เหตุใดจึงไม่มีนักวิชาการมุสลิมในประเทศไทย
เมื่อต้นปี 2559 อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้เขียนอภิปรายลงในมติชนสุดสัปดาห์เรื่อง “ต่อต้านอิสลามในภาคเหนือตอนบน” โดยตอนหนึ่งระบุว่า “แทบจะหาชนชั้นนำ (ด้านวิชาการ) ที่เป็นมุสลิมในภาคเหนือตอนบนไม่ได้เลย”[1] ผมอยากจะชวนผู้อ่านคิดต่อว่าไม่ใช่เพียงแค่ภาคเหนือตอนบนเท่านั้นที่ขาดนักวิชาการมุสลิมที่เป็นที่ยอมรับของสังคมแต่สังคมวิชาการไทยโดยรวมก็มีนักวิชาการมุสลิมไม่มากที่เป็นที่ยอมรับของสังคมทั่วไปเช่นกัน จากการสำรวจข้อมูลของ Pew Forum ประชากรมุสลิมไทยในประเทศไทยมีอยู่ราวๆ ร้อยละ 5 ของประชากรทั้งประเทศ[2] แต่ผมขอประเมินโดยคร่าวๆ ว่าสัดส่วนของนักวิชาการมุสลิมที่เป็นที่ยอมรับในประเทศไทยยังห่างไกลจากจำนวนตัวเลขดังกล่าวในวงการวิชาการไทย[3] อีกทั้งนักวิชาการมุสลิมจำนวนไม่มากที่เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยก็กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่[4] หลายท่านแสดงตนว่าเป็นมุสลิม อาทิเช่น ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (ม.ธรรมศาสตร์) ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม (ม.เกษตรศาสตร์) ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม (ม.ธรรมศาสตร์) ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสตร์ (จุฬาลงกรณ์ฯ) รศ.ดร. วินัย ดะห์ลัน (จุฬาลงกรณ์ฯ) รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร (นิด้า) รศ.ดร.อารง สุทธาศาสน์ (จุฬาลงกรณ์ฯ) และดร.ศราวุฒิ อารีย์ (จุฬาลงกรณ์ฯ) เป็นต้น นี้คือตัวอย่างของนักวิชาการที่เชี่ยวชาญและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในสาขาวิชาของตัวเอง หลายท่านอาจจะอยากทักท้วงผมว่าสังคมมุสลิมก็มีนักวิชาการอีกมากมายที่ทำหน้าที่สอนศาสนาและวิชาสามัญทั้งในเมืองหลวงและในภาคใต้ ถ้าท่านผู้อ่านเป็นคนหนึ่งที่คิดอย่างนั้น ผมเห็นด้วยกับท่าน สังคมมุสลิมไม่ได้ขาดนักบรรยายศาสนาหากแต่เป็นสังคมที่ขาด “นักวิชาการ” ที่ทำหน้าที่และมีคุณสมบัติของความเป็นวิชาการตามมาตรฐานสากล ในบทความนี้ผมจะลองเสนอคำอภิปรายว่าเหตุใดเราจึงขาด “นักวิชาการมุสลิม” ในประเทศไทย
ผมขอเริ่มต้นด้วยการอภิปรายเรื่องการแยกแยะระหว่างการทำงานวิชาการกับการทำงานศาสนา (หรือที่เรียกว่า “ดะวะฮ์”)[5] เป็นลำดับแรก คุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งของการทำงานวิชาการตามมาตรฐานสากลคือการสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก อาจารย์ผมท่านหนึ่งเคยสอนไว้ว่าอย่างน้อยที่สุดการทำวิจัยในระดับป.เอกมีเป้าหมายเพื่อฝึกฝนให้ผู้เรียนสามารถออกไปทำวิจัยได้ด้วยตัวเองและถูกต้องตามหลักวิชาการ ในทางกลับกัน การทำงานดะวะฮ์มิได้กำหนดคุณวุฒิที่ตายตัว ผู้ที่ทำงานดังกล่าวซึ่งไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาระดับสูงและไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็สามารถสวมวิญญาณการทำงานดะวะฮ์ได้ แต่ถ้าให้ดีก็ควรจบการศึกษาด้านศาสนาเพื่อจะได้เผยแพร่คำสอนและสัจธรรมได้อย่างถูกต้อง (ตารางที่ 1 สรุปคุณสมบัติพื้นฐานที่แตกต่างกันระหว่างการทำงานในสองอาณาบริเวณดังกล่าว)
