View from above: เทคโนโลยีการมองและการเขียนชีวิตหมู่บ้านในแผนที่

View from above: เทคโนโลยีการมองและการเขียนชีวิตหมู่บ้านในแผนที่

บทแนะนำหนังสือ

แผนที่สร้างชาติ: รัฐประชาชาติกับการทำแผนที่หมู่บ้านไทยในยุคสงครามเย็น (2561)

ดร. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (เขียน) จัดพิมพ์โดยIlluminations editions สำนักพิมพ์ปาตานี ฟอรั่ม

และ Thirdspace publication

 

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ [1]

หลักไมล์ (Milestone) สำคัญในการศึกษารัฐ-ชาติสมัยใหม่หรือรัฐประชาชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นักวิชาการไทยรู้จักกันอย่างกว้างขวางคือ งานศึกษาของเบน แอนเดอร์สัน เรื่อง ชุมชนจินตกรรม: บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม (2552) [2] และการศึกษาของธงชัย วินิจจะกูลในเรื่องกำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ (2556)[3]  หนังสือทั้งสองเล่มนี้ไม่เพียงนำเสนอแง่มุมที่เปลี่ยนแปลงความเข้าใจในรูปการณ์จิตสำนึกว่าด้วยเรื่องชาติ แต่ยังเป็นงานที่ทรงอิทธิพลต่อการศึกษาทางวิชาการในวงกว้าง ข้ามพ้นพื้นที่ศึกษาในระดับภูมิภาคไปสู่แวดวงวิชาการระดับโลก 

หนังสือเล่มแรกเสนอข้อถกเถียงสำคัญว่าด้วยชาติมิได้เกิดขึ้นหรือดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน  ทว่าเป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นมาในฐานะชุมชนทางการเมืองที่ถูกจินตนาการผ่านเทคโนโลยี  โดยเฉพาะการทำงานของระบบทุนนิยมสิ่งพิมพ์ (Print Capitalism) ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและผลิตสร้างความเห็นของผู้คนที่ไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้ากันมาก่อน  กลุ่มคนผู้เสพสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดชุมชนที่แตกต่างออกไปจากชุมชนในลักษณะเดิมซึ่งวางบนความสัมพันธ์แนวดิ่งด้วยอิทธิพลจากการลำดับช่วงชั้นทางศาสนา มาสู่ชุมชนแนวระนาบที่ผู้คนทั้งคุ้นหน้าและแปลกหน้ามาอยู่ร่วมร่วมกันในเวลาและพื้นที่เดียวกัน  ในขณะที่ หนังสือเล่มหลัง ทำการอธิบายในแง่มุมของบทบาทความสำคัญของชาติผ่านการกำหนดสร้างแผนที่ของชนชั้นนำสยามภายใต้บริบทของการเผชิญหน้ากับการไล่ล่าอาณานิคม  ชาติจึงมิใช่ชุมชนที่ถูกจินตนาการขึ้นมาในลักษณะเป็นนามธรรม หากจำเป็นต้องมีรูปธรรมหรือลักษณะทางกายภาพเป็นสิ่งยืนยันตัวตน ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางจักรวาลทัศน์หรือการรับรู้ทางภูมิศาสตร์  งานในชิ้นที่สองนี้เอง ส่งผลให้งานชิ้นแรกอันโด่งดังมีการปรับแก้ โดยเพิ่มเติมความสำคัญของแผนที่เข้าไปในการตีพิมพ์ครั้งที่สอง

หนังสือเรื่อง แผนที่สร้างชาติ: รัฐประชาชาติกับการทำแผนที่หมู่บ้านไทยในยุคสงครามเย็น (2561) โดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ มีความสำคัญและสมควรได้รับการอ่านอย่างเชื่อมโยงกับงานสองชิ้นในข้างต้น  ด้วยเหตุผลหลากหลายประการดังต่อไปนี้

