กับดัก(อ)ประชาธิปไตยในโลกมุสลิม (ตอนจบ)

กับดัก(อ)ประชาธิปไตยในโลกมุสลิม (ตอนจบ)

อันวาร์ กอมะ

VIDEO: OIC Summit Starts in Istanbul; President Rouhani Will Deliver Speech

ความย้อนแย้งและบริบทที่ขาดหายไป?

สำหรับนักวิชาการที่ให้ความสำคัญไปที่การศึกษาวัฒนธรรมการเมืองแล้ว วัฒนธรรมอิสลามหรืออาหรับ ถือเป็นอุปสรรคในการมุ่งสู่กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย[1] สาเหตุอันหนึ่งเนื่องมาจากว่าสังคมการเมืองในโลกมุสลิมและอาหรับให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่าผลลัพธ์อื่นๆ คำพูดที่ว่า “มีชีวิตอยู่ภายใต้ผู้ปกครองที่อธรรม [แต่มีอำนาจที่เข้มแข็งสามารถสร้างเสถียรภาพในสังคมได้] 60 ปี ดีกว่ามีชีวิตอยู่ภายใต้ความไร้ระเบียบเพียง 1 วัน” ได้กลายเป็นวาทกรรมสำคัญในมุสลิมบางกลุ่มที่มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรังพยายามตั้งคำถามว่ายังใช้ได้อยู่อีกหรือไม่[2]

ข้อสังเกตดังกล่าวไม่เพียงชี้ให้เห็นสาเหตุว่า ทำไมปัญญาชนมุสลิมที่ตีความคำสอนอิสลามแบบเถรตรงจึงมีความโน้มเอียงไปสู่การต่อต้านประชาธิปไตยและสนับสนุนระบอบเผด็จการเท่านั้น แต่ในทางกลับกันก็ทำให้เราเห็นว่าการเดินทางของความคิดในการจัดการการปกครองในยุคก่อนได้มีพื้นที่อย่างมั่นคงในสังคมวิชาการมุสลิมในยุคปัจจุบันเช่นกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความสำเร็จอันนี้เป็นความต่อเนื่องของแนวคิดทางการเมืองในสังคมยุคกลางของโลกมุสลิมที่สะสมอยู่ในระบบศักดินา ชนเผ่า และรัฐเทวนิยมที่สนับสนุนสถานภาพและผลประโยชน์ของชนชั้นนำที่ปกครองประเทศหรือสังคมนั้นๆ วัฒนธรรมการเมืองของโลกมุสลิมในศตวรรษที่ผ่านมาจึงอยู่ในสภาพที่มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองแบบบนลงล่างมากกว่าแบบล่างขึ้นบนโดยมีศาสนาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการควบคุมพฤติกรรมของมวลชนให้เชื่อฟังเจ้าผู้ปกครองอย่างมีนัยสำคัญ[3]

อย่างไรก็ดีสภาพการเมืองของโลกในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจากอดีตมากแล้ว ตุรกีไม่ใช่อาณาจักรออตโตมันที่ยิ่งใหญ่อีกต่อไปแต่เป็นรัฐชาติที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์แห่งชาติ ระเบียบโลกที่ไร้ซึ่งอำนาจศูนย์กลาง และการต่อสู้เพื่อการอยู่รอดของประเทศของตัวเองเป็นพื้นฐานสำคัญ

เหตุการณ์ความขัดแย้งล่าสุดด้านความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศกาตาร์และอีกหกประเทศอาหรับ (ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต บาห์เรน อียิปต์ ลิเบียและเยเมน)[4] ไม่เพียงตอกย้ำให้มุสลิมต้องกลับมาทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของการเมืองระหว่างประเทศที่กล่าวไปข้างต้นแล้วเท่านั้นแต่ได้ตั้งคำถามถึงการมีอยู่จริงของความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันของโลกมุสลิมอย่างตรงไปตรงมา เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ซากี พิทักษ์คุ้มพล อาจารย์แห่งสถาบันสันติศึกษา มอ.หาดใหญ่ อึดอัดใจและตั้งข้อสงสัยต่อชุดคำอธิบายพฤติกรรมทางการเมืองที่มองจากกรอบทางความเชื่อทางศาสนาเป็นหลักโดยเขาสนทนาจากความเป็น “คนใน” และกล่าวว่า

