กับดัก(อ)ประชาธิปไตยในโลกมุสลิม (ตอนแรก)

กับดัก(อ)ประชาธิปไตยในโลกมุสลิม (ตอนแรก)

อันวาร์ กอมะ 

บทนำ

หลังจากที่อาณาจักรออตโตมันล่มสลายอย่างสมบูรณ์ในปี 1924 โลกมุสลิมก็ตกอยู่ในภาวะระส่ำระส่าย มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง ผู้เกาะติดและสนใจข้อถกเถียงการเมืองโลกมุสลิมให้ทัศนะว่า นักปราชญ์ในโลกมุสลิมในช่วงเวลานั้นมีแนวทางในการแก้วิกฤตดังกล่าวสามแนวทางด้วยกัน คือ การเรียงร้องกลับไปหาระบอบคีลาฟะฮ์ที่รวมอำนาจรัฐและศาสนาอยู่ที่ผู้นำคนเดียว การแยกการเมืองออกจากศาสนา และการปฏิรูปสังคมและการรวมกลุ่มอิสลาม[1] อย่างไรก็ดี พัฒนาการทางการเมืองในโลกมุสลิมตั้งแต่ปีดังกล่าวจนถึงปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าเส้นทางการมุ่งสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากแม้ประเทศเหล่านั้นจะมีปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมและสถาบันการเมืองเป็นอุปสรรคสำคัญก็ตาม

พลวัตล่าสุดที่น่าสนใจคงเห็นจะเป็นการขยับเขยื้อนทางความคิดในปี 2016 ของพรรคอัลนะฮ์ดะในประเทศตูนีเซียที่มีนักคิดอย่างราชิด กันนูชี เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคในการก้าวออกจากอิสลามการเมืองไปสู่การเมืองของมุสลิมที่นิยมประชาธิปไตย[2]

คำสอนกระแสหลักอย่างหนึ่งที่มุสลิมหลายคนรับมาผ่านการกล่อมเกล่าตั้งแต่เด็กคือความเชื่อที่ว่า ในอิสลามไม่มีการแยกกันระหว่างศาสนาและการเมือง[3] ประชาธิปไตยเข้ากันไม่ได้กับอิสลามเพราะประชาธิปไตยให้สิทธิเสรีภาพกับมนุษย์มากกว่าพระผู้สร้าง พระผู้สร้างมนุษย์และจักรวาลย่อมรู้ดีกว่ามนุษย์ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ด้วยเหตุนี้พระเจ้าจึงประทานกฎหมายที่เรียกรวมๆ ว่า “ชารีอะฮ์” มาให้กับมนุษยชาติผ่านท่านศาสนทูตมูฮัมหมัด ()

ดังนั้น การยอมรับหลักการประชาธิปไตยจึงเปรียบเสมือนการยอมรับการปฏิเสธอธิปไตย อาญาสิทธิ์และกฎหมายของพระเจ้า (حاكمية) ในแง่หนึ่งไปโดยปริยาย[4] ในแง่นี้ มิพักต้องพูดต่อให้ยืดยาว อิสลามกับประชาธิปไตยในเชิงหลักการไม่มีวันไปด้วยกันได้ อีกทั้งแนวคิดดังกล่าวยังสนับสนุนข้อสังเกตของซามูเอล ฮันทิงตัน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันคนสำคัญที่ชี้ว่า วัฒนธรรมอิสลามเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยในโลกมุสลิมอีกด้วย[5]

อย่างไรก็ตามบทความนี้ตั้งข้อสังเกตกับชุดความคิดข้างต้นและต้องการสำรวจสิ่งที่กำลังเป็นไปในโลกมุสลิมโดยชี้ให้เห็นว่าไม่ว่ามุสลิมจะยอมรับหลักการประชาธิปไตยได้หรือไม่ มุสลิมก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับประชาธิปไตยไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับมุสลิม

ในขณะที่การถกเถียงเรื่องอิสลามกับประชาธิปไตยเป็นประเด็นที่สำคัญในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบในโลกมุสลิม งานเขียนว่าด้วยประชาธิปไตยของนักวิชาการมุสลิมไทยก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยมุสลิม มีนักวิชาการมุสลิมไทยหลายท่านที่ศึกษาและเขียนบทความวิชาการในประเด็นดังกล่าวมาก่อนแล้ว เช่น บทความในหนังสือเรื่อง “คนหนุ่มสาวกับมุสลิมในโลกสมัยใหม่” หากกล่าวโดยเฉพาะ บทความของเอกรินทร์ ต่วนศิริ มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง และบูฆอรี ยีหมะน่าจะเป็นข้อถกเถียงที่สำคัญในประเด็นดังกล่าว[6] งานเขียนเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยไม่น่าจะเป็นของแสลงกับมุสลิมแต่น่าจะไปด้วยกันได้และควรเป็นอย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่น มูฮัมหมัดอิลยาส ได้กล่าวสรุปว่า

“แม้คำว่าประชาธิปไตยไม่มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกรุอ่านและฮาดิษ แต่ความคิดเกี่ยวกับการปรึกษาหารือ (ชูรอ) ซึ่งเป็นสาระสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย (democratic government) เป็นความคิดหรือหลักการที่มุสลิมมีร่วมกันกับสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่โดยอัลกรุอ่านได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญทางด้านการเมืองการปกครองในอิสลาม”[7]

ในทำนองเดียวกัน เอกรินทร์ได้สรุปรวบยอดจากการอ่านบทความในหนังสือเรื่อง“คนหนุ่มสาวกับมุสลิมในโลกสมัยใหม่” ว่าประชาธิปไตยแม้จะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของปัญญาชนมุสลิมแต่ก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการต่อรองความเป็นมุสลิมในสังคมไทย[8]  ในโลกวิชาการตะวันตก งานเขียนของฎอริก รอมฎอน (Tariq Ramadan) ศาสตราจารย์ด้านอิสลามศึกษาร่วมสมัยแห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด น่าจะเป็นตัวแทนในการอธิบายประเด็นนี้ได้ ในหนังสือเรื่อง To Be a European Muslim ฎอริกชี้ให้เห็นว่าบรรยากาศของประชาธิปไตยเป็นผลดีกับมุสลิมยุโรปในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในโลกมุสลิมชนส่วนใหญ่เสียอีก[9]

อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญในเรื่องดังกล่าวได้ขยายไปไกลเกินกว่าคำถามที่ว่าอิสลามกับประชาธิปไตยเข้ากันได้หรือไม่ งานดังกล่าวข้างต้นชี้ให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า เราแทบจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงระบอบประชาธิปไตยได้ มุสลิมและโลกมุสลิมจะต้องอยู่กับมันไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่มันเป็นความเป็นจริงในโลกปัจจุบัน

ฏอริก รอมาฎอนเป็นนักวิชาการคนสำคัญคนหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ความอีหลักอีเหลื่อของชาติตะวันตกในการผลักดันค่านิยมและระบอบประชาธิปไตยในตะวันออกกลางมาโดยตลอด แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าประชาธิปไตยไม่ได้เป็นทางเลือกสำหรับประเทศมุสลิม ระบอบประชาธิปไตยในตัวของมันเองทำให้มุสลิมในโลกตะวันตกมีโอกาส มีศักยภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ในทางกลับกัน ปัญหาหลักที่ฏอริกชี้ให้เห็นไม่ได้อยู่ที่การใช้ระบอบประชาธิปไตยแต่เป็นการเลือกปฏิบัติและการไม่คงเส้นคงวาของชาติมหาอำนาจต่างหากในการผลักดันกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยในโลกมุสลิม นักวิชาการมุสลิมจำนวนหนึ่งที่มีความเห็นสอดคล้องกับฎอริกอย่างเช่น โลห์ย ซาฟี (นักรัฐศาสตร์มุสลิมชาวซีเรียอเมริกัน)[10] และอันวาร์ อิบรอฮีม (นักการเมืองมาเลเซียหัวก้าวหน้าคนสำคัญ) ก็มองว่าไม่ว่าชาติตะวันตกจะสนับสนุนกระบวนการดังกล่าวหรือไม่ ประชาธิปไตย (การบูรณาการอิสลามกับประชาธิปไตย) แทบเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับการปกครองประเทศในยุคปัจจุบัน[11]

ประชาธิปไตยกับสิ่งที่เป็นไปในโลกมุสลิม

หากกล่าวให้ถึงที่สุด ประชาธิปไตยจะดีหรือไม่ดีกับประเทศมุสลิมนั้นไม่ได้อยู่ที่การผลักดันของชาติมหาอำนาจตะวันตกเป็นสำคัญเท่านั้นแต่ต้องมาจากการตระหนักรู้ของผู้คนในโลกมุสลิมเองด้วย อย่างที่ผู้เขียนได้อธิบายไว้ในบันทึกจากตุรกีฯ ตอนที่ 2 ว่าการผลักดันของชาติมหาอำนาจตะวันตกนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความพยายามในการสร้างสันติภาพโลกภายใต้กรอบคิดแบบสันติภาพบนฐานประชาธิปไตย[12]

อย่างไรก็ดี ความเป็นจริงในโลกมุสลิมในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญในการจัดการการเมืองการปกครองของสังคมแล้ว หากจะมองหาตัวอย่างในโลกมุสลิม ประเทศตุรกีเป็นประเทศมุสลิมประเทศแรกและเก่าแก่ที่สุดในการมุ่งเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย[13]

ดังนั้นการมุ่งสู่การหยั่งรากลึกของประชาธิปไตยในประเทศตุรกีถือเป็นภารกิจแห่งชาติที่สำคัญที่รับรู้กันได้โดยนักวิชาการและคนทั่วไป เซลิม นักศึกษาปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชาวตุรกี ได้ให้ทัศนะว่าเหตุที่ตุรกีต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป (EU) นั้นก็เพื่อเป็นการการันตีว่าประเทศของเรามีสิทธิเสรีภาพ มีความเป็นประชาธิปไตย และมีความเป็นสมัยใหม่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์[14] อีกนัยหนึ่ง การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างสมบูรณ์ของตุรกีไม่ได้เป็นความต้องการของสหภาพยุโรปตั้งแต่ต้น

ในทางกลับกัน ความพยายามดังกล่าวนอกจากจะเป็นแรงปรารถนาของตุรกีในการเป็นส่วนหนึ่งของทวีปยุโรปและค่ายประชาธิปไตยเสรีนิยมตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาแล้ว อีกทั้งยังเป็นหลักไมล์ของพัฒนาประเทศตุรกีเองอีกด้วย (แม้ว่าล่าสุดเราจะเห็นท่าที่ของประธานาธิบดีแอรโดอันที่สื่อว่าตุรกีอาจจะทำประชามติเพื่อออกจากการขอเป็นสมาชิก EU ก็ตาม)

ในทำนองเดียวกัน พัฒนาการเชิงบวกลักษณะดังกล่าวสามารถพบเห็นได้เช่นกันในประเทศอินโดนีเซีย โมร็อกโค และประเทศตูนีเซียซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการทำให้ประเทศของตัวเองเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมากขึ้น นอกจากนั้น ประเทศคูเวต บาห์เรน และกาตาร์ต่างก็มีการปรับตัวทางการเมืองเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้กับประชาชนมากขึ้นเช่นกัน[15] ดังนั้นการตระหนักรู้ของมุสลิมเองจึงเป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจพัฒนาการของโลกมุสลิมและกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยในบ้านของตัวเองและบริบทรอบๆ ตัวเรา

ในการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์และการเมืองเปรียบเทียบนั้น ถ้าหากระบอบประชาธิปไตยเป็นหมุดหมายปลายทางในด้านหนึ่งของการพัฒนาทางการเมืองแล้ว เรามีระบอบเผด็จการอยู่อีกด้านหนึ่งของเส้นทางการพัฒนาดังกล่าว[16] สังคมในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ซึ่งแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยแบบคลาสสิกนั้นมีลักษณะเศรษฐกิจแบบทุนนิยม มีความหลากหลาย และไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่จึงก่อกำเนิดมาเพื่อรองรับความหลากหลายดังกล่าวโดยการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มีการแข่งขันจากหลายกลุ่มก้อนของสังคมภายใต้กฎกติกาที่สังคมยอมรับร่วมกัน[17]

ในทางตรงกันข้ามระบอบเผด็จการนั้นนิยมการปกครองแบบรวมศูนย์กลางทางอำนาจ ปิดพื้นที่ทางการเมืองและเสรีภาพ และกำหนดนโยบายจากบนลงสู่ล่าง สาเหตุหนึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าลักษณะของระบอบหลังนั้นเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงให้ผู้มีอำนาจและชนชั้นนำสามารถรักษาสถานภาพและผลประโยชน์ของตัวเองในสังคมได้ต่อไป

อย่างไรก็ดี ลักษณะดังกล่าวเป็นสภาพของสังคมก่อนสมัยใหม่ในยุโรปซึ่งในที่สุดแล้วไม่สามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้[18] การเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรมทำให้เกิดชนชั้นใหม่ในสังคมที่มีข้อเรียกร้องทางการเมืองมากขึ้น เช่นความต้องการด้านสวัสดิการทางสังคม โอกาสในการศึกษาและการทำงานในองค์กรของรัฐที่เท่าเทียมกัน การประกันราคาสินค้าเกษตรกรรม การอุดหนุนภาคเกษตรกรรมและท่องเที่ยว การมีพื้นที่ทางการเมืองและช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่มากขึ้น และการคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ดังนั้นถ้าสังคมการเมืองมีทางเลือกระหว่างเส้นทางไปสู่ระบอบเผด็จการและประชาธิปไตยแล้ว งานทางด้านประชาธิปไตยเปรียบเทียบชี้ให้เห็นว่าพัฒนาการของสังคมการเมืองสมัยใหม่หลังยุคสงครามเย็นนั้นยากที่จะหลีกเลี่ยงการมุ่งสู่กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยได้ ซึ่งก็คือสภาพที่ประเทศมุสลิมในโลกมุสลิมโดยเฉพาะประเทศในตะวันออกกลางในปัจจุบันกำลังประสบอยู่

โปรดติดต่อตอนที่ 2 


อนึ่งขอขอบคุณอาจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ดุลยวิทย์ นาคนาวา และคุณซัลมาน หมัดหมันสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์บทความนี้ก่อนการเผยแพร่


[1] มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง, ‘พลวัตความคิดทางการเมืองในโลกมุสลิมกับแนวความคิดการต่อสู้ของขบวนการมลายูมุสลิมปาตานี ตอนที่ 1’, Pataniforum, 2016 [accessed 2 June 2017].

[2] หนึ่งในการเปลี่ยนผ่านในที่นี่หมายถึงการแยกศาสนาออกจากการเมือง โปรดดู Rached Ghannouchi, ‘From Political Islam to Muslim Democracy: The Ennahda Party and the Future of Tunisia Essays’, Foreign Affairs, 95 (2016), [i]-75.

[3] ในเชิงสถาบันการเมือง งานของคุณอิมรอน ซาเหาะ ชี้ให้เห็นว่า “พรรคการเมืองมุสลิมทั้ง 3 พรรค [ในประเทศไทย] ที่เป็นกรณีศึกษาในครั้งนี้มีอุดมการณ์ที่ชัดเจนถึงการไม่แยกศาสนาออกจากการเมือง...” โปรดดู อิมรอน ซาเหาะ, ‘บทนำ แนวคิดอิสลามการเมืองและสันติภาพของพรรคการเมืองมุสลิมในประเทศไทย’, ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, 2016 [accessed 2 June 2017].

[4] โปรดดูข้อถกเถียงเพิ่มเติมได้ที่ Sayed Khatab, ‘“Hakimiyyah” and “Jahiliyyah” in the Thought of Sayyid Qutb’, Middle Eastern Studies, 38.3 (2002), 145–70.

[5] Samuel P. Huntington, ‘Will More Countries Become Democratic?’, Political Science Quarterly, 99.2 (1984), 193–218 (p. 20).

[6] เอกรินทร์ ต่วนศิริ, ‘โลกทัศน์ของปัญญาชนมุสลิมกับประชาธิปไตย’, วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 21.3 (2015), 87–124; มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง, ‘อิสลามกับประชาธิปไตย: บทสะท้อนเบื้องต้น’, ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, 2016 [accessed 2 June 2017]; บูฆอรี ยีหมะ, ‘ประชาธิปไตยในโลกอิสลาม’, in คนหนุ่มสาวมุสลิมกับโลกสมัยใหม่, ed. by สุชาติ เศรษฐมาลินี and วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ (กรุงเทพฯ: คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557).

[7] มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง, ‘อิสลามกับประชาธิปไตย: บทสะท้อนเบื้องต้น’.

[8] เอกรินทร์ ต่วนศิริ, pp. 112–19.

[9] Tariq Ramadan, To Be a European Muslim (Leicester: Islamic Foundation, 1999).

[10] Louay M. Safi, Tensions and Transitions in the Muslim World (Maryland: University Press Of America, 2003).

[11] Felix Marquardt and others, ‘Muslim Democrats of the World, Unite!’, Huffington Post, 2015 [accessed 4 June 2017]; Sasakawa Peace Foundation, ‘Muslim Democrats | About’, Muslim Democrats [accessed 4 June 2017].

[12] อันวาร์ กอมะ, ‘บันทึกจากตุรกีว่าด้วยผลประชามติถึงประชาธิปไตยไทย ตอนที่ 2’, Pataniforum, 2017 [accessed 18 April 2017].

[13] หลักจากการสถาปนาตุรกีขึ้นเป็นประเทศใหม่ในปี 1923 แล้ว ตุรกีเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองภายในครั้งสำคัญในทศวรรษ 1950 ด้วยการเปลี่ยนจากระบบพรรคการเมืองเดียวไปสู่ระบบหลายพรรคการเมือง โปรดดู Ahmad Feroz, The Making of Modern Turkey (London and New York: Routledge, 1993), chap. 6.

­­­[14] เซลิม, บทสนทนาว่าด้วยตุรกีกับการเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป, 2017.

[15] เช่น มีการให้สิทธิ์ทางการเมือง มีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ (แม้กษัตริย์จะยังคงรักษาอาญาสิทธิ์อยู่ก็ตาม) เป็นต้น นอกจากนั้นพัฒนาการล่าสุดของประเทศซาอุดีอาระเบียเห็นจะเป็นการอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถดำรงตำแหน่งผู้บริหารองค์กรสำคัญของประเทศได้ โปรดดู Mohammed Ahmed Al Aidroos, ‘Dammam Airports Company Hires First Saudi Woman Executive’, Saudi Gazette, 2017 [accessed 2 June 2017].

[16] มีความพยายามเป็นจำนวนมากจากนักวิชาการด้านการเมืองเปรียบเทียบในการศึกษาและจัดประเภทประเทศที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งรวมถึงประเทศในโลกมุสลิมด้วยเช่นกัน โปรดดูงานเขียนที่สำคัญ David Collier and Steven Levitsky, ‘Democracy with Adjectives: Conceptual Innovation in Comparative Research’, World Politics, 49.3 (1997), 430–51 [accessed 18 April 2016]; Steven Levitsky and Lucan Way, ‘The Rise of Competitive Authoritarianism’, Journal of Democracy, 13.2 (2002), 51–65 ; Fareed Zakaria, ‘The Rise of Illiberal Democracy’, Foreign Affairs, 1997, 22–43 [accessed 25 May 2017]; Larry Jay Diamond, ‘Thinking about Hybrid Regimes’, Journal of Democracy, 13.2 (2002), 21–35.

[17] โปรดดู Robert A. Dahl, ‘Polyarchy, Pluralism, and Scale’, Scandinavian Political Studies, 7.4 (1984), 225–40 ; John E. Elliott, ‘Joseph A. Schumpeter and The Theory of Democracy’, Review of Social Economy, 52.4 (1994), 280–300; Joseph A. Schumpeter, Capitalism, Socialism and Democracy (London: Allen and Unwin, 1976).กล่าวให้ถึงที่สุด อดัม เชอเวอสกีให้ทัศนะว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องเป็นระบอบที่มีพรรคที่แพ้การเลือกตั้ง แต่ผู้แพ้เลือกที่จะเล่นอยู่ในกรอบกติกาเพื่อให้สามารถกลับมาชนะได้ในครั้งต่อไป กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประชาธิปไตยต้องเป็นกฎกติกาเดียวเท่านั้นในเมืองแห่งนั้น ด้วยเหตุนี้ระบอบประชาธิปไตยจึงเปิดพื้นที่ให้มีการแข่งกันแต่ผู้แข่งขันไม่สามารถกำหนดผลลัพธ์ที่ชัดเจนและแน่นอนได้ Adam Przeworski, Democracy and the Market: Political and Economic Reforms in Eastern Europe and Latin America (Cambridge: Cambridge University Press, 1991), pp. 10–49.

[18] Elliott, pp. 281–83.