เอกภาพที่ไม่มีเอกภาพและสมดุลยภาพ


เพราะเราคือเรือนร่างเดียวกัน  เป็นวลีทางศาสนาอิสลามที่ให้มุสลิมหันกลับมารวมตัวกัน สร้างเอกภาพขึ้นในสังคม  หากมีใครสักคนที่ไม่ใช่มุสลิม อธิบายถึงลักษณะของสังคมมุสลิมในไทย ก็อาจจะมีหลากหลายความคิดเห็น แต่ข้อเท็จจริงหนึ่ง ที่มิอาจปฏิเสธได้คือ มุมมองจากสังคมทั่วไปที่มักมองว่า สังคมมุสลิมในประเทศไทยนั้น ค่อนข้างมีเอกภาพ อาจจะเพราะภาพที่ผู้คนทั่วไปเห็นจนชินตา ในการปฏิบัติศาสนกิจ อย่างเช่นการรวมตัวกันละหมาดในมัสยิดอย่างพร้อมเพรียงกันวันละ 5 เวลา ซึ่งพื้นที่สังคมมุสลิมนั้นมิเคยขาดเสียงอาซาน[1] เลยแม้แต่วันเดียว

ผู้เขียน ต้องขออธิบายก่อนว่า ตลอดช่วงชีวิตครึ่งหนึ่ง ได้ศึกษาเล่าเรียนสามัญกับศาสนาควบคู่กัน และตระหนักตัวอยู่เสมอว่าไม่ได้เป็นผู้ที่มีความรู้ทางศาสนามากมายเท่าใด ประกอบกับเติบโตมาในสังคมมุสลิม ที่ผู้คนทั่วไปเรียกว่า “ผ้าเขียว” นักวิชาการอิสลาม เรียกว่า “ซูฟี ตอรีกัต”[2]  หรือจะเรียกอะไรก็สุดแล้วแต่ แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึกได้นั้นคือ ที่บ้านมีการเรียนการสอนศาสนา ที่ทั้งคล้ายและแตกต่างกับบ้านเพื่อน จนมีครั้งหนึ่ง เคยชวนเพื่อนสองคนมางานบุญที่บ้าน ซึ่งเป็นช่วงการประกอบพิธีซิกรุลลอฮ์ใหญ่ (พิธีกรรมที่มีเฉพาะในกลุ่ม ซูฟี ตอรีกัต)  เพื่อนทั้งสองต่างมึนงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีอาการสับสน พร้อมพูดว่า “สิ่งนี้มีในอิสลามด้วยเหรอ” หลังจากนั้นไม่มีเพื่อนคนไหนมางานบุญที่บ้านผมอีกเลย จากนั้นผมเริ่มเรียนรู้ว่า อิสลาม คืออะไร มีแบบไหนบ้าง เราควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไรที่ถือว่าดีที่สุด ครั้นเมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่เริ่มมีช่องทีวีศาสนาผ่านดาวเทียมเกิดขึ้น ซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่ได้อาศัยอยู่ในชุมชนมุสลิมที่เป็นบ้านเกิดของตัวเองแต่อย่างใด แต่กำลังอยู่ระหว่างการไปศึกษาต่อทางด้านสามัญ ณ ดินแดนอื่น

ครั้นเวลาผ่านไปสองปี ผมได้กลับมายังบ้านเกิดอีกครั้ง พร้อม ๆ กับช่วงเวลานั้นเกิดกระเส ตื่นตัวในศาสนาอิสลาม อย่างที่ไม่เคยได้สัมผัสในวัยเยาว์มาก่อน หลังจากที่ได้กลับมาบ้าน ความรู้สึกแรก “เหมือน เราเป็นคนแปลกหน้าในบ้านตัวเอง”  มองไปทางไหนทำไมกิจกรรมทางศาสนา ช่างแตกต่างกับสิ่งที่ได้เรียนรู้มาใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเคยทำความเข้าใจโดยการอ่านศึกษาและถามผู้รู้ได้นิยามออกมาเป็นศัพท์ทางศาสนาอิสลาม เรียกว่า “ชิริก” บ้างและก็ “บิดอะฮฺ” บ้าง [3] อย่างเช่น  มีการใช้น้ำและหมาก ในพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อปลดปล่อยทุกข์บ้าง รักษาโรคบ้าง ค้นหาของหาย พิธีกรรมก่อนแต่งงานการขอพรเพื่อไม่ให้ติดทหารในการจับใบดำ ใบแดง และอื่นๆอีกมากมาย

