จากมาเลเซียมองทะลุชายแดนใต้
ปาตานีฟอรั่ม ได้มีโอกาสสนทนากับ ดร. ฟารีช นูร์ (Dr. Farish Noor) ซึ่งเป็นนักรัฐศาสตร์ชั้นแนวหน้าของประเทศมาเลเซียและนักวิจัยอาวุโส แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ การสนทนาครั้งนี้มุ่งเน้นเกี่ยวกับความขัดแย้งในพื้นที่ชาวมลายูทางภาคใต้ของไทยและแนวทางหยุดยั้งการสูญเสียที่เกิดจากความขัดแย้งอันนำไปสู่ความรุนแรง
คำถาม: มีความเข้าใจปัญหาภาคใต้ของไทยอย่างไร สำหรับชาวมาเลเซียเกี่ยวกับความขัดแย้งและการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่มีชนพูดภาษามลายูทางภาคใต้ของไทย?
ตอบ: ทางมาเลเซียทราบว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย แต่พวกเขาไม่ทราบถึงวิธีการและเหตุผลที่เกิดขึ้น โดยหากยกเว้นรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย กลันตัน ตรังกานู, เคดาห์ และ เปอร์ลิสแล้ว รัฐที่เหลือทั้งหมดของคาบสมุทรมลายูรวมทั้ง รัฐซาบาห์และซาราวัก ยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับรัฐที่เหลือทั้งหมดของคาบสมุทรมลายู สำหรับเหตุผลทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์นั่นก็คือส่วนหนึ่งของประเทศไทยเชื่อมต่อกับทั้ง สี่รัฐทางภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย ประวัติศาสตร์ของการอยู่ภายใต้การแทรกแซงของไทยทั้งทางตรงหรือทางอ้อมในระยะเวลา 300 ปีที่ผ่านมาและแน่นอนทีเดียวสายสัมพันธ์ที่เหนี่ยวแน่นของวัฒนธรรม ภาษาและครอบครัวรวมถึงความคุ้นเคยของทั้งสองฝั่งได้เชื่อมต่อกัน นี่เป็นปัญหาที่มีข้อพิพาทในพื้นที่เช่น รัฐกลันตัน, ตรังกานู และเคดาห์ แต่ไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนในรัฐยะโฮร์ซึ่งเป็นรัฐทางตอนใต้ของประเทศมาเลเซียและในรัฐทางตะวันออกของมาเลเซียก็ไม่มีเช่นกัน คนทั่วไปเข้าใจว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นแต่ในแง่ของความเป็นหนึ่งอันเดียวกันของเอกภาพทางชาติพันธุ์ (Ethnic Solidarity) ซึ่งเราไม่เห็นหลักฐานที่มากพอในเรื่องนี้ มาเลเซียยอมรับเกี่ยวกับชายแดนที่มีอยู่ระหว่างมาเลเซียและไทย ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้วไม่มีรัฐบาลชุดใดของมาเลเซียได้อ้างสิทธิใด ๆเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ของไทย) และแน่นอนว่าเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในพื้นที่ สิ่งสุดท้ายที่รัฐบาลมาเลเซียต้องการคือการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้ความรุนแรงในพื้นที่นั้น มันเป็นปัญหาที่ไม่เข้าใจเลยสำหรับมุมมองข้างต้น
ถาม : อะไรคือบทบาทของรัฐบาลมาเลเซียและภาคประชาสังคมของประเทศมาเลเซียที่สามารถช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ได้
ตอบ อันนี้กลายเป็นปัญหาด้วยเหตุผลง่ายๆที่ว่าสังคมมาเลเซียก็มีความซับซ้อนอยู่ในตัวเอง ปัญหาของความรุนแรงในภาคใต้ของประเทศไทยอาจจะมีเสียงสะท้อนที่แตกต่างกันในหมู่ชาวมาเลเซียที่มีเชื้อชาติและศาสนาที่แตกต่าง สำหรับชาวมาเลเซียในทางภาคเหนือของประเทศ ปัญหานี้เป็นปัญหาใกล้หัวใจของพวกเขามากทีเดียวเนื่องจากความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ แต่มีแนวโน้มที่จะเข้าข้างชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้ของประเทศไทยและวัตถุประสงค์บางอย่างอาจจะหายไปบ้าง ส่วนในเรื่องที่ NGO สามารถทำได้นั่นก็คือ มาเลเซียมีทีมงานรักษาสันติภาพ (Peacekeeping Team) ที่ดีรวมทั้งทีมงานบรรเทาภัยพิบัติ (Disaster Relief Team ) ในเขตความขัดแย้งที่อื่น ๆ ทั่วโลก แต่บางทีอาจเป็นเพราะความใกล้ชิดระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย สำหรับเหตุผลที่ผมกล่าวมาข้างต้น เป็นการวิเคราะห์โดยส่วนตัว จากเหตุการณ์ทั้งหมดควรทำด้วยวิธีที่ระมัดระวังมากเพราะเมื่อเงื่อนไขความเป็นจริงและการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-partisan) ได้ถูกทำให้สูญเสียไป ซึ่งเหมือนมีการแทรกแซงแบบแบ่งพรรคแบ่งพวกขึ้นในส่วนของประเทศมาเลเซีย ไม่ว่าอย่างไรก็ตามมาเลเซียเองจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น
ถาม ทำไมความมั่นคงในภาคใต้ของประเทศไทยมีความสำคัญในอาเซียน?
