ไม่ใช่บทสนทนาเพศวิถี

 

หลังจากรายการสารคดีก(ล)างเมือง ตอน “ห้องเรียนเพศวิถี” ได้ทำการออกอากาศทางทีวีสาธารณะ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 หลังจากนั้นก็มีปฏิกิริยาทางสื่อออนไลน์ออกมาแสดงความคิดเห็นทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรายการสารคดีข้างต้น ตั้งแต่การเขียนข้อความสั้นๆ ในเฟสบุ๊คจนถึงการเขียนออกมาเป็นบทความอธิบายเรื่องเพศวิถี กล่าวโดยเฉพาะในมุมทัศนคติที่ไม่เห็นด้วย จนท้ายสุดมาจบลงที่คำสัมภาษณ์ของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560  

ซึ่งข้าพเจ้ากลับเห็นว่าปรากฎการณ์เรื่องนี้ไม่ใช่บทสนทนาเรื่องเพศวิถีแต่เพียงอย่างเดียวที่เกิดขึ้น โดยมีความเห็นดังต่อไปนี้ 

ประการแรก หลายคนมักจะบอกว่า เรื่องนี้เกิดจากสื่อสาธารณะออกอากาศทาง Thai PBS แต่มีนักวิชาการบางส่วนได้แสดงความเห็นในเชิง ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของผู้ให้สัมภาษณ์ในรายการ ทั้งในรูปแบบของการแสดงออกทางโลกออนไลน์ เฟสบุ๊ค จนถึงลักษณะบทความหรือข้อถกเถียงทางวิชาการ แต่นั้นก็ไม่ใช่เป็นการเปิดบทสนทนาที่ดีหากทว่าเป็นการตอบโต้กันไปมา โดยเฉพาะบนสื่อออนไลน์อย่างเฟสบุ๊ค ซึ่งมีรายการสารคดีก(ล)างเมือง ตอน “ห้องเรียนเพศวิถี” เป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียง 

อันที่จริงในเรื่องนี้ผู้ชมสามารถเขียนจดหมายร้องเรียนไปยังทางทีวีสาธารณะได้ เพื่อให้ทบทวนเนื้อหาหรือแม้กระทั่งเพิ่มเติมข้อมูล/ความเห็นอีกด้านหากว่าไม่ครบถ้วน และเป็นประเด็นทางด้านวิชาการที่ต้องการถกอภิปรายให้กว้างขวางต่อไป  

เคยมีกรณีเกิดขึ้นด้วยการเขียน จดหมายเปิดผนึกถึงสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส      

(http://prachatai.com/journal/2013/02/45506) เนื่องจากการนำเสนอรายงานข่าวเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556 ในรายการ "ข่าวเด่น ประเด็นใต้" หัวข้อการนำเสนอช่วงรายงานข่าว คือ "นักศึกษาถูกชักจูงเป็นแนวร่วม" ซึ่งมีการไม่เห็นด้วยกับการเสนอข่าวข้างต้น จึงได้มีการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) เพื่อให้ตรวจสอบการนำเสนอข่าวข้างต้น 

จดหมายเปิดผนึกข้างต้นได้รับการตอบรับจาก คุณสมชัย สุวรรณบรรณ ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ในขณะนั้น) จึงได้ดำเนินการแต่งตั้งอนุกรรมการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนฯ ซึ่งเป็นกลไกหลักของไทยพีบีเอสในการตรวจสอบ และพัฒนา มาตรฐานการทำงานสื่อมวลชนเพื่อการพิจารณาอย่างกว้างขวาง  คณะอนุกรรมการชุดนี้มีตัวแทนจาก สมาคมวิชาชีพสื่อฯ ตัวแทนจากภาคประชาชน และตัวแทนจากนักวิชาชีพกฎหมาย จนนำไปสู่การจัดเวทีเสวนา "บทเรียนการสื่อสารและการเปิดพื้นที่ทางการเมือง: กรณีไทยพีบีเอสกับกิจกรรมนักศึกษาที่ชายแดนใต้" จัดโดย คณะรัฐศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ในวันที่ 5 มีนาคม 2556 เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนต่อประเด็นข่าวข้างต้น 

การตระหนักถึงการใช้กลไกตามช่องทางที่มีอยู่ เพื่อจะช่วยคลี่คลายข้อถกเถียงไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดก็ตาม  ยิ่งเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนย่อมต้องใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง การใช้ช่องทางตามกฎเกณฑ์ กล่าวคือการทำให้กลไกตรวจสอบ ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและส่งผลต่อประเด็นอื่นต่อไป

หากทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การละเลยช่องทางที่จะช่วยปรับปรุง/เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง  ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในระยะยาว แต่เรากลับเห็นจดหมายเปิดผนึก/จดหมายส่วนตัว ที่เป็นการโต้แย้ง(ทางทฤษฎี)มากกว่าการเปลี่ยนแปลงในมิติการสื่อสารบนพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะทีวีสาธารณะ 