ตารางที่ 1คุณสมบัติพื้นฐานระหว่างการทำงานดะวะฮ์และวิชาการในปัจจุบัน
|
การทำงานดะวะฮ์ |
การทำงานวิชาการ |
ทักษะพื้นฐาน |
การพูดและบรรยาย |
การเขียนและวิจัย |
ลักษณะวิชาชีพ |
ทั่วไป (ศาสนา) |
เฉพาะด้าน |
กรอบเวลาในการเรียน |
ไม่ยาวนาน (ป.ตรี สี่ปีเป็นอย่างน้อย) อย่างไรก็ดีผู้ที่เรียนในปอเนาะอาจจะเรียนนานกว่าสี่ปี |
ยาวนาน (สิบปีเป็นอย่างน้อย) |
กระบวนการผลิตความรู้ |
ผลิตซ้ำ |
ตั้งคำถาม ต่อยอด รื้นถอน/ผลิตใหม่ |
คุณวุฒิ |
ไม่จำเป็น (ป.ตรี ถือว่าเพียงพอ) |
จำเป็น (ตามมาตรฐานสากลคือปริญญาเอก แต่ในประเทศไทย ป.โทถือว่าเพียงพอ) |
ตัวแสดง |
อาจารย์ โต๊ะครู นักการศาสนา นักบรรยาย ดาอีย์ |
อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ |
นอกจากนั้น การทำงานดะวะฮ์ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะการเขียนเป็นสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญคือทักษะการพูดและการบรรยายที่จะทำให้ข้อความที่ต้องการสื่อไปถึงผู้ฟังได้อย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ ในทางกลับกัน การทำงานวิชาการต้องการทักษะการเขียนมากกว่าทักษะการพูด ที่สำคัญ ในการวัดระดับการมีอารยธรรมของสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราไม่ได้วัดกันที่คำถามว่าสังคมไหนมีผลผลิตของการบรรยายมากกว่ากันแต่ในทางตรงกันข้ามดัชนีของการมีอารยธรรมและความก้าวหน้าของสังคมนั้นเราวัดกันที่ศิลปะงานเขียนและผลผลิตของสิ่งตีพิมพ์ที่มาจากทักษะการเขียน ดัชนีตัวนี้เราใช้กันมาตั้งแต่อารยธรรมโบราณจนถึงสังคมสมัยใหม่ อีกทั้งปัจจัยดังกล่าวยังทำให้เกิดการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมเดียวกันอีกด้วย[6] ดังนั้น กล่าวได้ว่า สังคมที่มีอารยธรรมคือสังคมที่อ่านออกเขียนได้และมีผลงานเป็นสิ่งตีพิมพ์ที่จับต้องได้ มิใช่สังคมที่ผู้คนแข่งกันบรรยายโดยไม่มีงานเขียนออกมาสู่สังคม ด้วยเหตุนี้ หากปลายทางคือการสร้างสังคมแห่งความรู้แล้ว สังคมมุสลิมในประเทศไทยก็ยังติดอยู่ในกับดักพื้นฐานอย่างหนึ่งที่แก้ไม่ง่าย นั่นคือ ปัญหาการทำงานดะวะฮ์ที่ละเลยงานวิชาการตามมาตรฐานสากล[7]
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเราควรแยกแยะระหว่างการทำงานวิชาการและงานดะวะฮ์เพื่อให้เห็นภาพของทั้งสองอาณาบริเวณได้ชัดเจนมากขึ้นแต่งานทั้งสองก็หาได้แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิงไม่ (โปรดดูรูปภาพที่ 1) ที่กล่าวมาข้างต้นมิได้หมายความว่านักวิชาการไม่สามารถสวมจิตวิญญาณการทำงานดะวะฮ์ได้ และหาใช่ว่าคนที่ทำงานดะวะฮ์จะไม่สามารถเข้ามาสู่เส้นทางการเป็นนักวิชาการตามมาตรฐานสากลได้ สังคมมุสลิมมีตัวอย่างที่น่าชื่นชมจากทั้งสองด้าน อาทิเช่น งานเขียนจากฝ่ายทำงานดะวะฮ์ที่ตรงตามหลักวิชาการสากลของอาจารย์ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ อาจารย์มุรีด ทิมะเสน อาจารย์อาลี เสือสมิง อาจารย์อารีฟีน แสงวิมาน อาจารย์บรรจง บินกาซัน และดร. วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ เป็นต้น ตัวอย่างอีกด้านหนึ่งคืออาจารย์ที่ทำงานในมหาวิทยาลัยและเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแต่สวมจิตวิญญาณทำงานศาสนาไปด้วย เช่น ผศ.ดร.หะซัน หมัดหมาน ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ผศ.ดร.ชัยรัตน์ ศิริพัธนะ ดร.ปรีดา ประพฤติชอบ ผศ.ดร. มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง ดร. อัมพร หมาดเด็น อาจารย์อาฎิล ศิริพัธนะ และงานเขียนของอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่คณะอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี เป็นต้น อย่างไรก็ดีการที่อาจารย์จากทั้งสองสายสามารถยืนอยู่บนพื้นที่ทับซ้อนของลักษณะงานทั้งสองประเภทได้และเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่งนั้นเนื่องจากพวกเขาสามารถเติมเต็มคุณสมบัติพื้นฐานของอาณาบริเวณทั้งสองสายได้ แต่กระนั้น ตารางที่ 1 ชี้ให้เห็นว่าคุณสมบัติของงานดะวะฮ์ที่เกี่ยวกับทักษะพื้นฐาน วิชาชีพ กรอบเวลาในการเรียน กระบวนการผลิตความรู้และคุณวุฒินั้นมีความยืดหยุ่นมากกว่า ในทางกลับกันข้อจำกัดสำหรับการเป็นนักวิชาการนั้น (ดูเหมือน) มีความเข้มงวดมากกว่างานด้านดะวะฮ์ ด้วยเหตุนี้อาจกล่าวได้ว่ามันไม่ง่ายสำหรับนักการศาสนาที่จะเป็นนักวิชาการในความหมายดังกล่าว
กล่าวได้ว่า ปัญหาพื้นฐานอีกประการของนักวิชาการมุสลิมคือไม่มีงานเขียนตามหลักวิชาการสากลออกสู่สังคมวิชาการมากพอ ผมเคยได้ยินอาจารย์หลายท่านที่ทำงานในมหาวิทยาลัยของรัฐระบายความอึดอัดใจให้ฟังอยู่หลายครั้งว่าสังคมมุสลิมเรามีอาจารย์ที่เน้นแต่การบรรยายแต่ไม่มีงานเขียนเป็นที่ประจักษ์ ผมค่อนข้างเห็นด้วยแต่ไม่ค่อยแน่ใจว่าส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือไม่และอยากจะชวนท่านผู้อ่านลองสำรวจดูงานเขียนของอาจารย์ที่มีงานบรรยายเต็มสัปดาห์ว่าเขามีงานเขียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้างที่ถูกต้องตามหลักวิชาการสากล หากจะขยับให้มากกว่านั้น ท่านลองสำรวจดูว่าในจำนวนงานเขียนของอาจารย์มุสลิมไทย (ยกเว้นอาจารย์ที่เอ่ยนามไปข้างต้นและที่อยู่ในวงการวิชาการกระแสหลักแล้ว) มีงานเขียนชิ้นไหนบ้างที่เป็นที่ยอมรับของสังคมวิชาการไทยโดยรวม อาจเป็นไปได้ว่าสังคมมุสลิมเป็นสังคมที่ผลิตงานกันเอง อ่านกันเองและอวยกันเอง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงท่านหนึ่งสะท้อนให้ข้าพเจ้าฟังว่า เราจะเอาอะไรมากกับการถกเถียงของคนที่อ่านหนังสือน้อย (หมายถึงบัณฑิตที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและตีตนเป็นผู้รู้)[8] และไม่มีงานเขียนทางวิชาการให้เรามานั่งอ่านและคิดต่อ งานบรรยายมักมีลักษณะพูดแล้วก็จบแต่งานเขียนมันจะคงอยู่กับเราต่อไป เราจึงสามารถรับมรดกทางความคิดของนักปราชญ์ในอดีตและมาปรับพัฒนาเพื่อใช้ในยุคของเราได้ แต่ปัญหาของสังคมวิชาการมุสลิมในประเทศไทยในปัจจุบันคือการขาดนักวิชาการที่มี “งานเขียน” และได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล
อย่างไรก็ดี การเป็นนักวิชาการไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เพียงเพราะเขาต้องมีทักษะการเขียนและมีผลงานเป็นที่ยอมรับเท่านั้น แต่จะมีใครมานั่งเล่าเรียน ฝึกเขียนและฝึกทำวิจัยเพียงเพื่อฝึกฝนตนให้กลายเป็นนักวิชาการที่มีคุณภาพจนกระทั่งอายุ 30 ปีโดยที่ไม่ทำงานหาเลี้ยงชีพ! คุณอาจจะโชคดีหน่อยถ้าสามารถจบป.เอกก่อนอายุ 30 ปีแต่ผมอยากจะชวนผู้อ่านลองนึกภาพตาม หากนายฟูลานจบป.ตรีในอายุ 22 ปีแล้วเข้าทำงานที่เงินเดือน 15,000 บาท (ถ้าให้ดีหน่อยก็ทำงานในมาเลเซียซึ่งมีเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 3,500 ริงกิต หรือประมาณสามหมื่นกว่าบาท) เมื่ออายุ 30 ปีเขาจะมีประสบการณ์ทำงาน 8 ปี ในตอนนั้นเขาสามารถสร้างฐานะและตั้งตัวได้แล้ว มีทั้งบ้าน รถและครอบครัว ถ้าเขาเป็นข้าราชการเขาก็มีสวัสดิการของรัฐเป็นทุนเพิ่มแต่ถ้าเขาทำงานเอกชนเขาก็น่าจะมีรายได้ไม่น่าต่ำกว่าสี่หมื่นบาทต่อเดือน ในทางกลับกัน สำหรับคนที่อยากเป็นนักวิชาการและมีรากฐานมาจากครอบครัวชาวบ้านธรรมดา เมื่ออายุ 30 ปีเขายังไม่มีอะไรเป็นหลักประกันในชีวิตได้เลยในขณะที่เพื่อนรุ่นราคราวเดียวกับเขาสามารถสร้างหลักปักฐานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งเมื่อเขาจบป.เอกมาแล้วก็หาใช่ว่าเขาสามารถเป็นนักวิชาการที่มีคุณภาพได้โดยทันที หากแต่เขาต้องสามารถผลิตงานเขียนที่สะเทือนวงการวิชาการได้เขาจึงจะได้เป็นที่ยอมรับในเวลาอันสั้น
ในปัจจุบันอัตราจ้างงานของมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ อีกทั้งภาระงานและสวัสดิการสำหรับพนักงานของมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ทำให้เกิดแรงจูงใจในการเป็นนักวิชาการ ที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ผู้เขียนสงสัยว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วอะไรเป็นปัจจัยที่จะทำให้คนรุ่นใหม่สนใจที่จะเป็น “นักวิชาการ” กันมากขึ้น ที่ตั้งคำถามแบบนี้ไม่ได้ต้องการคำตอบแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าระหว่างทางของการฝึกฝนไปสู่การเป็นนักวิชาการนั้นหลายคนต้องเจอกับการล้มลุกคลุกคลาน (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเข้าใจทฤษฏีต่างๆ ปัญหาการเงิน ปัญหาสุขภาพ(จิต) การตัดขาดจากสังคม ปัญหาครอบครัว เป็นต้น) ในการสร้างตนให้เป็นนักวิชาการที่มีคุณภาพ หลายคนล้มเลิกและออกจากเส้นทางสายวิชาการ[9] ปัจจัยภายนอกและภายในทั้งหมดที่กล่าวมาจึงเป็นอุปสรรคที่ไม่เอื้อให้เกิดการสร้างนักวิชาการมืออาชีพในสังคมมุสลิมและสังคมทั่วไป