“เป็นเรื่องแปลกมาก เกี่ยวกับวัฒนธรรมพิธีกรรมที่ได้พบเจอสมัยตอนเด็กนั้น ณ ปัจจุบันผมกลับไม่เคยเห็นหรือพบเจอจากการได้อ่านหนังสือภาษาไทย ที่อธิบายถึงการใช้น้ำหรือหมากในพิธีกรรมทางศาสนา ที่ระบุว่าผิดหรือถูกอย่างชัดเจน หรืออาจจะเป็นเพราะผมเป็นคนที่มีความรู้ทางศาสนาน้อยไป” 

ครั้นเมื่อไม่นานมานี้  ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ นบีไม่กินหมาก พิธีกรรมความเชื่อในกระแสการตื่นตัวในศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ท่านหนึ่ง เนื้อหามากจากงานวิจัยของท่าน ที่อธิบายวัฒนธรรมบางอย่าง และการมีอยู่ของกิจกรรมทางศาสนา เกี่ยวกับการใช้หมากเป็นเครื่องมือในการขอพร ของพื้นที่หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ เนื้อหาในหนังสือ พยายามบอกเล่าพิธีกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับการใช้หมาก ซึ่งอาจารย์ที่เป็นนักวิชาการศาสนาอิสลามท่านหนึ่ง เรียกว่า วัฒนธรรมที่ตกค้าง” การตกค้างทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างสิ่งที่มีดั้งเดิมในท้องถิ่น กับสิ่งที่กำหนดในหลักศาสนาอิสลาม 

และมีกลุ่มคนที่พยายามจะชะล้างให้วัฒนธรรมเหล่านั้นให้มีความบริสุทธิ์ตามหลักการอิสลาม หรือในอีกความหมาย คือพยายามกำจัดวัฒนธรรมที่บางครั้งถูกตีความหรือถูกเรียกว่า “ชิริก” บ้าง และก็ “บิดอะฮฺ” บ้าง ให้หมดไปจากสังคมมุสลิม คนกลุ่มนี้มักถูกคนส่วนใหญ่เรียกขานว่า “คณะใหม่” หรือ “วะฮาบีย์” แต่กลุ่มคนเหล่านั้นไม่เคยรู้สึกชอบที่จะถูกเรียกด้วยชื่อเหล่านั้นเลยแม้แต่ชื่อเดียว แต่ถึงอย่างไร ผมคิดว่า “นบีไม่กินหมาก” คงเป็นหนังสือแรกๆ หรือเพียงไม่กี่เรื่อง ที่คนต่างศาสนิก เขียนถึง พิธีกรรมดังกล่าว ในสังคมมุสลิมประเทศไทย  และเป็นหนังสือที่ท้าทายสังคมมุสลิมรวมไปถึงท้าทายต่อข้อสรุปหรือข้อชี้ขาดต่อหลักการความเชื่อในศาสนาอิสลามอย่างน่าสนใจ อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน  