“...ขอร้องเถอะครับนักการศาสนา/ผู้รู้ศาสนาทั้งหลาย อย่าพยายามวิเคราะห์ความขัดแย้งใดๆ ในโลกมุสลิม โดยไม่พิจารณาความเป็นการเมือง (the political) และผลประโยชน์ของประเทศอาหรับ นับวันข้าพเจ้ายิ่งเชื่อว่ามันไม่มีรัฐอิสลามอะไรหรอกครับ มันมีแต่ secular state [รัฐโลกีย์นิยม] ที่ฉาบเคลือบไว้ด้วยศาสนาในฐานะเสื้อคลุมอันศักดิ์สิทธ์”[5]

ในทำนองเดียวกัน บูฆอรี ยีหมะ นักรัฐศาสตร์มุสลิมแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาแสดงทัศนะเห็นด้วยกับข้อสังเกตของซากีข้างต้นว่า “[สำหรับ]รัฐสมัยใหม่ทั้งหลาย ผลประโยชน์แห่งชาติต้องมาก่อน”[6]

เป็นที่ทราบกันดีว่า ซาอุดีอาระเบียในฐานะที่เป็นประเทศผู้นำ (regional hegemon) ในภูมิภาคดังกล่าวเกิดความหวาดระแวงเกี่ยวกับความพยายามในการสนับสนุนอาหรับสปริงและกลุ่มที่ต่อต้านอำนาจเก่าในตะวันออกกลางมาระยะหนึ่งแล้ว การตอบโต้กาตาร์ในลักษณะดังกล่าวไม่เพียงจะเป็นพฤติกรรมของพันธมิตรกลุ่มประเทศเผด็จการที่อยู่ในอาณัติของซาอุดีอาระเบียในการตอบโต้กับภัยคุกคามและความมั่นคงของรัฐ (ไม่ใช่ของประชาชน) เท่านั้น แต่เพื่อแสดงอิทธิพลต่อประเทศขนาดเล็กที่มีท่าทีสนับสนุนกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยในภูมิภาคตะวันออกกลางตั้งแต่ปี 2011[7]

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการเมืองของประเทศในอ่าวอาหรับ (GCC) ที่แม้จะมีความใกล้ชิดกันในทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์การเมืองระยะใกล้และไกลนั้นก็ยังเต็มไปด้วยความย้อนแย้งและขัดแย้งระหว่างกัน แม้ว่าความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นจะสามารถยุติได้ไม่ยากนักจากเจ้าผู้กำหนดนโยบายเพียงไม่กี่คนแต่ความย้อนแย้งลักษณะดังกล่าวจะยังคงดำรงต่อไปภายใต้ระบอบเผด็จการที่ต้องการรักษาฐานอำนาจเดิมและผลประโยชน์ชนชั้นปกครองไว้ซึ่งไม่จำเป็นต้องฟังเสียงของประชาชน[8]

ถ้าให้เลือกระหว่างการผลักดันประชาธิปไตยกับการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติแล้วล่ะก็ ความมีเหตุและผลคงชี้ให้เราเห็นว่าประเทศมหาอำนาจ อย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป คงเลือกตัวเลือกข้อหลังในการรักษาผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าข้อแรก กระนั้น การเลือกดังกล่าวก็ชี้ให้เห็นถึงความลักลั่นและความไม่คงเส้นคงวาในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของชาติตะวันตกเอง

ฏอริก รอมาฎอนเป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ชาติมหาอำนาจดังกล่าวอย่างเสมอต้นเสมอปลายจนทำให้เขาถูกห้ามเข้าสหรัฐอเมริกาในยุคประธานาธิบดีจอร์ช บุช ผู้ลูก[9] แต่เขาก็ไม่ได้สรุปอย่างรวดเร็วว่าเราต้องเลิกให้ความสนใจกับกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยหรือการเข้ากันไม่ได้ระหว่างหลักการประชาธิปไตยและอิสลาม ในทางตรงกันข้าม ฏอริกชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยกับอิสลามนั้นมีฉันทามติร่วมกันใน 5 ประการที่สำคัญด้วยกัน ดังนี้ 1) หลักนิติธรรม 2) ความเท่าเทียมกันของพลเมือง 3) สิทธิสากลในการเลือกตั้ง 4) ภาระรับผิดชอบ และ 5) หลักการแบ่งแยกอำนาจ[10]

