บันทึกจากตุรกีว่าด้วยผลประชามติถึงประชาธิปไตยไทย ตอนที่ 1

บันทึกจากตุรกีว่าด้วยผลประชามติถึงประชาธิปไตยไทย§

อันวาร์ กอมะ
นักศึกษาปริญญาเอก Dokuz Eylül University, Turkey

รูปภาพที่ 1ภาพจากเมือง Taksim ณ.นคร อิสตันบูล ตรุกี 16/04/2017

ภาพถ่ายโดยคุณซัลมาน หมัดหมัน

ตอนที่หนึ่ง

00.43 น. หลังเที่ยงคืนของวันพฤหัสบดีก่อนการลงประชามติ 2 วันผมนั่งมองนาฟิกาบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือขณะเปิดเฟสบุคเพื่อดูข่าวก่อนนอน ข้อความแรกที่ผมเจอคือข้อความที่จ่ายค่าโฆษณาให้กับเฟสบุคของ The Economist ซึ่งเขียนว่า “มันไม่มีอะไรผิดสำหรับการมีประธานาธิบดีที่เข้มแข็ง แต่รัฐธรรมนูญใหม่ของตุรกีจะทำให้ประธานาธิบดีแอรโดอันกลายเป็นสุลต่านแห่งศตวรรษที่ 21”[1] ข้างใต้ข้อความดังกล่าวมีการแสดงความคิดเห็นไม่น้อยกว่า 1,700 ครั้ง มีผู้ส่งต่อไม่ต่ำกว่า 3,200 คน และแสดงอารมณ์ร่วมมากกว่า 8,400 คน อีกข้อความหนึ่งจากระบบที่แสดงผลบนหน้าจอมาจาก Turkish Policy Quarterly Journal ซึ่งกล่าวถึงการลงประชามติที่ตุรกีสั้นๆ ว่า “มันเป็นหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองตุรกี”[2] จากนั้นผมเลื่อนหน้าจอลงมาด้านล่างก็พบข้อความของเพื่อนนักศึกษาไทยในตุรกีคนหนึ่งแชร์ข้อความข่าวของ Anadolu Agency ซึ่งเป็นสำนักข่าวชื่อดังในตุรกีโดยมีหัวข้อข่าวว่า “คนตุรกีคือผู้ที่จะกำหนดอนาคตของยุโรป”[3]

หลังจากอ่านข้อความข้างต้นแบบรวดเร็วผมกลับมาถามตัวเองว่าอะไรคือใจกลางสำคัญของการลงประชามติครั้งนี้ที่ทำให้คนตุรกีและนักวิชาการต่างชาติให้ความสนใจกับการลงคะแนนเสียงเพื่อรับรอง/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 18 มาตราที่เสนอโดยพรรคเพื่อการพัฒนาและความยุติธรรม (AKP) และพรรคขบวนการชาตินิยม (MHP) คำถามดังกล่าวทำให้ผมต้องนอนดึกและทำการบ้านติดต่อกันอีกหลายคืน

หนึ่งอาทิตย์ก่อนการลงคะแนนเสียงประชามติจะมาถึงผมถามเพื่อนชาวตุรกีที่พบเจอกันในหอพักนักศึกษาที่เมืองอิซมิร (Izmir) ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 200 คนว่าอยากให้ใครชนะและเพราะอะไร คำตอบส่วนใหญ่เทคะแนนให้เสียงฝ่าย Hayır (ไม่รับ) เพราะไม่อยากให้ประธานาธิปดีเรเจป ทายยิพ แอรโดอัน (Recep Tayyip Erdoğan) กุมอำนาจเบ็ดเสร็จแต่เพียงผู้เดียวซึ่งจะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ระบบประชาธิปไตยของตุรกีมีปัญหาในอนาคต เช่นการขาดระบบถ่วงดุลอำนาจ การขาดระบบตรวจสอบที่โปร่งใส การเกิดทางตันระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติและการเป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ

อย่างไรก็ตามมีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนส่วนน้อยที่ผมเจอในห้องละหมาดของหอพักอยากให้ฝ่าย Evet (รับ) ชนะ เพราะมองว่าแอรโดอันเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและสามารถพาตุรกีผ่านอุปสรรคทางการเมืองต่างๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับกลุ่มฟัตฮุลลอฮ์ กูเลน (FETO) การสลายเครือข่ายรัฐเร้นลึก การปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้าย (ISIS และ PKK)[4] การรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียและปัญหาปากท้องของประชาชน นอกจากนั้น ในช่วงสายของวันลงประชามติผมเดินไปซื้อถั่วและผลไม้ที่ตลาดนัดวันอาทิตย์และเข้าไปทักทายคุณลุงที่ขายน้ำผึ้งตามปกติซึ่งมีอายุราวๆ 70 ปี หลังจากถามทุกข์สุขกันเสร็จคุณลุงถามผมเชิงล้อเล่นว่าไม่ไปลงคะแนนเสียงหรอ ผมยิ้มแล้วถามคุณลุงกลับว่าคุณลุงไปลงมาแล้วยัง คุณลุงกำมือขวาอย่างแน่นและทุบลงบนฝ่ามือด้านซ้ายอย่างแรงพร้อมกับตอบกับผมอย่างสะใจว่า “ไปลงมาแล้ว” ผมยังไม่ทันได้ถามต่อ คุณลุงก็พูดขึ้นมาว่า “ยังไงผมก็ไม่รับ”

อย่างไรก็ตาม คำตอบที่ผมได้รับจากการพูดคุยกับผู้คนที่อยู่ในเมืองอิซมิรอาจจะย้อนแย้งกับทัศนะทั่วไปของคนตุรกีส่วนใหญ่ซึ่งสำนักข่าวอานาโดลู (Anadolu Agency) ได้คาดคะเนว่าฐานเสียงของสองพรรคการเมืองที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่น่าจะเพียงพอต่อการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้[5] ซึ่งผลก็เป็นจริงอย่างที่ได้วิเคราะห์ไว้

หากกล่าวอย่างรวบรัด การลงประชามติในวันที่ 16 เมษายนนั้นเปรียบเสมือนสนามการต่อสู้ระหว่างกลุ่มที่จงรักษ์ภักดีต่อแอรโดอันและพรรคเพื่อการพัฒนาและยุติธรรม (AKP) กับกลุ่มที่ไม่นิยมแอรโดอันโดยมีพรรคสาธารณรัฐประชาชน (CHP) เป็นหัวขบวน อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาดังกล่าวทำให้เห็นบรรยากาศก่อนการลงคะแนนเสียงที่มีชีวิตชีวา หลายมหาวิทยาลัยประกาศเลื่อนการสอบกลางภาคให้เร็วกว่าเดิมเพื่อเอื้อให้นักศึกษาสามารถเดินทางไปใช้สิทธิ์ได้อย่างสบายใจ นักศึกษาส่วนใหญ่ถือโอกาสนี้กลับไปเยี่ยมญาติที่บ้านเกิดเมืองนอนและเฝ้าติดตามผลการนับคะแนนร่วมกัน หากมองย้อนกลับดูสถิติจำนวนผู้มาลงคะแนนเสียงการเลือกตั้งในหลายครั้งที่ผ่านมา (ตารางที่ 1) จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมการลงประชามติครั้งนี้มีจำนวนผู้ที่ลงคะแนนเสียงมากถึงร้อยละ 86.6

 

ดังนั้นถึงแม้ว่าได้มีความพยายามจากทหารกลุ่มหนึ่งที่เป็นเครือข่ายของรัฐเร้นลึกในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2016 และมีการใช้ความรุนแรงของกลุ่ม PKK และ ISIS อย่างต่อเนื่อง หากแต่ว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการลงคะแนนเสียงก็พิสูจน์ให้เห็นในระดับหนึ่งแล้วว่าตุรกีเป็นประเทศมุสลิมที่มีระดับความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยค่อนข้างสูงและพฤติกรรมของมวลชนส่วนใหญ่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่เคารพในสิทธิเสรีภาพและไม่นิยมความรุนแรงในการเรียกร้องทางการเมือง[6]

 

ประชากร

80 ล้านคน

จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไป

79% (2002), 84% (2007), 83% (2011), 85% (2015)

จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิลงประชามติ 2017

86.6 %

ผลการลงประชามติ 16 เมษายน 2017

ฝ่ายรับ (Evet) ชนะ 51.41 %

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

1.67 พันล้าน ($)

ดัชนีการพัฒนามนุษย์

พัฒนาระดับสูง (71)

