ชาวซิกห์กับแผ่นดินประติมากรรมสู่ “Homeland”

                  อับดุรเราะฮหมาน  มูเก็ม [1]

ผลของความไม่เท่าเทียม “ยังโผล่”และ “งอกเงย”ออกมาให้ผู้คนต้องรันทดกันมากเท่าไหร่  ความรุนแรงก็ยังจะ “คละคลุ้ง”และ “เพ่นพ่าน” คาวหยดเลือดรดราดและเททิ้งบนแผ่นดินขึ้นมาเท่านั้น ผลพวงและจุดจบ “ตามสูตร”ของความรุนแรงที่กระทำ “ในนามรัฐ” คือ “การสังหารหมู่” “อุ้มหาย”หรือ “การฆ่าตัดตอน” เหมือนที่ประเทศไทยใช้กันเกลื่อนเมือง

เหตุการณ์เหล่านี้เคยเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วนไม่ว่าจะเป็นในย่านพื้นที่ของรัฐปัญจาบ พลเมืองของประเทศที่นับถือ “ศาสนาซิกห์” และใช้ภาษา “ปัญจาบี” ในการสื่อสารหรือในพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของประเทศโดยเฉพาะเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่เคยเกิดขึ้นในการแบ่ง “ความเป็นอินเดีย”และ “ความเป็นปากีสถาน” ในปี ๑๙๔๗ ที่บริเวณรอยต่อของประเทศในการอพยพผู้คน

เหตุการณ์นองเลือดในชมพูทวีปหลายครั้งที่พยายามใช้ความรุนแรงเข้ามาตัดสิน เช่น เหตุการณ์แบ่งแยกประเทศระหว่างปากีสถานและบังกาลาเทศในปี ๑๘๗๐-๑๙๗๑ ผ่าน “นิยามความเป็นปากีตะวันออก”ด้วยสถานะ “พลเมืองชั้นสอง” ของกลุ่มชาติพันธุ์บังกาลีกับ “ความเป็นปากีตะวันตก”ด้วยสถานะ“พลเมืองชั้นหนึ่ง”

 ผลพวงแห่งความรุนแรงที่ก่อตัวและลุกโชน “ในนามประชาชน”ก็ยังทิ้งร่องรอยให้เห็นเป็น “นัยยะ”แห่งความไม่พอใจในระบบการปกครอง นโยบายรัฐและการดำเนินการของรัฐผ่านความไม่เท่าเทียมและความรุนแรงดังกล่าวด้วย “วิธีการเฉพาะ”ซึ่งนับเป็นการเชือดที่ค่อนข้างฝัง “แนวความคิดและมุมมอง” ไว้อย่างฉกาจ

ปรากฏการณ์พิเศษเหล่านั้นก็คือ “การลอบสังหารผู้นำ” (Assassinations) ของพลเมืองในประเทศมานับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นมหาตมะ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi, 1869-1948) ผู้นำชาวอินเดียในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษถูกจ่อยิงด้วยน้ำมือของหนุ่มนักชาตินิยมชาวฮินดู

หรือไม่ก็นายกรัฐมนตรีอย่าง ราจีฟ คานธี (Rajiv Gandhi, 1944-1991) ซึ่งโดนระเบิดพลีชีพของกลุ่มกบฏชาวทมิฬในปากีสถานช่วงปี 2007 สำหรับผู้นำสืบทอดทายาทจากนักการเมืองผู้พ่อ นั่นก็คือ เบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto, 1953-2007) เธอก็ถูกลอบสังหารด้วยเช่นกัน

ท้ายที่สุด “การไม่ลงรอยระหว่างผู้ปกครองและพลเมือง”ก็กลายเป็น “ความรุนแรงขั้นเด็ดขาด”ที่อินเดียไม่เคยลืม “งานฝีมือหรือประติมากรรมชิ้นเอกของพลเมือง” อย่างการลอบสังหาร อินธิรา คานธี (Indira Gandhi, 1917-1984) ด้วยวิธีการยิงโดยองครักษ์ชาวซิกห์ของตัวเธอเองเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่หล่อนได้“ประดิษฐ์ขึ้นผ่านทักษะการปกครองบ้านเมือง”ของหล่อนเอง