หนังสือ นบีไม่กินหมาก พิธีกรรมความเชื่อในกระแสการตื่นตัวในศาสนาอิสลาม 

ในขณะที่หนังสือพยายามบอกเล่าถึง พิธีกรรมต่างๆที่มีในสังคม พร้อมกับการเปรียบเทียบความถูกผิดของวัฒนธรรมดังกล่าว ตามคำอธิบายของนักวิชาการอิสลามในพื้นที่ แต่ก็มีเสียงคัดค้านของในพื้นที่ ที่หนังสือรับเฉพาะความคิดเห็นของนักวิชาการที่อยู่คนละฝากกับตน กลุ่มคนเหล่านี้มองว่าข้อเท็จจริงอาจเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งได้ เพราะขาดข้อคิดเห็นจากนักวิชาการอิสลาม ที่ถูกคนโดยทั่วไปเรียกว่า “คณะเก่าหรือหลายๆ ครั้ง เขาจะเรียกตนเองว่า อะลุสซุนนะฮ์ วั้ล ญะมาอะฮ์”  เพราะในบางวัฒนธรรมที่กลุ่มคนหนึ่งเรียกว่า ชิริกและ บิดอะฮฺ อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดสำหรับอีกกลุ่มชนหนึ่ง และทั้งหมดทั้งปวงนั้นผมเห็นว่าไม่ใช่ปัญหาที่จะมาเถียงกันในที่นี้ว่าใครผิด ใครถูก แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนคือ ภาพลักษณ์ของสังคมมุสลิมในมุมมองต่างศาสนิกกำลังเปลี่ยนไป ซึ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทในการตีความเชิงสังคม และเรียนรู้ทำความเข้าใจมุสลิมมากขึ้น ซึ่งภาพแห่งเอกภาพ อาจจะไม่ใช่เอกภาพอย่างที่หลายคนคิดเหมือนแต่ก่อน 

 

เพราะเราคือเรือนร่างเดียวกันอาจถูกสั่นคลอนได้จากมุสลิมด้วยกันเอง สิ่งนี้สามารถสร้างผลกระทบให้กับสังคมมุสลิมในประเทศไทยขาดสมดุลยภาพได้ในอนาคต  ซึ่งถ้าเรามองในมุมของพี่น้องต่างศาสนิก ปัญหาการขาดเอกภาพนั้น อาจหมายถึง การที่มีองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนต้องการที่จะเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับสังคมมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นการปฏิสัมพันธ์เชิงสังคมที่ต้องการเรียนรู้และเข้าใจคนมุสลิมรวมทั้งต้องการทราบถึงขอสั่งใช้ สิ่งที่คนมุสลิมสามารถกระทำได้หรือไม่สามารถกระทำได้ โดยหวังต้องการที่จะเข้าใจและต้องการปฏิสัมพันธ์กับคนมุสลิมบนฐานทางสังคม รวมไปถึงการปฏิสัมพันธ์หรือการทำธุรกรรมต่างๆ ที่อาจมีผลทางเศรษฐกิจเข้ามาเชื่อมโยง ซึ่งหลายครั้งที่สังคมภายนอกมักมีข้อสงสัยที่ใคร่อยากรู้ว่าถ้าทำงาน ทำธุรกรรม หรือจะปฏิสัมพันธ์ร่วมกับมุสลิมนั้น พวกเขาควรจะเริ่มจากไหน จะเริ่มอย่างไร หากทำงานร่วมกับมุสลิมแล้วสิ่งใดบ้างที่เขาทำได้หรือทำไม่ได้ หากคำถามนี้ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน กลุ่มคนที่เสียโอกาส ก็คงเป็นสังคมมุสลิมในประเทศไทย รวมทั้งคำถามจากคนต่างศาสนิกว่า เมื่อเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ควรจะถามใครว่าอะไรผิดอะไรถูกซึ่งหลายครั้งเรายังหาคำตอบที่เป็นมาตรฐานไม่ได้ องค์กรมุสลิมองค์กรใดที่ควรจะเป็นองค์กรที่ให้คำตอบหรือข้อชี้ขาดในปัญหาต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานแก่สังคมทั่วไป เ เพราะองค์กรเท่าที่มีอยู่ตามกฎหมาย มักถูกลดทอนอำนาจ พร้อมกับการถูกลดความน่าเชื่อถือและบทบาทลง 

 

