เมื่อการเมืองเปลี่ยนทิศ ชายแดนใต้ไม่เปลี่ยนเลย ?

 

 
การโยกย้ายนายสมเกียรติ บุญชู รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปแขวนไว้ที่สำนักนายกรัฐมนตรีทำให้เกิดข้อกังขาในหมู่นักการทูตหลายคน  รวมทั้งผู้ที่สนใจติดตามปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย   สมเกียรติเป็นผู้ที่ติดตามปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง
คนที่เข้ามานั่งเก้าอี้รองเลขาฯ สมช.แทนสมเกียรติ คือ พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อนและภายหลังก็ถูกโยกย้ายโดยรัฐบาลก่อน
จริงๆ แล้วมันก็เป็นเพียงการสลับเก้าอี้กัน ในบริบทการเมืองไทย ถ้าหากว่านามบัตรของคุณระบุว่าคุณคือ “ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี” นั่นหมายความว่าคนคนนั้นเป็นพวกไม้ตายซากหรือไม่ก็เป็นคนที่มีหลักการซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลในขณะนั้น   ไม่มีใครตั้งคำถามในเรื่องความเป็นคนที่ยึดมั่นในหลักการของสมเกียรติ
 
สมเกียรติเป็นผู้ที่ร่วมทำแผนนโยบายของสมช. ซึ่งรวมถึงข้อเสนอแนะให้รัฐบาลจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัย” ที่รัฐบาลและขบวนการแบ่งแยกดินแดนสามารถที่จะพูดคุยกันได้
 
ถึงแม้ว่าการพูดคุยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนปัตตานีมลายูจะไม่ได้เกิดผลเป็นรูปธรรม แต่ว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมของสมเกียรตินับเป็นก้าวที่สำคัญในการเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพของฝ่ายพลเรือนและเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ทหาร 
 
ในช่วงทศวรรษที่ 1980 จนถึงต้นทศวรรษ 1990  ภารกิจนี้เป็นหน้าที่ที่สงวนไว้สำหรับทหารเท่านั้น  แนวปฏิบัติดังกล่าวไปเปลี่ยนไปในช่วงปี 2548 เมื่อพล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการสมช. ในขณะนั้น และ พล.ท.ไวพจน์ ศรีนวล ผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัยในขณะนั้นเข้าไปร่วมในกระบวนการพูดคุยลังกะวีซึ่งขณะนี้ได้จบลงไปแล้ว  กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการริเริ่มของอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์  โมฮัมหมัด ในช่วงที่นายทักษิณ  ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี
ของไทย  ซึ่งทักษิณก็ไม่ได้ให้ความสนใจต่อข้อเสนอที่มาจากกระบวนการนั้นเท่าไหร่
 
หลังการรัฐประหารในปี 2549 เพื่อขับทักษิณออกจากอำนาจ สมช.ได้รับมอบหมายภารกิจที่ใหญ่ขึ้นจากพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นในการแสวงหาหนทางไปสู่การพูดคุยเพื่อสันติภาพ  ที่จริงแล้ว พล.อ.สุรยุทธ์ได้เปิดประตูให้หน่วยงานหรือกระทรวงอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ประชาคมโลก และตัวกลางในการพูดคุยที่เป็นมืออาชีพ ให้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องนี้
 
กระบวนการลับนี้ได้หลุดออกไปนอกความสนใจของรัฐบาลที่เป็นหุ่นเชิดของทักษิณ คือ รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวชและนายสมชาย  วงศ์สวัสดิ์  แต่ได้กลับมามีความเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่งในช่วงที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นที่รับรู้กันในสาธารณะ
 
การที่อภิสิทธิ์ได้ให้ไฟเขียวกับสมช.ในการดำเนินการพูดคุยอย่างลับๆ นั้นไม่ได้เป็นการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี   รัฐบาลต้องการที่จะคงไว้ซึ่งสิทธิในการปฏิเสธ หากว่าเรื่องดังกล่าวถูกเปิดเผยต่อสาธารณะหรือถูกทำให้เป็นประเด็นทางการเมือง  หากมองด้วยสายตาของกฎหมาย  ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ก็เป็นอาชญากร  ประเทศไทยยังไม่ยอมรับว่าปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้นั้นเป็นความขัดแย้งและปฏิเสธที่จะยอมรับเงื่อนไขทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความรุนแรงเหล่านั้น
 
