หยุดปฏิบัติการทางทหารของพม่าต่อพลเรือนชาวโรฮิงญา
ผมคิดว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยและก็อาจจะไม่มากนักที่อยากจะเรียกร้องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหยุดการกระทำที่นำไปสู่การขยายตัวของความรุนแรงในรัฐยะใข่ ประเทศพม่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันการปกป้องพลเรือนโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก ไม่ว่าจะมีสัญชาติ ไม่มีสัญชาติ ไม่ว่าจะชาติพันธ์ หรือนับถือศาสนาใดก็ตาม เป็นความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นความรับผิดชอบพื้นฐานของรัฐบาลทั่วโลก และการใช้กำลังทหารของรัฐบาลพม่าในรัฐยะใข่เช่นนี้ จะไม่มีทางนำไปสู่การสร้างสันติภาพและหยุดยั้งขบวนการเคลื่อนไหวของกำลังอาวุธได้ และการสร้างสันติภาพไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการกีดกัน การปลุกเร้าความเกลียดชังระหว่างผู้คนบนผืนแผ่นดินของพม่า ด้วยการสร้างประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธ์โรฮิงญาขึ้นมาใหม่ด้วยการป้ายสีให้เป็นผู้อพยพจากบังคลาเทศที่เดินตามอังกฤษเจ้าอาณานิคมเข้ามาในพม่าเมื่อเกือยสองร้อยปีก่อน
เหตุการณ์ความรุนแรงภายในรัฐยะใข่ ประเทศพม่าปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต เกือบ 100 คน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารของพม่า ประมาณ 10 คน และที่เหลือเป็นกลุ่มติดอาวุธ Arakan Rohingya Savatage Army (ARSA) และพลเรือนชาวมุสลิมโรฮิงญา และอีกเกือบ 10,000 ต้องหนีออกเข้าไปบังคลาเทศในปัจจุบัน ทางรัฐบาลและกองทัพพม่ากล่าวหากลุ่มเคลื่อนไหวด้วยอาวุธชาวโรฮิงญาเป็นฝ่ายโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม[1] ขณะที่กลุ่ม ARSA ก็ยอมรับว่าเป็นฝีมือของตนเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและชีวิตชาวโรฮิงญาภายหลังจากกองทัพพม่าได้รับกำลังเสริมเข้ามาจากภาคกลางของประเทศ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม[2] มีรายงานจากชายแดนบังคลาเทศว่าได้ยินเสียงปืนและควันไฟมาจากฝั่งพม่า ผู้อพยพชาวโรฮิงญาบอกว่ากองทัพพม่าจุดไฟเผา และยิงปืนไล่พวกเขา
ความขัดแย้งภายในรัฐยะใข่ เกิดมาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้เกิดขึ้นเมื่อตุลาคม 2559 เมื่อกลุ่มเคลื่อนไหวด้วยอาวุธโจมตีที่ตั้งของหน่วยความมั่นคงพม่า รัฐบาลและกองทัพพม่าตอบโตกลับด้วยความรุนแรง กวาดล้างและทำลายชุมชนชาวมุสลิมโรฮิงญา และความรุนแรงครั้งใหญ่ในปี 2555 ที่ความรุนแรงขยายตัวออกไปนอกพื้นที่รัฐยะใข่ และทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงญา กว่า 100,000 คน ต้องอพยพออกนอกประเทศ และกลายเป็นวิกฤติผู้อพยพในทะเลอันดามันและเบงกอลในปี 2558
ชาวมุสลิมโรฮิงญาถูกเพิกถอนการถือสัญชาติพม่าที่ได้รับพร้อมกับเอกราชของพม่า และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อพยพจากบังคลาเทศจากรัฐบาลพม่าภายหลังการยึดอำนาจของนายพลเนวิน ในปี ค.ศ.1962 แม้ว่าจะมีหลักฐานประวัติศาสตร์ชัดเจนว่ามีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันกับชาวพุทธในอาระกันก่อนที่พม่าจะยึดอาระกันในปี 1785 ซึ่งทำให้ชาวอาระกันทั้งพุทธและมสลิมต้องอพยพหนีพม่าเข้าไปในดินแดนของอังกฤษ และเดินทางกลับเข้ามาพร้อมกับคนอื่นภายหลังที่พม่าแพ้ในสงครามกับอังกฤษครั้งที่หนึ่งในปี 1826 ฉะนั้นการจำแนกว่าใครเป็นคนท้องถิ่นในอาระกันจึงเป็นความยากลำบากในทางประวัติศาสตร์ แต่อาจจะง่ายกว่าในทางการเมือง