ผลพวงของการจัดการประเทศใหญ่ที่ไม่ค่อย “ใส่ใจรายละเอียด”กับความหลากหลายและไม่พยายามทำให้พลเมืองมีความเท่าเทียมกัน หรือ การขีด กรีดแบ่ง ตลอดจน ซอกซอยเป็นกลุ่มก้อนให้แตกเป็นเสี่ยง ๆ โดยนโยบาย “ระบบและโครงสร้างของการปกครอง” ผ่านชนชั้นหนึ่ง, ทำให้รู้สึกว่าเป็นพลเมืองมือสอง ,ประชากรประเภทสาม หรือ กลุ่มชนชั้นที่ถูกลืม

“ความรุนแรง”หรือ“การเข่นฆ่า”อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาด้วยซ้ำไม่ว่าจะใช้สูตรไหนเข้ามาตัดสิน เมื่อพลเมืองไม่ได้รับการดูแลจากความเป็นรัฐ ทางออกและทางรอดของพลเมืองก็ไม่ไม่กี่ทาง “การปลดปล่อย”คือ ทางรอดเดียวที่พลเมืองคิดออกในเสี้ยวเวลานี้ หนึ่งในนั้นที่ชาวซิกห์เลือกใช้คือ “การลอบสังหารผู้นำ”

จึงไม่แปลกที่ นักปราชญ์ชาวจีนอย่างเล่าจื้อ เคยกล่าวว่า

“การปกครองประเทศใหญ่ ๆ มีความยุ่งยากมาก มันยากพอ ๆ กับการที่ท่านต้องทอดปลาตัวเล็ก ๆ โดยไม่ให้ไหม้หรือติดกระทะนั่นแหละ”

จึงไม่แปลกอีกนั่นแหละที่ Shahid R. Siddiqi ได้นำเสนอเรื่อง Failure of the Indian Government to address the root causes could lead to a Domino effect in South Asia ว่า “อินเดียมีกลุ่มที่พยายามก่อจลาจลผ่านขบวนการติดอาวุธที่แสดงตัวอย่างชัดเจนมากกว่า ๓๐ กลุ่มซึ่งเคลื่อนไหวทั่วตะเข็บชายแดนของประเทศอินเดีย แนวความคิดเหล่านั้นมีผลโดยตรงจากการสนับสนุนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่วางอยู่มากมายอย่างระเกะระกะไร้การจัดการคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นโดยผู้รับผิดชอบในนามรัฐ”

ทั้งหมดเหล่านี้เกิดจากปัญหาไม่กี่อย่างที่ดำเนินอยู่บนโลก ส่วนหนึ่งความไม่ลงรอยในด้านการจัดการของรัฐ,ความเป็นชาติพันธุ์ที่เข้มข้นหรือการดูแลของรัฐที่ไม่ทั่วถึง จึงไม่แปลกที่ขบวนการขับเคลื่อนแบ่งออกเป็นหลัก ๆ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการเมืองไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินทางด้านอัสสัม (Assam) แคชเมียร์ (Kashmir)หรือรัฐซิกห์อย่างปัญจาบ(Khalistan ; Punjab),

 ความไม่เสถียรของระบบเศรษฐกิจสำหรับพลเมืองในแถบพื้นที่รัฐตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย(north-eastern states) กลุ่มเมาอิส, (Maoist) กลุ่มนากาลิส(Naxalite) ในรัฐย่านเวสเบงกอล(West Bengal),อันดราปราเดส(Andhra Pradesh) บิหาร (Bihar) มัดราปราเดส (Madhra Pradesh) และมหาราชทา(Maharashtra) ความไม่พอใจในความเป็นชนกลุ่มน้อยด้านศาสนาในย่าน ลัดดาก (Laddakh)

Shahid R. Siddiqi  ได้นำเสนออีกว่า “ความไม่ลงตัวแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะปรากฏว่า ประเทศอินเดียมีกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวประมาณ ๑๖ กลุ่ม และกลุ่มองค์กรก่อการร้ายมากประมาณ ๖๘ กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ส่วนตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๗ กลุ่ม,๔ กลุ่มในส่วนกลางและตะวันออก,๑๗ กลุ่มในตะวันตกและ ๓๘ ในตะวันตกเฉียงเหนือ”

ประเทศอินเดียพยายามเชื่อมโยงความรุนแรงทั้งหมดไปสู่ประเด็น “การก่อการร้าย”ผ่านความเป็นศาสนาไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแนวความคิดแบบอิสลาม,กลุ่มนิยมความเป็นซิกห์,ขบวนการขับเคลื่อนของคริสเตียน, อินเดียได้มอง “มิติศาสนา”มีความสำคัญกับความไม่สงบและการก่อการร้ายของประเทศ  ในบางพื้นที่แห่งความไม่สงบแถบยามมู (Jammu) แคชเมียร์ (Kashmir),มุมไบ (Mumbai),หรือกลุ่มรัฐต่าง ๆ ประมาณ ๗ แห่งที่ประกาศอย่างชัดเจนว่าต้องการเป็นรัฐอิสระและแยกประเทศออกจากฮินดูสถาน 

