บันทึกจากตุรกีว่าด้วยผลประชามติถึงประชาธิปไตยไทย ตอนจบ

บันทึกจากตุรกีว่าด้วยผลประชามติถึงประชาธิปไตยไทย* ตอนจบ

อันวาร์ กอมะ

นักศึกษาปริญญาเอก Dokuz Eylül University, Turkey

แปลผลประชามติ: ว่าด้วยความชอบธรรม

หลักจากที่นั่งเคร่งเครียดอยู่กับการเรียบเรียงและระบายความคิดข้างต้นออกมาเป็นตัวหนังสือ 19.15 น. เป็นเวลาอาหารเย็น ผมลงไปทานข้าวที่ห้องอาหารของหอพักซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กำลังนับคะแนนประชามติกันอย่างสนุก ในห้องดังกล่าวมีนักศึกษาตุรกีที่ไม่กลับบ้านนั่งติดตามผลทางช่อง FOX TV อย่างใจจดใจจ่อ เมื่อทราบผลค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าฝ่าย Evet ชนะการหยั่งเสียงในครั้งนี้ ผมส่งข้อความไปถามเพื่อนที่เคยคุยกันเรื่องนี้เมื่อสองสามวันก่อนซึ่งออกไปเป็นอาสาสมัครให้กันหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในเมืองอิซมิรว่าผลเป็นอย่างไรบ้าง เขาตอบว่า “ที่ที่ผมอยู่ผลออกมาดี แต่ผลทั่วไปออกมาแย่” ในขณะที่นั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์ ผมหันไปถามเพื่อนอีกคนหนึ่งที่มาจากเมืองชานลืออุรฟาซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีว่าทำไมฝ่าย Evet จึงชนะ คำอธิบายของเขาคือ

 “แอรโดอันชนะเฉพาะในเขตจังหวัดที่คนเคร่งศาสนาเท่านั้น เช่น เมืองคอนย่า ไครซีรี แอรซูรุม และรีเซ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตภาคกลาง ภาคเหนือเขตทะเลดำและภาคตะวันออก แต่สำหรับจังหวัดที่มีความเป็น laik [laïcité] คือผู้คนมีความเป็นโมเดิร์น [เขาอธิบาย] อย่างเช่น อิซมิร มูลา อัยดึนและอีดิรเน่ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกนั้นผลออกมาในทางตรงกันข้าม”

เพื่อนคนดังกล่าวอธิบายต่อว่านอกจากปัจจัยทั้งสองอย่างที่กล่าวมาแล้ว ชาวเคิร์ดและชาวอาลาวีส่วนหนึ่งที่อยู่ทางฝั่งทิศตะวันออกเฉียงใต้ก็ไม่ชอบแอรโดอันอีกทั้งบริเวณดังกล่าวยังเป็นที่ซ่องสุ่มกำลังของขบวนการแบ่งแยกดินแดน PKK โดยมีเมืองดียารบาคีรเป็นศูนย์กลางอีกด้วย

หลังจากนั่งฟังเขาสาธยายเสร็จผมกลับมานั่งเรียบเรียงความคิดใหม่และเห็นว่าผลของประชามติครั้งนี้สามารถแปลความได้ 3 ประเด็นเป็นอย่างน้อย ดังนี้ หนึ่ง แอรโดอันเป็นผู้นำที่มีความชอบธรรมในสายตาของคนเคร่งศาสนา สอง เขาเป็นผู้นำของคนชนบทไม่ใช่คนเมือง หากอ่านผลเป็นรายจังหวัดโดยเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน พฤษศจิกายน 2015 พบว่า แอรโดอันเสียฐานเสียงที่สำคัญในเมืองใหญ่ที่สุดในตุรกี อย่างเช่น อิสตันบูล อังการ่าและอิซมิรตามลำดับ

