จากมูฮัมหมัดอาซูวัน ซอเฮาะ ถึงชัยภูมิ ป่าแส

 

ความสูญเสียชีวิตของพลเรือนที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐะหว่างปฎิบัติหน้าที่โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องที่อยู่ในความทรงจำของคนในพื้นที่ตลอดเวลา และนี้คือปัจจัยสำคัญที่ไม่สามารถทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปสู่สันติภาพได้ 

 

อาจจะกล่าวได้ว่าเกือบทุกครั้งเมื่อชาวบ้านเสียชีวิตทำให้เกิดความคับข้องใจสะสมเรื่อยมา โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มีการปะทะจนทำให้เด็ก คนแก่ ผู้หญิง ต้องเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ มันก็จะเกิดความยุ่งยากทุกครั้งเมื่อชาวบ้านต้องการพิสูจน์ว่าเป็นการกระทำของใคร เพราะหลายเหตุการณ์เกิดจากการปฎิบัติงานที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่โดยตรง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และต้องใช้เวลานานกว่าจะพิสูจน์ว่าใครคือคนผิดที่ต้องทำให้คนตาย

 

ความคับข้องใจของเหยื่อ ชาวบ้านในพื้นที่ตั้งแต่เรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ที่จะถามหาคนกระทำความผิด ต้องได้รับโทษ และเรื่องระหว่างทางกระบวนการยุติธรรมที่จะล่าช้าและใช้เวลานานจนบ้างกรณีก็หายสาบสูญไปจากหน้าสื่อ แต่รอยและกลิ่นเลือดไม่เคยจางหายไปจากครอบครัวของเหยื่อ ทำให้ผู้คนในพื้นที่จำนวนไม่น้อยไม่เชื่อมั่นในระบบกระบวนการยุติธรรม 

 

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 21 สิงหาคม  2557 ประมาณ สองปีที่ผ่านมา  ทหารพรานหน่วย ร้อย ฉก.ทพ. นราธิวาส 4916 เป็นทหารที่อยู่ในพื้นที่ ได้ยิง ด.ช.มูฮัมหมัดอาซูวัน ซอเฮาะ วัย 14 ปี  ขณะที่กำลังขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านด่านที่ อ.ศรีสาคร ส่ิงแรกที่เกิดเหตุคือการให้การของทหารที่ปฎิบัติหน้าที่ในวันนั้น ได้รายงานว่า ด.ช.มูฮัมหมัดอาซูวัน ได้พกปืนต่อสู้ โดยมีอาวุธปืน 11 มม. อยู่ข้างศพของ ด.ช.มูฮัมหมัดอาซูวัน นับว่าเป็นเรื่องที่ญาติของเด็กผู้เสียชีวิตรับไม่ได้กับข้อกล่าวหาเช่นนี้ 

 

หากทว่าเหตุการณ์วันนั้นชาวบ้านและญาติไม่เชื่อว่าเด็กอายุ 14 ปีจะพกปืนสั้น ผ่านด่านทหาร และเกิดการยิงเกิดขึ้น ญาติต้องร้องเรียนจนเกิดการสอบสอนคดีข้างต้น 

 

ผลการสอบสวนสรุปว่าโดยหลังเกิดเหตุ อส.ทพ.เอกพจน์ สามานสวน เจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติการในเวลานั้น ได้นำปืนพกสั้นที่พกอยู่มาวางไว้ที่มือของ ด.ช.มูฮำหมัดอาซูวัน  เนื่องจากกลัวความผิดและจงใจให้ดูว่าผู้ตายเป็นคนร้ายเกี่ยวกับการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 

 

หลายกรณีที่เกิดขึ้นคล้ายๆกับกรณีข้างต้น หากทว่าในทางปฎิบัติก็ไม่สามารถลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐได้ โดยมีกฎหมาย พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา 17 (พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่)

 

ปัญหาเรื่องความยุติธรรมของคนเล็กคนน้อยที่ประสบปัญหาอยู่จำนวนมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มักจะไม่ค่อยถูกกล่าวถึงอย่างจริงจัง เพราะแนวทางที่รัฐโหมกระแสคือ ต้องการยุติความรุนแรง ซึ่งเป็นคาถาอาญาสิทธิ์สามารถทำอะไรก็ได้ ยกเว้นการตรวจสอบและประเมินผลงานของเจ้าหน้าที่เป็นแบบนี้มากว่า 13 ปีแล้ว เพราะไม่มีใครกล้าตรวจสอบ ในทางกลับกันหากว่าเจ้าหน้าที่ทำงานดีจริงๆ เช่นหน่วยงานใด เจ้าหน้าที่คนใดทำงานกับชุมชนชาวบ้านได้ดี ชาวบ้านก็ไม่มีสิทธิบอกและสนับสนุนแนวทางของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อมีคำสั่งโดนย้ายออกนอกพื้นที่  เพราะหลายกรณีเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานและบางคนก็ตั้งทำงานแบบมืออาชีพและมีความตั้งใจจะพัฒนาในพื้นที่จริงๆ ทำให้การมีส่วนรวมของประชาชนแทบไม่มี ที่จะประเมินการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะในภาคสนามทีต้องอยู่กับชาวบ้านจริงๆ 

