มุสลิมอาเซี่ยนกับ ความท้าทายด้านกฎหมายอิสลาม

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

เมื่อ วันที่ ๑๘-๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๔  ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนานักวิชาการระดับอาเซี่ยน ในหัวข้อ The Role of Maqasid al-Shari’ah (Higher Purposes of Islamic law) in the Islamic epistemology agenda of the 21st century. ณ โรงแรม ภูเก็ตพาราไดซ์  จังหวัดภูเเก็ต

การสัมมนาครั้งนี้จัดโดยสถาบันแนวคิดอิสลามนานาชาติ สำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( the International Institute of Islamic Thought) หรือ (IIIT) ซึ่งมี Dato Seri Anwar Ibrahim เป็นที่ปรึกษาใหญ่พร้อมร่วมเปิดสัมมนา และ Prof  Dr. Osman Bakar ประธานสถาบันแนวคิดอิสลามนานาชาติ สำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรยายพิเศษ

การสัมมนาในครั้งนี้ต้องการที่จะนำความรู้ในสาระวิชากฎหมาย อิสลาม ในส่วนของเป้าหมายของกฎหมายอิสลาม   ซึ่งภาษาอาหรับเรียกว่า Maqasid al-Shari’ah หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Higher Purposes of Islamic law   นำมาใช้ประโยชน์ในการร่วมสร้างสรรค์สังคมศตวรรษนี้ผ่านมุมมองนักคิดและนักกิจกรรมมุสลิมในกลุ่มประเทศอาเซี่ยน 

สำหรับนักวิชาการระดับอาเซี่ยนที่ร่วมสัมมนาและนำเสนอผลงาน เช่นจากมาเลเซีย  Dr. Muhammad  Nur Manuty ,  Assoc Prof Dr Baharuddin Ahmad, ISTAC-IIUM Mohammad Alinor bin Abdul Kadir Felo Tamu, ATMA, UKM,  Mohammad Alinor bin Abdul Kadir Felo Tamu, ATMA, UKM, Assoc Prof Dr Nurdeng Deuraseh Department of Government and Civilisation Studies Faculty of Ecology UPM  จากอินโดนีเซีย Dr. Ahmad Suryadi Nomi,   ฟิลิปินส์ Hamid Aminoddin D. Barra Chairman National Ulama Conference of the Philippines และประเทศไทย  Dr. Shukri Lang Puteh, Yala University , Dr. Suchart Setmalini Payap University เป็นต้น

ที่ประชุมมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า กฎหมายอิสลามซึ่งมีคัมภีร์อัลกุรอานและวัจนศาสดาเป็นธรรมนูญในการดำเนินชีวิตของมุสลิม โดยประมวลกฎหมายอิสลามได้กำหนดภารกิจของมนุษย์ที่มีต่อพระเจ้าหรืออัลลอฮฺ หน้าที่ต่อตัวเองและหน้าที่ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และมีเป้าหมายในการพิทักษ์คุ้มครองสิ่งสำคัญต่างๆในการดำเนินชีวิตหรือเรียกว่าเป้าหมายสูงสุดของกฏหมายอิสลาม นักปราชญ์อิสลามในอดีตได้จำแนกเป้าหมายสูงสุดของกฎหมายอิสลาม คือการรักษาและดำรงไว้ 5 ประการหลักคือ   การรักษาและดำรงไว้ซึ่ง ศาสนา (Din) ชีวิต (Life)  เชื้อสาย (Lineage) สติปัญญา (Intellect) และ ทรัพย์สมบัติ (Wealth) น ในขณะที่นักปราชญ์ยุคร่วมสมัยเช่น อิบนูอาชูร เพิ่มเป้าหมายของกฎหมายอิสลามออกเป็น การเป็นอยู่ที่ดี (well-being of human) และการพัฒนาด้านมนุษย์ (Human Development) เป็นความเข้าใจจากมุมมองที่ว่า หากการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้นไม่ได้สะท้อนไปถึงการตระหนักถึงพระเจ้าและ ความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์แล้ว ไม่ว่ากฏหรือวิธีการจะเป็นอย่างไร จะต้องกลับไปไตร่ตรองถึงมันไม่ว่านักปราชญ์ในยุคที่แล้วจะกล่าวไว้ว่า อย่างไร ก็จะต้องทำความเข้าใจถึงหลักปรัชญาแก่นแท้ในกฏต่างๆ ที่ถูกประทานลงมา

