ความขัดแย้งรอบใหม่ : เคิอร์ดิสถานในสนามการเมืองระหว่างประเทศ


ภาพที่ 1   พื้นที่ครอบครองโดยกลุ่มรัฐอิสลาม “ไอซิส”ในปี 2014 (พื้นที่สีดำ)



ถาพที่ 2 แผนที่ความขัดแย้งล่าสุดในซีเรียและอิรัก 2017 (พื้นที่สีแดงอยู่ในการครอบครองของไอซิส)

 

ปี 2017 อาจกล่าวได้ว่าเป็นปีที่โลกมีความหวังมากที่สุดว่ากองกำลังของรัฐอิสลามหรือ “ไอซิส” ซึ่งเคยครอบครองอาณาเขตอย่างกว้างขวางระหว่างประเทศอิรักและซีเรียกำลังจะถูกทำลายลงอย่างราบคาบ ภาพที่ 1 และ 2 เผยให้เห็นพัฒนาการของการต่อสู้ว่ากองกำลังของไอซิสได้สูญเสียเมืองสำคัญภายใต้การครอบครองอย่างเช่นเมือง Raqqa และ Mosul ให้กับกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายเคิร์ดมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นข้อมูลจากเว็บไซต์ที่วิเคราะห์ด้านความมั่นคงอย่างเช่น SouthFront, ISW, Syria Direct และ Liveuamap ชี้ให้เห็นเช่นกันว่ากองกำลังไอซิสกำลังแตกกระจายและเหลืออยู่เป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ ที่พร้อมรอวันสูญสลาย คำถามที่สำคัญคือเมื่อไอซิสถูกทำลายแล้ว สันติภาพและเสถียรภาพทางการเมืองจะเกิดขึ้นหรือไม่ในพื้นที่ตะวันออกกลางโดยเฉพาะในพื้นที่สามเหลี่ยมความขัดแย้งในปัจจุบันที่ตั้งอยู่ระหว่างอิรัก ซีเรียและตุรกีซึ่งมีแม่น้ำไทกรีสและยูเฟรทีสเป็นภูมิศาสตร์สำคัญและมีแหล่งก๊าซธรรมชาติอยู่ไม่น้อย บทความนี้พยายามจะหาคำตอบสำหรับคำถามข้างต้นผ่านการสนทนากับคนหนุ่มสามคนจากสามประเทศที่ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พวกเขาเป็นชาวเคิร์ดอิรัก ชาวอาเซอร์ไบจาน และผู้ที่สันทัดกรณีความขัดแย้งในตะวันออกกลางชาวอิหร่าน

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2017 ที่ผ่านมา สื่อต่างชาติประโคมข่าวเรื่องการทำประชามติของชาวเคิร์ดที่อยู่ในภาคเหนือของประเทศอิรักเพื่อแยกเป็นประเทศเอกราช เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กลายเป็นการพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งในหลายประเทศที่มีพรมแดนติดกับพื้นที่ดังกล่าว ในตุรกี ประธานาธิบดี รอยิบ ตอยยิบ แอรโดอันแสดงปฏิกิริยาที่ผิดหวังกับการขยับทางการเมืองของนายมาสซูด บาร์ซานี ผู้นำชาวเคิร์ดในอิรักคนปัจจุบันโดยเขากล่าวในทำนองว่าบาร์ซานีไม่สำนึกบุญคุณของประเทศตุรกีที่ให้ความช่วยเหลือเขาตลอดมานอกจากนั้นปฏิกิริยาตอบสนองของผู้นำในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ ก็ออกมาในทางลบเป็นส่วนใหญ่ยกเว้นประเทศอิสราเอล ซียาด (สัมภาษณ์ 24 กันยายน 2017) ชาวเคิร์ดจากเมืองซูลิมานิยาฮ์ในอิรักให้ทัศนะก่อนวันลงประชามติหนึ่งวันว่า เราแทบไม่ต้องรอผลการนับคะแนนเราก็รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 90% แน่นอนแต่ใครจะแคร์พวกเรา คำถามที่สำคัญกว่าคือ จะยังไงต่อหลังจากที่ผลออกมาแล้ว ซียาดเริ่มแสดงสีหน้าผิดหวัง เขาขยายความต่อว่า ความจริงพวกเรารู้ดีอยู่ว่าผลการลงประชามติจะไม่มีผลอะไรในทางกฎหมายและทางการเมืองในอิรักและเราก็จะไม่สามารถแยกออกเป็นประเทศเอกราชได้หรอก บาร์ซานีทำอะไรของเขาก็ไม่รู้ ซียาดรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเกี่ยวกับผลกระทบและความไม่แน่นอนที่จะตามมาหลังจากการฟังผลประชามติในครั้งนี้   