 

 

 

สำหรับคำว่ายุติธรรมกับยุติความรุนแรงมันคนละอย่างตั้งแต่เรื่องชุดความคิดและการลงมือทำ  หน้าที่ของรัฐในโลกสมัยใหม่คือการสร้างความยุติธรรมให้แก่ประชาชนที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐหรือดินแดนที่รัฐคิดว่ามีอำนาจ เพราะเรื่องความรุนแรงประชาชนธรรมดาโดยส่วนใหญ่ก็ดูแลกันเองโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่พยายามห่างๆเจ้าหน้ารัฐ เวลาผ่านด่านตรวจก็รีบที่จะขอให้ผ่านโดยเร็ว หรือว่ายืนอยู่ในตลาด ก็พยายามเดินออกห่างเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่เพราะรังเกียจหรอ แต่รู้ว่าไม่ปลอดภัย

 

เรื่องของนายชัยภูมิ ป่าแส ชาวลาหู่ ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม มันช่างเหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การให้ข่าวหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดการเสียชีวิตที่เกิดจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ

 

แน่นอนน้ำตาและความเสียใจของพ่อแม่ พี่น้อง ญาติมิตรและเพื่อนฝูง บุคคลที่เคยรู้จัก ของนายชัยภูมิกับด.ช.มูฮำหมัดอาซูวัน ย่อมไม่ต่างกัน เพราะมันคือการสูญเสียชีวิตที่ไม่มีวันได้คืนมาและเป็นการเหยียบย้ำศักดิ์ศรีและเกียรติประวัติของผู้ตายที่ยังไม่ได้รับการสืบสวนอย่างยุติธรรม  

 

เช่น ข่าวระบุนายชัยภูมิ  นักกิจกรรมชาติพันธุ์ลาหู่ หลังถูกทหาร บริเวณด่านตรวจ บ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ วิสามัญฆาตกรรม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ในบันทึกการจับกุมระบุว่า นายชัยภูมิ ป่าแส นั่งมากับรถยนต์ที่มีเพื่อนชายอายุ 19 ปีเป็นคนขับ โดยหลังเจ้าหน้าที่ตรวจค้นพบบ้า 2,800 เม็ด นายชัยภูมิได้หยิบมีดเข้าต่อสู้กับทหาร ก่อนจะวิ่งหลบหนีไปและใช้ระเบิดปาใส่ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องยิงตอบโต้ จนนายชัยภูมิเสียชีวิต

 

จากกรณีของนายชัยภูมิถูกพรากชีวิตออกจากไปแล้ว  ไม่มีสิทธิพูดใดๆ และยังโดนข้อกล่าวหาว่าเขามียาเสพติดจำนวนมาก กระทั่งมีระเบิดในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ เรื่องยาเสพติดเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ที่ยุคสมัยหนึ่ง คนไทยเคยอนุญาตให้ฆ่าคนที่โดนกล่าวหาเรื่องยาเสพติดได้จำนวนมากกว่า 2,000 ศพที่ไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม เช่นกันก็คล้ายกับเยาวชนที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนไม่น้อย ที่สูญเสียชีวิตและโดนกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการไม่สงบ หลายชีวิตสูญเสียไปเพราะไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม 

 

คำถามจึงมีอยู่ว่าเราผลักดันให้เกิดความยุติธรรมหรือยุติความรุนแรง สำหรับผมแล้วเมื่อสังคมมันเกิดความยุติธรรมก็จะทำให้เงื่อนไขเกิดความรุนแรงมันน้อยลง การให้ความยุติธรรมตั้งแต่ความยุติธรรมเรื่องเสรีภาพทางด้านอัตลักษณ์ การให้อำนาจแก่ประชาชนปกครองตัวเอง จนถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะบุคลากรของเจ้าหน้าที่รัฐ หากบังคับกฎหมายอย่างเคร่งครัด การใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ก็จะยับยั้งชังใจมากขึ้น พลเรือนจะได้ไม่เสี่ยงกับการปฎิบัติการในนามของผู้ปกป้องแผ่นดินให้พ้นยาเสพติดและไม่ให้เสียดินแดน ที่เป็นคาถาพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