กระนั้นก็ดี ภายหลังจากที่พม่าได้รับเอกราช ชาวโรฮิงญาก็ได้รับสัญชาติพม่าเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะแยกอาระกันไปอยู่รวมกับบังคลาเทศก็ตาม แต่ก้ไม่ได้เป็นผลสำเร็จ ชาวโรฮิงญาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธ์อื่นๆ ในพม่า ทั้งด้วยการเคลื่อนไหวของกำลังอาวุธและทางการเมือง จนกระทั่งสมัยรัฐบาลของนายอูนุ กลุ่มเคลื่อนไหวด้วยอาวุธก็สามารถทำข้อตกลงกับรัฐบาลได้และนำไปสู่การวางอาวุธในในเดือนกรกฏาคม 1961[3] แต่ข้อตกลงและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวโรฮิงญาต้องหยุุดลงเมื่อนายกพลเนวินทำการยึดอำนาจรัฐบาลอูนุในปี 1962 มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เปลี่ยนชื่อรัฐจาก "อาระกัน" เป็น "ยะใข่" เปลี่ยนชื่อเมืองของอาระกัน จาก "อัคยับ" เป็น "ซิตต่วย" และเปลี่ยนชื่อกลุ่มชาติพันธ์แห่งชาติจาก "ชาวอาระกัน" เป็น "ชาวยะใข่" และตามมาด้วยปฏิบัติการทางการทหารในการกวาดล้างชาวมุสลิมในรัฐยะใข่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1978 ก่อนที่จะมีการออกฏหมายสัญชาติฉบับใหม่ในปี 1982 ที่ทำให้ชาวโรฮิงญาในรัฐยะใข่และชาวมุสลิมในพม่าถูกยึดสัญชาติคืนเป็นจำนวนมาก รัฐบาลทหารพม่าใช้ปฏิบัติการทางทหารกับกลุ่มชาวโรฮิงญาอีกครั้งในปี 1991-1992 แต่ชาวโรฮิงญาจำนวนมากยังคงรักษาเอกสารของตนเองและพ่อแม่ตั้งแต่ช่วงภายหลังได้รับเอกราช แม้ว่าพวกเขาจะถูกผลักดันให้ออกจากประเทศบ้านเกิดหลายครั้งก็ตาม แม้ว่าชาวโรฮิงญาจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อพยพจากบังคลาเทศแต่พวกเขาก็ไม่ได้รับการยอมรับจากบังคลาเทศเช่นเดียวกัน แต่ก็กลายเป็นคนไร้รัฐ และไร้แผ่นดินที่จะปกป้องคุ้มครองพวกเขาในที่สุด
การแก้ไขปัญหาของคนไร้รัฐในโลกปัจจุบันไม่สามารถใช้กำลังทหาร ความรุนแรงผลักดันออกนอกประเทศของตนอีกต่อไป การกลับมาเริ่มต้นถึงปัจจัยพื้นฐานของปัญหาการไร้รัฐของชาวโรฮิงญาเป็นความจำเป็น รัฐบาลพม่าไม่จำเป็นที่จะต้องย้อนกลับไปถกเถียงประวัติศาสตร์ความเป็นมาในอดีต รัฐบาลพม่าสามารถเริ่มต้นผ่อนผันเพื่อสำรวจประชากร จัดทำประวัติ และพิสูจน์ยืนยันการมีถิ่นที่อยู่หรือสัญชาติขอคนไร้รัฐชาวโรฮิงญา เช่นเดียวกับที่รัฐบาลไทยได้ทำกับกลุ่มคนหลบหนีเข้ามาทำงานผิดกฎหมายในหลายปีที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จและเป็นกำลังให้เศรษฐกิของไทยเติบโตในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา นอกเหนือไปจากหลักการทางกฎหมายของรัฐสมัยใหม่ที่การเป็นพลเมืองของรัฐจะยืนอยู่บนหลักการถิ่นกำเนิด หรือสืบสายโลหิต ซึ่งจะนำไปสู่การการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในการพัฒนาศักยภาพของประชากร และนำไปสู่การเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจของรัฐบ้านเกิดต่อไป
หากรัฐบาลพม่าที่นำโดยนางอองซานซูจีต้องการแสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยที่ของตน รัฐบาลเมียนมาจะต้องหยุดปฏิบัติการทหารในรัฐยะใข่ เริ่มต้นให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งชาวมุสลิมโรฮิงญาและชาวพุทธอย่างเท่าเทียม เคารพอัตลักษณ์ชาติพันธ์ และการมีอยู่ของคนทุกกลุ่มในประเทศ ไม่ว่าจะมีความแตกต่างทางชาติพันธ์ และศาสนาใดๆ ก็ตาม เพื่อจะสร้างกระบวนการที่จะแสวงหาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติที่ยังยืนของสังคมพม่า
รัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านของพม่าโดยเฉพาะบังคลาเทศจะต้องผ่อนผันให้ผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ความรุนแรงเข้ามาพักพิงเป็นการชั่วคราว และเปิดรับความช่วยเหลือจากภายนอกให้เข้าถึงกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่หนีเข้ามาเป็นการเร่งด่วน พร้อมกับการช่วยเหลือรัฐบาลพม่าในการ
