ประวัติและผลงานของผู้ได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตรประจำปี 2560

ประวัติและผลงานของผู้ได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตรประจำปี 2560

 

 

ภาวิณี ชุมศรี (ทนายแอน) ทนายความสิทธิมนุษยชน ผู้ได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตรประจำปี 2560

 

หากนับวัยวุฒิ ก็คงจัดหมวดของภาวิณี ชุมศรี ว่าเป็นทนายความรุ่นใหม่ แค่หากวัดจากประสบการณ์และชั่วโมงบิน ทนายภาวิณีมีประสบการณ์โชกโชน และล้วนแต่รับคดียืนอยู่ฝั่งผู้เสียเปรียบในสังคม

 

ภาวิณีทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นทำคดีในสามจังหวัดชายแดนใต้เมื่อปี 2550 จนมาถึงคดีการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 โดยเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานช่วยเหลือผู้ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวหรือถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และคดีเกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออก

ผลงานโดดเด่นของภาวิณีส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคดีการซ้อมทรมาน คนหาย การควบคุมตัวมิชอบ และการวิสามัญฆาตกรรมในสามจังหวัดชายแดนใต้ ภาวิณีได้มีส่วนร่วมในการทำคดีเด่นๆ เช่น คดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่ถูกซ้อมจนเสียชีวิตในค่ายทหาร คดีปุโละปุโย เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ยิงรถกระบะของชาวบ้านที่จะไปละหมาดศพตอนกลางคืนเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นคนร้าย คดีอัสฮารี ที่ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต และคดีการหายตัวไปของมะยาเต็ง มะรานอ นักการภารโรงในบันนังสตา

 

นอกจากคดีในสามจังหวัดชายแดนใต้แล้ว เธอยังมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการสลายการชุมนุมปี 2553 คดีที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลายคดี รวมถึงคดีที่ขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติต่างๆ

ลูกความที่ภาวิณีรับผิดชอบอยู่ ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มที่สังคมกระแสหลักไม่ให้การยอมรับ แต่เพราะภาวิณี เชื่อว่า คดีความต่างๆ มีมิติที่มากไปกว่าแค่เรื่อง "ผิด" และ "ถูก" ผู้ฟ้องไม่ใช่ฝ่ายถูกอย่างเดียว อีกทั้งบางทีก็ยังฟ้องเกินจริง ส่วนคนผิดก็ไม่มีใครที่เลวโดยกมลสันดาน

 

บทบาททนายความที่ภาวิณียึดถือ คือการทำหน้าที่ในฐานะส่วนหนึ่งของกลไกยุติธรรม สู้ความเพื่อให้เกิดการพิพากษาลงโทษที่เหมาะสม เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิโดยปราศจากอคติทั้งปวง

 

 

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ได้รับรางวัลผู้มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนที่น่ายกย่อง ประจำปี ๒๕๖๐ 

 

ไผ่เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สังคมไทยในวงกว้างอาจเริ่มจดจำไผ่ได้จากการ “ชูสามนิ้ว” และใส่เสื้อที่มีข้อความว่า “ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร” ร่วมกับเพื่อนกลุ่มดาวดิน ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ขณะลงพื้นที่ที่จังหวัดขอนแก่น


การชูสามนิ้วของไผ่และดาวดินในปี 2557 ครั้งนั้น เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่สังคมไทยกำลังตึงเครียดและถูกกดทับจากอำนาจรัฐประหาร การชูสามนิ้วเป็นการแสดงออกเชิงสัญญะอย่างเรียบง่ายแต่ทรงพลัง ที่ทำให้คนในสังคม ไม่ว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร ต่างต้องหันมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะอยู่กับวาทกรรมการปรองดองได้อย่างไร หากเพียงยกมือชูสามนิ้วก็ยังทำให้ต้องถูกจับฐานเป็นภัยต่อความมั่นคง

 

ต้องไม่ลืมว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไผ่และเพื่อนๆ ในกลุ่มดาวดินทำกิจกรรมทางสังคม เพราะก่อนหน้านั้น พวกเขาสนใจประเด็นสิทธิชุมชน สิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย ทำกิจกรรมลงพื้นที่เรียนรู้ปัญหาและช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสาน

การเคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษาคึกคักมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในอีสานและในกรุงเทพฯ ไม่เพียงการต่อต้านการรัฐประหารเท่านั้น กลุ่มนักศึกษายังรณรงค์เกี่ยวกับการลงประชามติรัฐธรรมนูญ จนทำให้ไผ่และนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ถูกฟ้องด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ

 

ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ไผ่เป็นคนหนึ่งที่มีความเคลื่อนไหวที่โดดเด่น จนทำให้เขาถูกจับตาและติดตามทุกฝีก้าว ปีที่ผ่านมา ไผ่ถูกดำเนินคดีครั้งรุนแรงที่สุดจากการแชร์บทความของบีบีซีไทย ซึ่งทำให้เขาถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา

 

ขณะนี้ไผ่ยังอยู่ในเรือนจำระหว่างการต่อสู้คดีโดยไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า หน่วยงานภาครัฐมีความตั้งใจยุติการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยที่เขาทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิธีป้ายสีว่ากระทำขัดต่อกฎหมายแล้วกักขังเขาไว้ในเรือนจำ

 

 

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด

 

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดซึ่งเป็นกลุ่มของประชาชนใน 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำบริเวณ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ได้รับรางวัลผู้มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนที่น่ายกย่องประจำปี ๒๕๖๐ จากคณะกรรมการกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร

หลังจากที่บริษัททุ่งคำได้รับใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำในปี 2546 ประชาชนที่วังสะพุงก็เผชิญกับผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น จากผลการตรวจเลือดและน้ำในหมู่บ้าน พบว่า ทั้งน้ำใต้ดิน น้ำในห้วย และเลือดของประชาชนบริเวณเหมือง มีสารโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน ทำให้ผู้อยู่อาศัยไม่สามารถใช้แหล่งน้ำธรรมชาติได้ ต้องซื้อน้ำจากข้างนอกในการอุปโภค บริโภค หลายคนเจ็บป่วยหลังจากที่มีการทำเหมืองแร่

 

ชาววังสะพุงจึงรวมตัวกันเป็น "กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด" ขึ้นเมื่อปี 2549 มาจนวันนี้ก็สิบปีแล้วที่ชาววังสะพุงต่อสู้กับทุนและรัฐ ถูกข่มขู่คุกคามในหลายรูปแบบ ทั้งด้วยการใช้กำลัง และถูกกลั่นแกล้งทางกฎหมายด้วยการฟ้องคดี

 

นอกจากการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในพื้นที่ของตนแล้ว กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยังสนับสนุนกลุ่มอื่นๆ ในเครือข่ายที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มในภาคอีสาน เช่น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และวิธีการเคลื่อนไหวต่อสู้ และยังขยายประเด็นไปสู่การผลักดันสิทธิทางการเมืองและประชาธิปไตยในส่วนรวมด้วย

ในเวลานี้ การต่อสู้อันยาวนานก็ยังไม่สิ้นสุด ทางบริษัทยังคงมีความพยายามจะทำเหมืองต่อไป ขณะที่คดีความจำนวนมากที่สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดถูกฟ้องก็ยังไม่สิ้นสุด แม้จะเผชิญความเสี่ยงมากมาย แต่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยังคงยืนยันสิทธิที่จะปกป้องชุมชนไปจนถึงที่สุด

 

 

กลุ่มแรงงานชาวพม่า 14 คน

 

กลุ่มแรงงานชาวพม่า 14 คน ที่ฟ้องและถูกฟ้องจากบริษัทอุตสาหกรรมไก่ใน จ.ลพบุรี ได้รับรางวัลผู้มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนน่ายกย่อง ประจำปี ๒๕๖๐ จากคณะกรรมการกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร

 

ชาวพม่ากลุ่มนี้เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยไปทำงานที่ฟาร์มเลี้ยงไก่แห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรี ฟาร์มดังกล่าวส่งไก่จำหน่ายให้อุตสาหกรรมผู้ผลิตไก่ส่งออกขนาดใหญ่รายหนึ่ง

 

ภายใต้ธุรกิจขนาดใหญ่นี้ คนงานภายในฟาร์มต้องอยู่กับสภาพการทำงานที่ถูกกดขี่ คือทำงานวันละ 20 ชั่วโมง (จะได้พักก็แค่ช่วงตีห้าถึงเจ็ดโมงเช้า และอีกครั้งเวลาห้าโมงเย็นถึงหนึ่งทุ่ม) ไม่มีวันหยุด ไม่ได้ออกนอกโรงงานโดยไม่มีผู้คุม ทำงานได้เงินวันละ 230 บาทโดยไม่มีค่าล่วงเวลา ไม่มีประกันสังคม

แรงงานชาวพม่าทั้ง 14 คนได้ต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงาน พวกเขาฟ้องนายจ้าง คือบริษัทอุตสาหกรรมไก่ใน จ.ลพบุรี และบริษัทส่งออกไก่ยักษ์ใหญ่ เป็นเงิน 44 ล้านบาท เพื่อให้ชดเชยการใช้แรงงานทาสตลอดเวลาเกือบ 5 ปี 

 

กลุ่มแรงงานเคยยื่นเรื่องร้องเรียนให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าไปตรวจสอบด้วย ผลการตรวจสอบออกมาว่า ไม่พบการกระทำที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ ใช้แรงงานทาส ไม่พบการกักขังหน่วงเหนี่ยวหรือยึดพาสปอร์ต ไม่พบการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการบังคับใช้แรงงานตามความในพ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จึงเป็นเหตุให้บริษัทฟ้องร้องแรงงานทั้ง 14 คนในข้อหาให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ และหมิ่นประมาท

นอกจากนี้ ยังมีแรงงาน 2 คนที่ถูกนายจ้างตั้งข้อหาว่าลักทรัพย์ เพราะขโมยบัตรลงเวลาปฏิบัติงานไป ซึ่งนั่นเป็นเพราะบัตรลงเวลาดังกล่าวถูกส่งมอบให้กับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลพบุรีเพื่อเป็นหลักฐานเกี่ยวกับเวลาการทำงาน ต่อมา ทางนายจ้างฟ้องแรงงานชาวพม่าทั้ง 14 คน เพิ่มอีกหนึ่งคดีในข้อหาหมิ่นประมาท ทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง 

 

ปัจจุบันคนงานทั้ง 14 คนลาออกจากบริษัทแล้ว พวกเขายังทำงานอยู่ในประเทศไทย ทั้งที่อยากเดินทางกลับบ้านเกิด แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะยังมีคดีติดตัวหลายคดี

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีข่าวการละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศไทย การลุกขึ้นมายืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานของกลุ่มแรงงานข้ามชาติทั้ง 14 คนนี้ จะเป็นบรรทัดฐานสำคัญ และเป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยยกระดับมาตรฐานการจ้างงาน และสร้างความตระหนักให้เกิดการเคารพสิทธิแรงงานมากขึ้นในสังคมไทย

 

ที่มา เฟสบุ๊ค  https://www.facebook.com/jon.ungphakorn