ประการแรก คำถามสำคัญของเก่งกิจคือการมุ่งเป้าอธิบายการก่อตัวขึ้นมาของรัฐประชาชาติ (Nation state) ของไทย ทว่า เขากลับสนใจบทบาทของจักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกาในสังคมไทยช่วงสงครามเย็นมากกว่า ในช่วงอาณานิคม  โดยเฉพาะเทคโนโลยีการทำแผนที่สมัยใหม่ อันเป็นผลของการบรรจบกันของการพัฒนาเทคโนโลยีสามประเภท คือ เทคโนโลยีการบิน, เทคนิคการถ่ายภาพและกล้อง, และ การพัฒนาความรู้และสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญในการทำและอ่านแผนที่ทางอากาศ  เหตุที่เก่งกิจหันมาสนใจบริบทของการทำแผนที่ในช่วงสงครามเย็นมาจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งของเขาเรื่อง มานุษยวิทยาจักรวรรดิ: การประดิษฐ์ หมู่บ้านชนบทและกำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น (2559)  ในงานชิ้นนี้เขาพยายามอธิบายถึงบทบาทของอเมริกาในการวิจัยหมู่บ้านชนบทหรือชนบทศึกษา ควบคู่กับการพยายามก่อตั้งหลักสูตรการเรียนการสอนทางด้านมานุษยวิทยาในมหาวิทยาลัยไทย  งานชิ้นนี้ของเก่งกิจ ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าวิชามานุษยวิทยาในไทยมีสถานะคล้ายดัง “บาปกำเนิด” (Original sin - ผู้เขียนบทปริทัศน์) อย่างมีนัยทางการเมืองในเรื่องการสร้างความมั่นคงทางการเมืองและต่อต้านการคุกคามของคอมมิวนิสต์ ไม่ต่างจากการถือกำเนิดของวิชามานุษยวิทยาที่เกิดขึ้นในยุคอาณานิคม  ทว่า เก่งกิจกลับเลือกบริบทในยุคสงครามเย็น  เขาเห็นว่าในบริบทของสังคมไทย การศึกษาสังคมอื่น, ชนบท, และชุมชนบนพื้นที่สูงนั้นเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

ทัศนะที่เก่งกิจมีต่อหมู่บ้านชนบทเช่นนี้ส่งผลให้เขาได้สร้างข้อถกเถียงสำคัญว่าด้วยสถานะและตำแหน่งแห่งที่ของชนบทและการวิจัยว่าด้วยชนบทในสังคมไทยในการนำเสนอความก้าวหน้าในงานวิจัยของเขา [4]  แรงกระเพื่อมของข้อถกเถียงดังกล่าวมีต่อนักมานุษยวิทยาชั้นนำในสังคมไทย อาทิ จักรกริช[5], ยุกติ[6], และปิ่นแก้ว [7] เป็นต้น

แผนที่สร้างชาติ จึงเป็นงานเขียนที่เดินทางตามร่องรอยที่เขาค้นพบระหว่างการพยายามยืนยันถึงการประดิษฐ์สร้างหมู่บ้านชนบท ควบคู่ไปกับการพยายามสร้างข้อถกเถียงทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง  เขาขยับสถานะของหมู่บ้านชนบทประดิษฐ์มาสู่การก่อกำเนิดของรัฐประชาชาติที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาในยุคสงครามเย็น

ประการที่สอง การเลือกพิจารณาบริบทของสงครามเย็นของเก่งกิจ มีนัยสำคัญต่างจากการศึกษาภายใต้บริบทของการไล่ล่าอาณานิคมและยุคหลังอาณานิคมที่สำคัญคือ  การก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีด้านการบิน, การถ่ายภาพ, และการทำแผนที่  เทคโนโลยีในข้างต้นนี้มิได้เป็นเพียงจักรกลที่ทำให้เข้าถึงความสะดวกสบายในการใช้งานด้านการทหารเพื่อสำรวจอาณาบริเวณเท่านั้น  ทว่า เป็นการเปลี่ยนแปลง มุมมอง (Perspective) ที่มีต่อพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อย่างถึงรากถึงโคน  กระบวนการทำให้เกิดการมองเห็น (Visualization) จึงเป็นเสมือนกลไกสำคัญของการแผ่อิทธิพลและการพยายามเข้ามาควบคุมพื้นที่ของจักรวรรดิอเมริกา  การมองในสายตาแบบพระเจ้าเบื้องบนผ่านการทำแผนที่ทางอากาศจึงเป็นมากกว่าการขีดร่างเส้นขอบพรมแดนบนพื้นที่กระดาษ  เพราะมิใช่เพียงความต้องการตอบโจทย์เพียงแค่ขอบเขตของดินแดนสิ้นสุดลงตรงไหน  ทว่าจำเป็นต้องรู้ด้วยว่าประกอบไปด้วยใคร ทั้งในเชิงสังคมวัฒนธรรม, เชื้อชาติ, ศาสนา, และความเป็นอยู่

การทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศทางการจึงเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยีทางอำนาจเข้าควบคุมและกำหนดสร้างพื้นที่ดังกล่าวให้ถูกระบุภายใต้การตัดกันของเส้นรุ้งและแวง  ช่องกริดแต่ละช่องในแผนที่จึงเป็นเสมือนพื้นที่ว่างซึ่งรอการสำรวจและเติมลงบนหน้ากระดาษ  เก่งกิจได้นำเสนอข้อมูลผ่านกรอบคิดได้อย่างน่าสนใจ นับตั้งแต่ พัฒนาการของกล้องถ่ายรูปทางอากาศที่สัมพันธ์กับเทคโนโลยีการบินที่สามารถเข้าถึงทั้งในเชิงทะลุทะลวงและสอดแนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ขณะเดียวกัน เขายังทำให้เห็นถึงนัยทางการเมืองมากมายที่ซ่อนอยู่ในวิชาภูมิศาสตร์

ประการที่สาม ในบทความเรื่อง ชนพวกอื่นในแดนตน [8]ของธงชัยมีประเด็นที่น่าครุ่นคิดสำคัญคือการทำหนดสร้างความเป็นคนอื่นประเภทต่างๆ ในดินแดนสยามผ่านสายตาของชนชั้นนำ  การเขียนถึงคนอื่นของชนชั้นนำเกิดขึ้นจากการเดินทางสำรวจเพื่อตอบคำถามสำคัญที่ว่ามี “ใคร” บ้างที่อยู่ในแผนที่ซึ่งพวกเขาได้ทำการขีดสร้างขึ้นมา  การจัดประเภทคนอื่นจึงเกิดขึ้นและวางบนพื้นฐานของความใกล้ไกลทางจากภูมิศาสตร์ของศูนย์กลาง (Spatio-temporal category)  ในแง่นี้ อัตลักษณ์เทียม (Pseudo identity) จึงเกิดขึ้นภายใต้การกำหนดสร้างความเป็นอื่นซึ่งมีส่วนช่วยให้สยามในฐานะศูนย์กลางปรากฏตัวขึ้นอย่างชัดเจนผ่านความหมายของความศิวิไลซ์มากยิ่งขึ้น  งานเขียนของเก่งกิจได้ปะทะในประเด็นปัญหานี้เช่นกัน ทว่าเขากลับสนใจการเขียน “คนอื่น” โดยนักมานุษยวิทยา

ในช่วงสงครามเย็น นักมานุษยวิทยาจำนวนไม่น้อยเดินทางมาทำงานในประเทศไทย  แม้จะด้วยวัตถุประสงค์หรือเจตจำนงค์ที่ต่างกัน  ทว่า การสำรวจและเดินทางเก็บข้อมูลของพวกเขาต่างเป็นประหนึ่งการเติมข้อมูลและชีวิตของผู้คนลงในช่องว่างบนแผนที่  ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจและทำแผนที่หมู่บ้านชาวเขา ตลอดจนการทำทำเนียบหมู่บ้านของเขาของศูนย์วิจัยชาวเขา  สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีนัยสำคัญของการใช้เทคโนโลยีควบคู่กับการเขียนของนักมานุษยวิทยาเพื่อส่งผลต่อการรับรู้ความเป็นจริง  เนื้อกระดาษบนแผนที่จึงมิใช่เป็นเพียงวัตถุทั่วไป หากมันได้ระบุชีวิตของคนและความจริงขั้นพื้นที่ฐานที่ว่า “ใคร” อยู่ในดินแดนแห่งนี้บ้าง

ความเทียมของอัตลักษณ์ที่เกิดจากการเขียนของนักมานุษยวิทยาอาจถูกเพิกเฉย เมื่อมันปรากฏอยู่บนความจริงของแผนที่  โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การขีดร่างหรือการมองความเป็นจริงจากแผนที่ถูกยืนยันด้วยความจริงเชิงประจักษ์จากพื้นที่ทางกายภาพ