ดัชนีเสรีภาพ

ไม่มีเสรีภาพสื่อแต่มีเสรีภาพอินเตอร์เน็ตบางส่วน

คุณภาพของประชาธิปไตย

ระดับกลาง

ดัชนีประชาธิปไตย

ระบอบพันทาง

ตารางที่ 1ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับตุรกีและประชาธิปไตย

 

คำถามและการมองหาชุดคำตอบ

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาทั้งหมดยังไม่สามารถตอบคำถามหลักได้ว่าทำไมนักรัฐศาสตร์ชาวต่างชาติจึงให้ความสนใจกับพัฒนาการทางการเมืองของตุรกีและส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนระบบการบริหารจากระบบรัฐสภาไปเป็นระบบประธานาธิบดี และคำตอบนั้นให้บทเรียนอะไรได้บ้างกับพัฒนาการทางการเมืองในประเทศไทย เนื่องจากไม่มีวิธีอื่นที่สามารถทำได้ ผมจึงเริ่มต้นด้วยการกลับไปหาบทความและข้อมูลเก่าๆ ที่เคยผ่านตาเกี่ยวกับการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบของประเทศตุรกีและประเทศไทยโดยพบว่ามีงานเขียน 2 ชิ้นสำคัญที่ศึกษาการเมืองเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับตุรกี งานชิ้นแรกเขียนโดยดันแคน แม็คคาโก้และอาอีเช ซาราโคล ในหัวข้อ Turkey and Thailand: Unlikely Twins (2012)

ส่วนชิ้นที่สองเขียนโดยอาอีเช ซาราโคล คนเดียว ในหัวข้อ Revisiting Second Image Reversed: Lessons from Turkey and Thailand (2013) งานชิ้นแรกวิเคราะห์ความเหมือนต่างของทั้งสองประเทศในด้านประวัติศาสตร์การเมือง พลังของเครือข่ายทางสังคมที่มีพลวัต และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่ไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นเหมือนในอดีตได้โดยชี้ให้เห็นว่ากระบวนการสร้างชาติทั้งสองประเทศวางอยู่บนการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางซึ่งมีสถาบันทหาร (สำหรับประเทศตุรกี) และทหารกับสถาบันกษัตริย์ (สำหรับประเทศไทย) เป็นศูนย์กลาง[7] ส่วนงานชิ้นที่สองถกเถียงว่าธรรมเนียมของสังคมระหว่างประเทศ เช่น การทำให้เป็นสมัยใหม่และประชาธิปไตย มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสถาบันการเมืองภายในประเทศไทยและตุรกีตั่งแต่ยุคการสร้างชาติและในหลายกรณีถูกใช้เป็นเหตุผลเพื่อต่อต้านกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยโดยทหารและข้าราชการชนชั้นกลาง[8]

นอกจากนั้น ในงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “ตุรกีในวิกฤติการเมืองระหว่างประเทศ” จัดโดยศูนย์ศึกษาตุรกีของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อาจารย์จรัญ มะลูลีม ศาสตราจารย์ด้านการเมืองโลกมุสลิม ได้ฉายภาพความเหมือนและต่างของพัฒนาการและโครงสร้างทางการเมืองของประเทศไทยและตุรกีได้อย่างน่าสนใจโดยชี้ให้เห็นว่าทั้งสองประเทศมีลักษณะร่วมอยู่ที่การเป็นประเทศพ่ายแพ้สงครามโลกแต่ไม่เสียเอกราชให้กับฝ่ายชนะ การมีอุดมการณ์คอมมิวนิสเป็นภัยคุมคาม การมีการปฎิวัติวัฒนธรรมไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ และความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น[9]

ในทำนองเดียวกันงานเขียนของอาจารย์ยาสมิน ซัตตาร์ นักศึกษาปริญญาที่มหาวิทยาลัยอิสตันบูลนำเสนอการวิเคราะห์เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ เหตุการณ์และพัฒนาการทางการเมืองที่สำคัญของตุรกีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกมาให้คำอธิบายหลังช่วงรัฐประหารล่มที่ผ่านมา[10]

นอกจากนั้น เพื่อให้สามารถเห็นภาพที่กว้างขึ้นผมกลับไปสำรวจงานเขียนในสาขาวิชาการเมืองเปรียบเทียบและพบข้อสรุปขั้นเบื้องต้นว่า ประเด็นหนึ่งที่ยังไม่ล้าสมัยในการทำความเข้าใจการเมืองตุรกีคือข้อถกเถียงเรื่องกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย[11]

