นในพื้นที่และนอกพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีเฉกเช่นที่เคยนำเสนอในช่วงสองปีที่ผ่านมา
ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา มีเวทีสาธารณะในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีจำนวนมาก ซึ่งอาจไม่ได้มีการรวบรวมออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจน แต่ในที่นี้ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอ 14 เวทีสาธารณะที่โดดเด่นในมุมมองของผู้เขียนเอง แน่นอนว่าอาจจะไม่ตรงกับความคิดของผู้อ่าน ที่อาจมองมีเวทีอื่นๆ อีกหลากหลายเวทีที่โดดเด่นไม่แพ้กัน จึงเชิญชวนผู้อ่านติดตามกันเลยว่ามีเวทีอะไรบ้างที่โดดเด่นน่าสนใจในปี 2560
ประมวล 14 เวทีสาธารณะที่โดดเด่นในปี 2560
1. งานบรรยายสาธารณะ โดยโรงเรียนวิชาการเมือง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 มีงานบรรยายสาธารณะที่จัดโดยโรงเรียนวิชาการเมือง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และเครือข่าย 2 เวที ที่น่าสนใจ ได้แก่ งานบรรยายสาธารณะ เรื่อง "เมื่อผู้หญิงออกแรงผลักดัน: บทบาทของกลุ่มผู้หญิงในการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งในอาเจะห์" จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ณ ห้องประชุมศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อาคารเรือนพักรับรอง ม.อ.ปัตตานี จัดโดย ห้องเรียนสันติภาพ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ร่วมกับ โรงเรียนวิชาการเมือง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และ คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้
วิทยากร ได้แก่ ชาเดีย มัรฮาบัน นักกิจกรรมสตรีมุสลิมชาวอาเจะห์ ปัจจุบันทำงานเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระดับนานาชาติและฝึกอบรมเสริมศักยภาพให้คนทำงานเพื่อสันติภาพกับองค์กรที่ชื่อ Mediators Beyond Borders International (คนกลางไร้พรมแดน) และยังเป็นที่ปรึกษาให้กับ UNDP EXPRES โดยมี ยาสมิน ซัตตาร์ นักศึกษาปริญญาเอกจากประเทศตุรกี รับหน้าที่แปลเป็นภาษาไทย และ รอฮานี จือนารา นักศึกษาปริญญาโท สถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ รับหน้าที่นำการถกเถียงในช่วงท้าย
เวทีที่สอง ได้แก่ เรื่อง งานบรรยายสาธารณะ เรื่อง "ปลายทางความขัดแย้ง: จะจบด้วยสันติภาพผ่านการเจรจาหรือด้วยชัยชนะฝ่ายเดียว?" ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2560 ณ ห้องประชุมศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อาคารเรือนพักรับรอง ม.อ.ปัตตานี จัดโดย ห้องเรียนสันติภาพ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ คณะทำงานฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้ และโรงเรียนวิชาการเมือง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
วิทยากร ได้แก่ ศ.ดร.เอริค เมลันเดอร์ อาจารย์ประจำคณะการวิจัยสันติภาพและความขัดแย้ง และรองผู้อำนวยการโครงการฐานข้อมูลความขัดแย้งแห่งอุปซาล่า มหาวิทยาลัยอุปซาล่า ประเทศสวีเดน โดยมี ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี รับหน้าที่แปลเป็นภาษาไทย โดยช่วงท้ายของงานมีการถาม-ตอบ และถกเถียงแลกเปลี่ยนในหลายประเด็นที่น่าสนใจ
แน่นอนว่าในปีที่ผ่านมาโรงเรียนวิชาการเมือง ยังคงพยายามทำหน้าที่ในการสนับสนุนและเผยแพร่ความรู้ที่เป็นประสบการณ์จากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเปิดมุมมองต่อพื้นที่ แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางกระแสความท้าทายหลากหลายด้านก็ตาม
2. การประชุมวิชาการนานาชาติหัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง การไม่ใช้ความรุนแรง และการสื่อสาร ในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง”
การประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง การไม่ใช้ความรุนแรง และการสื่อสาร ในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง” Political Transition, Non-violence and Communication in Conflict Transformation (PNC 2017) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 - 26 มกราคม 2560 ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งร่วมจัดโดยหลายองค์กร อาทิ คณะวิทยาการสื่อสาร คณะรัฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ สถาบันสันติศึกษา สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
ภายในงานมีปาฐกถาพิเศษจากนักวิชาการต่างประเทศ อาทิ Harn Yawnghwe หาญ ยองห้วย หรือ เจ้าหาญ ที่เป็นลูกชายคนเล็กของประธานาธิบดี Sao Shwe Thake ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐสหภาพพม่า ในช่วงปี ค.ศ.1948 - 1952 และเป็นเจ้าฟ้าผู้ปกครองรัฐฉานคนสุดท้าย และ Dr. Emma Leslie (ดร.เอมม่า เลสลี่ย์) ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง (Centre for Peace & Conflict Studies) ประเทศกัมพูชา และนอกจากจะมีการนำเสนอบทความวิชาการจากนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศแล้วยังมีการนำเสนอบทความวิชาการจากคู่ขัดแย้งหลัก อันได้แก่ สมาชิกคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพของ มาร่า ปาตานี และของรัฐไทยอีกด้วย นับได้ว่างานนี้ยังคงเป็นอีกเวทีที่เชื่อมโยงพื้นที่วิชาการสู่การเป็นพื้นที่กลางของคู่ขัดแย้งเช่นที่เคยทำมาในหลายๆ ครั้ง
แม้ว่างานประชุมวิชาการหลายๆ งาน อาจไม่ใช่งานสาธารณะ เพราะมีข้อขำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ทว่างานประชุมวิชาการหลายๆ งานในพื้นที่ชายแดใต้/ปาตานี กลับเป็นงานสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง และงาน PNC 2017 ก็ถือเป็นหนึ่งในงานวิชาการสาธารณะที่ผู้เข้าร่วมได้รับองค์ความรู้และประสบการณ์ดีๆ กลับไป
3. งาน 10 ปีหน้า 10 ปีหลัง วาระผู้หญิงชายแดนใต้
งานนี้จัดขึ้นเนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2560 โดย คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ร่วมกับกลุ่มสตรีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ชื่องาน 10 ปีหน้า 10 ปีหลัง วาระผู้หญิงชายแดนใต้ “พัฒนาพื้นที่ปลอดภัย ผู้หญิงก้าวหน้า สร้างสังคมประชาธิปไตย และเป็นธรรม ” เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 โดยมีขบวนเดินรณรงค์เริ่มต้นจากโรงพิธีช้างเผือก ผ่านสำนักงานเทศบาลนครยะลาเข้าสู่ศูนย์เยาวชน จ.ยะลา
ภายในงาน คณะทำงานผู้หญิงชายแดนใต้ (PAOW) ได้มีแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะมุ่งมั่นทำงานเพื่อให้สังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ไปสู่การ “พัฒนาพื้นที่ปลอดภัย ผู้หญิงก้าวหน้า สร้างสังคมประชาธิปไตยและเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นในปี 2570” นอกจากนั้นยังได้มีวงเสวนาในประเด็นเดียวกันนี้ โดยมีวิทยากรประกอบไปด้วย คุณปาตีเมาะ เปาะอีแตดาโอ๊ะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (wepeace), คุณเรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา และผู้ประสานงานขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย หรือวีมูฟ และ คุณมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้
4. งานสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี 2017
งานสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี 2017 PA(T)TANI PEACE ASSEMBLY 2017 “พลังประชาสังคม พลังสันติภาพ” CIVIC POWER, POWER FOR PEACE จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2560 ณ ห้องประชุมซาลัค ชั้น 5 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ร่วมจัดโดย สภาประชาสังคมชายแดนใต้ และองค์กรพันธมิตร
ภายในงานมีปาฐกถาพิเศษ เรื่อง Politicisation of Conflicts: Part of the Problem or Part of the Solution? (การต่อสู้ทางการเมืองในความขัดแย้ง: จะเสริมปัญหาหรือจะสร้างทางออก?) โดย ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอส์ ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ และมีเสวนาสาธารณะ เรื่อง “4 ทศวรรษการเมืองประชาชน: เราเดินมาไกลถึงไหนแล้ว?” วิทยากรโดย อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีตประธานกลุ่มสลาตัน มูฮำมัดอายุบ ปาทาน อดีตประธานกลุ่มยุวมุสลิมยะลา (ยมย.) ตูแวดานียา ตูแวแมแง อดีตประธานเครือข่ายนักศึกษาพิทักษ์ประชาชน และ ลม้าย มานะการ ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้ ดำเนินรายการโดย รอมฎอน ปันจอร์