ในส่วนนี้ เก่งกิจได้ข้ามพ้นข้อถกเถียงเดิมว่าด้วยการทำงานของนักมานุษยวิทยาในช่วงสงครามเย็น (ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในทางจริยธรรมและการทำงานรับใช้จักรวรรดินิยมอเมริกาผ่านการเป็นหน่วยข่าวกรอง)  สู่การวิเคราะห์บทบาทซึ่งแม้แต่นักมานุษยวิทยาในสมัยนั้นยังไม่ทันตระหนัก  เก่งกิจเห็นว่าการสำรวจแผนที่และหมู่บ้านชาวเขาในช่วงทศวรรษ 1970 มีความแตกต่างจากในช่วงแรกเริ่มโดยโครงการ Bennington-Cornell ในช่วง 1960 นั่นก็คือ หมู่บ้านไม่ใช่สิ่งที่เคลื่อนไหวและเคลื่อนที่ได้อีกต่อไป  ทว่า หมู่บ้านกลายเป็นสิ่งที่ถูกจัดระเบียบและลงพิกัดบนแผนที่อย่างแน่นอน  ทั้งยังเป็นส่วนขยายของอำนาจรัฐที่เริ่มแผ่กระจายเข้าไปอย่างครอบคลุม  ในแง่นี้เองงานเขียนเชิงสำรวจของนักมานุษยวิทยาในช่วงสงครามเย็นขึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยสถาปนาให้รัฐชาติสมัยใหม่ถูกเติมเต็มและมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น 

หมู่บ้านที่เพิ่งสร้างนี้ได้กลายเป็นจินตนกรรมสำคัญในการวิจัยทางมานุษยวิทยาแนวหมู่บ้านศึกษาและชาติพันธุ์ศึกษาในเวลาต่อมา

 

แผนที่สร้างชาติฯ จึงเป็นความพยายามของเก่งกิจในการสร้างกระบวนทัศน์ในการทำความเข้าใจชาติที่ต่างออกไปจากการทำงานของเบน แอนเดอร์สัน และธงชัย วินิจจะกูล  ด้านหนึ่ง หากเรานำงานทั้งสามชิ้นมาวางเรียงต่อกันตามประเด็นและช่วงเวลา  เราจะค้นพบว่า ทั้งสามล้วนมีส่วนในการเติมเต็มความหมายของการสถาปนาชาติได้อย่างชัดเจนมากขึ้น  โดยเฉพาะชาติในแผนที่ของชนชั้นนำในงานของธงชัย ได้ถูกเพิ่มนัยสำคัญมากขึ้นในยุคสงครามเย็นผ่านการทำงานของเก่งกิจ  ทว่าอีกด้านหนึ่ง เก่งกิจได้สร้างข้อโต้แย้งกับการศึกษาแผนที่ของธงชัยเอาไว้อย่างแหลมคม

เขาเห็นว่าแผนที่ซึ่งสร้างขึ้นจากการช่วยเหลือของเข้าอาณานิคมในช่วงค.ศ.ที่ 19 นั้นนับว่าเป็นแผนที่ของรัฐ (State map) เพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างและขยายอำนาจความมั่นคงของรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์  มากกว่าการขีดสร้างความเป็นชาติ  งานของธงชัยจึงเข้าข่ายการศึกษาแผนที่ของรัฐมากกว่าการสร้างชาติ  เก่งกิจเห็นว่าแผนที่ของชาติ (Nation map)  เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในช่วงสงครามเย็นซึ่งมาพร้อมกับการก่อรูปและสถาปนาอำนาจของรัฐประชาชาติหลังจากการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองต่างหาก

ข้อถกเถียงนี้ น่าจะเป็นพื้นที่สำคัญในการเชื้อเชิญนักประวัติศาสตร์, นักรัฐศาสตร์ ตลอดจนนักมานุษยวิทยาเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกันมากขึ้น  ทั้งในเชิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ การใช้แนวคิด และการตีความ

เกษียร เตชะพีระ ได้อ่านนัยสำคัญของการศึกษา “ชาติ” และ “ความเป็นไทย” ที่ปรากฎผ่านงานเขียนของธงชัย เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ป้ายความเป็นไทยที่ชนชั้นนำปักนั้นนับว่าเป็นการบ่งบอกในมุมกลับว่าความไม่เป็นไทยอยู่ตรงไหน  ดังนั้น ในสังคมไทยจึงมีเขตห้ามเข้าทางความคิดอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ลัทธิคอมมิวนิสต์, การแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดภาคใต้ ตลอดจนประชาธิปไตยแบบตะวันตก [9]

หากข้อถกเถียงของเก่งกิจมีน้ำหนักเพียงพอเขามิเพียงถกเถียงกับธงชัย  ทว่ายังโต้แย้งกับวิธีการอ่านของเกษียร ซึ่งมีอิทธิต่อการสร้างวิธีการอ่านและทำความเข้าใจ “ความเป็นไทย” ในสังคมไทย  ในทางกลับกัน เราสามารถตั้งคำถามกับงานศึกษาของเก่งกิจโดยใช้แนวทางของเกษียรได้อีกเช่นกัน

หากชาติและความเป็นไทยเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยสงครามเย็นผ่านแนวทางที่เก่งกิจศึกษา  อะไรคือด้านกลับของความไม่เป็นไทยหรือความเป็นอื่นในสังคมไทย? อะไรคือ เขตห้ามเข้าทางความคิดที่ถูกขวางกั้นโดยความเป็นไทยประเภทนี้?