ดูเหมือนว่าภัยคุกคามของภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งในอดีตมีไอซิสและรัฐบาลของบัชชาร อัลอะซัดเป็นตัวแสดงสำคัญกำลังจะเปลี่ยนหน้าไปเป็นตัวละครตัวใหม่ ตั้งแต่เหตุการณ์อาหรับสปริงในปี 2011 เป็นต้นมา สงครามกลางเมืองในซีเรียได้กลายเป็นวาระความมั่นคงแห่งชาติไม่ใช่แค่ของประเทศซีเรียเท่านั้น แต่ยังอยู่ในวาระนโยบายความมั่นคงของตุรกี รัสเซีย อิหร่านและสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ตุรกีในฐานะที่มีชายแดนติดกับซีเรียทางตอนใต้ของประเทศและมีความกังวลเกี่ยวกับการขยายของกองกำลังของชาวเคิร์ดทั้งในอิรักและซีเรียจึงไม่นิ่งนอนใจกับการจัดการกับปัญหาดังกล่าว ในทางปฏิบัติตุรกีต้องการใช้ไม้แข็งกับซีเรียเพื่อกำจัดรัฐบาลของบัชชาร อัลอะซัดและเปลี่ยนระบอบการปกครองในซีเรียให้เป็นมิตรกับตุรกีมากขึ้น แต่การจะถือวิสาสะและเข้าไปก้าวก่ายในกิจการภายในของประเทศอื่นก็เป็นสิ่งที่ผิดธรรมเนียมปฏิบัติภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศซึ่งตุรกีก็ตระหนักดีในเรื่องนี้ John Mearsheimer นักทฤษฎี neo-realist คนดังชาวอเมริกัน เมื่อครั้งมาบรรยายที่ตุรกีได้เสนอแนะให้ตุรกีระมัดระวังการส่งกำลังทหารภาคพื้นดินเข้าไปในซีเรีย แม้เขาจะทราบดีว่าสหรัฐอเมริกาต้องการให้ตุรกีทำอย่างนั้นแต่ Mearsheimer ให้ทัศนะว่าจากการดูประสบการณ์ของอเมริกาในการแทรกแซงอธิปไตยของชาติอื่นแล้ว มันไม่คุ้มและผลกระทบที่จะตามมาอาจจะมากกว่าที่ใครหลายคนจะคาดคิดได้ ในอีกแง่หนึ่งตุรกีซึ่งเป็นชาติพันธมิตรของ NATO ก็หวังว่าสหรัฐอเมริกาในฐานะที่เป็นชาติมหาอำนาจนำหนึ่งเดียวในปัจจุบันจะทำอะไรซักอย่างที่เป็นชิ้นเป็นอันในยุคของโอบามา สิ่งที่ตุรกีคาดหวังคือการที่รัฐบาลอัลอะซัดในซีเรียใช้กำลังเกินขอบเขตที่สหรัฐสามารถรับได้ นั่นคือ การใช้อาวุธเคมีกับประชาชน แต่แล้วตุรกีก็ต้องผิดหวังเมื่อรัฐบาลของโอบามาไม่สนับสนุนการโจมตีรัฐบาลอัลอะซัดอันเนื่องมาจากการใช้อาวุธดังกล่าว ตุรกีซึ่งเลือกข้างที่จะต่อต้านรัฐบาลอัลอะซัดจึงต้องหาทางเลือกอื่นที่เหลืออยู่ เพราะหากสงครามยังไม่หยุดตุรกีซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นประเทศที่รับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมากที่สุดในโลกต้องแบกรับภาระดังกล่าวอย่างไม่จบสิ้น

ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ตุรกีได้ส่งกองทหารเข้าไปปฏิบัติการทั้งในภาคเหนือของอิรักและล่าสุดที่เมือง Idlib ประเทศซีเรียอันเป็นผลมาจากการตกลงในกรอบพหุภาคีที่เมืองอัสตานาประเทศคาซัคสถาน Fuad Keyman ผู้เชี่ยวชาญด้านตุรกีศึกษาประเมินว่า ตุรกีในยุคหลังอะหมัด อาวูดโอลู (อดีตนายกรัฐมนตรีของตุรกี) ได้กำหนดแนวนโยบายที่ต่างออกไปจากเดิม กล่าวคือ รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ปรับนโยบายมาอิงกับความเป็นจริง (proactive moral realism) ด้วยการหันมาใช้อำนาจหนักในด้านความมั่นคง (hard power) มากขึ้น นอกจากนั้น ฮูเซน (สัมภาษณ์ 23 กันยายน 2017) นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในตะวันออกกลางเชื่อว่าการที่ตุรกีประกาศตนเข้าร่วมในสงครามลักษณะนี้ในซีเรียและอิรักนั้นได้ทำให้เกิดผลสะท้อนกับมาหาตุรกีเองโดยตรง โดยเขายกตัวอย่างการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายที่เกิดขึ้นหลายระลอกในประเทศตุรกีตลอดช่วงที่ผ่านว่าเป็นผลเชื่อมโยงมาจากนโยบายการแซงแทรกอธิปไตยของชาติอื่นซึ่งดูเหมือนจะเป็นการวิเคราะห์ที่สอดคล้องกับคำแนะนำของ Mearsheimer ข้างต้น ฮูเซนอธิบายต่อไปอย่างน่าสนใจว่า ถ้าหากชาวเคิร์ดในอิรักสามารถแยกออกเป็นประเทศเอกราชได้จริงแล้วละก็ ภูมิภาคนี้จะยิ่งลุกเป็นไฟมากขึ้นกว่าเดิมและผู้ที่จะชนะในเกมส์นี้ไม่น่าจะใช่ตุรกีแต่เป็นรัสเซียและอิหร่านมากกว่า เขาทำหน้าตาจริงจังเมื่อพูดถึงรัสเซีย ที่น่าสนใจกว่านั้น เขาแนะนำว่าพวกเราที่อยู่ในตุรกีอาจต้องรีบจัดการภารกิจให้เสร็จและหาทางออกจากประเทศนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดความขัดแย้งรอบใหม่และใหญ่กว่าเดิมในตุรกีซึ่งอาจจะนำไปสู่สงครามกลางเมืองก็เป็นได้ 

ปัจจุบันแม้สถานการณ์การเมืองโดยทั่วไปในตุรกียังดูไม่น่าเป็นห่วงนัก รัฐบาลพรรค AKP ของแอรโดอานสามารถควบคุมอำนาจรัฐไว้ได้ สภาพชีวิตของผู้คนยังดูปกติ แต่ใครจะรู้ได้ว่าประเทศที่รายล้อมด้วยสงครามและกลุ่มก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดในโลกจะรักษาเสถียรภาพภายในได้นานแค่ไหน แอชกิน (สัมภาษณ์ 27 กันยายน 2017) นักศึกษาปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชาวอาเซอร์ไบจานมองว่าชีวิตของผู้คนในเมืองอิสมิรซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตุรกียังไม่น่าเป็นห่วง สถานการณ์ยังปกติดีและไม่คิดว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองในเร็วๆ นี้ เมื่อถามไปถึงผลประชามติของชาวเคิร์ดในอิรัก เขาให้ทัศนะว่าเขาไม่เห็นด้วยในฐานะที่เป็นพลเมืองของอาเซอร์ไบจานซึ่งมีชาวเคิร์ดเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นกัน เขาเชื่อว่าต้องมีใครที่อยู่เบื้องหลังการจัดทำประชามติในครั้งนี้ คงไม่ใช่เพราะบาร์ซานีต้องการอยากจะจัดก็จัดได้ เขาไม่ใช่เพลย์เมคเกอร์ในเกมส์นี้แต่ต้องมีผู้ที่เรามองไม่เห็นคอยหนุนหลังอยู่แน่นอน อาจจะดูเหมือนทฤษฏีสมคบคิดแต่เขาคิดว่ามันต้องมีคนที่เรายังมองไม่เห็นซึ่งก็คือเพลย์เมคเกอร์ของเกมส์นี้นั่นเอง แม้จะยังไม่รู้ชัดเจนว่าใครจะได้ประโยชน์จากประชามติดังกล่าวแต่แอชกินก็มองว่าการขยับลักษณะดังกล่าวไม่น่าจะเป็นผลดีต่อสันติภาพในภูมิภาคคอเคซัสซึ่งรวมถึงประเทศอาเซอร์ไบจานด้วย