ช่วงบ่ายยังมีวงเสวนาสาธารณะ เรื่อง “บทสะท้อนและแนวทางขับเคลื่อนในอนาคต” วิทยากรโดยนพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี คุณไกรศร วิศิฏ์วงศ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการโดย ผศ.ดร.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ นอกจากนั้นยังมีการนำเสนอ 5 ประเด็นยุทธศาสตร์สันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี เรื่อง “พื้นที่การเมือง: การสร้างสันติภาพในพื้นที่กลางที่เปิดกว้าง” ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ ที่เสริมให้งานมีความน่าสนใจ
ขณะเดียวกันในปีที่ผ่านมา สภาประชาสังคมยังมีอีกหนึ่งเวทีที่น่าสนใจ คือ งานสัมมนาวิชาการ เรื่อง “พื้นที่การเมืองของภาคประชาสังคมในความขัดแย้งชายแดนใต้/ปาตานี” ที่จัดร่วมกับ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรมปาร์ควิว จ.ปัตตานี มีวิทยากรหลายท่านที่น่าสนใจ อาทิ รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผศ.ดร. อับดุลรอนิง สือแต Dr.Delsy Ronnie Dr.Tony Brown น.อ.จักรพงษ์ อภิมหาธรรม นพ.อาบูฮาฟิซ อัลฮากิม (VDO Call เข้ามาในงาน) เป็นต้น
5. งานเปิดตัวสถาบันปาตานีเพื่อการวิจัยและพัฒนามนุษย์ (INSANI)
พิธีเปิดสถาบันปาตานีเพื่อการวิจัยและพัฒนามนุษย์ (INSANI) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมปาร์ควิว ปัตตานี ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษเรื่อง ปาตานีกับการพัฒนามนุษย์ โดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน และ เรื่อง บทบาท UNDP ด้านการพัฒนามนุษย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย Mr. Michael Bak ที่ปรึกษาประจำสำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย
ช่วงบ่ายยังมีการเสวนาวิชาการ หัวข้อ ความท้าทายและอนาคตการพัฒนามนุษย์ วิทยากรโดย ศ.ดร.ซุกรี อะห์มัด อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอูตารา ประเทศมาเลเซีย ผศ.ดร.มุกตาร์ อับดุลกอเดร์ ผู้อำนวยการสถาบัน INSANI ดร.มูฮัมหมัด ฮาดี มูซอลีน ซูบักโย คณบดีอุศูลุดดีน มหาวิทยาลัยอินซานียะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และ ดร.อับดุลรอเซะ หะมีแย ผู้อำนวยการสถาบันเชคดาวุด อัลฟาฎอนีย์ และอาจารย์ประจำหลักสูตรภาษาอาหรับนานาชาติ สถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ดำเนินรายการโดย อ.มูฮัมหมัด อะหมัด รองผู้อำนวยการสถาบัน INSANI
แม้ว่าทั้งงานเปิดตัวสถาบันปาตานีเพื่อการวิจัยและพัฒนามนุษย์ (INSANI) และงานสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี 2017 จะบังเอิญจัดตรงกันในวันเดียวกัน แต่ปรากฏว่าทั้งสองงานมีผู้สนใจเดินทางเข้าร่วมงานจนไม่พอต่อจำนวนเก้าอี้ที่เตรียมไว้ นี่คือความน่าสนใจของเวทีสาธารณะชายแดนใต้/ปาตานี
6. เวทีครบรอบ 10 ปีสถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
หากพูดถึงเวทีบรรยายหรือเสวนาสาธารณะ พื้นที่นราธิวาสถือว่าเป็นพื้นที่ที่ยังมีกิจกรรมในลักษณะนี้น้อยมาก ทว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่จัดในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยใช้ชื่อกิจกรรมครั้งนี้ว่า “โครงการยกระดับความรู้และการศึกษาอิสลามเพื่อพัฒนาคนและสังคมชายแดนใต้และประชาคมอาเซียน” ในโอกาสครบรอบ 10 ปีสถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 เมษายน 2560 ณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มีวิทยากรมากมายมาให้ความรู้ อาทิ Prof. Dr. Wankamal Dean of the Faculty of Islamic Studies UKM Prof. Emeritus Dato’ Dr. Mahmood Zuhdi อ.วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ต่วนฆูรูบาบออิสมาแอ สปันญัง อัลฟาฏอนีย์ เป็นต้น
7. วันพบปะมุสลิมะห์ ครั้งที่ 12 และ มหกรรมวากัฟ “ความดีที่ไม่สิ้นสุด”
งานนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 – 7 พฤษภาคม 2560 ณ โครงการมาดีนะตุสสลาม (ปัตตานีจายา) ตำบลบานา อำเภอเมืองปัตตานี จัดโดย มหาวิทยาลัยฟาฎอนี มูลนิธิมาดีนะตุสสลาม องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สภาความร่วมมือองค์การสตรีมุสลิมเพื่อสันติภาพ และสมาคมสตรีไทยมุสลิมจังหวัดปัตตานี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละวันกว่า 30,000 คน ระดมเงินบริจาคได้กว่า 17 ล้านบาท
ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย หนึ่งในนั้นคือเวทีบรรยายและเสวนาสาธารณะ โดยมีวิทยากรจากทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมากสลับกันขึ้นเวทีให้ความรู้ในหลายๆ ประเด็น โดยเฉพาะในประเด็นการวะกัฟหรือการบริจาคเพื่อสาธารกุศล และประเด็นการศึกษา เป็นต้น แม้ว่างานดังกล่าวนี้จะไม่มีคำว่าสันติภาพทั้งชื่องานและชื่อหัวข้อบรรยายและเสวนา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารายละเอียดของความรู้ที่วิทยากรพูดบนเวทีเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสันติภาพด้วยเช่นเดียวกัน
8. งานเสวนา “เหลียวหลังแลหน้า นักศึกษา ประชาชน : 10 ปีชุมนุมใหญ่ ปาตานีได้อะไร"
งานเสวนาสาธารณะนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2560 ณ ห้องประชุมปาตานีเซ็นเตอร์ จัดโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) ร่วมกับ เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) ภายในงานมีปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ปาตานีได้อะไร 2518 - 2560" โดย อารีเพ็ญ อุตรสิน อดีตประธานกลุ่มสลาตัน และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต่อด้วยวงเสวนา เรื่อง “เหลียวหลังแลหน้า นักศึกษา ประชาชน : 10 ปีชุมนุมใหญ่ ปาตานีได้อะไร" วิทยากรโดย ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) ซาฮารี เจ๊ะหลง นักจัดรายการวิทยุ Media Selatan และ รศ.อับดุลเลาะ อับรู คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี นอกจากนั้นยังมีนิทรรศการภาพถ่ายการชุมนุมและกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษา ประชาชน
นอกจากนั้นแล้วยังมีอีกหลายวงเสวนาที่พูดถึงบทเรียนและประสบการณ์ต่างๆ เช่น งานเสวนาสาธารณะเชิงวิพากษ์ เรื่อง "ถอดบทเรียนบทบาทนักกิจกรรมปาตานี/ชายแดนใต้ 2518-ปัจจุบัน" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2560 ณ ห้องประชุมปาตานีเซ็นเตอร์ หรือ งานเสวนาสาธารณะ เรื่อง "ถอดบทเรียนการต่อสู้ทางการเมืองและการต่อสู้ในแนวทางสันติวิธีของชาวปาตานี" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี หรือ งานเสวนาสาธารณะ เรื่อง บทเรียนพื้นที่กลาง ทบทวนบทเรียนจาก IPP ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2560 ณ โรงแรม ซี เอส ปัตตานี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการเปิดเผยตัวตนของวง IPP ต่อสาธารณะ เป็นต้น
9. สัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
อีกหนึ่งงานใหญ่ที่ไม่สามารถลืมได้ในปีที่ผ่านมา คือ งานสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ เรื่อง “การศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 - 26 กรกฎาคม 2560 ณ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีนักวิชาการจากทุกทวีปทั่วโลกรวม 40 ประเทศ จำนวน 500 คน เข้าร่วม มีปาฐกถาพิเศษและการนำเสนอบทความวิชาการจากนักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมคุณค่าการศึกษาอิสลามในการสร้างสันติภาพและชี้นำสังคมสู่สันติสุข แม้ว่าเวทีนี้จะไม่ได้ประกาศว่าเป็นเวทีสาธารณะ ทว่าก็ไม่ได้มีการเก็บค่าลงทะเบียนผู้เข้าร่วมงานแต่อย่างใด
ภายในงานมีนักวิชาการที่ทำหน้าที่ให้ความรู้และมีความน่าสนใจจำนวนมาก อาทิ Sheikh Omar Obeid Hasanah (Qatar), Director of Department of Research and Islamic Studies, Ministry Awqaf and Islamic Affair, Sheikh Abdul Kareem al-Khasawneh (Jordan), The Chief Islamic Justice of Jordan, Sheikh Dr.Ahmed Bin hamad Jilan (Saudi Arabia), ที่ปรึกษาเลขาธิการองค์กรสันนิบาตมุสลิมโลก (Muslim World League -MWL), Dr.Mohammad Ahmad Musallam Al-Khalaileh (Jordan), Grand Mufti of Jordan, Prof.Dr.Koutoub Moustapha Sano (Guinea), Minister in the President Office and Diplomatic Advisor to the President of the Republic of Guinea เป็นต้น