นักวิชาการมุสลิม/ผู้ชมที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่มีความเห็นแตกต่างเกี่ยวกับรายการต่าง ๆ สามารถสื่อสารสร้างความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมในหมู่คนกลุ่มต่างๆ ของสังคมด้วยการเข้าไปร่วมทำงานและลงมือทำจริงๆ ที่อาจจะมีทั้งจุดร่วมและความแตกต่างหลากหลาย โดยใช้พื้นฐานของความอดกลั้น (tolerance) ที่จะรับฟังทัศนะที่แตกต่างไม่ว่าจะด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง ศาสนา เศรษฐกิจ หรือระดับการศึกษา โดยสามารถใช้ช่องทางและติดตามเพื่อการแก้ไขในประเด็นการเสนอข่าว ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจไม่ได้ตระหนักถึงกลไกตามช่องทางต่างๆมากเพียงพอ  

ประการที่สอง จากรายงานโครงการวิจัยเรื่องโรคเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ตั้งแต่ปีที่ 2558-2559 จัดทำโดยปาตานีฟอรั่ม  พบว่าส่วนหนึ่งของการปลุกเร้าให้เกิดภาวะการเกลียดกลัวอิสลามคือ คนส่วนใหญ่จะได้รับการปลุกเร้าจากคนข้างนอกซึ่งไม่ใช่คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งหรือกลุ่มคนที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มมุสลิมโดยตรง หรือเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมด้วยกัน  การใช้สื่อต่างๆของเหล่านักเทศนาและนักพูด นักวิชาการ ที่มีการใช้ภาษาในลักษณะ “hate speech” เพื่อแสดงถึงลักษณะการปลุกเร้าทางอารมณ์และแสดงทัศนะแบบสุดขั้วเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นดั่งปีศาจทางความคิด 

งานวิจัยของ ดร.ชาญชัย  ชัยสุขโกศล เรื่อง “Hate Speech และข้อมูลที่อันตราย : ทางเลือกวิธีตอบโต้ทางการเมือง” ได้นิยามความหมายของคำว่า “hate speech” นั้น ในที่นี้นิยามความหมายโดยคร่าวๆ ว่า เป็นการแสดงออก ทั้งทางคำพูด ข้อเขียน และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อื่นๆ ที่มุ่งโจมตี ประจาน สบประมาท หรือข่มขู่ ผู้ถูกกล่าวถึงอย่างร้ายแรง (extreme) แม้โดยปกติแล้ว hate speech ใช้ประเด็นเรื่องสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา และเพศ เป็นแกนเรื่องหลัก แต่ก็สามารถขยายครอบคลุมได้แทบทั้งประเด็นทางชนชั้น ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา อุดมการณ์ 

ต่อกรณีข้างต้น ข้าพเจ้าเห็นว่าปรากฎการณ์การใช้วิธีการแสดงความเห็นผ่านโลกออนไลน์ ตัดสินด้วยข้อมูลอันผิวเผินหรือแม้กระทั่งคิดว่าตนเองรู้เรื่องดีที่สุดแล้ว จนไม่ฟังเสียงหรือรับทราบข้อมูลรอบด้าน โดยเฉพาะประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน ก็ย่อมหมายถึงการใช้ “hate speech” จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม 

ประการที่สาม สังคมมุสลิมเลือกต่อต้านแบบเลือกปฏิบัติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ย่อมเป็นปัญหาในตัวของมัน กล่าวคือ เวลาแสดงความเห็นต่อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นมุสลิมหรือว่าประเด็นทางด้านศาสนา พบว่าสังคมมักจะเห็นด้วยกับการใช้ภาษาที่เป็นลักษณะแบ่งเขาแบ่งเรา สำหรับต่อกรณีเรื่อง “เพศวิถี”  ในมุมมองทางศาสนาย่อมไม่สามารถยอมรับได้อย่างแน่นอน เรื่องนี้สังคมไทยและสังคมโลกย่อมรู้ดีถึงเรื่องความเชื่อแบบนี้ แต่ทว่า เรากลับละเลยเรื่อง การใช้ถ้อยคำที่ดี (มีฮิกมะห์) ละเลยเรื่องความเป็นธรรม ความยุติธรรมที่ควรมีแก่กลุ่มที่มีความเชื่อต่างจากเรา เราเลือกเอียงข้างเข้าหามุสลิมก่อนโดยไม่พิจารณาถึงความเป็นธรรมและข้อมูลรอบด้านจากฝ่ายที่ถูกกล่าวหา จากเหยื่อของการใช้ภาษาเหยียดหยาม สร้างความเข้าใจผิดและส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกล่าวหา 

ปรากฎการณ์ข้างต้นพบว่า การแสดงความเห็นแบบเหมารวม การใช้ถ้อยคำดูถูก แสดงตนเป็นผู้ถือครองสัจธรรม โดยอาศัยคำพูดไม่กี่คำ แม้กระทั่งหลายคนถือโอกาสสร้างบรรยากาศไม่เป็นมิตร ก่อนจะมีการเริ่มบทสนทนาว่าด้วยเรื่องเพศวิถี 

เราจะปกป้องศาสนาด้วยการสนับสนุนและหนุนหลังให้มีการพูดแบบเหยียดหยามผู้คนในพื้นที่สาธารณะอย่างไม่เขินอายและไร้มารยาทที่ผ่านมาได้กระนั้นหรือ ?  

