“ รัฐ-ลัก-ลักษณ์ ” พหุวัฒนธรรมในบริบทความรุนแรง (ตอนที่ 1)
ในงานสัมมนาวิชาการ รัฐ-ลัก-ลักษณ์” พหุวัฒนธรรมในบริบทความรุนแรง เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา โดยสาขาวิชาการการปกครองท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง อาจารย์ภาคมานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ พ.ศ. 2553
“รัฐ”
ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง หรืออาจารย์แพร กล่าวว่า “อัตลักษณ์” นั้นเป็นเรื่องของบุคคลหรือผู้คน และมันจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากเราไม่ได้สัมพันธ์กับใคร ในสังคมสมัยใหม่นั้นคนฝากชีวิตไว้กับรัฐค่อนข้างมาก และก็ได้มีความสำคัญกับรัฐที่ค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน ในช่วงเวลา 300 ปีที่ผ่านมานี้รัฐนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ในช่วงศตวรรษที่ 18 ผู้คนไม่ได้อยู่ในรัฐแบบประชาชนแต่ผู้คนนั้นอาศัยอยู่ในอาณาจักรที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ผู้ปกครองนั้นไม่ได้มายุ่งกับผู้คนสักเท่าไหร่ พอมาในช่วงศตวรรษที่ 19 รัฐได้เปลี่ยนแปลงรูปไปเป็นรัฐชาติแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน และในศตวรรษที่ 20 ก็มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์โดยการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้คน
รัฐชาติเป็นดินแดนอิสระที่มีเขตแดนที่ชัดเจน มีประชากรจำนวนมากแต่ได้มีวัฒนธรรมที่แตกต่าง การที่จะทำให้รัฐแข็งแรงให้ได้นั้น ความหลากหลายได้ถูกมองว่าเป็นปัญหาของความเป็นรัฐตลอดมา และรัฐจะจัดการอย่างไรกับความแตกต่างที่หลากหลายนี้ สิ่งที่รัฐคิดได้ในยุคหนึ่งนั้นก็คือว่าในช่วงที่ได้มีการก่อตัวของรัฐชาติขึ้นมาคือ การจัดการให้มันมีความเหมือนกัน เหมือนกันยังไง เช่น การทำประวัติศาสตร์ให้เป็นแบบเดียวเพื่อให้คนได้รู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียว การทำภาษาให้เป็นภาษาเดียวกันเพื่อให้คนได้สื่อสารกัน ทำให้มีวัฒนธรรมมีแบบเดียวกัน รวมไปถึงการทำให้มีศาสนาเพื่อให้มีความเชื่อแบบเดียวกันอีกด้วย
ซึ่งต่อมาภายในศตวรรษที่ 20 หลังอาณานิคมนั้นผู้คนก็ได้เดินทางไปมาและได้เพิ่มความหลากหลายในดินแดนต่างๆ ดังนั้นประเทศไทยไม่ได้เป็นเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่มีความหลากหลายยังคงมีอีกหลายๆประเทศทั่วโลกที่มีความหลากหลายด้วยเช่นกัน ดังนี้ในกระบวนการของรัฐที่ต้องการจะสร้างความเหมือนนั้นจะกระทำได้เช่นไร ฉะนั้นแล้วรัฐจึงต้อง “ลัก” อัตลักษณ์ ขโมยอัตลักษณ์ของคนอื่นไป
ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง
สิ่งที่รัฐได้ทำก็คือการผสมกลมกลืน นโยบายแรกๆของรัฐก็คือ จะทำยังไงกับวัฒนธรรมที่ทำให้ชีวิตของผู้คนแตกต่างกัน ในสังคมไทยก็มีนโยบายที่เรียกว่าชาตินิยมไทยเพื่อทำให้คนเหมือนกันโดยนโยบายนี้นั้นได้เริ่มมาจากในรัชกาลที่ 5 ที่ประเทศไทยได้เริ่มมีการก่อรัฐชาติขึ้นมาแต่เอาเข้าจริงๆแล้วให้เรากลับไปดูในช่วงรัชกาลที่ 6 ที่ได้เริ่มมีนโยบายการปกครองท้องถิ่นในสามจังหวัดชาติแดนภาคใต้ในตอนนั้นซึ่งเป็นเมืองมณฑลปัตตานีสังเกตได้ว่านโยบายของรัชกาลที่ 6 นั้นก็มีความน่าสนใจเกี่ยวกับความหลากหลายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด จะเห็นได้ว่าอะไรที่เป็นการปฏิบัติที่จะไปเป็นการเบียดเบียนศาสนาอิสลามก็จะไม่ให้ทำ เช่น การเก็บภาษีอากรก็ไม่ให้ไปเปรียบเทียบกับที่อื่น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าที่ตรงนี้เป็นที่ที่เฉพาะ กดการขี่ การบีบคั้น จากเจ้าพนักงานของรัฐนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำจึงจะต้องระมักระวังเป็นอย่างยิ่ง กิจการใดที่เจ้าพนักงานรัฐกระทำแก่ราษฎรต้องระวังอย่าทำให้เป็นปัญหาแก่ราษฎรทั้งหลาย ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งต้องออกไปจะต้องเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์ สงบ เยือกเย็น สามารถที่จะอยู่ร่วมกับคนที่แตกต่างหลากหลายได้ คนกลุ่มต่างๆก็ไม่ได้ยอมรับสิ่งนี้ ก็ได้มีการต่อต้านรัฐและมีการลุกขึ้นสู้ จนกระทั้งในที่ต่างๆทั่วโลกก็เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับนโยบายการเป็นชาตินิยม เมื่อลุกขึ้นมาต่อสู้รัฐก็เริ่มเปลี่ยนโดยการรักษาอัตลักษณ์ของผู้คนที่แตกต่าง เคารพอัตลักษณ์ของผู้คนที่แตกต่าง ดังนั้นจึงได้เกิดนโยบายพหุวัฒนธรรมขึ้นมาในการปกครองของรัฐ
สถานที่แรกๆที่ได้เกิดนโยบายพหุวัฒนธรรมขึ้นมาก็คือ แถบยุโรป อเมริกา เนื่องด้วยว่าตรงนี้นั้นคือสถานที่แรกๆที่เผชิญกับปัญหาความหลากหลาย จากการเป็น Melting Pot ก็คือการหลอมรวมให้เป็นสิ่งเดียวกัน ให้มีความเหมือนกัน ในประเทศเดียวกันหากไม่เหมือนกันก็ให้ออกไปจากประเทศ ก็หลายเป็นแบบ Salad Bowl หมายถึงว่า คนที่อาศัยอยู่ในประเทศเดียวกันนั้นไม่จำเป็นต้องมีวัฒนธรรมที่เหมือกันไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ต่างคนก็ต้องเป็นตามที่มาที่ไป
คำถามคือแนวคิดพหุวัฒนธรรมที่แท้จริงนั้นคืออะไร คำตอบก็คือการยอมรับสิทธิของคนกลุ่มน้อย ในเรื่องของภาษา การปฏิบัติตามศาสนา รวมถึงประเพณีพิธีการต่างๆ เป็นการยอมรับว่าสามารถปฏิบัติได้ เชื่อได้ เคารพได้ และมันคือการยอมรับชนกลุ่มน้อยผู้ด้อยโอกาส รวมถึงสิทธิต่างๆ ต่อมาความหลากหลายในอังกฤษ ผู้อพยพต่างๆ แรงงานข้ามชาติต่างๆได้ประสบกับปัญหา เช่น การเหยียดชาติ ปัญหาการตั้งบ้านเรือน การทำงาน การศึกษา การได้รับบริการทางสังคมต่างๆ ปัญหาก็คือว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาต่างๆของรัฐได้ เมื่อมีปัญหาสุขภาพก็ไม่สามารถไปรับบริการสาธารณะสุขได้ ดังนั้นจึงได้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อเป็นคนกลางในการเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับประชาชนที่มีความหลากหลายก็คือ Runnymede ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคม โดยการมุ่งเป้าไปที่การสร้างสรรค์สังคมพหุวัฒนธรรมให้ประชาชนดำรงคุณค่าของตัวเอง มีโอกาสที่เท่าเทียม และการดำรงอัตลักษณ์ของตัวเอง นับเป็นวัตถุประสงค์ขององค์กร หากมีปัญหากันระหว่างรัฐกับประชาชนที่มีความหลากหลาย องค์กรจะเริ่มเข้าไปไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างรัฐกับประชาชน เปิดเวทีต่างๆเพื่อกระตุ้นความขับเคลื่อน มียุทธศาสตร์เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะต่างๆ และสร้างงานวิจัยเพื่อให้เห็นถึงผลที่แตกต่างทางวัฒนธรรม
ต่อมามาดูที่ประเทศ Mauritius เป็นประเทศที่อยู่ในภูมิภาคของแอฟริกาซึ่งมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ในศตวรรษที่ 15 ได้มีการค้นพบโดยคนอาหรับ และในศตวรรษที่ 16-17 ก็ได้มีชาวดัตช์เข้าไปครอบครอง ในต่อมาก็ได้มีฝรั่งเศสเข้ามาครอบครองด้วย แล้วอังกฤษก็มาแย่งการครอบครองจากฝรั่งเศสไป และได้ประกาศอิสรภาพในปี ค.ศ.1968 และได้เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชากรที่ Mauritius มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็คือ ภาษาฮินดี ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ ศาสนสถานในเมืองก็จะพบกับศาสนที่มีความแตกต่างความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ ฮินดู มุสลิม และความเชื่อแบบจีน ในเรื่องของกฎหมายก็จะใช้ประมวลกฎหมายของอังกฤษและนโปเลียน รูปแบบทางการเมืองก็จะเป็นอังกฤษในส่วนของเรื่องศาสนานั้นก็แล้วแต่ใจสะดวก รัฐจะให้เงินอุดหนุนกับทุกศาสนาตามจำนวนของคนที่มานับถือในศาสนานั้นๆ
คำถามที่จะถามต่อมาก็คือสรุปแล้วพหุวัฒนธรรมนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ มันก็ดีนะที่พหุวัฒนธรรมได้มาขจัดปัญหาความหลากหลายได้ดีกว่าการผสมกลมกลืนในวัฒนธรรม แต่ปัญหาของมันก็คือการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมมันเป็นอัตลักษณ์ที่เป็นการสร้างอัตลักษณ์เดียวทุกคนจะต้องมีอัตลักษณ์แบบเดียวกัน พอมาเป็นพหุวัฒนธรรมนั้นกลับกลายเป็นว่ามันกลายเป็นการกักขังไว้ว่าเราต้องเคารพคนนั้นว่าเขาเป็นใคร มันกลายเป็นว่าเรากลับไม่เห็นความซับซ้อนทางอัตลักษณ์ เช่น คนฮินดูอาจจะเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และอาจจะเป็นคนทมิฬ ซึ่งมีความเป็นชาติพันธุ์อยู่ด้วยไม่ใช่ศาสนา ยังคงมีความสลับซับซ้อนอยู่อีกมาก ดังนั้นแล้วอัตลักษณ์จึงมีมากมายและซับซ้อนมากกว่านั้น แต่เมื่อเรามาดำเนินนโยบายพหุวัฒนธรรมมันกลับพาเราไปกักขังในอัตลักษณ์เดี่ยว มันเรียกร้องให้เราเคารพให้อัตลักษณ์เดียว อย่างเช่น เมื่อเราเป็นพุทธคุณก็ต้องเคารพเราแบบพุทธ เราเป็นมุสลิมก็ต้องเคารพเราในแง่มุสลิม เราเลยหลงลืมอัตลักษณ์ที่มันซับซ้อนมากกว่านั้น ดังนั้นการที่มันได้สถาปนาความสัมพันธ์เชิงเดี่ยวออกมามันก็เลยทำให้ความสัมพันธ์ และอัตลักษณ์ระหว่างผู้คนที่อยู่ร่วมกันนั้นเกิดการปะทะกันซึ่งภายหลังจากการใช้นโยบายพหุวัฒนธรรม ประเทศต่างๆทั่วโลกก็จะมีปัญหาตามมาเพราะแนวคิดพื้นฐานคือการยืนยันอัตลักษณ์ของกลุ่มตัวเอง ทำให้หลงลืมไปว่ายังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์เกี่ยวกับชาติและศาสนา ยังคงมีกลุ่มของคนพิการ กลุ่มเพศทางเลือกต่างๆ กลุ่มอายุที่แตกต่าง นโยบายพหุวัฒนธรรมไม่ได้มองเห็นถึงสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้เห็นว่าเรามีความหลากหลายร่วมกัน จึงเป็นปัญหาของรัฐที่หันมาลักอัตลักษณ์ของผู้คนมากขึ้น เอาเข้าจริงแล้วในสังคมไทยไม่ได้มีใครเข้าใจไปถึงพหุวัฒนธรรมแบบในต่างประเทศก็คือการเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมกันในวัฒนธรรม
“ลัก”
ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล กล่าวว่า การพูดถึงพหุวัฒนธรรมในบริบทความรุนแรงในกรณีศึกษาอาเจะห์กับอินโดนีเซีย หลายๆคนอาจยังไม่รู้จักว่าอาเจะห์อยู่ที่ไหน ทั้งๆที่ความจริงแล้วอาเจะห์นั้นอยู่ไม่ไกลจากเราเลยซึ่งไม่มั่นใจว่าหลายๆคนนั้นมีความเข้าใจกับอาเจะห์อย่างไรบ้าง อาเจะห์อยู่ตรงทิศตะวันตกที่สุดของประเทศอินโดนีเซียถ้าดูจากในแผนที่แล้วจะเห็นได้ว่าอยู่ห่างจากปัตตานีไม่ไกลเท่าใดนัก จากแผนที่อินโดนีเซียจะเห็นได้ว่าอินโดนีเซียนั้นเป็นประเทศที่ใหญ่มากๆ คำขวัญของประเทศอินโดนีเซียก็คือ “เอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย” เพราะอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในรัฐที่มีความหลากหลายมาก เนื่องจากก่อนหน้าที่จะมีอาณานิคมเข้ามาอินโดนีเซียจะเต็มไปด้วยรัฐเล็กรัฐน้อยจำนวนกว่า 200 รัฐ และการที่จะรวมเข้าด้วยกันนั้นมันมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาก แต่โดยสรุปแล้วอินโดนีเซียก็ประกอบไปด้วยความหลากหลายที่มากที่สุด
อาจเข้าใจได้ว่าหลายๆคนอาจรู้จักอาเจะห์จากกรณีเกิดสึนามีในปี 2004 เพราะมันส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยด้วย และหลายคนคงเข้าใจว่าอาเจะห์เกิดสันติภาพขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิซึ่งหลายๆคนอาจเข้าใจว่าเป็นแบบนั้น อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าอาเจะห์นั้นไม่ใช่มลายู แม้จะมีกลุ่มคนมลายูอยู่ในอาเจะห์คนที่นับถือศาสนาอิสลามไม่จำเป็นต้องเป็นคนมลายูเท่านั้น ถ้าถามว่าความเป็นมลายูที่อาเจะห์เป็นยังไงก็คงเป็นเรื่องที่ตอบยาก แต่ถ้าหากถามว่าอาเจะห์เป็นยังไงก็คงตอบได้ง่ายกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่ากลุ่มความแตกต่างทางชาติพันธุ์ในอาเจะห์นั้นมีความหลากหลายมากและแน่นอนว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดก็คืออาเจะห์ เมื่อมีความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ก็แน่นอนว่าย่อมมีความหลากหลายทางภาษาด้วยแปลว่าภาษาที่ใช้ในอาเจะห์นั้นมีความหลากหลาย