แต่ในกรณีของเมืองอิซมิรเป็นที่เข้าใจได้โดยทั่วกันว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นฐานเสียงของพรรคฝ่ายค้านอย่าง CHP สาม แอรโดอันขาดการยอมรับและความชอบธรรมจากกลุ่มคนกลุ่มน้อยที่นิยมวิถี laik และจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ชาวเติร์ก เช่นชาวเคิร์ดและอาลาวี เป็นต้น หากกล่าวโดยสรุป ฐานเสียงของแอรโดอันส่วนใหญ่แล้วมาจากกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่และเป็นกลุ่มที่มีความผูกพันกับศาสนาอย่างมีนัยสำคัญ

รูปภาพที่ 2ผลประชามติ ฝ่ายรับชนะด้วยคะแนนเสียง 51.41/48.59 ในวันที่ 18 เมษายน 2017 ที่มา Anadolu Agency, ‘2017 Halk Oylaması’, Anadolu Agency, 2017 [accessed 18 April 2017]

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าลำพังฐานของแอรโดอันและพรรค AK อย่างเดียวคงไม่เพียงพอกับการครองเสียงข้างมากในการลงประชามติครั้งนี้ ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการได้รับเสียงสนับสนุนจึงอยู่ที่การร่วมมือของพรรค AKP กับพรรคฝ่ายค้านอย่าง MHP หากกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม สถิติการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2015 ชี้ให้เห็นว่าฐานเสียงของพรรค MHP จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 13 กระจายตัวอยู่บริเวณเขตอนาโตเลียตอนกลาง เขตทะเลเอเจียน เขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและเขตทะเลดำทางฝั่งตะวันตก[1] ดังนั้น ตัวเลขร้อยละ 51.41 ของจำนวนเสียงประชามติทั้งหมดแม้จะทำให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าเปลี่ยนรัฐธรรมนูญได้ตามกรอบที่วางไว้แต่ไม่ได้สะท้อนว่าคนตุรกีส่วนใหญ่จงรักษ์ภักดีกับแอรโดอันและพรรค AKP อย่างไร้ข้อกังขา

เมื่อพูดถึงความชอบธรรม ผมมักนึกถึงแม็ก เวเบอร์ (1864-1920) นักวิชาการคนสำคัญชาวเยอรมันผู้ซึ่งมีอิทธิพลต่อการศึกษารัฐศาสตร์และการเมืองเปรียบเทียบอย่างมาก ในบทความเรื่องการเมืองในฐานะอาชีพ (politics as vocation) เวเบอร์ได้แบ่งความชอบธรรมทางการเมืองในยุคสมัยใหม่ออกเป็น 3 ประเภทคือ ความชอบธรรมแบบจารีต ความชอบธรรมแบบบุญบารมี และความชอบธรรมแบบที่มาจากหลักเหตุผลและกฎหมาย[2]

สำหรับแบบแรกนั้นผู้นำได้รับความชอบธรรมโดยอัตโนมัติผ่านทางสายเลือดหรือความใกล้ชิดเพราะการส่งต่อความชอบธรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่เคยปฎิบัติกันมาผ่านพิธิกรรมและเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ อาทิเช่น คิม จ็อง-อึนของเกาหลีเหลือและกษัตริย์ของประเทศต่างๆ ที่มีความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดแห่งรัฐ

แบบที่สองผู้นำไม่จำเป็นต้องมาจากฐานันดรศักดิ์ที่สูงส่งเหมือนอย่างแบบแรก แต่มีพรสวรรค์และบารมี ทำให้สามารถชักจูงและโน้มน้าวผู้คนให้ทำตามความต้องการของตนได้ อาทิเช่น ศาสดาของศาสนาต่างๆ อดอล์ฟ ฮิทเลอร์ของประเทศเยอรมัน และแอรโดอันของประเทศตุรกี เป็นต้น