จากการสำรวจในปี ๒๐๐๖ “ประเทศอินเดียมีกลุ่มก่อการร้ายและก่อความไม่สงบทั้งหมดจำนวน  ๖๐๘ กลุ่มจากพื้นที่สำรวจประมาณ ๒๓๒ แห่ง”[2] และจากการสำรวจได้ระบุไว้ในหนังสือพิมพ์ Time of India ในปี ๒๐๐๘ ระบุว่า “กลุ่มก่อความไม่สงบและกลุ่มก่อการร้ายเพิ่มเป็น ๘๐๐ กว่ากลุ่มที่ทำการเคลื่อนไหวในประเทศอินเดีย” [3]

กลุ่มขบวนการต่าง ๆ ทรงอิทธิพลทั่วประเทศอินเดีย ชนเผ่าโบโด (Bodos)ในพื้นที่ย่านรัฐอัสสัม(Assam)เพื่อต้องการแยกอิสระจากอัสสัม เป้าหมายของกลุ่มทั้งหมดเหล่านี้ “ต้องการเป็นอิสระ”จากการปกครองรัฐตัวแทนอินเดียหรือออกจากแผ่นดินใหญ่ของอินเดียเพื่อความเป็นชนเผ่าและชาติพันธุ์นั่นเอง

สำหรับการทำให้เป็น Homeland ของชาวซิกห์ในเมืองปัญจาบนั้นได้พยายามดำเนินการมานาน กระทั่งเริ่มชัดเจนตั้งแต่ปี ๑๙๗๐ และพลเมืองของรัฐเริ่มเปิดประเด็นเรื่อง Kalistan : Land of Sikh” และได้รับความร่วมมือจากพลเมืองของรัฐได้เป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศเพื่อต้องการ “การอยู่รอด” ภายใต้มิติแห่งศาสนาและชาติพันธุ์ที่แตกต่าง

 ทางเดียวที่จะต่อรองอำนาจได้ นั่นก็คือ “การรวมกลุ่ม”เพื่อแสดงจุดยืนและอัตลักษณ์ของตนให้ประเทศและพลเมืองของประเทศกระแสหลักได้เห็น รัฐปัญจาบนับเป็นรัฐที่บรรจุไปด้วยประชาชนที่นับถือศาสนาซิกห์เป็นส่วนมาก และนับเป็นศาสนาที่ใหญ่อันดับสี่ของประเทศอินเดีย ที่ได้ก่อตั้งมามากกว่า ๕๐๐ ปี โดยผู้มีอิทธิพลในการขับเคลื่อนศาสนานี้คือ กุรุนานัก (Guru Nanak Dev ji.) ผู้ซึ่งเกิดในครอบครัวของชาวฮินดูในปี ๑๔๖๙-๑๕๓๙

ประชาชนรัฐนี้ประมาณ ๒ เปอร์เซ็นหรือ ประมาณ ๑๔,๕๙๒,๓๘๗ คน  และจากการสำรวจประชากรชาวซิกห์ทั้งประเทศในปี๒๐๐๑ ประเทศอินเดียทั้งหมดประมาณ ๑๙,๒๑๕,๗๓๐ คน  เอกลักษณ์ชาวซิกห์นั่นก็คือ การไว้ผมยาวและเก็บผมไว้ในผ้าคลุมศีรษะเป็นสีต่าง ๆ ซึ่งมีให้เห็นอย่างมากมายในประเทศไทย พลเมืองของซิกห์ส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจและเมืองปัญจาบนับเป็นเมืองที่สะอาดและมีค่าครองชีพค่อนข้างสูงอันดับต้น ๆ ในประเทศอินเดีย

สัญลักษณ์แห่งความเชื่อของชาวซิกห์ที่มักจะพบเจอกันบ่อย ๆ นั่นก็คือ หวี กำไลและกริซ  ตัวแทนของชาวซิกห์ส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรี และหนึ่งในนั้นคือ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนั่นก็คือ ดร.มาน โมฮาน ซิง (Dr. Manmohan Singh) สำหรับพลเมืองของซิกห์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นทหารและตำรวจของประเทศอินเดีย ด้วยสายงานและอาชีพของชาวซิกห์เอง จึงไม่แปลกที่ นายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศอินเดียอย่าง อินทิรา คานธี ต้องโดนลอบสังหารอย่างง่ายเกินกว่าจะมโนภาพได้

