สุรินทร์ พิศสุวรรณ ในสายตา แพทย์ พิจิตร
ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่คณบดีคนใหม่ของคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ที่ชื่อ "ลิขิต ธีรเวคิน" ในปี พ.ศ.2526 นั้น อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้เล็งเห็นนักวิชาการหน้าใหม่บางคนที่มีศักยภาพในอันที่จะช่วยให้คณบดีคนใหม่ พัฒนาสร้างความก้าวหน้าทางด้านวิชาการให้แก่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ได้
โดยหนึ่งนั้นคือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ สิงห์แดงรุ่นที่ 20 แม้ว่าจะไม่ได้จบปริญญาตรีจากธรรมศาสตร์ เพราะในขณะที่กำลังเรียนอยู่ ได้รับทุนให้ไปเรียนต่อที่ Claremont McKenna College ที่เดียวกับศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ จันทรวงศ์
โดยอาจารย์สุรินทร์จบรัฐศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมจาก Claremont ในปี พ.ศ.2515 เป็นเวลาห้าปีให้หลังจากที่อาจารย์สมบัติจบปริญญาตรีจากที่นั่น
ต่อจากนั้น อาจารย์สุรินทร์ได้รับทุนร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller) ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ฮาร์วาร์ดและสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.2517 กลับมารับราชการเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ.2518 หลังจากนั้นสักพักหนึ่ง ได้กลับไปเรียนปริญญาเอกต่อ จนจบในปี พ.ศ.2525
ในระหว่างที่ศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่ฮาร์วาร์ดนั้น อาจารย์สุรินทร์ได้ใช้เวลาปีครึ่งศึกษาภาษาอาราบิครวมทั้งกฎหมายและปรัชญาอิสลามที่ American University ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์
ทำให้อาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องอิสลามและตะวันออกกลางศึกษาโดยเฉพาะ
ทั้งนี้ ไม่นับความสามารถเชี่ยวชาญในทางทฤษฎีปรัชญาการเมือง โดยเฉพาะจากการที่อาจารย์สุรินทร์ได้ร่ำเรียนกับ ศาสตราจารย์จูดิธ สกลาร์ (Judith Shklar) ผู้ดำรงตำแหน่ง the John Cowles Professor of Government ผู้เชี่ยวชาญทางด้านปรัชญาการเมืองคนสำคัญของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีปรัชญาการเมืองของ ฌอง ฌาก รุสโซ (Jean-Jacques Roussesu) นักทฤษฎีการเมืองผู้พิสมัยที่จะเรียกตนเองว่า "พลเมืองแห่งเจนีวา" มากกว่าฝรั่งเศส
รุสโซเป็นผู้นำเสนอแนวคิดเรื่องเจตจำนงทั่วไป (General Will) ได้ประทับใจกว่านักคิดก่อนหน้า และเป็นเจ้าของวาทะ "มนุษย์เกิดมาเสรี แต่ทุกหนทุกแห่งอยู่ในพันธนาการ"
อาจารย์จูดิธ หรือ "ดีต้า" (Dita) สำหรับลูกศิษย์ลูกหาและคนที่เธอรู้จัก ได้แต่งตำราเกี่ยวกับความคิดของรุสโซไว้ โดยเล่มหนึ่งในนั้นคือ Men and Citizens : A Study of Rousseau"s Social Theory (Cambridge Studies in the History and Theory of Politics : 1985) ซึ่งได้กลายเป็นตำราคลาสสิคเล่มหนึ่งสำหรับผู้ที่ศึกษาทฤษฎีการเมืองของรุสโซ
แต่เดี๋ยวนี้ ถ้าใครไปเรียนรัฐศาสตร์ที่ฮาร์วาร์ด คงไม่มีโอกาสได้เรียนกับท่านแล้ว ด้วยท่านได้เสียชีวิตไปได้ 14 ปีแล้ว
อิทธิพลคำสอนเรื่องรุสโซของท่านจูดิธ สกลาร์ ที่มีต่ออาจารย์สุรินทร์ พิศสุวรรณ ประจักษ์ชัดจากบทความเกี่ยวกับปรัชญาความคิดของรุสโซที่อาจารย์สุรินทร์เคยเขียนให้วารสารธรรมศาสตร์ ในช่วงต้นๆ ของการเป็นนักวิชาการของท่าน
ไม่ว่าจะเป็นการเลือกอ้างอิงข้อความหรือย่อหน้าจากงานเขียนของรุสโซ ที่สะท้อนถึงปรัชญาความคิดอันแหลมคมชวนคิดจินตนาการของเขา
อาจารย์สุรินทร์สามารถส่งผ่านความรู้ที่ได้จากศาสตราจารย์จูดิธได้อย่างเข้าใจถ่องแท้ จำได้ว่า ลูกศิษย์ของศาสตราจารย์จูดิธ สกลาร์ ที่ฮาร์วาร์ดคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้เป็นศาสตราจารย์ทางปรัชญาการเมืองคนสำคัญคนหนึ่งของอเมริกา ได้อ่านบทความเกี่ยวกับรุสโซของอาจารย์สุรินทร์ ซึ่งผู้เขียนเป็นคนแปล เขาถึงกับออกปากถามเลยว่า คนที่เขียนบทความนี้เคยเรียนกับ Dita Shklar หรือเปล่า?