โดยสรุป บทความนี้อภิปรายเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการทำงานวิชาการและการทำงานดะวะฮ์เพื่อตอบคำถามว่าเหตุใดจึงไม่มีนักวิชาการมุสลิมในประเทศไทย เนื่องจากการทำงานวิชาการต้องการทักษะการเขียนและการทำงานวิจัยต้องใช้เวลานานในการฝึกฝน อีกทั้งยังมีอุปสรรคระหว่างทางอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงทางการเงิน ปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพ การขาดแรงจูงใจ และความยากในการเรียนในสาขาเฉพาะด้าน ดังนั้นเส้นทางการทำงานดะวะฮ์/นอกสายวิชาการดูจะเป็นสิ่งที่น่าจะสนใจและยืดหยุ่นมากกว่าสำหรับบัณฑิตและมุสลิมส่วนใหญ่ นอกจากนั้นนักวิชาการศาสนาที่สาละวนอยู่กับงานดะวะฮ์จำเป็นต้องให้ความสำคัญการอ่านและการบรรยายแต่ไม่จำเป็นต้องเน้นการฝึกอบรมในการทำวิจัยอย่างเป็นระบบ การทำงานดะวะฮ์ของมุสลิมจึงอาจถูกเข้าใจ (ผิด) ได้ว่าเป็นการทำงานวิชาการไปในตัว อย่างไรก็ดี แม้ว่างานดะวะฮ์และงานวิชาการไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกันก็จริงแต่ทั้งสองส่วนมีพื้นที่ทับซ้อนกัน ผู้ที่เป็นนักวิชาการอาจจะทำหน้าที่ดะวะฮ์ไปด้วยก็ได้และสำหรับนักดะวะฮ์ก็เช่นกันหากเขาทั้งสองมีคุณสมบัติของทั้งสองสายงาน แต่กระนั้นส่วนใหญ่ของผู้ที่กำหนดตนเป็นนักบรรยายจึงไม่น่าจะใช่นักวิชาการในความหมายตามมาตรฐานสากล ด้วยเหตุนี้สังคมมุสลิมจึงมีนักบรรยายจำนวนมากแต่ขาดนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยโดยรวม ด้วยประการฉะนี้เราจึงไม่มีนักวิชาการมุสลิมในประเทศไทยอย่างเพียงพอ และถ้าหากการวิเคราะห์ของผมผิดจากความเป็นจริงอยู่มากแล้ว สังคมมุสลิมก็น่าจะเป็นสังคมที่อุดมด้วยภูมิปัญญาสมัยใหม่และสามารถรับมือกับความสุดโต่งทางศาสนาและการหวาดกลัวอิสลามได้อย่างไม่ยากเย็น
เอกสารอ้างอิงที่เกี่ยวข้อง
Anderson, Benedict. Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism, Revised Edition. Revised edition. London ; New York: Verso, 2006.
Azad, Hasan. “‘เหตุใดจึงไม่มีนักปรัชญามุสลิม?’” Translated by บรรณาธิการปาตานีฟอรั่ม. pataniforum, November 3, 2017. http://www.pataniforum.com/single.php?id=673.
Gellner, Ernest. Nations and Nationalism. Cornell University Press, 2008.
“Ernest Gellner.” Nationalism Studies (blog), October 9, 2013. https://nationalismstudies.wordpress.com/2013/10/09/ernest-gellner-2/.
Hutchinson, John, and Anthony D. Smith, eds. Nationalism. Oxford: Oxford University Press, 1994.
Pew Research Center. “Table: Muslim Population by Country.” Pew Research Center’s Religion & Public Life Project (blog), January 27, 2011. http://www.pewforum.org/2011/01/27/table-muslim-population-by-country/.