ส่วนแบบที่สามคือผู้นำที่ได้รับความชอบธรรมมาจากการดำเนินตามระบบของกฎหมาย เหตุผลของปัจเจกชน สัญญาประชาคมและระเบียบที่สังคมยึดถือร่วมกัน อาทิเช่น โดนัลด์ ทรัมป์ของประเทศสหรัฐอเมริกา แอรโดอันของประเทศตุรกี และผู้นำคนอื่นๆ ที่ได้รับตำแหน่งอย่างถูกต้องและชอบธรรมตามกฏกติกา อย่างไรก็ตาม ความชอบธรรมแบบหนึ่งอาจจะนำไปสู่ความชอบธรรมอีกแบบหนึ่งได้ ในทำนองเดียวกัน ผู้นำคนหนึ่งอาจจะได้รับความชอบธรรมจากมากกว่าหนึ่งรูปแบบก็เป็นได้เช่นกัน

เมื่อพิจารณามาที่บารมีของแอรโดอันเป็นการเฉพาะพบว่า เขาเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีของตุรกีอย่างถูกต้องชอบธรรมตั่งแต่ปี 2003 อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้เป็นผู้นำที่มีความชอบธรรมตามกฎหมายเท่านั้นแต่ยังเป็นผู้นำที่มีพรสวรรค์และบุญบารมีอีกด้วยหลังจากที่อยู่ในสนามอำนาจเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี

หากกล่าวให้ถึงที่สุด บารมีของแอรโดอันสามารถสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยการมองกลับไปที่เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ของตุรกีในวันที่ 15 กรกฎาคม 2016 ซึ่งเป็นวันที่คณะรัฐประหารที่เป็นเครือข่ายของรัฐเร้นลึกประสบความล้มเหลวในการยึดอำนาจจากประชาชน หลังจากที่แอรโดอันเรียกร้องให้มวลชนออกมาต่อสู้กับทหารด้วยมือเปล่าผ่านโทรทัศน์ช่อง CNN Turk ภายในไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ผู้คนในเมืองอิสตันบูลและอังการ่าจำนวนมากลุกฮือออกจากบ้านในเวลากลางดึก เดินไปบนถนนเพื่อเผชิญหน้ากับกลุ่มทหารที่มีอาวุธเต็มกำลังและในเวลาเดียวกันก็ไปต้อนรับแอรโดอันที่นั่งเครื่องบินกลับมาจากจังหวัดมูลาซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศ

เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นสองบทเรียนเป็นอย่างดีว่า หนึ่ง ความเป็นผู้นำที่มีบุญบารมีของแอรโดอันสามารถใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการช่วยชีวิตการเมืองของเขาและยืดอายุประชาธิปไตยตุรกี และสอง มวลชนในตุรกีส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนนิ่งเฉยทางการเมืองแต่ในทางกลับกันพวกเขาได้ร่วมเป็นร่วมตายและกลายเป็นพลังที่สำคัญในการปกป้องและยืดหยัดรักษาฉันทามติร่วมกันในคืนแห่งรัฐประหารล่มและการลงเสียงประชามติในครั้งนี้ด้วยสันติวิธี อย่างน้อยที่สุด เหตุการณ์เหล่านี้เริ่มชี้ให้เห็นความเชื่อที่สำคัญบางประการของมวลชนและนักการเมืองว่า ในเมืองแห่งนี้ประชาธิปไตยเท่านั้นคือสนามการแข่งขันทางการเมือง  

อย่างไรก็ตาม ในสังคมสมัยใหม่นั้นระบบการปกครองที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดอย่างน้อยในทัศนะของ เวเบอร์ คือระบอบที่ผู้นำได้รับความชอบธรรมบนพื้นฐานของหลักนิติธรรมมากกว่าความชอบธรรมที่วางอยู่บนความเป็นจารีตประเพณีและบุญบารมี ส่วนหนึ่งเพราะบารมีนั้นมีลักษณะส่วนบุคคลที่สร้างขึ้นผ่านกาลเวลาแต่ดับสูญได้ง่ายเมื่อคนๆ นั้นเสียชีวิตลง