ไม่ได้มีเพียงแค่ภาษาอาเจะห์เพียงอย่างเดียว มีทั้งภาษาอาเจะห์ ภาษามลายู เป็นต้น กล่าวคือกลุ่มชาติพันธุ์ไหนๆก็จะใช้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ของตัวเองอันนี้เราก็ต้องเข้าใจก่อนว่าอาเจะห์นั้นก็มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เพราะฉะนั้นเมื่ออาเจะห์มีกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนมันก็มีความแตกต่างหลากหลายในความคิดเรื่องแบบนี้ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างที่เราเข้าใจ
ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล
ถามว่าอาเจะห์เป็นที่รู้จักในเรื่องอะไรก็คงจะมีภาพให้เห็นว่าคงจะเป็นมุสลิมที่เคร่งครัด อันเนื่องมาจากว่าเป็นสถานที่แรกที่ศาสนาอิสลามเข้ามาถึงหมู่เกาะอินโดนีเซียจนกระทั่งได้รับฉายาว่าเป็น “ระเบียงเมกกะ” ทุกวันนี้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ประกาศใช้กฎหมายอิสลามแค่จังหวัดเดียวซึ่งนั่นก็คืออาเจะห์นั่นเอง อาเจะห์ยังมีชื่อเสียงในเรื่องของการทำสงครามระหว่างรัฐกับอาเจะห์ เพราะอาเจะห์ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียเนื่องจากว่าในช่วงล่าอาณานิคมนั้นอาเจะห์เป็นเมืองเกือบท้ายๆแล้วที่ถูกยึดครองโดยดัตช์ กว่าที่จะถูกยึดได้ชาวอาเจะห์ได้ทำการต่อสู้อย่างเข้มแข็งต่อสู้แบบถวายชีวิต ดังนั้นอาเจะห์จึงไม่ได้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย และได้เรียกสงครามระหว่างอาเจะห์กับดัตช์ว่าเป็น “สงครามอันศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งนับเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวอาเจะห์
แม้ว่าอินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมุสลิมเยอะที่สุดในโลก แต่อินโดนีเซียไม่ได้เป็นรัฐอิสลามและประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อนสร้างรัฐชาติขึ้นมา อินโดนีเซียไม่ได้ใช้กฎหมายอิสลามเป็นพื้นฐานของการปกครองประเทศ ไม่ได้ใช้หลักศาสนาในการบริหารประเทศแต่ในรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซียนั้นให้การรับรอง 6 ศาสนา จะกล่าวว่ารัฐให้ความหลากหลายมันก็ไม่ได้หลากหลายเพราะในเมื่อรัฐรับรองเพียงแค่ 6 ศาสนาเท่านั้น
นอกจากนั้นสิ่งที่รัฐอินโดนีเซียใช้ควบคุมความแตกต่างหลากหลายก็คือเสนอหลักที่เรียกว่า “Pancasila” ขึ้นมา คนที่รึเริ่มใช้หลักการนี้ก็คือ ซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย ซึ่งในตอนนั้นรัฐชาตินิยมของอินโดนีเซียจะเอนไปในรัฐทางโลก ซูการ์โนเลยมองว่าเพื่อเป็นการกันไม่ให้กระบวนการศาสนาขึ้นมาก่อความวุ่นวายหรือเรียกร้องการเป็นรัฐอิสลาม ซูการ์โนเลยคิดว่าให้ใช้หลัก Pancasila เพราะน่าจะครอบคลุมได้ทุกศาสนา ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ได้ Pancasila ประกอบด้วยหลักการ 5 ข้อ ได้แก่
1. ต้องเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว
2. ให้เชื่อในหลักมนุษยนิยม
