การเหมารวม: พลังในการอธิบายความจริงทางสังคม

โดยทั่วไปแล้ว เทคนิคในการเหมารวมเป็นเครื่องมือหนึ่งของมนุษย์ที่มีเหตุผลในการทำความเข้าใจความเป็นจริงที่อยู่รอบตัวเขา การเหมารวมทำให้มนุษย์สามารถเข้าอะไรต่างๆ ได้รวดเร็วในเวลาอันสั้น ในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบข้อสรุปที่ทำให้สามารถเหมารวมกรณีอื่นๆ (external validity) ได้จึงเป็นคุณสมบัติที่ดีประการหนึ่งที่ทำให้งานชิ้นนั้นมีความน่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์ในการทำ ความเข้าใจแบบแผนทางสังคมการเมืองที่ดำเนินอยู่ ดังนั้น มนุษย์ในฐานะที่เป็นผู้กระทำและมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมที่สลับซับซ้อนจึงไม่มีเวลามากพอที่จะลงไปศึกษารายละเอียดของแต่ละกรณีเพื่อทำความเข้าใจกฎแบบแผนทั่วไป เราจึงเลือกวิธีที่ง่าย รวดเร็วและสะดวกในการช่วยตัดสินใจอะไรบางอย่างที่เราต้องเผชิญ แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราสมาทานในเครื่องมืออันทรงพลังอันนี้

 

กล่าวได้ว่า วิธีการเหมารวมลักษณะนี้เราได้มาจากกระบวนการคิดแบบนิรนัย (deductive reasoning) นั่นคือ เรามีสมมุติฐานอะไรบางอย่างอยู่ในความนึกคิดและคลังข้อมูลของเราอยู่ก่อนแล้ว สิ่งนั้นอาจจะได้มาด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาของเรา จากการอ่านหนังสือ ดูหนัง หรือจากธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่เราดำรงอยู่ ฐานความคิดที่มีมาอยู่ก่อนแล้วหรือที่เราได้มาโดยไม่รู้ตัวนั้นจึงเป็นคลังความรู้ที่สำคัญสำหรับการกำหนดข้อสรุปของเราเมื่อเราต้องเจอกับเหตุการณ์หรือกรณีอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน ที่สำคัญ ในสังคมยุคออน ไลน์คลังความคิดของเราในปัจจุบันได้รับอิทธิพลผ่านทางการสื่อสารในโลกเสมือนจริง ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราเคยได้รับมันผ่านการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมแห่งความเป็นจริง ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ฐานความคิดของเรา/คลังข้อมูลของคนในยุคออนไลน์เป็นฐานความคิดของโลกเสมือนจริงมากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง สื่อสมัยใหม่จึงมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างความหมายใหม่และมีอิทธิพลในการกำหนดฐานความคิดของเรามากกว่าความสามารถที่ตัวเราเองสามารถควบคุมมันได้เสียอีก เมื่อเป็นเช่นนั้น จะกล่าวได้อย่างไรว่าเราเป็นคนที่มีอิสระทางความคิดและสามารถควบคุมความคิดความอ่านของเราได้ด้วยตัวเราเอง

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าสื่อจะมีอิทธิพลกับความคิดความอ่านของเรามากน้อยแค่ไหนเราก็ยังต้องใช้วิธีการเหมารวมในการตัดสินใจอยู่ดี มนุษย์เราสมาทานในพลังอันนี้อย่างเป็นสรณะ ตัวอย่างที่อาจารย์ของผมใช้ในการอธิบายพลังของการเหมารวมคือตรรกะแบบนิรนัย[1] เช่น เรารู้ว่านายก.เป็นมนุษย์ และมนุษย์ทุกคนต้องตาย ดังนั้น เราสามารถสรุปได้ว่า นายก.ไม่สามารถรอดพ้นจากความตายได้ ด้วยเหตุนี้ เราสามารถอนุมานแบบเหมารวมในกรณีอื่นๆ ได้จากข้อสรุปดังกล่าวและเมื่อเราเอาข้อสรุปดังกล่าวไปศึกษาและพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเราก็จะได้คำตอบแบบเดิม ดังนั้น วิธีการเหมารวมจึงมีพลังมหาศาลในการให้คำตอบกับเราเกี่ยวกับกรณีอื่นๆ และช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วโดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปศึกษาทุกรายละเอียด

ปัจจุบันสังคมของเรามีความขัดแย้งกันมากขึ้น การเป็นคนที่มี “คุณสมบัติ/อัตลักษณ์” บางอย่างอาจทำให้สังคมตัดสินว่าเราต้องเป็นคนที่มีคุณลักษณะอย่างไร เช่น อัตลักษณ์ของการเป็นพุทธ มุสลิม ชาย หญิง แดง เหลือง ไทย ลาว ทำให้คนๆ นั้นถูกตัดสินแบบเหมารวมว่าเขา (น่าจะ) เป็นคนที่มีลักษณะคล้ายกันคนอื่นที่มีอัตลักษณ์นั้น นับตั้งแต่การปฏิวัติอิหร่านปี 1979 เป็นต้นมา สื่อกระแสหลักได้ทำให้อัตลักษณ์ของ “ความเป็นมุสลิม” มีค่าเท่ากับความรุนแรงและการก่อการร้าย ดังนั้น เมื่อคุณมีความเป็นมุสลิมมากขึ้น คุณจึงน่าจะมีลักษณะที่เหมือนกับผู้ก่อการร้ายและนิยมความรุนแรงตามไปด้วย ตรรกะและทัศนคติลักษณะนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวมันเอง ผมจะเล่าข้อดีก่อน มีคนมลายูปาตานีคนหนึ่งถูกเถ้าแก่น้อยผู้มีอิทธิพลในหาดใหญ่ข่มขู่เรียกเงินค่าไถ่หรือไม่ก็ให้เขาออกไปจากหาดใหญ่ไม่อย่างนั้นเขาจะถูกทำร้ายร่างกาย คนมลายูก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะตัวเขาเองก็ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรและชีวิตของเขาในหาดใหญ่ก็ดีกว่าอยู่ในบ้านเกิด นับแต่นั้นชีวิตเขาก็ถูกคุกคามอยู่เรื่อยๆ จนไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร หลังจากที่มีคนแนะนำเขาว่าให้ใช้ทัศนคติที่ครอบงำคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับความเป็นคนมลายูที่โลดแล่นในความคิดของคนทั่วไป ไปต่อกรกับเถ้าแก่คนนั้น ปรากฏว่าเขาได้ลองทำตามนั้นและหลังจากที่เขาข่มขู่กลับไปว่าถ้าเถ้าแก่ไม่หยุดคุกคามเขา เขาจะโทรเรียกกลุ่มขบวนการในสามจังหวัดฯ ให้มาจัดการ หลังจากนั้นเรื่องก็จบลงด้วยดีโดยที่เถ้าแก่ก็ไม่ทราบว่าคนมลายูดังกล่าวรู้จักกับกลุ่มขบวนการฯ จริงหรือไม่

ในอีกด้านหนึ่ง ผมเคยทราบมาว่า หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน เยาวชนมุสลิมชายที่เรียนในโรงเรียนทั่วไปโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เคยถูกเพื่อนต่างศาสนิกล้อว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหรือเรียกเขาว่า “บินลาดิน” ผมไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์เหล่านี้ยังเกิดขึ้นอยู่อีกหรือไม่ในปัจจุบัน หากท่านมีลูกหลานที่เรียนอยู่ในโรงเรียนทั่วไปก็ลองสอบถามพวกเขาดู ที่เล่ามาทั้งสองกรณีเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า เมื่อคลังข้อมูลและฐานความคิดของเราถูกกำหนดความหมายในลักษณะดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการง่ายที่เราจะเหมารวมว่ามุสลิมส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน และเมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่กระทำโดยมุสลิมบางคน มุสลิมส่วนใหญ่ก็ถูกมองว่าเป็นผู้ต้องหา เป็นผู้ก่อการร้าย หรือเป็นภัยของสังคมตามไปด้วย

 

อาการหวาดระแวงมุสลิมในปัจจุบันไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “มุสลิมชนกลุ่มน้อยทั่วโลก” นี้คือชะตากรรมเดียวกันและมันที่เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าพลังของการเหมารวมทำงานได้ดีแค่ไหน แต่กระนั้น ผมไม่คิดว่ามุสลิมเป็นผู้ถูกกระทำในกระบวนการสร้างความหวาดระแวงดังกล่าวเพียงฝ่ายเดียว แต่ในทางกลับกัน ผมคิดว่ามุสลิมมีส่วนที่ทำให้เกิดความหวาดระแวงนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำผ่านคำสอนของมุสลิมบางกลุ่มและพฤติการณ์ทางสังคมรูปแบบใหม่ที่เข้ามาพร้อมกับการฟื้นฟูอิสลาม    