ในทางกลับกัน สถาบันแห่งรัฐในยุคใหม่นั้นมีลักษณะเป็นสมบัติสาธารณะที่ตัดขาดออกความเป็นเจ้าของส่วนตน ตั้งอยู่บนหลักนิติธรรม และเคารพสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน ดังนั้นการสร้างระบบและการทำให้เป็นสถาบันที่มีความชอบธรรมนั้นจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับรัฐและประชาชนในยุคปัจจุบันเพราะสถาบันที่สำคัญอย่างเช่นหลักการของอาตาเติร์กยังคงดำรงอยู่ในรัฐธรรมนูญและการปกครองของตุรกีแม้ตัวเขาจะเสียชีวิตไปแล้ว 79 ปีก็ตาม ดังนั้น การฝากความหวังไว้ที่ตัวบุคคลโดยไม่เปลี่ยนถ่ายบุญบารมีให้กลายเป็นสถาบันที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันจึงไม่ต่างอะไรกับการนับเวลาถอยหลังไปสู่จุดดับมอดอย่างช้าๆ

ข้อสังเกตว่าด้วยประชาธิปไตยตุรกีถึงการเมืองไทย

หากจะให้กล่าวอย่างรวบรัดเพื่อปิดบันทึกเล่มนี้ ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นความพยายามหาชุดคำอธิบายในการทำความเข้าใจการเมืองตุรกีในยุคหลังรัฐประหารที่ล้มเหลว โดยตั้งคำถามในเชิงทฤษฎีว่าประชาธิปไตยตุรกีให้บทเรียนอะไรกับประเทศไทยได้บ้าง

ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ แม้ว่า มูเก อัคนูร ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยและความสัมพันธ์ระหว่างทหารและพลเรือนในตุรกี ถกเถียงไว้ในปี 2012 ว่าประเทศตุรกียังติดหล่มอยู่กับปัญหาการหยั่งรากลึกประชาธิปไตยในหลายด้าน[3] อย่างไรก็ตามประชาธิปไตยตุรกีในปัจจุบันได้ผ่านบททดสอบที่เรียกว่า “การเลือกตั้ง 2 ครั้ง” [4] หลังจากสามารถเปลี่ยนผ่านมาจากหรือย้อนกลับไปสู่ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้แล้ว ในขณะที่ประชาธิปไตยไทยถ้าไม่กำลังถอยหลังก็ยังอยู่ที่เดิม และหากดูจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วการออกแบบสถาบันดังกล่าวอาจจะเป็นเงื่อนไขไปสู่ทางตันทางการเมืองรอบใหม่และการไร้เสถียรภาพในการบริหารประเทศในอนาคต

ประการต่อมา ตุรกีประสบความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญในการใช้ปัจจัยภายนอกเพื่อล้อมกดดันสถาบันภายในและลดอำนาจของฝ่ายทหารผ่านการปฎิรูปตามกรอบและเงื่อนไขของสหภาพยุโรปในการเข้าเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ ในขณะที่ประเทศไทยไม่มีกลไกตัวนี้คอยช่วยสนับสนุน หากกล่าวโดยเฉพาะ อาเซียนก็ยังห่างไกลจากการแสดงบทบาทนำเพื่อสนับสนุนการสร้างความมั่งคงและยั่งยืนให้กับประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น แสงสุดท้ายของประชาธิปไตยไทยในยุคนี้คงต้องพึ่งการกลับมาของเครือข่ายภาคประชาสังคมอย่างจริงจังอย่างที่อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้เคยกล่าวไว้