ปรากฎการณ์การใช้ Hate Speech คือจุดเริ่มต้นที่ย้ำแย่ ที่จะเริ่มคุยกันในเรื่องเพศสภาพ หลายคนมักจะบอกว่า เป็นเพราะเรื่องนี้เกิดจากการที่สื่อสาธารณะออกอากาศทาง Thai PBS และเนื้อหาในรายการก(ล)างเมืองนั้นเป็นการพูดหรือนำเสนอแต่เพียงฝ่ายเดียว 

แต่กระนั้นก็ดี นั้นก็ไม่ใช่วิธีการที่ต้องใช้ “Hate Speech” เพื่อจะตอบโต้ในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย 

การสร้างความเดือนร้อนให้ผู้อื่นด้วยคำพูดและไม่มุ่งพิจารณาครุ่นคิดหาหนทางเลือกวิธีการประนีประนอม ย่อมเป็นการก่อความเสียหายมากกว่าการแก้ไขในระยะยาวที่จะรักษาพื้นที่สันติในสังคมชายแดนภาคใต้ 

การออกมาพูดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เพื่อให้ความเห็นในหัวข้อ "คุยหลังห้องเรียนเพศวิถี" เนื้อหา/คำถามเป็นการพุ่งเป้าไปที่เรื่องเพศสภาพและสิทธิมนุษยชน ช่างน่าประหลาดใจ ที่อาจารย์ชัยวัฒน์ ไม่ได้กล่าวถึงข้อความ “hate speech”  ที่เป็นสาเหตุเริ่มต้นที่ย้ำแย่แห่งบทสนทนาเรื่องเพศวิถี เราจะคุยเรื่องเพศวิถีได้อย่างไร ในขณะที่เรายังมีข้อความสร้างความเกลียดชังและก่อความเข้าใจผิดเป็นจุดเริ่มต้นบทสนทนาจนกระทั่งมีบุคคลจำนวนมากสนับสนุนวิธีการข้างต้น  

ที่น่าแปลกใจ มีผู้คนกด like ข้อความเพียงสองประโยค(ที่ข้าพเจ้ามองว่าเป็นข้อความ) “hate speech” เป็นจำนวนมากเพื่อสนับสนุนข้อความข้างต้น อันไม่มีข้อมูลวิชาการรองรับและหลักฐานใดๆ คำถามจึงมีอยู่ว่า ผู้ปฏิบัติงาน/นักวิชาการมุสลิมและผู้สนับสนุนการโพสต์ข้อความข้างต้นนั้นได้ถือวิธีการที่ดีที่สุดหรือไม่ ? เราเลือกวิธีการปกป้องศาสนาและหนุนเสริมการใช้วิธีการแบบ hate speech ใช่หรือไม่? ศาสนาและศรัทธาจะอยู่รอดปลอดภัยด้วยวิธีการใช้คำพูดที่สบประมาทเหยียดหยามผู้อื่น(ฟิตนะฮ์) ใช่หรือไม่ ? 

เช่นนี้แล้วที่ผ่านมานั้น "ไม่ใช่บทสนทนาเพศวิถี" แต่สิ่งที่เห็นคือการไม่อดกลั้นและเคารพผู้อื่น โดยมีเรื่องเพศวิถีเป็นฉากบังหน้าของการถกเถียงที่ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เราปฏิเสธไม่ได้แม้แต่น้อยนิดว่าศาสนาย้ำเตือนด้วยความหนักแน่นให้เราปกป้องความดีงามแห่งศาสนา แต่เรากลับพบเห็นหลายคนมีโลกทัศน์อันคับแคบที่พุ่งผ่านตัวอักษรออกมาราวกับหอกที่ลับคมเตรียมพร้อมจะทิ่มแทงผู้อื่นโดยตลอดเวลา และปราศจากการรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น และอีกนั้นแหละเราเห็นความย้อนแย้งของกลุ่มคนบางกลุ่มที่เลือกต่อต้านแบบเลือกปฏิบัติ บางเรื่องใช้หลักการศาสนาวิจารณ์อย่างเต็มที่ แต่กับบางเรื่อง บางกิจกรรมกลับไม่ใช้ในมาตรฐานเดียวกัน และทำเป็นไม่เห็น เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ...