อ่าน : ความขัดแย้งทางชนชั้นกับการเมืองแบบมวลชนรอยัลลิสต์ ความย้อนแย้งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับพระราชอำนาจนำในสังคมไทย ของ เกษียร เตชะพีระ

 

บทความนี้อธิบายวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผ่าน 2 แนวทางการศึกษาคือ  หนึ่ง แบบแผนการเปลี่ยนย้ายอำนาจ (power shift) ที่เน้นมิติทางชนชั้น โดยเสนอว่าวิกฤติการเมืองปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการเปลี่ยนย้ายอำนาจครั้งใหม่ที่มีลักษณะเด่นคือ การพลิกกลับของจุดยืนทางการเมืองของชนชั้นกลางชาวเมืองจากกองหน้าผลักดันประชาธิปไตยในการเปลี่ยนย้ายอำนาจรอบก่อนมาเป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยในการเปลี่ยนย้ายอำนาจรอบนี้ ซึ่งส่งผลให้อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยแยกออกเป็นสองเสี่ยงในการเมืองไทย สอง อำนาจนำในฐานะโครงสร้าง โอกาสทางการเมืองวัฒนธรรม และไวยากรณ์ของการเมืองมวลชนแบบรอยัลลิสต์ ในส่วนนี้เป็นการอภิปรายเจาะลึกไปถึงแบบแผนการเคลื่อนไหวของขบวนการมวลชนชั้นกลางชาวเมืองที่มุ่งสร้างสุญญากาศทางการเมืองเพื่อเรียกร้องการแทรกแซงจากเบื้องบนโดยฉกฉวยใช้ความคลุมเครือของที่สถิตอำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่อยู่บนพื้นฐานของพระราชอำนาจนำ

เป็นโครงสร้างโอกาสทางการเมืองในการต่อสู้กับอำนาจนำทางเลือกของทักษิณและเครือข่ายที่ขึ้นมาท้าทายโดยประสานร่วมมือกับกองทัพ และตุลาการภิวัฒน์ มีเป้าหมายคือ หดพื้นที่ประชาธิปไตยให้แคบลงเพื่อทำให้ระบบดังกล่าวปลอดภัยสำหรับเครือข่ายผู้จงรักภักดีและพระราชอำนาจนำ การกระทำ “ทั้งหลายทั้งปวงนี้ส่งผลให้สถาบันกษัตริย์ถูกดึงเข้ามาพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้นและพระราชอำนาจนำเสื่อมถอยลงเนื่องจากสายสัมพันธ์ผูกมัดระหว่างประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์หย่อนคลายตัวออกไป”[1] รัฐประหาร คสช. เสนอตัวเป็นทางออกสำหรับภาวะตีบตันดังกล่าว โดยเข้าควบคุมอำนาจการปกครองโดยตรงอย่างเต็มที่ เพื่อกำกับควบคุมความขัดแย้งทางชนชั้น พลังของฝ่ายตรงข้าม และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ล่อแหลมต่อปัญหาการเมือง ภารกิจของ คสช. จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับการเอาชนะข้อจำกัดของตัวเอง ซึ่งจากสองปีกว่าหลังรัฐประหารก็เพียงพอจะประเมินได้แล้วว่าอนาคตข้างหน้าทางการเมืองอาจไม่สดใส

ในทัศนะของผู้วิจารณ์จุดเด่นของงานชิ้นนี้ คือ การเสนอกรอบคิดทฤษฎีใหญ่ในการมองพลวัตทางเศรษฐกิจ การเมืองในระดับมหภาคของสังคมไทยสมัยใหม่ในลักษณะของกระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจซึ่งวิกฤติการเมืองปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนย้ายอำนาจครั้งที่สามที่ยังไม่สิ้นสุด และการนำเสนอความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของกษัตริย์รัชกาลที่ 9 อันเกิดจาก “พระราชอำนาจนำ” และ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งถูกนำเสนอโดยเชื่อมโยงกับการเมืองมวลชนแบบรอยัลลิสต์ และวิเคราะห์ถึงผลกระทบของมันภายใต้วิกฤติการเมืองในรอบปัจจุบันได้อย่างแหลมคม  อย่างไรก็ดี ผู้วิจารณ์มีข้อสงสัยต่องานชิ้นนี้ 2 ประการ หนึ่ง ในประเด็น “พระราชอำนาจนำ” ผู้เขียนให้ความสำคัญน้อยต่อประเด็น พิธีกรรมหลวงอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2490 พิธีกรรมเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นของที่มีมาแต่โบราณ จารีตประเพณีหลายอย่างเพิ่งถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นประเด็นสำคัญคือ ในด้านหนึ่งพิธีกรรมเหล่านี้หลายอย่างส่งเสริมแนวคิดเทวราชา (deification) ที่ยกย่องกษัตริย์เสมือนเทวดาให้อยู่เหนือคนทั่วไป

