สรุปย่อ “ชวนถกหนังสือของ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ – ‘นบีไม่กินหมาก’
วันนี้ 10 มีนาคม 2560 ไปร่วมฟัง “ชวนถกหนังสือของ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ – ‘นบีไม่กินหมาก’ ที่ห้องสมุดวิลเลี่ยม วอร์เรน บ้านจิม ธอมป์สัน มาค่ะ ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ รศ.อับดุลเลาะ อับรู กรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี, ดร.ฟาริดา สุไลมาน องค์กรสันติภาพและสิทธิมนุษยชน และ ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ พ.ศ. 2553 ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
----
นับว่าเป็นการถกกันที่ได้สาระความรู้หลากมิติแต่ก็มียั้งๆ กันไว้บ้าง มีการไลฟ์ ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook page Kledthai Publishing
----
ขอสรุปสั้นๆ ที่จดตามมาแบ่งกันอ่านนะคะ ถ้าฟังเต็มๆ ก็เกือบสามชั่วโมง ที่ไม่น่าเบื่อเลยค่ะ ผู้ร่วมเสวนาได้พูดถึงหนังสือ “นบีไม่กินหมาก” ไว้ดังนี้ค่ะ (เอาแบบย่อๆ นะคะ)
ดร.ฟาริดา : หนังสือเล่มนี้สะท้อนวัฒนธรรมของคนในที่นี่มีการเล่าเรื่องกำหนดเป็นตัวละคร เรื่องเล่า เช่น ในเรื่อง ม้าพยศ ทำให้เห็นมุมมองวิถีชีวิตแบบนั้นจริงๆ เห็นวัฒนธรรมเก่าๆ ของบางบ้าน สิ่งในอดีตค่อยๆ หายไป สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งของมิติทางวัฒนธรรมและโลกอาหรับ การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นการเมืองก็มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง งานเขียนเล่มนี้สะท้อนตัวตันของคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ในเรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งภาครัฐควรอ่านอย่างไตร่ตรองแล้วจะเข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงรักและหวงแหนวัฒนธรรมประเพณีของพวกเขา หากภาครัฐเข้าใจวิถีชีวิตของคนที่นั่นในด้านมิติการเมืองจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐบาลอย่างมาก
รศ.อับดุลเลาะ : สิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้คือมีความเป็นpositiveและค่อนข้างจะเป็นนวนิยายขนาดสั้น อ่านแล้วเพลิน มีชีวิต เป็นหนังสือที่อ่านสนุก ชวนให้คิด ให้ถกเถียง สะท้อนวิถีชาวบ้านที่ยังหลงเหลือว่าพวกเขาต่อสู้อย่างไรเพื่อให้มีพื้นที่ของสังคมมุสลิม ผู้เขียนให้ชาวบ้านเล่าเรื่องให้ผู้เขียนฟัง
งานชิ้นนี้จึงเป็น positive outlook คือเห็นอย่างไรก็เขียนอย่างนั้น ให้น้ำหนักกับคำบอกเล่าค่อนข้างขาดความเป็นธรรมนิดหนึ่ง และชุดความรู้เหล่านี้ได้กลายเป็นคำถามของผู้อ่าน ผู้เขียนสะท้อนเรื่องที่เขียนออกมา หนังสือเล่มนี้ท้าทาย แตะหลักการ ข้อบัญญัติ ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ดีใจที่มีคนเขียน และผู้เขียนใช้ศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย (รศ.อับดุลเลาะ ถกถึง “นบีไม่กินหมาก” แบบบทต่อบท สนุกมากๆ ค่ะ)
ซะการีย์ยา : บอกว่าให้อ่านหนังสือสองเล่มเทียบกัน คือ “นบีไม่กินหมาก” กับ “มลายูที่รู้สึก” งานทั้งสองเล่มเป็นงานเขียนสายมานุษยวิทยา เมื่ออ่านทั้งสองเล่มเทียบกันจะประหลาดใจจากสิ่งที่เห็น หนังสือสองเล่มนี้ไม่ได้เขียนให้มุสลิมอ่าน เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์จากคนที่ลงพื้นที่ และในต้นฉบับไม่มีการปรับแก้คำ ยังคงคำที่ผู้เขียนเขียนเอาไว้เช่นเดิม จึงปรากฏคำแบบพุทธสายแข็งของอาจารย์อนุสรณ์อยู่ในหนังสือเล่มนี้
**
สำหรับในส่วนของท่านอื่นๆ คงต้องให้ไปดูจากคลิปนะคะ น่าสนใจจริงๆ ค่ะ “นบีไม่กินหมาก” ไปอ่านกันแล้วลองถกกับผู้เขียนดูนะคะ
จาก https://www.facebook.com/bookaroundwithnonglak/