ตอบ : ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนอกจากเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ไม่พึงประสงค์แล้ว ความขัดแย้งจะทำให้พื้นที่ที่ควรพัฒนาจะเติบโตไปได้ช้าลง สำหรับ มาเลเซีย อินโดนีเซียและประเทศไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสามเหลี่ยมการเจริญเติบโตหรือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (Growth Triangle) ซึ่งเชื่อมโยงภาคใต้ของประเทศไทยอยู่ในโครงการด้วย แต่การเจริญเติบโตนี้ไม่ได้แพร่กระจายไปยังชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย นั่นก็คือในพื้นที่ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เพียงเพราะการลงทุนไม่สามารถเป็นไปได้ในพื้นที่นี้ ความพยายามที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่มีงบประมาณต่ำได้ล้มเหลว พยายามที่จะสร้างโรงแรมขนาดเล็กรวมถึงสาขาของร้านอาหารก็ล้มเหลวอีกเช่นกัน เนื่องจากการระเบิดและการโจมตีที่เกิดขึ้น ปัญหานี้จะไม่ดีสำหรับทั้งสองฝ่าย ชาวมาเลเซียต้องการที่จะลงทุนและคนไทยเองก็ต้องการที่จะลงทุนเช่นกัน แต่ด้วยภาวะความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานทำให้เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับทุกคน มันน่าสงสารเพราะศักยภาพการท่องเที่ยวมีมากเป็นพิเศษ ชาวมาเลเซียบินไปกรุงเทพฯ เชียงใหม่และภูเก็ตตลอดเวลาและพวกเขาก็ต้องการเยี่ยมชมภาคใต้ของประเทศไทยเช่นกัน ผลกระทบก็คือการไปท่องเที่ยวสถานที่เหล่านั้นคือทำให้ภาคใต้สูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจไป
ถาม อาจารย์ได้เก็บรวบรวมศิลปะและงานฝีมือรวมทั้งของเก่าจากชุมชนและชนเผ่าต่างๆทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความรุนแรงในภาคใต้ของประเทศไทยเป็นอุปสรรคกิจกรรมในเชิงพาณิชย์รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้หรือไม่
ตอบ : กรณีนี้สำหรับผมเป็นหนึ่งในความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในฐานะที่เป็นนักประวัติศาสตร์ สถานที่ในปาตานี มีความสำคัญต่อหมู่เกาะต่างๆที่พูดภาษามาลายูเป็นอย่างมาก แน่นอนที่ว่าปาตานีเดิมทีเคยเป็นศูนย์กลางของการผลิตงานศิลปะและวรรณกรรมและยังเป็นศูนย์กลางของผลผลิตด้านวิชาการและความรู้ทางปัญญา ทั้งหมดเหล่านี้ได้สูญหายไปและถูกลืมอย่างสิ้นเชิงในปัจจุบันนี้ ความจริงก็คือได้เห็นถึงความไม่เป็นมิตรซึ่งความขัดแย้งทำให้พื้นที่เป็นเช่นนี้ส่วนในแง่ของคุโณปการด้านงานศิลปะในวงกว้างและชีวิตปัญญาชนในโลกมลายูได้ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง ปาตานีไม่ได้มีบทบาทสำคัญที่โดดเด่นในด้านศิลปะและอักษรมลายูมามากกว่า 30 ปีแล้ว ทั้งในอาเซียนและในยุโรป พูดกันง่ายๆก็คือผลผลิตทางด้านศิลปะจะขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางการเมืองนั่นเอง ซึ่งนี้เป็นความจริงในประวัติศาสตร์ของมนุษย์และสังคม คุณต้องการที่ที่ปลอดภัยเพื่อให้ประชาชนสามารถวาดภาพทาสีและแบ่งปันความคิดของพวกเขาได้อย่างอิสระและเปิดเผย และเนื่องจากภาคใต้ของประเทศไทยอยู่ในภาวะความขัดแย้ง การแสดงตนในด้านงานศิลปะและวัฒนธรรมของโลกมลายูจึงไม่เกิดขึ้น