กล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ฏอริกเรียกร้องให้มุสลิมในตะวันตกที่อยู่ในอาณัติของระบอบดังกล่าวใช้จุดแข็งของระบอบนี้ในการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของความเป็นมุสลิมแบบยุโรป (a European Muslim) ในยุคสมัยใหม่และสร้างคุณูปการให้กับประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่แทนการเรียกร้องให้พวกเขาเหล่านั้นหันกลับไปยึดติดกับทัศนคติแบบดั้งเดิมในยุคเก่าที่แบ่งโลกออกเป็นสองขั้วระหว่างโลกอิสลามกับโลกแห่งสงคราม แบ่งเขาแบ่งเราระหว่างอิสลามกับตะวันตก และยึดติดทัศนคติทางกฎหมายอิสลาม (ฟิกฮ์และฟัตวา) จากตะวันออกกลางที่ตายตัวและแบบที่อาจารย์วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะใช้คำว่า “คร่ำครึ”[11]

ประเทศในโลกมุสลิมจะเลือกใช้ระบอบประชาธิปไตยหรือไม่นั้นถือว่าเป็นตัวเลือกที่ท้าทายของพวกเขาในยุคปัจจุบัน จากการสำรวจระบอบการปกครองของประเทศในโลกมุสลิมในปัจจุบันพบว่า ส่วนใหญ่จัดอยู่กลุ่มประเทศที่ประสบปัญหากับระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง (ประมาณ 12 ประเทศไม่สามารถเปลี่ยนผู้นำผ่านการเลือกตั้งได้ เช่น บูรไนและประเทศในอ่าวอาหรับ) ประเทศที่อยู่ในกลุ่มแย่ที่สุดในด้านสิทธิพลเมืองและเสรีภาพประกอบด้วยประเทศมุสลิมจำนวน 7 ประเทศ (ซาอุดิอาระเบีย ซูดาน โซมาเลีย เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน เอริเทรียและซีเรีย ตามลำดับ)

อย่างไรก็ตามประเทศสมาชิกของ OIC จำนวน 23 ประเทศถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีสถานะ “มีเสรีภาพบางส่วน” ในขณะที่ 5 ประเทศอยู่ในสถานะมีเสรีภาพ[12] (โปรดดูตารางที่ 1) จากการสำรวจดังกล่าว ข้อมูลของ Freedom House ชี้ให้เห็นว่าโลกมุสลิมมีอาการน่าเป็นห่วงในเรื่องการให้ความสำคัญกับสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชนและสิทธิทางการเมือง ตุรกีในฐานะที่เคยเป็นหัวขบวนของประชาธิปไตยในโลกมุสลิมก็ยังไม่หลุดพ้นจากกับดักประชาธิปไตย แต่กลับล่องลอยอยู่ในความเป็นประชาธิปไตยพันทางมาหลายปี และมีแนวโน้มไปสู่ความเป็นเผด็จการมากขึ้น[13]

ถ้าเรานับการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมันเป็นหมุดหมายสำคัญของการกำเนิดรัฐชาติในโลกมุสลิมแล้ว ปี 2017 นี้นับว่าเป็นการครบรอบ 93 ปีของโลกมุสลิมยุคใหม่และถือเป็นฐานในการเริ่มต้นสังเกตการณ์ต่อจากนี้ได้ว่าเมื่อครบ 100 ปีในอีก 7 ปีข้างหน้าประเทศมุสลิมที่อยู่ในระบอบเผด็จการจะกลายไปเป็นอะไรต่อไปและประเทศที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งจำนวน 28 ประเทศนั้นจะแปรเปลี่ยนสภาพไปในทิศทางใด โลกมุสลิมไม่เพียงขาดนักปรัชญาการเมืองที่มีความคิดเชิงวิพากษ์และเป็นมุสลิมภาคสนามอย่างที่ฮาซัน อัสสัด นักศึกษาปริญญาเอกด้านอิสลามศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างแหลมคมเท่านั้น[14]