อีกด้านหนึ่งพิธีกรรมเหล่านี้หลายอย่างช่วยส่งเสริมบารมี (อำนาจคุณธรรมและศีลธรรม) อันเป็นของสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นแนวคิดโบราณเกี่ยวกับอำนาจตามธรรมชาติของธรรมราชา ในบรรดาพิธีกรรมที่ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้น พิธีกรรมสำคัญอย่างหนึ่งคือ วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีหรือ “วันพ่อ”และ “วันแม่”แห่งชาติที่ตอกย้ำแนวคิดว่าพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีคือพ่อแม่ของชาวไทยทุกคน[2]  และสอง ในประเด็นตรรกะย้อนแย้งของการสร้างประชาธิปไตยบนฐานชนชั้น จากข้อเสนอ “การกำเนิดฝ่ายขวาไทย” ของ เอกสิทธิ์ หนุนภักดี[3]  ผู้วิจารณ์อยากเสนอต่อว่า “ไม่ใช่เพียงแค่มีการพลิกเปลี่ยนจุดยืนจากฝ่ายต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในการเปลี่ยนย้ายอำนาจรอบก่อนมาเป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยในการเปลี่ยนย้ายอำนาจรอบหลังเท่านั้น แต่กลุ่มคนดังกล่าวยังได้ร่วมมือกับชนชั้นนำเดิมเพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจที่ตนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งเอาไว้ด้วย” ดังเห็นได้จากตาราง

การเปลี่ยนย้ายอำนาจ

กลุ่มอำนาจเดิมต่อต้านประชาธิปไตย

กลุ่มช่วงชิงอำนาจใหม่ที่เรียกร้องประชาธิปไตย

การปฏิวัติ 2475

เจ้านายขุนนาง

กลุ่มชนชั้นนำข้าราชการ

14 ตุลา-พฤษภา 35

เจ้านายขุนนาง +กลุ่มชนชั้นนำข้าราชการ

กระฎุมพีชาวเมือง

2548 à ปัจจุบัน

เจ้านายขุนนาง +กลุ่มชนชั้นนำข้าราชการ+กระฎุมพีชาวเมือง

คนชั้นกลางระดับล่าง

 

 

ดังนั้น ณ จุดแตกแยกของเสรีนิยมกับประชาธิปไตย จึงไม่ใช่แค่ความขัดแย้งระหว่างประชาธิปไตยไม่เสรีของคนชั้นกลางระดับล่างกับเสรีนิยมไม่ประชาธิปไตยของชนชั้นกลางชาวเมืองเท่านั้น แต่เป็นความขัดแย้งระหว่าง ประชาธิปไตยไม่เสรีกับเสรีนิยมแบบไทยๆ ภายใต้พระราชอำนาจนำไม่ประชาธิปไตยด้วย (เน้นอำนาจรัฐที่จำกัด ตรวจสอบได้ พิทักษ์สิทธิของคนกลุ่มน้อยแต่ละเลยต่อสิทธิของคนส่วนมาก ขณะเดียวกันก็ยอมรับได้ต่ออำนาจสมบรูณ์ถ้าผู้ปกครองเป็นคนดี)

 



[1] เกษียร เตชะพีระ.  (2559).  ความขัดแย้งทางชนชั้นกับการเมืองแบบมวลชนรอยัลลิสต์ ความย้อนแย้งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับพระราชอำนาจนำในสังคมไทย, ฟ้าเดียวกัน, 14 (2), 14.

[2] Thongchai Winichakul. 2008. Toppling Democracy. Journal of Contemporary Asia 38 (1): 21.

[3] กำเนิดของฝ่ายขวาก็เช่นเดียวกับฝ่ายประชาธิปไตย คือ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดพลังทางสังคมใหม่ขึ้นมาท้าทายโครงสร้างอำนาจเดิม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในระดับหนึ่งที่ตนเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างนั้น และรับภารกิจปกป้องโครงสร้างดังกล่าวมาเป็นของตน อาจกล่าวอีกนัยว่า กระบวนการกลายเป็นประชาธิปไตยเป็นทั้งปัจจัยท้าทายฝ่ายขวาพร้อมกับสร้างขบวนการฝ่ายขวา(ในอนาคต) ขึ้นมาสมทบกับชนชั้นนำเดิมเป็นรุ่นๆ  (เอกสิทธิ์ หนุนภักดี. ว่าด้วยฝ่ายขวาไทย. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560. แหล่งที่มา https://prachatai.com/journal/2017/07/72576)