แต่สมช. ไม่ได้เป็นหน่วยงานเดียวที่พูดคุยกับผู้นำของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน  องค์กรอื่นก็ได้พยายามที่จะเข้าไปมีบทบาทเช่นกัน  พวกเขาได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อพบกับผู้นำของกลุ่มเหล่านี้  ดูเหมือนทุกคนต้องการที่จะเป็นตัวกลางในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ แต่ว่าในการเมืองไทย ซึ่งก็เหมือนกันที่อื่นๆ ในโลก การมีสายสัมพันธ์กับถูกที่ถูกเวลานั้นเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความได้เปรียบ เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นมาสู่อำนาจและแต่งตั้งพ.ต.อ.ทวี สอดส่องมาเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เขาก็ได้รับมอบหมายภารกิจในการพูดคุยนี้
สมเกียรติมองเห็นสัญญาณที่ไม่ดีและเข้าใจว่าสิ่งนี้มีจะมีความหมายอย่างไรกับกระบวนการพูดคุยปิดลับที่สมช. ได้ริเริ่มมา  คนที่รู้จักเขาไม่คิดว่าฝ่ายทักษิณจะไปไกลถึงขนาดโยกเขาออกจากตำแหน่ง 
 
ไม่มีความชัดเจนว่าหน้าที่ของพล.ท. ภราดร ในสมช.คืออะไร แต่ว่าคนที่อยู่วงในทางการเมืองเชื่อว่าหน้าที่หลักของเขาคือการทำให้ยุทธศาสตร์ในอนาคตของสมช. ไปในทิศทางเดียวกับความริเริ่มของฝ่ายทักษิณซึ่งนำโดยทวี
 
แต่ว่าการไปของสมเกียรติก็อาจจะไม่ได้หมายถึงว่าการทำงานของทวีจะง่ายขึ้น  ในความเป็นจริง ทวีได้ทำหน้าที่เสมือนหัวหน้าของตัวแทนเจรจาของรัฐบาลไทยนับแต่ที่เขาได้เข้ารับตำแหน่งในศอ.บต.แล้ว
 
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจนถึงเดือนมีนาคม 2555 ทวีได้ส่งตัวแทนไปพูดคุยในต่างประเทศ ไปพบกับหัวหน้าของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอาวุโส โดยหวังว่าพวกเขาจะสามารถโน้มน้าวให้พวกรุ่นใหม่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่หยุดการก่อเหตุรุนแรง
แกนนำเหล่านี้อ้างว่าตนเองสามารถพูดคุยและมีความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกับกลุ่มที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเรียกกันว่า “จูแว” แต่ว่ามีเจ้าหน้าที่และผู้สังเกตการณ์เพียงส่วนน้อยที่เชื่อว่าความสัมพันธ์นี้แนบแน่นมากพอที่จะเรียกได้ว่าเป็นการบังคับบัญชาร่วม (shared command/command-and-control) หรือการบังคับควบคุมในส่วนการทหาร
 
ทวีคิดว่าการการนำทักษิณเข้ามาสู่กระบวนการพูดคุยจะทำให้แกนนำของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลไทยจริงใจและจริงจังในพันธกิจนี้  การประชุมลับระหว่างทักษิณและแกนนำกลุ่มแบ่งแยกดินแดน 17 คนได้เกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคม
 
ประเด็นที่น่าสนใจอาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่าใครที่ปรากฏตัวในการประชุมนั้น แต่อยู่ที่ว่าใครไม่ได้ไป  กลุ่มบีอาร์เอ็น – โคออร์ดิเน็ท ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวมายาวนานและมีสายสัมพันธ์กับพวกจูแวดีที่สุดกล่าวว่าพวกเขาปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมในครั้งนั้น เพราะว่าเขาไม่สามารถที่จะให้อภัยทักษิณที่ใช้นโยบายปราบปรามอย่างรุนแรงในช่วงที่เขาอยู่ในอำนาจได้
 