แต่ในทางกลับกันโลกมุสลิมก็ต้องการคนหนุ่มสาวอย่างยิ่งยวดที่ตั้งคำถามกับแนวคิดเก่าๆ ที่ขาดบริบทและขาดความเชื่อมโยงในมิติแห่งกาลเวลา และมีความคิดเชิงวิพากษ์กับสถานการณ์โลกในปัจจุบันไปพร้อมๆ กัน[15]

ตารางที่ 1ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับโลกมุสลิมและประชาธิปไตย

จำนวนประเทศที่เป็นสมาชิก OIC

57 ประเทศ

จำนวนประชากร

2.2 พันล้านคน (25.9% อาศัยอยู่นอกประเทศมุสลิมชนส่วนใหญ่, 74.1 อาศัยอยู่ในประเทศมุสลิมชนส่วนใหญ่)

ประเทศสมาชิก OIC ที่มีสถานะ “มีเสรีภาพบางส่วน” และ “มีเสรีภาพ” (2017)

28 ประเทศ (5 ประเทศมีเสรีภาพตามมาตรฐานสากล)

ประเทศมุสลิมที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง/ไม่มีการเลือกตั้งทั่วไป และ/หรือผู้หญิงยังไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียง

ประมาณ 9 ประเทศ (บูรไน เอริเทรีย เลบานอน ลิเบีย กาตาร์ ซาอุดิอารเบีย โซมาเลีย เยเมน และสหรัฐอาหรับเอมิเรต)

ประเทศมุสลิมที่อยู่ในกลุ่มที่แย่ที่สุดในด้านสิทธิพลเมืองและเสรีภาพการเมือง (Freedom House)

ซาอุดิอาระเบีย ซูดาน โซมาเลีย เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน เอริเทรียและซีเรีย ตามลำดับ

กล่าวโดยสรุป ตั้งแต่ปี 1924 สภาพของโลกมุสลิมได้เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย การอธิบายพลวัตของโลกมุสลิมด้วยมิติเดิมๆ ชุดคำอธิบายเก่าๆ ในการกล่าวโทษปัจจัยภายนอกมากกว่าปัจจัยภายในนั้นอาจจะเรียกเสียงเฮในหมู่ชนมุสลิมแบบจารีตนิยมได้มากก็จริง ทว่าชุดคำอธิบายเหล่านั้นไม่เพียงจะเป็นปัจจัยให้มุสลิมเราดื่มด่ำและโหยหาประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ในอดีตที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เพื่อชโลมจิตใจของผู้แพ้ในยุคปัจจุบันเท่านั้น แต่จะทำให้พวกเราจมปลักอยู่กับอดีตที่มีสภาพแตกต่างกับปัจจุบันและติดกับดักทางความคิดดังกล่าวด้วยเช่นกัน[16] ทางออกไม่ได้อยู่ที่การซัดทอดความผิดให้กับผู้อื่นแต่อยู่ที่การหันกลับมาใคร่ครวญที่ตัวมุสลิมเราเองต่างหาก

บทส่งท้าย

มีคำกล่าวในสังคมมุสลิมว่า “ถ้าหากมุสลิมในโลกอาหรับสามารถรวมตัวกันได้ แล้วไปยืนฉี่ใส่ประเทศอิสราเอลแล้วนั้น แค่นั้นก็จะทำให้อิสราเอลพังพินาศได้แล้ว” คำกล่าวดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าผู้ส่งต่อความคิดนั้นไม่ได้เข้าใจความแตกต่างหลากหลายในโลกมุสลิม อีกทั้งไม่เข้าใจระเบียบโลกที่วางอยู่บนผลประโยชน์แห่งชาติ ตรรกะการเอาตัวรอดของรัฐชาติ และระเบียบโลกที่ไร้ศูนย์กลางทางอำนาจ