เก่งกิจเป็นคนหนึ่งที่สร้างงานเขียนและข้อถกเถียงใหม่ในชุมชนวิชาการอย่างสม่ำเสมอ  งานเขียนของเขามิได้ดำเนินรอยตามจารีตทางวิชาการในลักษณะสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง  หากมีลักษณะของการใช้วิธีวิทยาเป็นเข็มทิศนำทางไปสู่คำตอบและเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์  เราจึงเห็นได้ว่าในหนังสือเล่มนี้มีองค์ประกอบทางความรู้มากมายนับตั้งแต่กำเนิดภูมิศาสตร์สมัยใหม่จนมาถึงการทำงานทางมานุษยวิทยาในช่วงสงครามเย็น  สิ่งเหล่านี้คือประจักษ์พยานในการสลายขอบฟ้าทางความคิดซึ่งเคยกักขังตัวเราเพื่อกระโจนออกสู่การท้าทายทางความรู้ครั้งใหม่

หลักไมล์ที่ชื่อว่า แผนที่สร้างชาติฯ นี้อาจมิได้เสนอข้อค้นพบครั้งใหญ่เฉกเช่นงานเขียนของเบน แอนเดอร์สัน และธงชัย วินิจจะกุล  ทว่าสิ่งสำคัญคือ การโยนคำถามและร่องรอยของการอ่านและเขียนงานวิชาการที่แตกต่างออกไปจากพรมแดนอันคุ้นเคยทางวิชาการ

นี่อาจเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดของสังคมไทยในเวลานี้

 



[1] อาจารย์ประจำสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักศึกษาปริญญาเอกสาขามานุษยวิทยาว่าด้วยสื่อและการทัศนา มหาวิทยาลัยเสรีแห่งเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

[2] แอนเดอร์สัน, เบเนดิกท์. ชุมชนจินตกรรม: บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการแปล). กรุงเทพฯ. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 2552.  หนังสือเล่มนี้แปลจาก  Anderson, Benedict R O’G. Imagined communities: reflections on the origin and spread of nationalism. London; New York: Verso. 1991.

[3] วินิจจะกูล, ธงชัย. กำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ. พวงทอง ภวัครพันธุ์, ไอดา อรุณวงศ์, และพงษ์เลิศวนานต์ (แปล). ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ (บรรณาธิการแปล). กรุงเทพฯ.อ่าน. 2556.  หนังสือเล่มนี้แปลจาก Winichakul, Thongchai. Siam Mapped: A History of the Geo-body of a Nation. Honolulu: University of Hawaii Press, 1994.

 

[4] เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. ชนบทเพิ่งเปลี่ยนไป: ว่าด้วยปัญหา “ชนบทศึกษาไทย” หลังปี 2540 https://prachatai.com/journal/2015/01/57459

[5] จักรกริช สังขมณี. ตำแหน่งแห่งที่ของชนบทกับตำแหน่งแห่งที่ของงานวิชาการ. https://prachatai.com/journal/2015/01/57489

[6] ยุกติ มุกดาวิจิตร. คนละชนบทเดียวกัน: อ่านร่างงานวิจัยของ ดร. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. https://blogazine.pub/blogs/yukti-mukdawijitra/post/5222?ref=redirect

[7] ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. ถก “ชนบท”: ประวัติศาสตร์ความคิดและวิธีวิทยาที่พึงพิจารณา. https://prachatai.com/journal/2015/01/57662

[8] Winichakul, Thongchai. "The Others Within: Travel and Ethno-spatial Differentiation of Siamese Subjects, 1885-1910."in Civility and Savagery: Social Identity in Tai States. Andrew Turton (ed.) London: Curzon Press, 2000: 38-62.

 

[9] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน เกษียร เตชะพีระ. อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ (1). มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6-12 ตุลาคม 2560.