Pipat Pasutarnchat. “อ่าน ‘วิชาการในฐานะอาชีพ’ ของมักซ์ เวเบอร์ ตอนที่ 1.” Academia. Accessed November 12, 2017. https://www.academia.edu/7017885/อ_าน_วิชาการในฐานะอาชีพ_ของมักซ_เวเบอร_ตอนที_1
Raymond Scupin. “Muslim Intellectuals in Thailand: Exercises in Reform and Moderation,” n.d. https://www.researchgate.net/profile/Raymond_Scupin/publication/301298989_Muslim_Intellectuals_in_Thailand_Exercises_in_Reform_and_Moderation/links/57110bc108aeff315b9f7255/Muslim-Intellectuals-in-Thailand-Exercises-in-Reform-and-Moderation.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. “ต่อต้านอิสลามในภาคเหนือตอนบน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์.” มติชนออนไลน์ (blog), February 15, 2016. https://www.matichon.co.th/news/38007.
มุสลิม วงศาวิศิษฎ์กุล. “มองสังคมมุสลิมไทยผ่าน Postmodern.” pataniforum, April 22, 2015. http://www.pataniforum.com/single.php?id=505.
ยาสมิน ซัตตาร์, อันวาร์ กอมะ, and เอกรินทร์ ต่วนศิริ. “ถอดความสรุปหัวข้อ ความสำคัญของการคิดเชิงวิพากษ์สำหรับสังคมมุสลิมทั้งในตะวันตกและตะวันออก ปาฐกถาโดย ฎอริค รอมาฎอน.” Patani Forum, April 15, 2015. http://www.pataniforum.com/single.php?id=504.
สำนักข่าวอิศรา. “วิกฤต..‘พนักงานมหา’ลัย’ วิกฤต..อุดมศึกษาของประเทศ??” สำนักข่าวอิศรา, July 29, 2012. https://www.isranews.org/thaireform-doc-education/15667-qq-.html.
ธเนศน์ นุ่นมัน. “มหา’ลัยล้น ห้องเรียนร้าง วิกฤตอุดมศึกษาไทย.” Post Today, 2559. https://www.posttoday.com/analysis/report/427241.
อารี จำปากลาย, ธีรนงค์ สกุลศรี, and อาซิส ประสิทธิหิมะ. “มุสลิมในประเทศไทย : ชายขอบหรือเพียงแค่แตกต่าง?” In ประชากรและสังคม 2555: ประชากรชายขอบและความเป็นธรรมในสังคมไทย, edited by กุลภา วจนสาระ and กฤตยา อาชวนิจกุล, พิมพ์ครั้งที่ 1. เอกสารทางวิชาการ/สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, หมายเลข 395. นครปฐม: สำนักพิมพ์ประชากรและสังคม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2555.
[1] โปรดดู นิธิ เอียวศรีวงศ์. “ต่อต้านอิสลามในภาคเหนือตอนบน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์.” มติชนออนไลน์ (blog), February 15, 2016. https://www.matichon.co.th/news/38007.
[2] โปรดดู Pew Research Center. “Table: Muslim Population by Country.” Pew Research Center’s Religion & Public Life Project (blog), January 27, 2011. http://www.pewforum.org/2011/01/27/table-muslim-population-by-country/. ดูข้อมูลจากแหล่งอื่นได้ที่ อารี จำปากลาย, ธีรนงค์ สกุลศรี, และ อาซิส ประสิทธิหิมะ. “มุสลิมในประเทศไทย : ชายขอบหรือเพียงแค่แตกต่าง?” ใน ประชากรและสังคม 2555: ประชากรชายขอบและความเป็นธรรมในสังคมไทย, บรรณาธิการโดย กุลภา วจนสาระ และ กฤตยา อาชวนิจกุล, พิมพ์ครั้งที่ 1. เอกสารทางวิชาการ/สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, หมายเลข 395. นครปฐม: สำนักพิมพ์ประชากรและสังคม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2555.