กล่าวอย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) เป็นความพยายามที่ชัดเจนที่สุดในการรวมตัวของประเทศมุสลิม แต่บทบาทของโอไอซีก็ยังห่างไกลกับการแสดงบทบาทนำในการปกป้องผลประโยชน์ของโลกมุสลิมอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการรวมตัวกันในแบบดังกล่าวก็เป็นการลอกเลียนแบบการรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมของรัฐชาติในยุคสมัยใหม่ที่มีชาติตะวันตกเป็นผู้มีบทบาทนำตั้งแต่เริ่มแรก

เมื่อหันกลับมาทบทวนปัญหาที่โลกมุสลิมกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสุดโต่งและการก่อการร้ายข้ามชาติ วิกฤตผู้อพยพลี้ภัย ความยากจน การละเมิดสิทธิมนุษยชน และพัฒนาการทางการเมืองแล้ว สิ่งที่มุสลิมคงต้องใคร่ครวญให้มากกว่าเดิมเกี่ยวกับสถานการณ์ของโลกมุสลิมในปัจจุบันเห็นคงจะเป็นการวิพากษ์ตัวเองอย่างที่ฏอริก รอมาฎอนกล่าวไว้ว่า “We can't blame the West for our failures” (เราไม่สามารถโยนความผิดให้ชาติตะวันตกสำหรับความล้มเหลวของเราเอง”[17]

ในทำนองเดียวกัน การสำรวจดังกล่าวทำให้เห็นถึงข้อสังเกตของอาฎิล ศิริพัธนะ นักศึกษาปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์พื้นพิภพแห่งมหาวิทยาลัยกษัตริย์อับดุลเลาะห์เพื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในซาอุดิอารเบีย ที่วิพากษ์วิจารณ์ความคับแคบทางความคิดของมุสลิมอย่างตรงไปตรงมาในการทำความเข้าใจความล้าหลังและตำแหน่งแห่งที่ของประเทศมุสลิมในโลกปัจจุบันโดยเขากล่าวว่า

“มันแค่ว่า... มุสลิมอ่อนแอ มุสลิมก็แพ้ไป มุสลิมไม่มีโทมาฮอว์ค มุสลิมก็แพ้ไป มันง่ายและสะดวกเสมอครับที่[เรา]ไม่ได้รู้จักใครแล้วด่าเขาคล่องเป็นพิเศษ...เพราะ[เรา]ครอบตัวเองด้วยความเชื่อบางอย่างที่จำกัดอยู่ในวงสังคมเล็กๆ ของเราเอง [เรา]เลยด่าได้หมด...มันไม่ใช่ว่า[เรา]คม [เรา]แค่แคบ”[18]

ไม่ว่าประชาธิปไตยกับอิสลามจะเข้ากันได้หรือไม่ในทางเทววิทยา แต่ในทางการเมืองแห่งความเป็นจริงแล้ว อิทธิพลของประชาธิปไตยได้เคลื่อนขยายเข้าไปเต้นระบำในพื้นที่ของโลกมุสลิมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คำถามที่สำคัญคือเราจะอยู่กับความย้อนแย้งของมันและบริบทที่เปลี่ยนไปอย่างไรต่อไป ตูนีเซียอาจจะเป็นประเทศแรกที่สามารถให้คำตอบเราได้เร็วที่สุดในอนาคต รอมาฎอนเป็นเดือนแห่งการใคร่ครวญ มุสลิมควรใคร่ครวญถึงความคับแคบทางความคิดตัวเอง ความล้าหลังและสิ่งที่เป็นไปของโลกมุสลิมอย่างมีวิจารณญาณ อาจจะไม่ใช่เพราะมุสลิมมีศรัทธาที่อ่อนแอแต่เพราะเราอาจจะคิดใคร่ครวญน้อยไป ทุ่มเททำงานไม่หนักพอ และสาละวนอยู่กับบางเรื่องมากจนเกินไปก็เป็นได้ 

 

ขอขอบคุณอาจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ดุลยวิทย์ นาคนาวา และคุณซัลมาน หมัดหมันสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์บทความนี้ก่อนการเผยแพร่

ตอนแรก http://www.pataniforum.com/single.php?id=692

เชิงอรรถท้ายบท


[1] Samuel P. Huntington, ‘Democracy’s Third Wave’, Journal of Democracy, 2.2 (1991), 12–34.