โดยสรุป บทความนี้ชวนให้ผู้อ่านตระหนักถึงความสำคัญของเครื่องมือการเหมารวมที่ได้มาจากกระบวนการอนุมานซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากกกระบวนการสร้างความหมายแบบอุปมาน (inductive reasoning) ที่เริ่มต้นด้วยการสังเกตกรณีต่างๆ ไปสู่การสร้างสมมุติฐานและข้อสรุป ถ้าเรามองว่าอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของคนคนหนึ่ง (เช่น ความเป็นพุทธ-มุสลิม) มีลักษณะตายตัว ไม่เลื่อนไหลแล้ว การเหมารวมคงเป็นวิธีที่มีพลังมหาศาลในการให้คำอธิบายกับเราเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางสังคม อย่างไรก็ดี ถ้าเราเข้าใจว่าอัตลักษณ์ของมนุษย์นั้นมีลักษณะที่ลื่นไหล ไม่ตายตัวแล้วล่ะก็ เราจะเห็นภาพหลากสีและมองว่าผู้ที่มีความเป็น...(อะไรก็แล้วแต่) ไม่ได้เหมือนกัน ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันเสมอไปและไม่ได้เป็นศัตรูกับคุณทุกคน แต่ใครล่ะจะเสียเวลามาทำความเข้าใจความหลากหลายและความซับซ้อนของสังคมของเรา คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงหากจะกล่าวว่า การเหมารวมมีพลังมหาศาลในการอธิบายความจริงทางสังคม แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นพลังที่สามารถทำลายสังคมพหุวัฒนธรรมของเราด้วยเช่นกันและสถานที่ที่เราสามารถใช้เครื่องมืออันทรงพลังนี้ได้ตามอำเภอใจมากที่สุดก็คือสังคมเสมือนจริงในโลกออนไลน์ของเรานั่นเอง เมื่อไหร่ที่เราเดินเข้าสู่สังคม offline มากขึ้น ผมคิดว่าเครื่องมือดังกล่าวจะทำงานได้น้อยลงและเราจะเข้าใจกันมากขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล. (2017, September 27). เอกรินทร์ ต่วนศิริ: Islamophobia ความเป็นเราและความเป็นอื่น. Retrieved November 2, 2017, from https://prachatai.com/journal/2017/09/73431

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2016, February 15). ต่อต้านอิสลามในภาคเหนือตอนบน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์. Retrieved November 2, 2017, from https://www.matichon.co.th/news/38007

รวิช  ตาแก้ว. (2015, August 17). Syllogism. Retrieved November 6, 2017, from https://thamdimisukh.wordpress.com/2015/08/17/syllogism/

อ้อมใจ วงษ์มณฑา. (2013). ย่อยวิทยานิพนธ์: อิสลาม-สื่อ-ความรุนแรง : ปฏิสัมพันธ์บนเส้นทางการสร้างภาพลักษณ์ความรุนแรง. วารสารรูสมิแล (RUSAMILAE JOURNAL)34(2), 69–72.

Bryman, A. (2012). Social Research Methods (4 edition). Oxford ; New York: Oxford University Press.

Esposito, J. L., & Kalin, I. (Eds.). (2011). Islamophobia: the Challenges of Pluralism in the 21st Century (Vol. 2011). Oxford: Oxford University Press.

Deductive Reasoning: Everyday Examples. (n.d.). Retrieved from http://examples.yourdictionary.com/deductive-reasoning-examples.html

Green, D., & Shapiro, I. (1996). Pathologies of Rational Choice Theory: A Critique of Applications in Political Science. New Haven: Yale University Press.

Wikipedia. (n.d.). Syllogism. Retrieved from https://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:agBZBes3iJIJ:https://en.wikipedia.org/wiki/Syllogism+&cd=2&hl=en&ct=clnk&gl=tr

ภาพประกอบที่ 1 : http://blog.careercloud.com/post/113505064232/how-to-overcome-gender-stereotypes-when-applying

ภาพประกอบที่ 2 : http://www.veronicasicoe.com/blog/2013/02/how-to-use-stereotypes-in-writing-fiction/  

ภาพประกอบที่ 3 : https://mixedraceskin.wordpress.com/2016/04/05/suprising-stereotypes-mixed-race-tensions-for-british-muslims/


[1] ซึ่งมีลักษณะถ่ายโอนกันได้ (transitive) และอาจจะอยู่ในรูปตรรกะแบบ if A=B and B=C, then A=C หรือ if A=B and C=A, then C=B ก็ได้ ดังนั้น ตรรกะเหมารวมที่ว่า ผู้ก่อการร้ายเป็นมุสลิม เธอเป็นมุสลิม ดังนั้น เธอ (มุสลิม)=ผู้ก่อการร้าย เป็นอะไรที่ก่อร่างสร้างฐานได้ไม่ยาก