ประติมากรรมชิ้นเอกเหล่านี้ยังรวมไปถึงการจัดการตัวเองเพื่อปลดปล่อยจากแผ่นดินฮินดูสถาน  โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ค่อนข้างบานปลายเป็นอย่างมากในปี ๑๙๗๐ ในขณะกลุ่ม Indian Green Revolution ได้เพิ่มความมั่งคั่งของกลุ่มชนตัวเองผ่านระบบเศรษฐกิจที่ดีเพื่อชาวซิกห์ ประการพื้นฐานเหล่านี้ส่งผลต่อความเป็นฮินดูในประเทศ ประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ ที่ “ฝังราก”มานาน โดยเฉพาะความไม่ลงรอยในการจัดการความเท่าเทียมของพลเมืองสำหรับประเทศใหญ่ ๆ อย่างอินเดีย

ปี ๑๙๘๐ กลุ่ม  Khalistan ได้ออกมาก่อความไม่สงบและความรุนแรงเพื่อเรียกร้องเอกราชและแยกประเทศออกจากอินเดีย ความต้องการเหล่านี้เป็นปัจจัยข้อเดียวในการก่อความรุนแรง ก็คือ Homeland ; Land of Sikh”  นั่นเอง หนำซ้ำอินเดียนับเป็นประเทศที่มีศัตรูรอบด้านไม่ว่าจะเป็นจีน หรือ ปากีสถาน หรือชาวซิกห์โพ้นทะเลที่กระจัดกระจายทั่วทุกมุมโลก

ปากีสถานกลายเป็นส่วนหนึ่งจากกลุ่มที่ให้การสนับสนุนเพื่อที่จะใช้สถานการณ์เหล่านี้ “ตัดและซอยเค้กแห่งอำนาจ”ให้เล็กลง  กระทั่งอำนาจรัฐอินเดียได้ประกาศ Operation Blue Star” เพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว ผลพวงการดำเนินนโยบายดังกล่าวส่งผลถึงมหาวิหารของซิกห์อย่าง Golden Temple ของรัฐปัญจาบต้องโดนโจมตีผ่านกองกำลังของรัฐ นโยบายดังกล่าวนับเป็นงานฝีมือของนายกรัฐมนตรีในการออกคำสั่งให้ทหารใช้ความรุนแรงถล่มวัดของศาสนาซิกห์ด้วยการใช้กำลังพลทหารและรถถัง ไม่ต่างกับการถล่มมัสยิดกรือเซะของรัฐไทยในปี ๒๐๐๕ หรือประมาณเมื่อ ๘ ปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา ณ จังหวัดปัตตานี

หลังจากการต่อสู้กว่า ๓ วัน กองกำลังในนามของรัฐได้ยึดมหาวิหารและห้องสมุดของชาวซิกห์ได้   นายทหารที่ปฏิบัติการเสียชีวิต ๘๓ นายและชาวซิกห์ถูกสังหารประมาณ ๒๔๙ คน  ในปีเดียวกันชาวซิกห์ได้ลอบสังหารนายกรัฐมนตรีหญิงคนสำคัญของอินเดีย อินทิรา คานธี ผู้สืบทอดสายการเมืองมาจากผู้เป็นพ่อ ยาวาฮาลาล เนห์รูและปู่ โมติลาล เนห์รู นักต่อสู้ของอินเดียเพื่อเรียกร้องเอกราช

ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อชาวอินเดีย ในสายการเมืองของฮินดูได้ต่อต้าน “ความเป็นชาวซิกห์” ในปี ๑๙๘๕ กลุ่มก่อการร้ายชาวซิกห์ได้วางระเบิดสายการบินอินเดียเที่ยวบินจากแคนาดา-นิวเดลี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๓๒๙ คน เบื้องหลังการก่อการร้ายของกลุ่มชาวซิกห์ได้รับการสนับสนุน จากปากีสถาน, กลุ่มชาวซิกห์ในแคนาดาและอังกฤษ

จากความไม่เท่าเทียมและการสังหารหมู่ในนามของรัฐประเทศอินเดียได้เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวขึ้นต่าง ๆ มากมายเพื่อต่อสู้กับรัฐและปลดปล่อยแผ่นดินชาวซิกห์ให้เป็นเอกราชจากอินเดีย กลุ่มเหล่านี้รัฐได้ให้สมญานามว่า “กลุ่มก่อการร้าย” ที่เป็นอันตรายกับแผ่นดินภารตะ