ประการต่อมา ในขณะที่ผู้นำของคนชนบทและชนชั้นล่างในตุรกีได้รับความไว้วางใจอย่างต่อเนื่องและไม่มีที่ท่าว่าจะสูญเสียฐานเสียงอย่างถล่มทลายหากไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ดังนั้นความต่อเนื่องดังกล่าวทำให้รัฐบาลพรรค AKP สามารถสานต่อนโยบายเพื่อตอบแทนผลประโยชน์ให้กับกลุ่มดังกล่าวได้ ในทางตรงกันข้าม ผู้นำทางการเมืองของคนชนบทและชนชั้นล่างของประเทศไทยไม่มีที่อยู่ในผืนแผ่นดินตัวเองในการดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านั้น สำหรับบทเรียนข้อนี้ผมยังคิดไม่ออกว่าจะเสนออะไรที่ให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนอกจากการยืมแนวคิดจากมาร์กซิสในการรื้อถอนโครงสร้างใหม่

ประการถัดมา การเมืองตุรกีตั้งอยู่บนฐานของความรู้ หากเราสำรวจนักการเมืองแต่ละพรรคและผู้นำในแต่ละยุค เช่น อะเม็ด ดาวูดโอลู, นัจมุดดิน แอรบาคาน, และทาซู ชิลแลร จะพบว่าคนเหล่านั้นล้วนแต่เป็นนักวิชาการและศาสตราจารย์มาก่อนทั้งสิ้น ในขณะที่สภาพการเมืองในประเทศไทยวางอยู่บนเครือข่ายของนักการเมืองอำนาจเก่า ดังนั้น ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับประเด็นนี้คือ การให้ความสำคัญกับการจัดระบบการศึกษาโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาแบบรัฐสวัสดิการของตุรกี (ซึ่งคงเป็นข้อถกเถียงที่เก่าแล้วสำหรับผู้กำหนดนโยบายในประเทศไทย) หากกล่าวให้ถึงที่สุด ประชาชนพลเมืองชาวตุรกีสามารถเรียนฟรีโดยไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนให้กับมหาวิทยาลัยของรัฐจนถึงระดับปริญญาเอก ในขณะที่เมืองไทย การศึกษากลายเป็นตลาดวิชาที่ซื้อขายกันด้วยเงินตรามากกว่าการมองว่าสิ่งนั้นเป็นสินค้าสาธารณะและกิจกรรมที่จะนำไปสู่ประโยชน์อย่างอื่นในสังคมอย่างยั่งยืน (increasing return activity) ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า เครือข่ายนักวิชาการมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญกับการเมืองและประชาธิปไตยของตุรกีทั้งทางตรงและทางอ้อม

สุดท้ายนี้ ถ้าจะกล่าวอะไรทิ้งท้ายไว้สักอย่าง ผมคิดว่าพลวัตการเมืองของตุรกีนอกจากจะมีความสำคัญกับการศึกษาประชาธิปไตยเปรียบเทียบแล้วยังชี้ให้เห็นด้วยว่าข้อถกเถียงอันเก่าแก่ว่าด้วยอิสลามกับความเป็นสมัยใหม่ยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ล้าสมัยและยังไม่ตาย

*ขอขอบคุณอาจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริสำหรับคำวิพากษ์วิจารณ์บทความนี้และคุณซัลมาน หมัดหมันสำหรับการจัดหารูปภาพจากนครอิสตันบูลก่อนการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ 

ตอนที่1 http://www.pataniforum.com/single.php?id=686

ตอนที่ 2 http://www.pataniforum.com/single.php?id=687


[1] Konda Araştıma ve Danışmanlık, June 7 Election and Electorate Analysis (Konda, 18 June 2015), pp. 3, 15 & 44.

[2] Max Weber, ‘Politics as a Vocation’, in From Max Weber: Essays in Sociology, ed. by Hans H. Gerth and Charles W. Mills (Oxford: Oxford University Press, 1958), pp. 77–128.

[3] Müge Aknur, Democratic Consolidation in Turkey (Boca Raton: Universal-Publishers, 2012), pp. 415–19.

[4] ไชยวัฒน์ ค้ำชู and นิธิ เนื่องจำนงค์, p. 237.