3. เอกภาพของอินโดนีเซีย ซึ่งหมายความว่าอินโดนีเซียจะต้องเป็นรัฐที่แบ่งแยกไม่ได้ซึ่งถูกใช้อย่างเข้มงวดมากๆ
4. ประชาธิปไตย
5. สังคมที่มีความยุติธรรมสำหรับทุกคน
ในหลักการ 5 ข้อนี้หากมองเผินๆดูเหมือนกับว่าจะเป็นหลักประกันให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ทุกศาสนา สามารถมีพื้นที่ มีที่ทางในสังคมได้หลักการนี้จึงได้ถูกใช้มาตลอดซึ่งจะเข้มข้นมากๆในยุคของซูอาร์โต
เมื่อซูฮาร์โตขึ้นมาปกครองหลังจากปี ค.ศ.1966 ซูฮาร์โตทำการสลายความเป็นการเมืองของอิสลาม เนื่องจากตลอดประวัติศาสตร์ที่มาอิสลามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งการเมืองอินโดนีเซียมาตลอด แต่ซูฮาร์โตก็ต้องการที่จะให้การเมืองอิสลามมันหายไป ห้ามใช้สัญลักษณ์ หรืออัตลักษณ์ที่เป็นอิสลามแม้ว่าอินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่มีมสุลิมมากที่สุดในโลก ให้ความสำคัญกับ Pancasila เพิ่มมากขึ้นอยู่เหนือทุกศาสนา อยู่เหนือทุกพรรคการเมือง และก็ได้มีการปราบปรามกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง ทั้งๆที่ในยุคของซูฮาร์โตกลุ่มอิสลามนั้นก็เป็นพันธมิตรกับซูฮาร์โตในเรื่องการปราบปรามคอมมิวนิสต์ เมื่อกำจัดศัตรูไปจนหมดสิ้นแล้วก็หันมาจัดการกับพันธมิตรที่ร่วมมือกันมาก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นซูฮาร์โตแสดงด้านที่เป็นชวามากกว่าอิสลามเขาไม่เคยแสดงด้านที่เป็นอิสลามเลย จนกระทั่งในปีทศวรรษ 1990 เพราะช่วงนั้นอิสลามกำลังฟื้นฟูมีกระแสอิสลามขึ้นมา ซูฮาร์โตเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์เมื่อกลับมาก็มีการเปลี่ยนชื่อใช้ชื่ออิสลามมากขึ้น แต่ก่อนหน้านั้นซูฮาร์โตไม่เคยแสดงด้านที่เป็นอิสลามออกมาเลย รวมถึงตำแหน่งที่สำคัญๆก็ไม่ได้มีการมอบให้แก่คนที่เป็นอิสลามเข้มข้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนชวา คนจีนที่มีตำแหน่งในรัฐบาลของซูฮาร์โต ยิ่งไปกว่านั้นทหารที่คอยค้ำจุนระบอบของซูฮาร์โตเป็นกลุ่มที่ต่อต้านมุสลิม
อย่างที่กล่าวไปว่าหลังจากที่คอมมิวนิสต์ถูกกำจัดไปนั้น ภัยคุกคามต่อไปคืออะไรล่ะ? คำตอบก็คือมุสลิม และการที่เป็นยุคของซูฮาร์โตหรือยุคระเบียบใหม่นั้นเน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ เน้นเรื่องการพัฒนาประเทศ เน้นให้ประเทศเป็นระบอบอุตสาหกรรม ระบอบแบบนี้มันทำให้ไม่มีพื้นที่ให้กับอิสลามในทางการเมือง เรียกง่ายๆว่าอิสลามนั้นถูกกีดกันออกไปจากวิถีการพัฒนาไม่มีพื้นที่ให้กับอิสลามในทางการเมือง เพราะฉะนั้นอิสลามส่วนใหญ่จึงกลับหันไปอ่านคัมภีร์ ไปยึดมั่นศาสนาของตนเอง ซึ่งในที่สุดมันก็ค่อยมากดดันอินโดนีเซียจนในที่สุด ถ้าจะพูดถึงความเป็นอิสลามในอินโดนีเซียในยุคของซูฮาร์โตนั้นเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกแต่มีความเป็นอิสลามน้อยที่สุดประเทศหนึ่ง อาจารย์อรอนงค์ ทิ้งท้ายประเด็นไว้ก่อนจะกล่าวต่อไปในตอนที่สอง