ทั้งซียาด ฮูเซน และแอชกิน คือคนหนุ่มในรุ่นราวคราวเดียวกันที่มีอายุระหว่าง 30-35 ปี เป็นพลเมืองที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้และได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ซียาดเป็นผู้ที่ได้-เสียโดยตรงจากผลการทำประชามติ ในขณะที่ฮูเซนซึ่งเป็นนักวิเคราะห์ชาวอิหร่านด้านความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอชกินซึ่งเป็นคนอาเซอร์ไบจานและกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับประเด็นการแก้ปัญหาสันติภาพในภูมิภาคคอเคซัสต่างได้รับผลกระทบในทางอ้อม ทุกคนดูเหมือนยังไม่เชื่อว่าความพยายามในการการสถาปนาประเทศเอกราชของชาวเคิร์ดในอิรักจะนำสันติภาพและเสถียรภาพมาสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางแม้ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะสามารถนำความสุขชั่วครู่มาให้ชาวเคิร์ดได้ก็ตาม ในทางกลับกันพวกเขามีรู้สึกว่าถ้าหากเคอร์ดิสถานเกิดขึ้นได้จริงจากการแยกออกมาจากประเทศอิรักแล้วละก็ ผลกระทบแบบลูกโซ่ (domino effect)  ในการท้าทายอธิปไตยของรัฐอาจจะเกิดขึ้นได้กับชาวเคิร์ดที่อยู่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศอื่นๆ หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ทั้งชาวเคิร์ดและประเทศในแถบภูมิภาคดังกล่าวก็เหมือนกับติดอยู่ในภาวะระหว่างเขาควายที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า prisoners’ dilemma ที่ไม่ว่าจะหันหน้าเดินไปทางไหนก็ต้องเจ็บตัว ตุรกีซึ่งมีประชากรชาวเคิร์ดอยู่มากที่สุดในภูมิภาคนี้ (ประมาน 14 ล้านคน) อาจจะเจอกับสงครามกลางเมืองอย่างที่ฮูเซนวิเคราะห์เอาไว้ก็เป็นได้ เมื่อถึงตอนนั้นความขัดแย้งรอบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่เพียงแค่จะนำไปสู่การเปลี่ยนดุลอำนาจในภูมิภาคนี้เท่านั้นแต่ (เมื่อมองเชื่อมกับการเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันที่คาตาลัน แคชเมียร์ ปาตานีและที่อื่นๆ ทั่วโลกแล้ว) อาจจะกระทบไปถึงระเบียบโลกในปัจจุบันที่มีสหรัฐอเมริกาถืออำนาจนำด้วย หากเป็นเช่นนั้นจริงเราคงต้องกลับมาขบคิดกันต่อว่าโลกหลังยุคระบบเวสฟาเลียน (Westphalia system) จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ฤาทางออกของปัญหาความขัดแย้งและการเมืองระหว่างประเทศต้องพึ่งภูมิปัญญากระแสหลักแบบสัจนิยมหรือเสรีนิยมเท่านั้น ทำไมเราจึงไม่มีทฤษฏีการเมืองระหว่างประเทศที่มาจากโลกทัศน์และญาณวิทยาแบบนอกโลกตะวันตก ฤามุสลิมกำลังเผชิญกับวิกฤติทางความคิดมากกว่าความตกต่ำทางกายภาพ

 

 

แหล่งอ้างอิง

Nahigyan, P. (May, 6, 2014). Seymour Hersh Links Turkey to Benghazi, Syria and Sarin. Foreign Policy Journal. Retrieved 23 September, 2017, from https://www.foreignpolicyjournal.com/2014/05/06/seymour-hersh-links-turkey-to-benghazi-syria-and-sarin/

Keyman, F. (2017). A New Turkish Foreign Policy: Towards Proactive Moral Realism. Insight Turkey. 19/1. p. 55-69.

ภาพที่  1 ที่มา http://www.france24.com/en/20141013-map-islamic-state-territory-iraq-syria

ภาพที่ 2 ที่มา http://www.bbc.com/news/world-middle-east-27838034