หากกล่าวเป็นการเฉพาะโจทย์สำคัญของนักรัฐศาสตร์ในการอ่านพัฒนาการทางเมืองของตุรกีคือการศึกษาการสร้างความมั่งคงและยั่งยืนให้กับประชาธิปไตยในโลกมุสลิม หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเมือง ตุรกีถือว่าเป็นหัวขบวนประชาธิปไตยในประเทศมุสลิมมาตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านจากระบอบคอลีฟะฮ์ซึ่งมีผู้นำสูงสุดคนเดียวที่มีทั้งอำนาจทางการเมืองและทางศาสนาไปสู่ระบบรัฐชาติในรูปแบบสาธารณรัฐเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 1923 อย่างเป็นทางการโดยมีมุสตาฟา กามาล อาตาเติร์กดำรงตำแหน่งประธานาธิปดีเป็นคนแรก

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งจากระบบแบบพรรคเดียวไปเป็นระบบหลายพรรคเพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองในปี 1950 แล้ว ตุรกีประสบปัญหาการย้อนกลับไปสู่ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหลายครั้งด้วยกับการทำรัฐประหารในปี 1960, 1971, 1980, และ 1997[12] นอกจากนั้น หลังจากที่พรรค AKP ได้รับเลือกตั้งให้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลในปี 2002 การกลับมามีบทบาทของอิสลามในสนามการเมืองทำให้ฝ่ายที่นิยมแนวคิดอาตาเติร์กและเซคคิวล่าเกิดความกังวลในเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพบนหลักการประชาธิปไตย

พลวัตของปรากฏการณ์เหล่านี้เปรียบเสมือนห้องทดลองของนักรัฐศาสตร์ในการพัฒนาสมมุติฐานและทฤษฎีเพื่อทำความเข้าใจเหตุและผล ความต่อเนื่องและหมุนกลับ และความสามารถในการประยุกต์ใช้แบบแผนประชาธิปไตยในกรณีอื่นๆ[13] ดังนั้นในแง่ของการศึกษาเชิงวิชาการตุรกีสามารถเป็นได้ทั้งตัวแบบและบทเรียนให้กับประเทศมุสลิมและประเทศโลกที่สามที่ประสบปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตย และหนึ่งในประเทศเหล่านั้นคือประเทศไทย



§ ขอขอบคุณอาจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริสำหรับคำวิพากษ์วิจารณ์บทความนี้และคุณซัลมาน หมัดหมันสำหรับการจัดหารูปภาพจากนครอิสตันบูลก่อนการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ 

[1] “There is nothing wrong with a strong president, but Turkey’s new constitution would make President Erdogan into a 21st century sultan” The Economist, ‘Facebook’, 13 April 2017 [accessed 14 April 2017].

[2] "It is one of the most significant events in Turkish political history" Turkish Policy Quarterly Journal, ‘Facebook’, 13 April 2017 [accessed 14 April 2017].

[3] “It is Turks who will shape Europe's future: Erdoğan” Anonymous, ‘Facebook’, 13 April 2017 [accessed 14 April 2017].

[4] ISIS ย่อมาจาก Islamic State of Iraq and Syria หมายถึงรัฐอิสลามในอีรักและซีเรีย สถาปนาขึ้นเพื่อก่อตั้งรัฐอิสลามที่มีคอลีฟะฮ์เป็นผู้นำสูงสุดและมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการดูแลกิจการด้านการเมืองและศาสนา ดูเพิ่มเติมที่ จรัญ มะลูลีม, ‘รัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย’, ed. by สุรชาติ บำรุงสุข, จุลสารความมั่นคงศึกษา, พฤศจิกายน 2557.149, 1–41.; ส่วน PKK ย่อมาจาก Partiya Karkerên Kurdistan คือพรรคแรงงานเคอร์ดิสถานที่ต่อสู้กับรัฐตุรกีเพื่อสถาปนารัฐอิสระขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ดูเพิ่มเติมที่ ศราวุฒิ อารีย์, ‘ตุรกีกับปัญหาชาวเคิร์ด: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (2)’, Thai World Affairs Center (Thai World), 2550 [accessed 15 April 2017].

[5] Hatice Kesgin, ‘Turkish MPs Pass Articles 14-16 of New Constitution’, Anadolu Agency, 2017 [accessed 16 April 2017].

[6] บทความให้ความหมายของคำว่าประชาธิปไตยตามคำจำกัดความในเชิงรูปแบบ/กระบวนการหรือเรียกว่าอย่างหนึ่งว่า minimalist definition of democracy ในแง่นี้ “ประชาธิปไตยคือระบบที่มีพรรคการเมืองที่แพ้การเลือกตั้ง” แต่เล่นอยู่ในกฎกติกาที่วางไว้ เกมส์ต้องเริ่มด้วยการเลือกตั้งโดยที่ไม่มีผู้เล่นคนใดสามารถควบคุมผลลัพธ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ และผู้เล่นต้องเชื่อว่าประชาธิปไตยเท่านั้นคือกฎกติกาเดียวในเมืองแห่งนั้นโดยไม่มีการเล่นนอกเกมส์ ดังนั้นประชาธิปไตยทำให้มีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะแต่ผู้แพ้เลือกที่จะยอมรับและต่อสู้อยู่ในกฎกติกา เพราะเป็นกรอบที่เปิดให้มีการแข่งขันและสามารถกลับมาชนะได้อย่างชอบธรรมและสันติ ดูเพิ่มเติม Adam Przeworski, Democracy and the Market: Political and Economic Reforms in Eastern Europe and Latin America (Cambridge: Cambridge University Press, 1991), pp. 10–14.

[7] Duncan McCargo and Ayşe Zarakol, ‘Turkey and Thailand: Unlikely Twins’, Journal of Democracy, 23.3 (2012), 71–79 ; ‘ไทย/ตุรกี: องศาที่แตกต่าง’, ed. by เอกรินทร์ ต่วนศิริ, Patani Forum, กันยายน-ตุลาคม 2559.19, 3–5.

[8] Ayşe Zarakol, ‘Revisiting Second Image Reversed: Lessons from Turkey and Thailand’, International Studies Quarterly, 57.1 (2013), 150–62 .

[9] Islam Nara, ตุรกีในวิกฤติการเมืองระหว่างประเทศ (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2016) [accessed 15 March 2017]; อิมรอน ซาเหาะ, ‘ปาฐกถา ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม ชี้ตุรกีใช้ Soft Power พัฒนาประเทศและสร้างสันติภาพ’, DSJ School, 2016 [accessed 28 February 2017].

[10] ยาสมิน ซัตตาร์, ‘Binti Hamid Khan’s Blog’, ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ [accessed 15 March 2017]; วิทยาลัยวันศุกร์, ‘นโยบายต่างประเทศตุรกี: ระหว่างสงครามและสันติภาพ?’ โดยคุณยาสมิน ซัตตาร์ (ห้อง REG301 ตึกอาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2015), 4 กันยายน 2558 [accessed 20 January 2017]; WAQAF TV, ‘ถ่ายทอดสด วิเคราะห์สถานการณ์ “ตุรกี” โดยผศ.ดร.สุกรี หลังปูเตะ นายอับดุลเอาว์วัล สิดิ  ดร.ยาสมิน ซัตตาร์ ดำเนินรายการโดย  นพ. มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ’, WAQAF TV, 2016 [accessed 15 April 2017].

[11] ไชยวัฒน์ ค้ำชู และ นิธิ เนื่องจำนงค์, การเมืองเปรียบเทียบ ทฤษฎี แนวคิด และกรณีศึกษา (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559), chap. 3.

[12] การทำรัฐประหารในปี 1997 อาจเรียกได้อีกอย่างว่าเป็นรัฐประหารยุคหลังสมัยใหม่เพราะไม่มีการใช้กำลังทหารบังคับนายกรัฐมนตรีให้ลงจากตำแหน่งโดยตรงแต่เป็นการกดดันจากทหาร (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ให้นายกรัฐมนตรีนัจมุดดิน แอรบาคานลงจากตำแหน่งโดยสันติ ดูเพิ่มเติมที่ Al Jazeera, ‘Timeline: A History of Turkish Coups’, Al Jazeera, 2016 [accessed 16 April 2017].

[13] ไชยวัฒน์ ค้ำชู และ นิธิ เนื่องจำนงค์, pp. 9–13.หนึ่งในข้อถกเถียงว่าอิสลามเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยมาจากนักรัฐศาสตร์คนสำคัญอย่างซามูเอล ฮันทิงตัน Samuel P. Huntington, ‘Will More Countries Become Democratic?’, Political Science Quarterly, 99.2 (1984), 193–218.