หลายครั้ง ที่สังคมมุสลิมประเทศไทยกำลังถูกทดสอบและถูกท้าทายความเป็นเอกภาพเข้มข้นขึ้นทุกขณะ ที่ผ่านมาเราไม่เคยพบว่าประเทศไทยมีวันตรุษอิดิ้ลอัฎอิดิ้ลฮา 2 วันในปีเดียวกัน แต่เราก็ได้พบเจอ เราไม่เคยเห็นคอเตบอ่านคุตบะห์(เทศนธรรม) ในมัสยิดเดียวกัน 2 คน แต่เราก็ได้เห็นแล้ว เราไม่เคยได้ฟังการอ่านคุตบะห์ เพื่อโจมตีมุสลิมอีกฝากฝังที่มีแนวคิดไม่เหมือนกับเรา แต่เราก็ได้รับฟังเจอ ข้อท้าทายเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ตกค้างอาจจะยังคงอยู่หรือจางหายไปตามกาลเวลาแห่งยุคสมัย แต่บาดแผล รอยร้าวระหว่างคนในสังคม จะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ถึงจะประสานให้ดีดังเดิม

 

งเป็นหน้าที่ของมุสลิมรุ่นใหม่ ที่ต้องมาร่วมกันออกแบบสังคม ว่าควรจะเป็นอย่างไรจึงจะยังคงวัฒนธรรมที่สวยงามและถูกหลักศาสนา อย่างไรให้น่าอยู่ ให้เป็นที่ยอมรับของสังคมทั่วไป ไม่เกิดบาดแผลระหว่างกันเพราะช่องทางที่เป็นบาดแผล นั้นอาจหมายถึงช่องทางที่กลุ่มคนไม่หวังดี ใช้เป็นเครื่องมือทำลาย ให้กลายเป็น เพราะเรามีเรือนร่างที่แตกต่างกัน

 

[1] อาซานคือ การประกาศให้รู้ถึงการเข้าสู่เวลาละหมาดด้วยคำกล่าวที่เฉพาะ โปรดดูเนื้อหาและความหมายเกี่ยวกับอาซานได้ที่ https://sites.google.com/site/start2muslim/fuk-lahmad/02xasanrabxasan

[2] สามารถ มีสุวรรณ (2539 ) ได้นิยามซูฟีว่า “กลุ่มสํานักคิดซูฟี คือกลุ่มที่เกิดขึ้นใหม่ในอิสลาม เป็นกลุ่มผู้มีความเคร่งครัดในศาสนาและมุ่งเน้นการปฏิบัติด้านจิต วิญญาณ ปฏิบัติต่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงอย่างเดียว มีการใช้ชีวิตอย่างสันโดษและสมถะ มีการทรมาน ตนเองฝึกฝนร่างกายเพื่อบรรลุ ณ พระองค์อัลลอฮฺหรือจุดหมายปลายทางสูงสุดแห่งซูฟีนั้นก็คือ การฟะนาอฺ (ผู้เป็นที่ต้องการของอัลลอฮฺในทุกกิจกรรม) โปรดอ่าน วิทยานิพนธ์เรื่องแนวคิดเชิงซูฟีของกลุ่มดะวะฮฺตับลีฆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดย  มะสาการี อาแด ,2543  

[3] ชิริกคือ คือ การยกสิ่งใดๆ เป็นภาคีกับอัลลอฮฺผู้สูงส่งทั้งในด้านการสร้างสรรค์การกราบไหว้หรือในพระนามและคุณลักษณะของพระองค์โดยเมื่อมนุษย์เชื่อว่ามีผู้สร้างอื่น ร่วมกันอัลลอฮฺ หรือคิดว่าพระองค์มีผู้ช่วย เขาก็เป็นผู้ตั้งภาคีกับอัลลอฮฺและผู้ใดเชื่อว่ามีผู้ใด สมควรแก่การกราบไหว้เช่นเดียวกับอัลลอฮฺเขาก็เป็นคนตั้งภาคี ชีริกจึงเป็นการอธรรมอย่างใหญ่หลวง เพราะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิที่เป็น คุณลักษณะเฉพาะของอัลลอฮฺ ส่วนบิดอะห์ ในทางภาษาหมายถึง การประดิษฐ์สิ่งหนึ่งโดยไม่มีแบบอย่างมาจากนบีมูฮัมหมัดหรือสหายของท่านมาก่อน