[3] ตัวอย่าง ถ้าหากมีนักวิชาการมุสลิมจำนวนร้อยละ 0.5 ของนักวิชาการจำนวน 5 หมื่นคนทั่วประเทศแล้ว ดังนั้นนักวิชาการมุสลิมที่เป็นที่ยอมรับของสังคมควรมีจำนวน 250 คน หรือหากคำนวณในอัตราร้อยละ 0.2 แล้วเราจะได้ตัวเลข 100 คน
[4] โปรดดูเพิ่มเติมที่ Raymond Scupin. “Muslim Intellectuals in Thailand: Exercises in Reform and Moderation,” n.d. https://www.researchgate.net/profile/Raymond_Scupin/publication/301298989_Muslim_Intellectuals_in_Thailand_Exercises_in_Reform_and_Moderation/links/57110bc108aeff315b9f7255/Muslim-Intellectuals-in-Thailand-Exercises-in-Reform-and-Moderation.
[5] ในความหมายกว้างๆ การดะวะฮ์หมายถึงการเชิญชวนไปสู่อิสลามซึ่งเป็นงานที่เผยแพร่สัจธรรมคำสอนและหลักการของศาสนาอิสลามให้กับสังคม เป็นงานที่มีเกียรติและได้ผลบุญ
[6] โปรดดูบทบาทและความเชื่อมโยงของ print capitalism, high culture, standardized education, และ nationalism เพิ่มเติมได้ที่ Hutchinson, John, and Anthony D. Smith, eds. Nationalism. Oxford: Oxford University Press, 1994. pp. 55-69.
[7] หลักวิชาการสากลในแง่นี้หมายถึงการเขียนงานที่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบจากผู้ทรงวุฒิ (peer review) หรือเป็นงานที่มีการอ้างอิงตามหลักวิชาการและมีเหตุมีผลในการอภิปรายและยกตัวอย่าง โปรดดูงานเขียนของอาจารย์ที่ผู้เขียนเอ่ยนามข้างต้นเป็นตัวอย่าง
[8] อาจารย์ท่านดังกล่าวเคยปรารภให้ผู้เขียนฟังว่า นักวิชาการ (และคนที่ทำงานดะวะฮ์) ไม่ควรจบแค่ป.ตรีเพราะในระดับป.ตรีเราอ่านหนังสือกันไม่กี่เล่ม บางวิชาบังคับให้อ่านแค่เล่มหรือสองเล่มเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการเรียนในระดับที่สูงขึ้นไปแล้ว แม้เราเรียนในหัวข้อเดียวกันแต่ผู้เรียนในระดับบัณฑิตศึกษาต้องอ่านหนังสือที่หลากหลายเป็นจำนวนมากมิใช่แค่สำหรับกระบวนวิชาที่เรียนเพียงเท่านั้นแต่สำหรับหัวข้อที่เรียนแต่ละสัปดาห์อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ระดับความเข้าใจและความคิดความอ่านของบัณฑิตในระดับต่างๆ จึง (น่าจะ) ไม่เท่ากัน
[9] สภาพดังกล่าวดูเหมือนจะมีส่วนคล้ายกันมากกับสังคมวิชาการในเยอรมนีในยุคของ Max Weber (เสียชีวิตใน ศ. 1920) ผู้ที่กล่าวว่า “ชีวิตทางวิชาการนั้นจึงเป็นการเดิมพันอันบ้าคลั่ง ถ้านักวิชาการรุ่นใหม่นั้นมาขอคำแนะนำผมเกี่ยวกับการสมัครเข้ามาสอน ผมก็ไม่ได้มีหน้าที่ใดๆ ทั้งสิ้นในการให้กำลังใจเขา” ดูทัศนะของ Weber เพิ่มเติมได้ที่ Pipat Pasutarnchat. “อ่าน ‘วิชาการในฐานะอาชีพ’ ของมักซ์ เวเบอร์ ตอนที่ 1. หน้า 6” Academia. Accessed November 12, 2017. https://www.academia.edu/7017885/อ_าน_วิชาการในฐานะอาชีพ_ของมักซ_เวเบอร_ตอนที_1