ขออนุญาตเรียกตัวเองว่า “คนปาตานี” ได้มั้ยครับ และ ICCPR
ขออนุญาติเรียกตัวเองว่า "คนปาตานี" ได้มั้ยครับ
ข้อความข้างต้นเป็นข้อความจากป้ายผ้าในกิจกรรมแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา
หลังจากข้อความข้างต้นหลุดออกไปสู่โลกออนไลน์ ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงคำว่า "คนปาตานี" บางคนถึงขั้นไล่ออกจากประเทศเพราะถือว่าไม่ใช่คนไทย แต่นับว่าเป็นเรื่องปกติเสียแล้วสำหรับโลกออนไลน์ที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์
แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือการที่คณะผู้แทนรัฐบาลพิเศษร่วมกับมหาวิทยาลัยที่จะตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องป้ายผ้าข้างต้น
ผมไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอนที่ต้องไปคาดคั้นและตั้งกรรมการสอบสวนนักศึกษากับเรื่องแบบนี้ เพราะคำว่า "ปาตานี" ได้ถูกนำมาใช้ทั่วไปและเป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้ว ตั้งแต่ร้านน้ำชา ข้าวยำ ริมถนน ร้านอาหารที่มีราคาหน่อย จนถึงโลกออนไลน์ มีให้เห็นจนทั่วไป อาจจะนับรวมถึงกลุ่มมาราปาตานี (MARA PATANI) ที่ผู้แทนรัฐบาลกำลังพูดคุยอยู่ ก็ใช้คำว่าปาตานีเช่นกัน
มนุษย์ทุกคนย่อมมีอัตลักษณ์ ตั้งแต่อัตลักษณ์ที่คนอื่นหยิบยื่นให้เรา และเรียกตามถนัดปากเช่น เรียกกลุ่มคนเชื้อสายจีนว่าเจ๊ก เรียกพวกมุสลิมว่าแขก เรียกคนญี่ปุ่นว่ายุ่น เรียกพวกตะวันตกว่าฝรั่ง(ขี้นก) เรียกคนอีสานว่าพวกลาว ฯลฯ
แต่หากว่ามนุษย์จะเรียกตัวเองก็ย่อมเป็นสิทธิที่จะเรียกตามอัตลักษณ์ตัวเองตามความพึงพอใจของตัวเอง และไม่เห็นว่ามันจะรุนแรงและสั่นคลอนความเป็นไทยขนาดไหนที่ต้องตั้งกรรมการมาสอบสวนเรื่องนี้
หากผู้แทนพิเศษรัฐบาลคุณภานุ อุทัยรัตน์ จะตั้งกรรมการสอบสวนนักศึกษาและไม่สบายใจเรื่องป้ายผ้า “คนปาตานี” มันชวนทำให้ผมนึกถึงคำพูดของคุณอานันท์ ปันยารชน สมัยนั่งเป็นประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้บอกว่าในการประชุมคณะกรรมการ กอส. เมื่อปี 2548 ว่า พ่อผมเป็นมอญและแม่เป็นเจ๊ก ใครบ้างที่เป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ? ในที่ประชุมมีคณะกรรมการกว่า 50 คน ไม่มีใครบอกว่าตัวเองเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์
สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาจะสอบสวนนักศึกษาเรื่องป้ายผ้ากีฬาสี คงต้องพิจารณาบทบาทของมหาวิทยาลัยหากใช่แต่เพียงคอยทำหน้าที่ ห้ามปรามนักศึกษา ปัญญาชน โดยเฉพาะการแสดงออกทางด้านเสรีภาพ เพราะหากพวกเขาเลือกและตัดสินใจแล้ว ก็ควรจะเคารพและสนับสนุนในทางด้านวิชาการ สร้างความเข้าใจร่วมกัน
เพราะท้ายสุดพวกเขาก็ต้องรับผิดชอบและเรียนรู้จากสิ่งที่กระทำ ไม่ว่าจะเป็นแง่บวกและลบ หากเป็นไปได้พร้อมกันนั้นมหาวิทยาลัยควรปกป้องเสรีภาพการแสดงออกของพวกเขาที่เลือกใช้วิธีการสันติวิธี แม้ว่าจะคิดต่างกับครูบาอาจารย์และผู้บริหารในมหาวิทยาลัยก็ตาม ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา ท่ามกลางสังคมที่มีความหลากหลาย
ในห้วงระหว่างเขียนบทความสั้นๆนี้ ตัวแทนรัฐบาลไทยได้เข้ารายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐ ตามที่ไทยเป็นภาคีกับกติการะหว่างประเทศต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ว่าด้วย
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – หรือเรียกสั้นว่า ICCPR
ข้อความของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ขออนุญาติเรียกตัวเองว่า “คนปาตานี” ได้มั้ยครับ ก็จะเข้ากรอบข้อบัญญัติ 26 ที่กล่าวว่า “บุคคลท้ังปวงย่อมเสมอกันตามกฎหมาย และมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันตามกฎหมาย โดย ปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ ในกรณีนี้ กฎหมายจะต้องห้ามการเลือกปฏิบัติใด ๆ และต้องประกันการคุ้มครองบุคคลทุกคนอย่างเสมอภาคและเป็นผลจริงจังจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลใด เช่น เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็น ทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ”
ซึ่งตามกฎข้อที่ 26 กฎหมายต้องคุ้มครองบุคคลทุกคนอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะเรื่องการแสดงอัตลักษณ์ของตัวตน ไม่ว่าบุคคลจะเชื่อในสิ่งใดก็ตาม รัฐก็จำเป็นต้องพิทักษ์และคุ้มครอง ฉะนั้นคำว่า "คนปาตานี" ก็ย่อมไม่มีความผิดใดๆในทางกฎหมาย
นักศึกษาได้เลือกใช้วิธีการสันติวิธี ในการแสดงออก พวกเขาไม่สมควรถูกตั้งกรรมการสอบสวนและเหมือนจะตัดสินไปแล้วด้วยซ้ำว่าป้ายนี้เป็นข้อความที่ผิดและต้องมีคนอยู่เบื้องหลัง จากสิ่งที่คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลได้ออกมาพูด
วิธีการคิดและด่วนตัดสินแบบนี้ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาชายแดนใต้/ปาตานี ในทางกลับอาจจะทำให้พื้นที่สันติวิธีหดหายไปเหลือแต่ความอึดอัดใจให้แก่พวกเขา สำหรับนักศึกษาก็ต้องได้รับสิทธิเท่าๆกับคนอื่นๆที่ใช้คำว่า “คนปาตานี” การเร่งสอบสวนโดยได้รับกระแสปลุกเร้าทางสื่อออนไลน์โดยเข้าไปจัดการนักศึกษาไม่ได้เป็นเรื่องที่สง่างามและมีหลักเกณฑ์ใดๆเลย
คำว่า “ปาตานี” ซึ่งในแวดวงวิชาการ สื่อสาธารณะ ทีวีต่างๆได้ใช้คำนี้อย่างแพร่หลายในรอบหลายปีที่ผ่านมา นักศึกษาควรได้รับการปกป้องตามกฎหมายอย่างน้อยๆในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังรายงานผลต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าด้วยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ICCPR
ป.ล.คำว่า"ขออนุญาติ" จากป้ายผ้าสะกดผิด สำหรับเรื่องนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรเอาไปทบทวนมากกว่า ว่าจะทำอย่างไรให้นักศึกษามลายูได้ใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องและมีความมั่นใจเท่าๆกับภาษามลายู