ในการจัดประชุมนิทรรศการและการแสดงผลงานจากทั่วทุกมุมโลกที่เราพูดคุยเกี่ยวกับศิลปะและตัวอักษรมาลายูตัวแทนจากปาตานีจึงไม่ปรากฏ น่าสงสารยิ่งนักต่อชาวมาลายูภาคใต้ของประเทศไทยเนื่องจากพวกเขาสูญเสียรอยต่อทางประวัติศาสตร์และการเชื่อมโยงกับของประเทศที่เหลือในโลกมาลายู นอกจากนี้ในประเทศไทยเองก็สูญเสียไปเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทยที่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของโลกมาลายู ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยได้ครอบครองสถานที่ต่างๆและช่องว่างทางวัฒนธรรมในเวลาเดียวกัน มันอาจจะเกิดขึ้นในชาวพุทธพลัดถิ่นทั่วโลก หรืออาจจะเกิดขึ้นกับชาวเอเชียพลัดถิ่นทั่วโลกและอาจจะเกิดกับชาวมาลายูพลัดถิ่น และควรจะครอบครองทั้งหมดของพื้นที่และสถานที่เหล่านี้เพราะเป็นการเสริมสร้างความประเทืองให้กับประเทศไทย ภาพลักษณ์และเอกลักษณ์เป็นความซับซ้อนของประชาชาติเกือบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความขัดแย้งเหล่านี้ทำความเสียหายแก่ชาวมาลายูภาคใต้ของประเทศไทยทว่านำความเสียหายให้กับประเทศไทยทั้งหมด
ถาม คุณเขียนหนังสือ (จิตวิญญาณของไม้:ศิลปะไม้แกะสลักของมาลายู) อะไรคือความโดดเด่นของกริชปาตานีในหนังสือของคุณ?
ตอบ : เมื่อเราพูดคุยเกี่ยวกับกริชซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม ตามประวัติศาสตร์แล้วคาบสมุทรมาลายูเป็นเจ้าของผู้ผลิตกริช ทว่าเพียง
ส่วนหนึ่งของคาบสมุทรนี้เท่านั้นที่ผลิตกริชท้องถิ่นที่ต่างจากกริชที่นำเข้าจากสุมาตรา ชวา และสุลาเวสีนั่นก็คือ ปาตานี กลันตันและ ตรังกานู พวกเขาผลิตกริชท้องถิ่นที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะไม่สามารถหาจากที่ใดในโลก กริชของปาตานีหรือสิ่งที่เราเรียกว่า "กริชมาลายู" หรือ "กริชตันหยง" มันมีความพิเศษเฉพาะในแวดวงของกริช แต่น่าเศร้านักคุณรู้ไหมว่า เนื่องด้วยความขัดแย้งทำให้ไม่สามารถเป็นไปได้เลยที่นักสะสมกริชจะไปค้นหาสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญเหล่านี้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ต่อไปสำหรับชาวปาตานีที่จะโปรโมทส่งเสริมมรดกและวัฒนธรรมในด้านนี้ได้ ซึ่งยังมีความเกี่ยวโยงไปถึงการเดินเรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกอย่างหมายถึงความเสียหายของชาวมาลายูมุสลิมภาคใต้ของไทยและเป็นการสูญเสียของประเทศไทยด้วยปัจจุบันนี้สะพานเชื่อมทางวัฒนธรรมของไทยจะไปไกลจนถึงอินโดนีเซีย กริชเป็นสัญลักษณ์สากลจากกัมพูชาไปบาหลี สุลาเวสี ชวาและสุมาตราเป็นหลักสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ยึดประเทศไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเพิ่มภาพลักษณ์ให้กับประเทศไทยที่มีลักษณะแบบพหุสังคม แต่เนื่องจากความขัดแย้งทำให้ประเทศไทยได้ร่วงหล่นจากแผนที่ไป ตัวอย่างเช่นในประเทศอินโดนีเซียการเก็บรวบรวมกริชเป็นงานอดิเรกประจำชาติในหมู่นักสะสมของอินโดนีเซีย แต่น่าเศร้าที่ประเทศไทยไม่ปรากฏให้เห็นเช่นนี้ ชาวชวาโดยส่วนใหญ่จะไม่เคยเห็น กริชปาตานีสักครั้งในชีวิต และนี้เป็นความสูญเสียที่น่าเศร้าทีเดียวสำหรับประเทศไทยเพราะสิ่งนี้คือสะพานที่เชื่อมต่อไปยังประเทศอินโดนีเซีย
หมายเหตุ : สนใจติดตามบทความของ Dr. Farish Noor http://www.othermalaysia.org/