10. เวทีเสวนาสาธารณะ หัวข้อ "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย"
เวทีนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 ณ หอประชุม ม.อ.ปัตตานี ชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ (หอประชุมสำนักงานอธิการบดี) จัดโดย กลุ่มพหุชนคนอาสา (The congregational assistance project) หรือ The CAP ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ( Deep South Watch) และสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (CSCD) วิทยากรประกอบไปด้วย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ ฮาดีย์ หะมิดง ยาสมิน ซัตตาร์ อัยมี่ อัลอิดรุส ดำเนินรายการโดย อ.สุวรา แก้วนุ้ย
จุดเริ่มต้นของเวทีนี้มาจากแนวคิดของกลุ่ม The CAP ที่ต้องการเชิญผู้ที่มีชื่อเสียงหรือที่เราเรียกกันว่าดารามาเสวนากับคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ชายแดนใต้ จนได้พี่สิงห์ หรือ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ที่อาสามาร่วมเสวนาโดยไม่คิดค่าตัว จนเกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเมื่อเปิดให้ลงทะเบียนลงออนไลน์ ปรากฏว่ามีผู้คนสนใจร่วมลงทะเบียนออนไลน์จนเต็มจำนวน 400 คน ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเวทีที่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานด้านสันติภาพ โดยใช้วิธีคิดแบบใหม่ที่สามารถดึงดูดให้กลุ่มคนใหม่ๆ เข้ามาสนใจและตระหนักในประเด็นทางสังคมมากขึ้น กลุ่มนี้เองยังจัดวงเสวนาย่อยๆ ส่งท้ายปีในการดึงเอาเรื่องราวจากการ์ตูนอย่าง One Piece มาสู่การถกเถียงในพื้นที่สาธารณะของกลุ่มคนรุ่นใหม่เล็กๆ ซึ่งแน่นอนว่าก็สามารถเป็นอีกช่องทางในการพูดคุยเรื่องราวของสันติภาพและการเมือง จากสื่อที่ใกล้ตัวคนรุ่นใหม่ได้อย่างน่าสนใจ
11. นิทรรศการพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ ศิลปวัตถุประวัติศาสตร์อิสลาม
งาน “นิทรรศการพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ ศิลปะวัตถุประวัติศาสตร์อิสลามและศาสนฑูตมูฮัมหมัด (ซ.ล.)” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 ส.ค. - 19 ก.ย. 2560 (และขยายเวลาออกไปอีกหนึ่งอาทิตย์) ร่วมจัดโดย ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา ร่วมกับสำนักงานอาคารปาตานีเซ็นเตอร์ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ และเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ณ ห้องประชุมอาคารปาตานีเซ็นเตอร์ (สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีหลังเก่า) มีการประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมงานตลอดช่วงเดือนกว่าๆ นี้ ไม่ต่ำกว่าสองแสนคน
ภายในงานนอกจากจะมีวัตถุศิลป์สิ่งของเครื่องใช้ประจำกายของศาสนฑูตมูฮำหมัด (ซ.ล.) และบรรดาสหายอายุนานถึงพันกว่าปีให้ได้ชมกันแล้ว ยังมีกิจกรรมบรรยายและเสวนาสาธารณะถึงเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของโลกอิสลามในอดีตตั้งแต่จุดสูงสุดจนถึงจุดต่ำสุด โดยวิทยากรหลากหลายแนวคิดและหลากหลายพื้นที่ ทั้งในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี วิทยากรจากกรุงเทพฯ และจากต่างประเทศ โดยกิจกรรมเวทีบรรยายและเสวนาสาธารณะจะจัดขึ้นทุกๆ วันศุกร์และวันเสาร์ในช่วงเวลาค่ำ
12. มหกรรมสันติสุขชายแดนใต้
จังหวัดยะลาเป็นหนึ่งในจังหวัดของพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีเวทีสาธารณะค่อนข้างน้อยหากเปรียบเทียบกับจังหวัดปัตตานี แต่ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา ก็มีหนึ่งเวทีที่น่าสนใจ ได้แก่ กิจกรรมมหกรรมสันติสุขชายแดนใต้ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 14 ก.ย. 2560 ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดโดย ศูนย์เรียนรู้การขจัดความขัดแย้งโดยสันติวิธีบนพื้นฐานความหลากหลายของสังคมพหุวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
ภายในงานมีปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การเมือง สันติภาพ และโลกมุสลิม โดย ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม และมีวงเสวนา ทางออกสันติภาพเพื่อสังคมสันติสุข วิทยากรโดย นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทย นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ดร.ชัยวัฒน์ โยธี อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
13.การประชุมวิชาการ ร่วมกันเดินบนเส้นทางสู่สันติชายแดนใต้
งานประชุมวิชาการระดับชาติ ประจำปี 2560 “ร่วมกันเดิน บนเส้นทาง สู่สันติชายแดนใต้ Together on the way to peace and prosperity” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 - 3 ธันวาคม 2560 ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดโดย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) สนับสนุนโดย ธนาคารโลก แม้ว่างานนี้จะเน้นเป้าหมายไปที่เครือข่ายของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา แต่ผู้สนใจทั่วไปก็สามารถเข้าร่วมงานได้เช่นเดียวกัน
ภายในงานมีกล่าวรายงานต่อสาธารณะเรื่อง “8 ปี การทำงานสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้: บทเรียนและข้อเสนอต่อสังคมไทย” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา นอกจากนั้นยังมีวงเสวนาจากตัวแทนนักวิชาการ ภาครัฐ หน่วยงานด้านความมั่นคง ภาคประชาสังคม และมีห้องย่อยนำเสนอผลการดำเนินงานของภาคประชาสังคมที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก LDI โดยมีนักวิชาการที่ได้รับเชิญมาทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะ และปิดท้ายด้วยผู้ดำเนินรายการในห้องย่อยนำข้อสรุปมานำเสนอบนเวทีใหญ่
14. เสวนาสาธารณะ "บทบาทคนนอกพื้นที่ต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้"
งานเสวนานี้จัดขึ้นในเมืองหลวงของประเทศไทยอย่างกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2560 ณ ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ ชั้น 12 อาคารรัฐศาสตร์ 60 ปี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ Strengthening Human Rights and Peace Research and Education in ASEAN/Southeast Asia (SHAPE-SEA)
ภายในงานมีการปาฐกถา เรื่อง “บทบาทของสังคมไทยกับการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้” โดย รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และมีวงเสวนาอีกสามวง คือ วงเสวนา เรื่อง “บทบาทของสถาบันวิชาการและนักวิชาการกับการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้” โดย รศ.ดร.มารค ตามไท รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ-หวันแก้ว ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี และ ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ดำเนินรายการโดย ดร. ดวงหทัย บูรณเจริญกิจ และ วงเสวนา เรื่อง “บทบาทของประชาสังคมนอกพื้นที่กับกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้” โดย คุณเรืองรวี พิชัยกุล คุณยุพา ภูษาหัส คุณสมเกียรติ จันทรสีมา คุณจุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม คุณสุนัย ผาสุก ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล
วงสุดท้าย คือ เวทีเสวนาและนำเสนองานศึกษา เรื่อง บทบาทของศาสนิกชนในความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้: สำรวจประเด็นการอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างศาสนา โดย อ.ประกีรติ สัตสุต อ.อับดุลเล๊าะ หมัดอะด้ำ ดร.ผกาวดี สุพรรณจิตวนา ดำเนินรายการโดย ดร.พัทธีรา นาคอุไรรัตน์
นอกจาก 14 เวทีข้างต้นแล้วยังมีงานบรรยายและวงเสวนาสาธารณะอีกมากมาย หากนับกันจริงๆ อาจเป็นหลักร้อยเวทีในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี บางเวทีแม้จะเป็นเวทีที่ไม่ใหญ่แต่มีวิทยากรที่น่าสนใจอย่างมาก ซึ่งจะนำเสนอต่อไปในตอนที่ 2