[2] มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง, ‘อิสลามกับประชาธิปไตย: บทสะท้อนเบื้องต้น’.

[3] โปรดดูงานเขียนที่ชี้ให้เห็นถึงการใช้สถาบันนักวิชาการอิสลาม (อูลามะฮ์) เป็นเครื่องมือในการจัดการความจริงและควบคุมสังคม ได้ที่ Afshin Shahi, The Politics of Truth Management in Saudi Arabia (Routledge, 2013), p. 77; Halim Barakat, The Arab World: Society, Culture, and State (ฺBerkeley: University of California Press, 1993), p. 274.

[4] ไทยรัฐออนไลน์, ‘โดดเดี่ยวกาตาร์! บาห์เรน-อียิปต์-UAE-ซาอุฯ ประกาศตัดสัมพันธ์การทูต’, Www.thairath.co.th, 2017 [accessed 5 June 2017].

[5] Zakee Pitakumpol, ‘การเมืองในฝ่ายอาหรับ (ซุนนะห์)... -’, Facebook, 2017 [accessed 5 June 2017].

[6] Bukhoree Yeema บูฆอรี ยีหมะ, ‘การเมืองในฝ่ายอาหรับ (ซุนนะห์)... -’, Facebook, 2017 [accessed 5 June 2017].

[7] โปรดดูเพิ่มเติมที่ BBC Thai, ‘เหตุผล 4 ประการที่กาตาร์ถูกเพื่อนบ้านตัดสัมพันธ์’, บีบีซีไทย [accessed 5 June 2017].

[8] โปรดดูการสร้างความมั่นคงให้กับระบอบเผด็จการได้ที่ Eva Bellin, ‘Reconsidering the Robustness of Authoritarianism in the Middle East: Lessons from the Arab Spring’, Comparative Politics, 44.2 (2012), 127–49; Jennifer Gandhi and Adam Przeworski, ‘Authoritarian Institutions and the Survival of Autocrats’, Comparative Political Studies, 40.11 (2007), 1279–1301.

[9] Tariq Ramadan, ‘Why I’m Banned in the USA’, The Washington Post, 1 October 2006, section Opinions [accessed 4 June 2017].

[10] Tariq Ramadan, Islam and the Arab Awakening (USA: Oxford University Press, 2012), p. 116.

[11] ในการบรรยายที่มัสยิดกลางจังหวัดกระบี่ ปี 2016 ซึ่งจัดโดยสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี อาจารย์วิสุทธิ์ บินลาเตะ แบ่งมุสลิมสุดโต่งออกเป็นสองกลุ่ม สำหรับกลุ่มขาวจัดท่านใช้คำว่าคร่ำครึเป็นคำคุณศัพท์เพื่อชี้ให้เห็นถึงความยากในการปรับเปลี่ยนทัศนคติและความไม่ยืดหยุ่น ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นการให้ภาพและน้ำหนักที่ค่อนข้างชัดเจนในการอธิบายความสุดโต่งและตกขอบได้ดีในภาษาไทย

[12] Freedom House, ‘FH_Electoral_Democracies_1988-2016’ (Freedom House, 2017) [accessed 3 June 2017].

[13] Müge Aknur, Democratic Consolidation in Turkey (Boca Raton: Universal-Publishers, 2012); Berk Esen and Sebnem Gumuscu, ‘Rising Competitive Authoritarianism in Turkey’, Third World Quarterly, 37.9 (2016), 1581–1606 ; Hakkı Taş, ‘Turkey – from Tutelary to Delegative Democracy’, Third World Quarterly, 36.4 (2015), 776–91 .อย่างไรก็ดี นักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายอีกฝ่ายหนึ่งได้อธิบายว่าพัฒนาการล่าสุดของตุรกีในการมุ่งสู่ระบบประธานาธิบดีนั้นมีเหตุผลที่ดี ตุรกีต้องการระบบที่เข้มแข็งเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ประเทศกำลังประสบอยู่ไมว่าจะเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย การก่อการร้าย การทำรัฐประหารที่ล้มเหลว เครือข่ายรัฐซ้อนรัฐที่มีฟัตฮุลเลาะห์ กูเลนเป็นผู้นำ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ และการสร้างเสถียรภาพให้กับประชาธิปไตย โปรดดู TRT World, One on One: Interview with Turkish Presidential Spokesman Ibrahim Kalin, 2017 [accessed 4 June 2017]; Ibrahim Kalin, ‘Erdoğan Is Right: Turkey’s Referendum Is a Victory for Democracy’, The Guardian, 27 April 2017, section Opinion [accessed 4 June 2017].

[14] Hasan Azad, ‘“เหตุใดจึงไม่มีนักปรัชญามุสลิม?”’, trans. by บรรณาธิการปาตานีฟอรั่ม, Pataniforum, 2017 [accessed 3 June 2017].

[15] โปรดดูประเด็นเรื่องความคิดเชิงวิพากษ์ในอิสลามได้ที่ ยาสมิน ซัตตาร์, อันวาร์ กอมะ, and เอกรินทร์ ต่วนศิริ, ‘ถอดความสรุปหัวข้อ ความสำคัญของการคิดเชิงวิพากษ์สำหรับสังคมมุสลิมทั้งในตะวันตกและตะวันออก ปาฐกถาโดย ฎอริค รอมาฎอน’, Patani Forum, 2015 [accessed 18 April 2015].

[16] อาฎิล ศิริพัธนะ วิพากษ์การโหยหาอดีตของเยาวชนมุสลิมกลุ่มหนึ่งว่า “คนที่ลืม al-khawarizmi คือมุสลิมเองนี่แหละ ตัวเองไม่ทำวิจัยเอง ขี้เกียจเรียนคณิตเอง แล้วมาพูดว่าโลกลืม ในขณะที่พวกฝรั่งเขาไม่ลืมเพราะเขาสานต่อวิชาพวกนี้จริงจัง ประวัติศาสตร์ของคณิตศาสตร์จึงอยู่ในเรื่องที่เขาสอนต่อๆ กันมาอยู่แล้ว” โดยเขาย้ำว่า “ฝรั่งมันก็ให้เครดิตเมื่อควรให้นั่นแหละ” ดู Adil Siripatana, ‘“คนที่ลืม Al-Khawarizmi คือมุสลิม’, Facebook, 2017 [accessed 3 June 2017].โปรดพิจารณาความคิดว่าด้วยการก่อร่างของโลกมุสลิมได้ที่ Anver M. Emon and Daniel Steinmetz-Jenkins, ‘How the Muslim World Was Invented’, Foreign Affairs, 2 June 2017 [accessed 3 June 2017]; Asma Afsaruddin, ‘The Myth of the Muslim World’, The Chronicle of Higher Education, 14 May 2017 [accessed 3 June 2017].

[17] Niraj Warikoo, ‘Muslim Scholar Tariq Ramadan Says Islam, Democracy Compatible’, Campus Watch, 2012 [accessed 4 June 2017].

[18] Adil Siripatana, ‘มันไม่ใช่ว่า[คุณ]คม [คุณ]แค่แคบ’, Facebook, 2017 [accessed 3 June 2017]; Adil Siripatana, ‘สนทนาเกี่ยวกับทัศนะของ Adil Siripatana ผ่านทางเฟสบุ๊ค “มันไม่ใช่ว่า[เรา]คม [เรา]แค่แคบ”’, 4 June 2017.

ตารางที่ 1 ที่มา The Statistical, Economic and Social Research and Training Centre for Islamic Countries (SESRIC), ‘OIC Member States in Figures’, The Statistical, Economic and Social Research and Training Centre for Islamic Countries (SESRIC)  [accessed 3 June 2017]; Pew Research Center, ‘Muslim-Majority Countries’, Pew Research Center’s Religion & Public Life Project, 2011 [accessed 3 June 2017]; Freedom House, ‘FH_Electoral_Democracies_1988-2016’ (Freedom House, 2017) [accessed 3 June 2017]; Maximiliano Herrera, ‘Electoral Democracies-World Electoral System, World Dictatorships in the World, Countries with No Elections’ [accessed 3 June 2017]; DANIEL TOVROV, ‘Saudi Women Vote; Which Countries Still Don’t Allow Women’s Suffrage?’, International Business Times, 2011 [accessed 4 June 2017].