บันทึกจากตุรกีว่าด้วยผลประชามติถึงประชาธิปไตยไทย ตอนที่ 2

บันทึกจากตุรกีว่าด้วยผลประชามติถึงประชาธิปไตยไทย* ตอนที่ 2

อันวาร์ กอมะ นักศึกษาปริญญาเอก Dokuz Eylül University, Turkey

อุดมการณ์กับความเป็นจริง

อย่างไรก็ตามการศึกษาในเชิงทฤษฎีแม้จะมีค่าในตัวมันเองแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะตัดขาดออกจากบริบทความเป็นจริงและค่านิยมทางการเมือง ในด้านหนึ่งของทฤษฎีคือกระบวนการสังเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมืองบนหลักฐานที่สามารถสัมผัส รับรู้และสังเกตการณ์ได้จริง อีกด้านหนึ่งชุดคำอธิบายเหล่านั้นไม่ได้ล่องลอยเหนือเมฆและสิงห์สถิตอยู่บนหอคอยงาช้างเท่านั้นแต่ยังปรากฏอยู่ในรูปของปทัสถานหรืออุดมการณ์ที่ผลักดันไปสู่ “สิ่งที่ควรเป็นและกระทำ” อีกด้วย

หากกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม คริสเตียน รูสสมิทและดันแคน สไนดาลเปิดเผยผลการศึกษาว่า ภายใต้ 9 ชุดความคิดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นแนวคิดสัจนิยมให้ความสำคัญไปที่ผลประโยชน์แห่งชาติก่อนสิ่งอื่นใดและไม่เชื่อว่าความร่วมมือเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ในขณะที่แนวคิดเสรีนิยมใหม่และเชิงสถาบันให้ความสำคัญกับเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและสมาทานค่านิยมเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ[1] ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นท่าทีของรัฐ นักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายเลือกที่จะผลักดันและสนับสนุนทิศทางของนโยบายแบบหนึ่งแทนนโยบายอื่นๆ อย่างเช่น การปฏิเสธของชาติยุโรป (เนเธอร์แลนด์ เยอรมันและออสเตรีย) ในการสนับสนุนทางการตุรกีเพื่อทำการหาเสียงการลงประชามติในประเทศของตัวเองซึ่งมีพลเมืองชาวตุรกีอาศัยอยู่จำนวนมาก[2] และการประโคมข่าวไม่สนับสนุนการเปลี่ยนระบบในครั้งนี้

ในอีกมุมหนึ่ง โรเบิร์ต ค็อก นักวิชาการชื่อดังสายทฤษฎีวิพากษ์ได้วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดกระแสหลักว่าไม่ได้ปลอดจากอคติจริงเพราะกรอบคิดของทฤษฎีดังกล่าวยอมรับระบอบที่เป็นอยู่โดยปริยายและถูกใช้เป็นเหตุผลให้กับตัวเองในการตอบสนองผลประโยชน์ของชนชั้นหรือชาตินั้นๆ ภายใต้ระเบียบโลกปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ค็อกเชื่อว่าไม่มีทฤษฎีใดในโลกที่ปลอดจากอคติและเป็นกลาง ทฤษฎีไม่ได้เกิดขึ้นมาเองและไม่ได้มีอยู่เพื่อตัวมันเอง ทุกชุดความคิดนั้นแฝงอยู่ด้วยเป้าหมายและอุดมการณ์เพราะการสร้างชุดความคิดล้วนผูกติดอยู่กับประสบการณ์และความเป็นจริงในช่วงเวลาและสถานที่หนึ่งๆ ดังนั้น “ทฤษฎีจึงมีอยู่เพื่อใช้สำหรับเป้าหมายบางอย่างและสำหรับบุคคลบางกลุ่มเสมอไป”[3]

ความจริงอย่างหนึ่งที่เราคงยากจะปฏิเสธเมื่อพูดคุยกันถึงชุดความคิดที่สำคัญทางการเมืองนั้นคือ การเมืองโลกและวงวิชาการกระแสหลักในปัจจุบันกำลังดำรงอยู่ภายใต้อิทธิพลของอุดมการณ์เสรีนิยมสมัยใหม่[4] ลักษณะประการสำคัญของโลกหลังสงครามเย็นคือพื้นที่แห่งชัยชนะของอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นจ้าวอำนาจแต่เพียงหนึ่งเดียว นักรัฐศาสตร์หลายคนมองว่าลักษณะดังกล่าวนอกจากจะเป็นจุดจบของการต่อสู้ระหว่างระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์แล้วยังเป็นแสงนำทางให้กับประเทศโลกที่สามในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอีกด้วย[5] ปัจจุบันเราพบข่าวตามหน้าสื่อออนไลน์แทบทุกวันเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประชาสังคม ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและการค้าเสรี นอกจากนั้น การรวมตัวของประเทศต่างๆ ภายใต้แนวคิดความปลอดภัยร่วมกันและความร่วมมือระหว่างประเทศ อย่างเช่น องค์กรสหประชาชาติ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) องค์กรเพื่อความร่วมมืออิสลาม สหภาพยุโรป อาเซียนและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ล้วนก่อรากมาจากแนวคิดเสรีนิยมโดยมีอิมมานูเอล ค้านต์เป็นนักทฤษฎีคนสำคัญ[6]

ดังนั้น ตุรกีเป็นหนึ่งในประชาคมรัฐที่ไม่เพียงไม่สามารถทำตัวโดดเดี่ยวจากระบบดังกล่าวได้และในทางปฏิบัติได้เข้าเป็นสมาชิกของ 3 องค์การระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดของโลกข้างต้นแล้วโดยปัจจุบันมีสถานะเป็นประเทศผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปมาตั้งแต่ปี 1977[7] หากกล่าวโดยสรุป ในทางการเมืองตุรกีตระหนักดีว่าเส้นทางการพัฒนาประเทศนั้นไม่เพียงแค่ไม่สามารถแยกออกจากระบบโลกที่วางอยู่บนฐานความคิดเสรินิยมสมัยใหม่ได้แล้วแต่ต้องมุ่งไปสู่การสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับประชาธิปไตยอีกด้วย ดังนั้น การเข้าเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ในสหภาพยุโรปเปรียบเสมือนหลักไมล์แห่งประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของประเทศตุรกียุคใหม่

ระบอบที่เป็นอันตรายกับสันติภาพโลก?

ในโลกที่ห้อมล้อมด้วยกระบวนทัศน์ดังกล่าวทำให้ผู้กำหนดนโยบายและนักวิชาการในโลกประชาธิปไตยคาดหวังว่าเส้นทางของตุรกีในลำดับต่อไปนอกจากการระวังหลีกเลี่ยงไม่ให้ย้อนกลับไปสู่ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมแล้วคือการเดินหน้าไปสู่การสร้างสังคมประชาธิปไตยเสรีนิยม แม้ว่าผลการศึกษาจากการเมืองเปรียบเทียบจะชี้ให้เห็นว่าเส้นทางดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นตรงเสมอไป แต่มีเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จและสามารถหยั่งรากลึกของประชาธิปไตยภายใต้ระบบประธานาธิบดีได้ อาทิเช่น สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ นอกจากนั้นประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แซมเบียและเม็กซิโกก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าระบอบประธานาธิบดีสามารถยกสถานะของตัวเองไปสู่ประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยม

ดังนั้น เมื่อกลับมาดูสถิติของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่นประเทศในยุโรปตะวันตกพบว่าประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่นิยมใช้ระบอบรัฐสภาเป็นหลัก[8] หากกล่าวให้ถึงที่สุด แม้ว่างานวิจัยในระยะหลังจะชี้ให้เห็นว่าความเสี่ยงในการย้อนกลับไปสู่ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอาจจะไม่จำเป็นต้องมาจากระบอบประธานธิบดี[9] แต่งานกระแสหลักโดยเฉพาะบทความที่ทรงพลังของจวน ลิงค์ เรื่องความเสี่ยงของระบอบประธานาธิบดีนั้นได้สร้างข้อถกเถียงที่สำคัญไว้ว่า “ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภานั้นเอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพมากกว่าระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี”[10] เนื่องจากระบอบดังกล่าวโดยรวมมีความเสี่ยงเรื่องการแบ่งอำนาจและผลประโยชน์ การอ้างความชอบธรรมและความแน่นิ่งเฉื่อยชาทางการเมือง[11] ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนระบอบการบริหารในประเทศตุรกีจึงเป็นทั้งความสนใจและความกังวลของนักรัฐศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบายและประชาคมโลกในการทำงานเพื่อสร้างและรักษาสันติภาพโลกต่อไป

ดังนั้น คำถามที่สำคัญในลำดับต่อไปที่นักรัฐศาสตร์หลายคนพยายามแสวงหาชุดคำตอบคือ จะทำอย่างไรประชาคมโลกถึงจะอยู่ด้วยกันได้อย่างสงบสันติโดยไม่มีสงคราม ถ้ากลับมาจินตนาการภาพในสังคมบรรพกาลก่อนการกำเนิดสถาบันทางการเมืองที่เรียกว่ารัฐซึ่งไม่มีกฎหมายใดๆ คอยควบคุมพฤติกรรมของปัจเจกชน สภาพของสังคมดังกล่าวจะเป็นอย่างไร โทมัส โฮบให้คำตอบว่าสภาพดังกล่าวเปรียบเสมือนสงครามระหว่างกันและกันและเป็นที่มาของการทำสัญญาประชาคม[12]

ในทำนองเดียวกัน อิมมานูเอล ค้านต์ นักทฤษฎีเสรีนิยมคนสำคัญ มองว่าสภาพดังกล่าวเปรียบเสมือนสภาวะแห่งสงครามและความขัดแย้งที่แต่ละคนพร้อมที่จะรบราฆ่าฟันกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ด้วยเหตุนี้ การมีรัฐและผู้ปกครองจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างระเบียบของสังคมและรักษาสันติภาพอย่างไรก็ตามค้านต์มองต่อไปว่าสันติภาพสุขถาวรนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ถ้าประกอบด้วยหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตย การสร้างสหพันธ์สันติภาพบนพื้นฐานของการทำสนธิสัญญา และการกำหนดใช้กฎหมายสากล ดังนั้นสำหรับค้านต์ เงื่อนไขสามข้อนี้ไม่เพียงแต่จะนำไปสู่การเปิดเสรีการค้าระหว่างกันและการหยุดสงครามเท่านั้นแต่จะพาสังคมแห่งรัฐไปสู่สันติภาพสุขถาวรในที่สุด

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว อิทธิพลของความคิดของค้านต์และอุดมการณ์เสรีนิยมได้แผ่กระจายไปทั่วทุกอณูของสังคมและที่สำคัญได้นำไปสู่การประกอบสร้างทฤษฎีว่าด้วยสันติภาพบนฐานประชาธิปไตย (Democratic peace) นักทฤษฎีเสรีนิยมได้เสนอข้อสรุปที่สำคัญประการหนึ่งว่า “ประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมจะไม่ทำสงครามกับประเทศอื่นที่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมเหมือนกัน” เนื่องจากประเทศดังกล่าวมีธรรมเนียมและสถาบันทางการเมืองร่วมกัน ให้ความสำคัญกับการค้าและเศรษฐกิจ และมีอัตลักษณ์ความเป็นสมาชิกร่วมด้วยเหตุนี้พวกเขาจะไม่ทำสงครามระหว่างกัน[13]

นอกจากนั้น ไมเคิล ดอยล์ นักรัฐศาสตร์สายเสรีนิยมชี้ให้เห็นว่าชัยชนะของอุดมการณ์เสรีนิยมและพลวัตของการเมืองโลกทำให้จำนวนของประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย (เสรีนิยม) มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือในศตวรรษที่ 18 มีการใช้ระบอบดังกล่าวเพียง 3 ประเทศเท่านั้นแต่ในปี 1945 เป็นต้นมากลับมีจำนวนไม่น้อยกว่า 45 ประเทศและปัจจุบันมากกว่าครึ่งหนึ่ง (116) ของสังคมรัฐชาติดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยในขณะที่ 51 ประเทศอยู่ในระบอบเผด็จการ[14]

หากกล่าวให้ถึงที่สุด จากการจัดอันดับขององค์กรต่างๆ เกี่ยวกับคุณภาพของประชาธิปไตยโลกสะท้อนให้เห็นว่าในภาพรวมประเทศตุรกีถูกจัดให้อยู่ในระบอบพันทางที่มีคุณภาพระดับกลางและเป็นประเทศที่มีเสรีภาพบางส่วนซึ่งมีแนวโน้มที่จะเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เสรี[15]

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ประชาคมโลกและนักรัฐศาสตร์มีความเป็นห่วงต่อพัฒนาการประชาธิปไตยของประเทศตุรกีในการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารประเทศ ไม่เพียงเพราะตุรกีเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลางและเป็นประเทศหน้าด่านของ NATO ที่อยู่ใกล้กับประเทศรัสเซียที่ยังใช้ระบอบเผด็จการเท่านั้น แต่เพราะผลการตัดสินใจในครั้งนี้จะเป็นจุดกำหนดการสร้างสันติภาพและต่อสู้กับภัยก่อการร้ายในภูมิภาคดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญด้วยช่วยกัน[16]

*ขอขอบคุณอาจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริสำหรับคำวิพากษ์วิจารณ์บทความนี้และคุณซัลมาน หมัดหมันสำหรับการจัดหารูปภาพจากนครอิสตันบูลก่อนการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ 

ตอนจบhttp://www.pataniforum.com/single.php?id=688


[1] Christian Reus-Smit and Duncan Snidal, ‘Between Utopia and Reality: The Practical Discourses of International Relations’, in The Oxford Handbook of International Relations (New York: Oxford University Press, 2008), pp. 15–24 [accessed 16 April 2017].

[2] บีบีซีไทย, ‘สัมพันธ์เนเธอร์แลนด์-ตุรกี ตึงเครียด หลัง รมต.ตุรกีถูกเชิญให้ออกจากเนเธอร์แลนด์’, บีบีซีไทย, 12 March 2017, section ต่างประเทศ [accessed 15 April 2017]; BBC, ‘Turkey Referendum: Erdogan Rallies Not Welcome in Austria’, BBC News, 27 February 2017, section Europe [accessed 16 April 2017]; BBC, ‘Turkey’s Erdogan Makes Nazi Jibe over Germany Rally Ban’, BBC News, 5 March 2017, section Europe [accessed 16 April 2017].

[3] Robert W. Cox, ‘Social Forces, States and World Orders: Beyond International Relations Theory’, Millennium - Journal of International Studies, 10.2 (1981), 126–55 (pp. 128–30) ; Peer Schouten, ‘Theory Talk #37: Robert Cox’, 2010 [accessed 15 April 2017].

[4] แนวคิดเสรีนิยมตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพแห่งปัจเจกชน รัฐเกิดขึ้นมาเพื่อปกป้องรักษาสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกจากการรุกรานของคนหรือรัฐอื่น ดังนั้นการมีอยู่ของรัฐจึงจำเป็นต้องทำตามเจตจำนงร่วมของปัจเจกชนไม่ใช่เป็นผู้กำหนดหรือควบคุมนโยบายสาธารณะในแนวดิ่งเสียเองทั้งหมด ดูเพิ่มเติม Tim Dunne, ‘Liberalism’, in The Globalization of World Politics: An Introduction to International Relations, ed. by John Baylis and Steve Smith, 2nd edn (OUP Oxford, 2001), p. 178.; ดูอิทธิพลของเสรีนิยมสมัยใหม่ในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบได้ที่ Ira Katznelson, ‘Strong Theory, Complex History: Structure and Configuration in Comparative Politics Revisited’, in Comparative Politics: Rationality, Culture, and Structure, ed. by Mark Irving Lichbach and Alan S. Zuckerman, 2nd ed (Cambridge: Cambridge University Press, 2009).

[5] Francis Fukuyama, The End of History and the Last Man, Reissue edition (New York: Free Press, 2006); Seymour Martin Lipset, ‘Some Social Requisites of Democracy: Economic Development and Political Legitimacy’, American Political Science Review, 53.1 (1959), 69–105 .

[6] ดูเพิ่มเติม Michael W. Doyle, ‘Kant, Liberal Legacies, and Foreign Affairs’, Philosophy & Public Affairs, 12.3 (1983), 205–35 [accessed 7 November 2016]; นรุตม์ เจริญศรี, ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (เชียงใหม่: สํานักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2556), mmdlvi, chaps 6 &7.

[7] European Commission, ‘Turkey’, European Neighbourhood Policy And Enlargement Negotiations[accessed 15 April 2017].

[8] Kenneth Newton and Jan W. Van Deth, Foundations of Comparative Politics, 2rd edn (Cambridge: Cambridge University Press, 2016), p. 98; ไชยวัฒน์ ค้ำชู และ นิธิ เนื่องจำนงค์, การเมืองเปรียบเทียบ ทฤษฎี แนวคิด และกรณีศึกษา (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559), pp. 190–91.

[9] Jose Antonio Cheibub, Presidentialism, Parliamentarism, and Democracy (Cambridge: Cambridge University Press, 2007), pp. 2–3 [accessed 16 April 2017]; Scott Mainwaring and Matthew S. Shugart, ‘Juan Linz, Presidentialism, and Democracy: A Critical Appraisal’, Comparative Politics, 29.4 (1997), 449–71 (pp. 436–68) ; George Tsebelis, Veto Players: How Political Institutions Work (Princeton: Princeton University Press, 2011), mmii, pp. 1–17.

[10] ไชยวัฒน์ ค้ำชู and นิธิ เนื่องจำนงค์, p. 176; Juan J. Linz, ‘The Perils of Presidentialism’, Journal of Democracy, 1.1 (1990), 51–69 (p. 52).

[11] Kenneth Newton and Jan W. Van Deth, Foundations of Comparative Politics, 2rd edn (Cambridge: Cambridge University Press, 2016), pp. 99–103; ไชยวัฒน์ ค้ำชู และ นิธิ เนื่องจำนงค์, pp. 175–85.

[12] Patrick H. O’Neil, Essentials of Comparative Politics, 3rd edn (New York: WW Norton & Company, 2010), p. 28.

[13] นรุตม์ เจริญศรี, mmdlvi, pp. 142–47; Doyle, p. 213; Samuel P. Huntington, The Third Wave: Democratization in the Late Twentieth Century (London: University of Oklahoma Press, 1993), mcmxci, pp. 48–49.

[14] The Economist, &lsqu