เมื่อคนตาย เราควรฟังเสียงใคร?
ขณะที่เขียนบทความนี้ มันเป็นความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์การวิสามัญคุณชัยภูมิ ป่าแส มันชวนให้นึกถึงเรื่องราวในเหตุการณ์จังหวัดชายแดนใต้ และอยากหยิบยกเล่าถึงเหตุการณ์และประสบการณ์ที่เจอเพื่อจะชวนให้เห็นถึงปรากฏการณ์ความตายของคุณชัยภูมิ ป่าแส
(1)
อยากชวนย้อนไปวันพุธที่ 13 ก.พ. 2556 หลังจากมีการปะทะกันในเขตฐานปฏิบัติการนาวิกโยธิน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เป็นการปะทะที่ทำให้ฝ่ายผู้ก่อการติดอาวุธจำนวน 16 คน ได้เสียชีวิตทันที นับว่าเป็นการปะทะครั้งใหญ่ที่สุดที่มีผู้เสียชีวิตเป็นฝ่ายกลุ่มขบวนการอย่างชัดเจน มีอาวุธครบมือ หลายฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้
หากทว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์ ภายในวันเดียวกันนั้น นาวาเอก สมเกียรติ ผลประยูร (ยศในขณะนั้น) ได้กล่าวว่า 16 คนที่เสียชีวิตไม่ใช่ชัยชนะของเจ้าหน้าที่ ไม่เคยมีชัยชนะจากความสูญเสียของผู้คนในแผ่นดินเดียวกัน ในทุกกรณีที่ผ่านมา
และหลังจากนั้นนาวาเอก สมเกียรติ ได้ตอบคำถามสื่อต่างๆจำนวนมาก โดยได้ให้สัมภาษณ์ทางวิทยุ ทีวี ด้วยท่าทีอ่อนน้อมและถ่อมตน ย้ำตลอดเวลาว่า การมีคนตายไม่ใช่เรื่องชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการสูญเสียร่วมกัน
ทำให้ระงับความรู้สึกสะใจของกองเชียร์ของผู้ที่ไม่ได้อยู่ในสนามรบจริง และบรรเทาอาการความรู้สึกโกรธแค้นของครอบครัว ด้วยท่าทีอย่างนี้มันสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและคลี่คลายไปได้บางส่วน
ผมเข้าใจเอาเองว่า นี้คงไม่ใช่ระบบทหารแน่ๆ แต่เป็นทักษะเฉพาะบุคคลของ นาวาเอก สมเกียรติ ผลประยูร ที่รู้จักสื่อสารกับสังคมโดยเฉพาะหลังจากมีคนตายจากเหตุการณ์ปะทะครั้งใหญ่ และหลังจากเหตุการณ์ประมาณไม่เกินหนึ่งสัปดาห์เห็นจะได้ นาวาเอกสมเกียรติก็ได้ต้อนรับเดินทางมางานเสวนาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อร่วมกันงานเสวนาเกี่ยวกับเหตุการณ์ข้างต้นต่อหน้าผู้ฟังทั้งคนมลายูและคนพุทธ เจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ มาร่วมงานแน่นห้องประชุมใหญ่
หลายคนได้ให้ความสนใจต่อการพูดของ นาวาเอกสมเกียรติ ที่เป็นมือปราบ 16 ศพ หากทว่าวันนั้นเป็นการพูดโดยไม่มีท่าทีถึงการแสดงออกถึงความสำเร็จจากการปะทะข้างต้น แต่กลับย้ำว่า หากจับเป็นได้ ผมจะจับเป็นเพื่อจะได้คุยกับพวกเขา และยอมรับว่าขบวนการที่ต่อสู้ในวันปะทะด้วยกันคงไม่ใช่พวกติดยาเสพติดแน่ๆ เพราะการโจมตีเป็นระบบที่ผ่านการฝึกมาอย่างดี
ทำให้บรรยากาศคลี่คลายไปในทิศทางที่เข้าใจได้ ชาวบ้านที่มาร่วมงานทุกคนก็ยอมรับฟังคำอธิบายที่ตรงไปตรงมาและให้เกียรติแก่ผู้ตาย โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่มีฝ่ายใดออกมาพูดจาโจมตีทหารหรือตั้งข้อสงสัยใดๆเลย
มันช่างแตกต่างกับกรณีความตายของชัยภูมิ ป่าแส ที่เจ้าหน้าที่ได้ออกมาให้ความเห็นโดยไม่มีท่าทีเสียใจและปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงานอย่างโปร่งใส ทั้งเรื่องของพยานหลักฐานและการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเข้ามาตรวจสอบ