รัฐบาลของกลุ่มอาเซียน กลุ่มประเทศเอเซียใต้ และสหประชาชาติจะต้องกดดันรัฐบาลพม่าให้แสวงหาทางออกอย่างสันติ และเปิดการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มในประเทศให้เกิดได้จริง การปิดกั้นความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกจะทำให้สถานการณ์ในรัฐยะใข่แย่ลงจากการขาดข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริงจากกลุ่มคนที่หลากหลาย
รัฐบาลไทย ในฐานะสมาชิกของอาเซียนควรต้องผลักดันให้อาเซียนกดดันรัฐบาลพม่าอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อดำเนินการกระบวนการแสวงหาทางออกอย่างสันติให้ได้ ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องปรับแนวปฏิบัติในกรณีที่มีการอพยพของชาโรฮิงญาเข้ามาในประเทศอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาระหว่างปี 2549 ต่อเนื่องจนถึงปี 2558 การใช้นโยบายช่วยเหลือให้ไปต่อของไทยทำให้มีผู้อพยพชาวโรฮิงญาเสียชีวิตระหว่างทางเป็นจำนวนมาก และยังเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานความมั่นคงที่รับผิดชอบทุตจริตและแสวงหาหาผลระโยชน์อย่างเป็นระบบโดยมิชอบ อย่างที่เกิดขึ้นกับกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ในสังกัดกองอำนวยการรักษาความสงบภายใน (กอ.รมน.) และพวกที่ร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา
ขณะที่การใช้แนวทางการช่วยเหลือ คัดกรองและส่งต่อผู้อพยพชาวโรฮิงญา รวมถึงการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้อพยพอื่นๆ ที่แฝงตัวเข้ามาที่ผ่านมาของรัฐบาลไทยก็แสดงให้เห็นความสำเร็จในการจำกัดความรุนแรงของปัญหาการอพยพของชาวโรฮิงญาจากการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ของขบวนการนำพา/ค้ามนุษย์ที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนทางทะเลอันดามันของไทย การผลักดันให้กลไกการส่งต่อและสนับสนุนภายในอาเซียนภายใต้กรอบความร่วมมือบาหลีและอื่นๆ ให้เป็นไปได้มากกว่าการประชุมประจำปีเป็นความจำเป็นสำหรับประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่มีชายแดนและน่านน้ำติดกับพม่าโดยตรง
การใช้ปฏิบัติการทางทหาร และความรุนแรงโดยกองทัพและรัฐบาลพม่าต่อชาวโรฮิงญาทั่วไป โดยไม่มีการจำแนกแยกแยะว่าใครเป็นพลเรือน ใครเป็นสมาชิกของกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวด้วยอาวุธชาวโรฮิงญายิ่งจะเป็นการผลักให้พลเรือนเหล่านั้นเป็นแนวร่วมกับขบวนการ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขบวนการได้รับการสนับสนุนทั้งกำลังคน และทรัพยากรอื่นๆ ในอนาคต วันนี้แม้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวของชาวโรฮิงญาจะยังไม่ถือธงและอุดมการณ์ความรุนแรงสุดโต่งเช่นเดียวกับ ISIS อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ แต่กลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวที่มีเป้าหมายภายในระดับท้องถิ่นเพื่อปกป้องคุ้มครองพี่น้องของตัวเองจากการใช้ความรุนแรงของรัฐเช่นนี้ก็อาจจะแสวงหาการสนับสนุนและยอมรับแนวคิดรุนแรงสุดโต่งในอนาคตก็เป็นไปได้
ในวันนี้ เราก็ต่างเป็นประจักษพยานของความรุนแรงที่ถูกกระพือให้ลุกโชนมากขึ้นจากรัฐบาลของพม่า และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคที่เพิกเฉยต่อการช่วยเหลือชาวโรฮิงญาในหลายปีที่ผ่านมา ในโลกปัจจุบันที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นความรุนแรงที่มากขึ้นคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ลำบาก
#โรฮิงญา #รัฐยะใข่ #มุสลิมเมียนมา #การก่อการร้าย
[1] https://www.irrawaddy.com/…/muslim-militants-stage-major-at…
[2] https://www.irrawaddy.com/…/tatmadaw-troops-arrive-sittwe-b…