หากว่าบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเน็ทปรากฏตัวและมาร่วมพูดคุยในตอนนี้  จะมีความต้องการและความคาดสูงอย่างสูงที่จะให้กลุ่มนี้บรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลไทย เพราะว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและข่าวกรองของไทยเกือบทั้งหมดเชื่อว่าบีอาร์เอ็น-โคออร์ดิเน็ทสามารถที่จะควบคุมพวกจูแวในพื้นที่ได้
แต่ตามคำอธิบายของสมาชิกบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเน็ท แม้ว่ากลุ่มของเขาจะมีความสัมพันธ์ในการทำงานที่ดีที่สุดกับพวกจูแว  สายสัมพันธ์นี้ก็ไม่ใช่การบังคับบัญชาร่วม 
 
เหตุการณ์ระเบิดคาร์บอมบ์ที่หาดใหญ่และยะลาในวันที่ 31 มีนาคม 2555 ได้ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก  เหตุการณ์นั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าสิบคนและบาดเจ็บอีกกว่าร้อยคน  การก่อความรุนแรงในชายแดนใต้ได้ยกระดับไปอีกขั้นหนึ่ง และนับเป็นการตบหน้าทักษิณและพวกพ้องฉาดใหญ่
 
กองทัพและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านไม่พลาดโอกาสที่จะเยาะเย้ยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในเรื่องการพูดคุยอย่างลับๆ ของทักษิณ แม้ว่าพวกเขาต่างก็เคยได้คุยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมาแล้วในวาระโอกาสที่ต่างกัน แน่นอนที่ทักษิณต้องออกมาปฏิเสธการพบปะกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเหล่านั้น 
ในขณะที่รัฐบาลกำลังถอยกลับไปเริ่มต้นใหม่  รัฐบาลก็ได้ตัดสินใจที่จะกำจัดสมเกียรติออกไป  ผู้ซึ่งมีความเข้าใจเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้ดีคนหนึ่ง
สมเกียรติจะเป็นคนที่เป็นทรัพยากรความรู้คนหนึ่งสำหรับทวี  แต่วิธีการที่เขาถูกปัดออกไปจากกระบวนการนี้แสดงให้เห็นว่าฝ่ายทักษิณต้องการที่จะคุมกระบวนการนี้อย่างเบ็ดเสร็จ แม้ว่ากระบวนการที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ปรากฏผลที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด
 
นอกจากนี้  การที่ทหารออกมาถากถางรัฐบาลในเรื่องการ “พูดคุยกับศัตรู” ไม่ควรจะถูกตีความว่ากองทัพมีจุดยืนที่ไม่ประนีประนอม เพราะพวกเขาเองก็ได้ไปพูดคุยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน  ประเด็นอยู่ที่ความต้องการควบคุมกระบวนการอย่างเบ็ดเสร็จต่างหาก
 
ในความเห็นของผู้สังเกตการณ์และคนวงในหลายคน  หนทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหายุ่งยากนี้ได้ก็คือรัฐบาลควรจะกำหนดหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการดำเนินการกระบวนการสันติภาพ เหมือนกับที่ประเทศฟิลิปปินส์ได้เคยทำ หากว่าหน่วยงานนี้ได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่อย่างสมบูรณ์  กองทัพและหน่วยงานอื่นๆ ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องเข้ามาร่วมหรือไม่เช่นนั้นก็จะต้องพลาดโอกาสที่จะได้มีส่วนร่วม 
 
ในขณะนี้ รัฐบาลยังคงมุ่งความคาดหวังไปที่ทวี   เขาจะเดินไปอย่างไร  ก็เป็นเรื่องที่แต่ละท่านคงจะต้องคาดเดาเอาเอง
 
Note: For more writing on the conflict in Thailand's deep south, please visit Conflict & Insurgency in Southeast Asia website: http://seasiaconflict.com/