แปลว่า คำสอนของอาจารย์ดีต้าเกี่ยวกับรุสโซนั้นโดดเด่นมาก ถึงขนาดที่คนที่เป็นศิษย์สำนักเดียวกันย่อมสังเกตได้ทันที!
วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ดของอาจารย์สุรินทร์คือ "ชาตินิยมมาเลย์และอิสลาม : ศึกษากรณีมาเลย์-มุสลิมภาคใต้ประเทศไทย" (Islam and Malay nationalism : a case study of the Malay-Muslims of Southern Thailand)
และในปีเดียวกันนั้น คือ พ.ศ.2525 อาจารย์สุรินทร์ก็ได้ตีพิมพ์ผลงานในภาษาอังกฤษอีกชิ้นหนึ่งคือ "ประเด็นที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงชายแดนไทยและมาเลเซีย" อีกด้วย (Issues affecting border security between Malaysia and Thailand)
หลังสอนหนังสือที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ได้เพียง 4 ปี (2525-2529) อาจารย์สุรินทร์ได้ตัดสินใจลาออกลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคประชาธิปัตย์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชบ้านเกิดของท่าน และได้เป็นติดต่อกันมาทุกสมัยการเลือกตั้ง และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นชาวไทยมุสลิมคนแรกในช่วง ปี พ.ศ.2540-2544
จากความรู้ความเชี่ยวชาญและความเป็นคนท้องถิ่นของท่าน เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ต่อปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทยขณะนี้ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ จึงเป็นผู้หนึ่งที่น่าจะเข้าใจพื้นฐานของปัญหา และน่าจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ได้ หากท่านอยู่ในสถานะที่มีอำนาจรับผิดชอบโดยตรง!
แต่ก็น่าเสียดายอย่างยิ่งที่อาจารย์สุรินทร์ไม่สามารถเป็นกำลังสร้างสรรค์รัฐศาสตร์ไทยให้กับรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ได้อย่างเต็มที่อย่างที่ท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์ได้คาดหวังไว้!
นอกจากอาจารย์ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อีกท่านหนึ่งที่อาจารย์ฉัตรทิพย์ได้เล็งเห็นนัยความสามารถที่ "ไฟแรงและมีแนวโน้มที่จะแสวงหาแนวทางใหม่ในวิชารัฐศาสตร์" คือ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ซึ่งท่านก็เป็นมุสลิมเช่นเดียวกันกับอาจารย์สุรินทร์ แต่เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด
ก่อนที่จะเข้าเรียนปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์ จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ด้วยวัยอันที่อ่อนกว่าเพื่อนร่วมรุ่น เพราะเหตุที่เรียนเก่งมากเกิน จนภราดา (บราเดอร์) ไล่ให้ข้ามชั้นไปเรียนกับรุ่นพี่
อย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว อาจารย์ชัยวัฒน์เป็นสิงห์แดงรุ่น 24 จบรัฐศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากธรรมศาสตร์ และมาย้ายมาเป็นนิสิตปริญญาโทภาควิชาการปกครองที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เพียงช่วงสั้นๆ ก็สามารถชิงทุน East-West Center ของมหาวิทยาลัยฮาวาย-มานัว สหรัฐอเมริกาไปศึกษาต่อปริญญาโท-เอกทางรัฐศาสตร์ที่นั่น
อ้างอิงจากคอลัมน์ คนแคระบนบ่ายักษ์ โดยแพทย์ พิจิตร มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1336