สำหรับประติมากรรมของชาวซิกห์ใน Kalistan(ผืนแผ่นดินอิสระในอินเดีย) มีประเด็นหลัก ๆ ก็คือ

อย่างที่หนึ่ง           การกระทำของชาวซิกห์ได้รับความสำเร็จอย่างชัดเจนผ่าน“ตราบาป” ที่พวกเขาได้เป็นผู้ก่อขึ้น ภาพที่ชัดเจนที่สุดนั่นก็คือ การทำงานของพวกเขาได้รับการหนุน​เสริมและช่วยเหลือกัน ผ่านการประกาศตัวเองอย่างชัดเจนในการเป็น “ผู้ก่อการร้ายบนแผ่นดินอินเดีย” อย่างองอาจและวางระเบิดเครื่องบิน Air India ต้นทางจาก Canada-New Delhi ในปี๑๙๘๕ ผ่านการให้ความร่วมมือและได้รับการสนับสนุนจาก ชาวซิกห์ในอังกฤษและแคนาดา

ภายหลังสถานการณ์ที่ถูกประติมากรรมด้วยความรุนแรงผ่าน “ความเป็นรัฐอินเดีย” ซึ่งนำเสนอทางออกให้ชาวซิกห์ด้วยการเกิดกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ เพื่อปลดแอก ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มดาล กาลสา (The Dal Khalsa),กองทหารดาชเมช (The Dashmesh Regiment),กองกำลังรบพิเศษกาลิสตาน(The Khalistan Commando Force),กองกำลังปลดปล่อยกาลิสตาน(The Khalistan Liberation Force),บับบาร์กาลสา(The Babbar Khlasa)

ศูนย์รวมสหพันธ์นักศึกษาซิกห์อินเดีย(The All India Sikh Student’s Federation),กลุ่มนักศึกษาซิกห์แนวหน้า(The Student Front Of Sikh Student),กองกำลังเยาวชนติดอาวุธชาวซิกห์(Militant Arm Of The Sikh Youth)และกองกำลังพยัคบรินดานวาเลคาลิสตาน(The Bhindranwale Tiger Force Of Khalistan) กองกำลังทั้งหมดเหล่านี้ประกาศ “ก่อการร้าย” กับอำนาจรัฐอินเดียอย่างชัดเจน

         คนเหล่านั้นมีกระบวนการสร้างฐานคิดหลังจากถูกรัฐประกาศสงครามอย่างไรจึงมีการลุกฮือของกลุ่มต่าง ๆได้มากมาย ?

อย่างที่สอง ชาวอิ​นเดียเกือบทั้งประเทศ โดยเฉพาะฮินดูเกลียดชาวซิกห์เพราะพวกเขาสังหารนายกรัฐมนตรีอินเดียปี ๑๙๘๔ แต่ชาวซิกห์ ๑๙ ล้านคน คุมมุสลิมมากว่า ๒๐๐ ล้าน และชาวฮินดูประมาณ ๙๐๐ ล้าน สถานการณ์เหล่านั้นชาวซิกห์ปลดและถอดคราบนักก่​อกวนได้เพียง ๓๐ กว่าปี เขาจึงสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศได้

ชาวซิกห์มีกระบวนการเยียวยาความบ​อบช้ำของคนทั้งประเทศและสร้างการยอมรับให้คนอินเดียได้อย่างไร ?

อย่างที่สาม ตามตำราภารตะยุทธ์ อินเดียไม่เคยทิ้งเรื่องความบาด​หมางและรอยแค้นอย่างง่ายดาย​ จนคำยอดฮิตอินเดียได้บอกว่า "สันติภาพเป็นคำกุ เสรีภาพคือคำลวง สันติสุขคือคำกล่าว แต่หยิบยื่นรอยคาวเลือดคือ การกระทำต่อกัน" ชาวซิกห์ในเมืองปัญจาบ แค่ ๑๔ ล้านที่เป็น Sikh Homeland หรือ ๒ เปอร์เซ็นในประเทศอินเดีย แต่เขาสามารถย่างเข้าถนนการเมืองในพรรคครองเกรสและเป็นนายกรัฐมนตรี

พรรคครองเกรสของ มาน โมฮาน ซิง คือ พรรคเดียวกันที่ โซเนีย คานธี (ภรรยาของราจีฟ คานธี)เป็นหัวหน้าพรรคและลูกชายของหล่อนคือ​ ราฮูล คานธี และคนที่ฆ่าแม่ของราจีฟ คานธี คือสัญลักษณ์แห่งความเป็นซิกห์จาก ชาติพันธุ์ที่ มาน โมฮาน ซิง สังกัดอยู่นั่นเอง

 กระบวนการอภัยของตระกูลคานธีเกิดขึ้นแบบไหน ? ชาวซิกห์ย้อมตัวเองได้อย่างไรจนร่วมพรรคการเมืองเดียวกัน?