การที่แม่ทัพภาคที่ 3 ออกมากล่าวว่า "ปกติการตัดสินใจของน้องพลทหารเขายิงเพียงนัดเดียว ขณะที่เขาทำท่าขว้างระเบิด ถ้าเป็นผม ณ. เวลานั้นอาจกดออโต้ได้” เป็นปฏิกิริยาและคำพูดที่ตัดสินไปแล้วว่าอีกฝ่ายมีระเบิดอย่างแน่นอน หากทว่าปราศจากการเคารพและให้เกียรติแก่ญาติ พี่น้อง และเพื่อนฝูงของผู้ตาย
คงต้องกล่าวตรงๆว่า ทำให้ผม นึกถึงประโยคจากภาพยนต์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง ที่ว่า " ถ้าคิดจะยิงใคร ต้องยิงแม่งให้ตาย ถ้าแม่งไม่ตาย เราตาย " หมู่เชียร พูดกับแดง ไบเลย์
ฟังแล้วเหมือนจะทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความตาย หายไปด้วยการกดออโต้ โดยไม่กล่าวถึงสิ่งที่สำคัญคือ การให้ความยุติธรรมแก่ผู้ตาย มากกว่านั้นที่ไม่ได้ยินประโยคที่สำคัญคือ คำขอโทษและเสียใจที่มีคนตาย จากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่
(2)
หลังจากเหตุการณ์การเสียชีวิตจำนวน 16 คน ทางผมและคณะได้เข้าไปดูในเขตฐานปฏิบัติการของฝ่ายทหารที่เกิดการปะทะขึ้นและได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องเดินทางกลับเพราะดวงอาทิตย์กำลังหมดแสง และอีกประการคือ ได้มีคำสั่งออกประกาศให้เป็นพื้นที่กฎอัยการศึก สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภัยอันตรายหากขับรถกลางคืนกลับจังหวัดปัตตานี เพราะในใจคาดเดาว่าจะมีการปะทะรอบดึกอีกรอบ
ระหว่างขับรถออกจากฐานทหาร ระหว่างทางก็ได้เห็นบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีชาวบ้านจำนวนมาก ทางเราก็ชะลอรถถามชาวบ้านว่า มีอะไรเกิดขึ้น ชาวบ้านก็ตอบว่า มาเยี่ยมบ้านคนที่ตาย คือบ้านหนึ่งใน 16 ศพ ทางเราก็สอบถามว่าจะขอลงไปเยี่ยมได้ไหม ชาวบ้านก็ยินดี
หลังจากแนะนำตัวเรียบร้อย เพื่อให้รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน หลังจากนั้นทางผมและกลุ่มคณะที่ลงพื้นที่ด้วยอีก 3 คนก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับพ่อแม่ของผู้ตาย ตามบันทึกสั้นๆในสมุดบันทึกโน๊ต และความจำอันเลือนลางในรายละเอียด แต่ชัดเจนในใจความสำคัญคือ
พ่อและแม่ของผู้ตายได้สลับกันพูดให้ความเห็นต่อลูกของเขาว่า นิสัยลูกชายเป็นคนขี้กลัว เพราะเขารู้จักลูกเขาดี ไม่คิดว่าจะกล้าตัดสินใจสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐได้ ทางพ่อเล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ลูกกลับมาจากเป็นทหารเกณฑ์ ก็มาอยู่บ้าน และได้ช่วยที่บ้านทำงานกรีดยาง รับจ้างต่างๆ แต่ก็ไม่พอกับรายจ่าย ลูกเขาก็เลยตัดสินใจไปหางานในตัวเมืองจังหวัดนราธิวาส และช่วงระหว่างหางานก็ได้ขับมอเตอร์ไซด์ผ่านด่านตรวจทางเข้าหมู่บ้านตลอด ลูกของเขาเล่าให้ฟังว่า เขาอึดอัดมากที่ต้องโดนตรวจตลอดเวลา โดนเจ้าหน้าที่ถามซ้ำๆ ว่าไปไหน ไปทำอะไร จนถึงขั้นโดนแกล้ง เช่นตบหัว โดนซักถามนานๆ จนต้องเสียเวลา บางครั้งก็ไม่ทันเวลาละหมาด หลายครั้งที่ผู้เป็นพ่อได้เห็นลูกของเขาร้องไห้ เพราะความกลัวและอึดอัด จากการที่โดนตรวจบ่อยๆ แต่ผู้เป็นพ่อก็คิดว่าไม่น่าจะมีอะไร เพราะเขาบอกว่าเขารู้จักลูกชายของเขาดี ว่าเป็นเด็กขี้กลัว แม้จะอายุยี่สิบต้นๆแล้วก็ตาม จึงไม่ได้คิดอะไรมาก
หลังจากนั้นไม่นานลูกของเขาก็เปลี่ยนไป และหายตัวไปจากบ้านบ่อยๆเป็นเวลานาน เป็นเวลาเกือบสองปี มีบางครั้งที่กลับมาที่บ้านบ้าง แต่ก็อยู่ไม่นาน ครั้งสุดท้ายที่เจอก็คือ เป็นช่วงกลางคืน ก่อนเกิดเหตุการณ์หนึ่งสัปดาห์ ลูกชายของเขาได้มาบอกว่าจะมีงานใหญ่ที่ต้องทำ และทนไม่ไหวแล้วกับเรื่องที่ผ่านมา แต่นั้นคือครั้งสุดท้ายที่เขาได้เจอกัน ก่อนจะมาเจอศพที่ฐานปฏิบัติการทหาร ในเช้าวันที่ 13 ก.พ. 2556 ซึ่งเป็นหนึ่งใน 16 ศพที่เสียชีวิต
ทางผมและคณะที่ไปด้วยก็ถามไถ่ด้วยความห่วงใยว่า เสียใจมากไหม ทางผู้เป็นมารดาก็บอกว่าเสียใจที่รู้ว่าลูกตาย แต่มันก็ยุติธรรมแล้ว เพราะลูกของเขาเลือกเส้นทางที่ไปใช้อาวุธ และได้ทหารเขาก็ป้องกันตัว ไม่ได้ติดใจอะไร
หลังจากฟังคำพูดของผู้เป็นพ่อเป็นแม่ของคนที่ต้องสูญเสียลูกชายไป มันเป็นความรู้สึกเหมือนไม่ได้สนทนากันแค่ระหว่างคณะของผมกับพ่อและแม่ของผู้ตาย เพราะในการสนทนาก็จะมีชาวบ้านมามุงดูกันแน่นทั้งในบ้านและบริเวณรอบๆบ้าน การสนทนาใช้ภาษามลายู โชคดีที่วันนั้นมีล่ามช่วยแปลภาษาให้ ทุกๆคำตอบจะมีสายตาชาวบ้านจับจ้องและสนใจมาก อาจจะเป็นเพราะทุกคนที่นั่นอยากทราบความจริงและความรู้สึกจากปากของคนที่ต้องสูญเสียลูกชายไป
ระหว่างทางกลับ บริเวณข้างทางมืด เงียบสงัดและบรรยากาศเย็นยะเยือกสอดรับกับการประกาศกฎอัยการศึกของรัฐบาล สายตาผมมองออกไปข้างทางเห็นด่านตรวจบนถนน แต่ไม่มีทหารประจำการ เห็นแต่แท่งปูนสี่เหลี่ยมและเศษไม้ท่อนขนาดกลางที่ถูกประกอบขึ้นเป็นสิ่งกีดขวางทางเพื่อชะลอรถ วางสลับกันไปมา เป้าหมายเพื่อให้คนขับรถชะลอความเร็วและใช้ทักษะในการประคองรถหลบซ้ายและขวา
แต่ก็อีกนั้นแหละ คำถามจึงโผล่ขึ้นมาว่า จะมีนักรบและกลุ่มขบวนการต่อสู้ใดที่ใช้ถนนสายหลักทางเข้าหมู่บ้านในการลำเลียงอาวุธหรือเสบียง เพราะดูสายตาประมาณสองร้อยเมตร ก็เห็นมาว่ามีด่านตรวจ ยิ่งเป็นนักรบในพื้นที่แล้ว ความชำนิชำชาญย่อมเจนจัดเส้นทางกว่าเจ้าหน้าที่ที่มาประจำการเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
พูดก็พูดเถอะมาถึงตรงนี้ก็ทำให้นึกถึงข้อเสนอของคุณภัควดี วีระภาสพงษ์ ที่เคยเขียนในบทความ "ถ้าข้าพเจ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ข้าพเจ้าจะปฏิรูปกองทัพ" https://prachatai.com/journal/2015/05/59480 ข้อเสนอข้างต้นทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพทั้งด้านการรบและทักษะการอยู่ร่วมกับประชาชนจำนวนมากในประเทศไทย เพราะรัฐ/ชาติย่อมต้องการทหารเป็นกองทัพแน่ๆ แต่รัฐ/ชาติจะอยู่ได้อย่างไรหากประชาชนไม่มีสิทธิทวงถามสาเหตุของการตายภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่เชื่อมั่นและไว้ใจได้ และความตายของชัยภูมิก็เช่นกัน มันคือบทพิสูจน์ศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่ากันของสังคมนี้ ความจริงและความยุติธรรมย่อมเป็นเครื่องหมายของสังคมที่มีอารยะ
หากถามหาความยุติธรรมไม่เจอแล้ว ก็คงต้องจบประโยคจากภาพยนตร์ 2499 อันธพาลครองเมือง ที่ว่า "แถวนี้แม่งเถื่อน บอกตรงๆนะถ้าไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้" — หมู่เชียร พูดกับแดง ไบเลย์