อย่างที่สี่ ซิกห์คลุมเศรษฐกิจอินเดีย ด้วยการเป็นนักธุรกิจและสายอาชีพฝ่ายปกครองด้วยการเป็นตำรวจและทหารของประเทศ กระทั่งความเก่งของชาวซิกห์​ มีระเบียบวินัยสูง นักธุรกิจ ผู้คงแก่เรียน มีคุณภาพและมีการศึกษาอย่างดี ชาวซิกห์จึงไม่เคยบกพร่องทรัพยากรบุคคล ชาวซิกห์เหล่านี้อาศัยทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ อเมริกา มาเลเซีย แคนาดา หรือ ประเทศไทย

จึงไม่แปลกหลังจากพวกเขา โดนถล่มจากรัฐ ภายใต้ปฏิบัติการที่สถานศัก​สิทธิ์ Golden Temple เขาได้ผลิตกลุ่มก่อการร้ายม​าก กว่า ๑๐ กลุ่มและเสนอตัวชัดเพื่อเป็นอิสระจากอินเดีย กระทั่งการต่อสู้ทางการเมืองของชาวซิกห์นำเสนอพรรค​การเมืองของตน เพื่อลงต่อรองอำนาจในประเทศอินเดีย

ชาวซิกห์มีกระบวนการสร้างคนของตัวเองให้มีคุณภาพได้อย่างไรจึงสามารถคุมระบบการปกครองของอินเดีย ?

ทั้งหมดเหล่านี้คือ “ความชัดของวิถีแห่งชาวซิกห์” แม้มีรอยต่อไปสู่“ผลพวงแห่งการใช้ความรุนแรง” ทั้งชาวซิกหืและรัฐแลกกับการรักษาอำนาจของความเป็นรัฐและเพื่อปกป้องอธิปไตยของฝ่ายตนเองไว้ จนผลลัพธ์ของความเป็นไปในมุมรัฐด้วยความไม่เท่าเทียมและการลืมให้ความสำคัญของพลเมือง ทางออกคือ “การใช้กองกำลังเข้าไปปะทะ”ในขณะทางเลือกพลเมืองผ่านการไม่เห็นด้วยกับรัฐก็ไม่มีทางอื่นให้เลือกมากนอกจาก “การลอบสังหาร”

ไม่แปลกที่ มหาตมะ คานธี ผู้นำอินเดียเคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า “ตาต่อตา ทำให้คนทั้งโลกตาบอด”

สิ่งเหล่านี้อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนขั้วอำนาจทั้งหลายที่ยังคงหมกมุ่นอำนาจผ่านการ “ใช้สูตรเดิม ๆ ”จนปล่อยให้คาวเลือดรดราดแผ่นดินด้วยวิธีรุนแรงแลกกับผลประโยชน์บางอย่างของชนชั้นปกครอง  เมื่อเป็นเช่นนี้ สนธิสัญญาปรองดองหาได้มีผลประโยชน์กับใครแม้แต่คนเดียว เพราะมันคือ “ผลลัพธ์งานฝีมือ”ผ่าน “ใบอนุญาต”ให้ “ห้ำหั่นและนองเลือดกัน” อย่างไม่รู้สิ้น

เลือดของชนชั้น “ผู้ใต้ปกครอง”กับหยดน้ำตาของ “ชนชั้นผู้นำ”ผ่านการถูกสังหารก็จะเส้นไหว้เพื่อย้อมราคะและอัตตาดังกล่าว

เมื่อเป็นเช่นนั้น “ปลอกกระสุนและรอยน้ำตา” ก็ถึงคราเบ่งบาน



[1] M.A. Political science (Islamic political philosophy), Aligarh Muslim University,India,2008-2010 เขียนเมื่อ ; 5-6-2012

[2]  India Assessment – 2007

[3] http://timesofindia.indiatimes.com/news/india/800-terror-cells-active-in-country/articleshow/3356589.cms