อันเนื่องมาจากอิสลามคือแนวทางการดำเนินชีวิต และแต่ละยุคแต่ละสมัยมีเหตุการณ์มากมายที่แตกต่างกัน หรือสังคมมุสลิมมีทั้งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ บางชุมชนเป็นชนกลุ่มน้อย ดังนั้นการปฏิรูปในการนำหลักเหตุและผลเข้ามาทำความเข้าใจถึงเป้าหมายต่างๆ ในการใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักวิชาการในการวินิจฉัยถึงเป้าหมายที่แท้จริงได้นอกจากอัลกุรอ่านและแบบฉบับของท่านศาสดาที่ได้กำหนดกรอบไว้แล้ว

การปฏิรูปแนวคิดนี้สังคมมุสลิมอาเซี่ยนควรถอดบทเรียนการใช้กฎหมายอิสลามที่เหมาะสมหรือนำไปใช้ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม  การศึกษาและการดำเนินวิถีชีวิตของมุสลิมในอดีตเพื่อปรับปรนให้สามารถเผชิญกับกระแสยุคโลกาภิวัฒน์และความหลากหลายทางวัฒนธรรมหรือแม้กระทั่งอารยธรรมโลกที่แปรเปลี่ยนจากเดิมอย่างรวดเร็วแต่นักวิชาการมุสลิมเองก็ต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่ออารยธรรมความยิ่งใหญ่ในอดีตโดยเฉพาะวิชาการด้านศาสนาผ่านวรรณกรรมในอดีตอันทรงคุณค่าด้วยเช่นกันมิฉะนั้นอาจจะทำให้นักวิชาการรุ่นใหม่สนใจแต่ เป้าประสงค์ของกฎหมายอิสลามโดยละเลยรากฐานของกฎหมาย และวิธีการ ซึ่งเรียกว่า เป้าประสงค์ดี แต่วิธีการชั่วซึ่งค้านกับหลักการอิสลาม ที่ยอมรับเฉพาะ หลักการ วิธีการและเป้าประสงค์ที่ดีเท่านั้น

ในขณะเดียวกันศาสตร์ในแต่ละสาขาวิชาต้องสามารถตอบสนองกับแนวคิดเป้าหมายสูงสุดของกฎหมายอิสลาม (Maqasid al-shari’ah : Higher Purposes of Islamic law) ซึ่งเป็นภาระของนักวิชาการมุสลิมอาเซี่ยนที่จะต้องช่วยกันรังสรรค์ต่อไป

สำหรับนักวิชาการจากประเทศไทย นำโดย ดร. ชัยรัตน์ศิริพันธนะ จากมหาวลัยลักษณ์ และคณะ ได้เสนอ การจัดทำวารสารอิเล็คโทรนิคทางวิชาการชื่อ AMRON  สามภาษา คืออังกฤษ อาหรับและมลายู  ให้เพื่อนนักวิชาการมุสลิมจากประเทศอาเซี่ยนร่วมเขียน ผลงาน ทางวิชาการทุกสาขาวิชาที่ผ่านการวิจัยใน

ภาษาที่ตัวเองถนัด และสามารถ อัปเดท ข้อมูลด้วยตนเอง หลังจากผ่านการพิจารณา ผลงานทางวิชาการซึ่ง เป็นการปฏิรูการเรียนรู้แก่นักวิชาการมุสลิมอาเซี่ยนได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญสามารถสนองเป้าหมายของกฎหมายอิสลาม   ( Maqasid al-Shari’ah หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Higher Purposes of Islamic law ) ซึ่งตรงกับหัวข้อการสัมมนาในครั้งนี้ที่สุด

ช่วงท้ายผู้เขียนได้มีโอกาส สัมภาษณ์พิเศษ Dato Seri Anwar Ibrahim  ต่อเรื่องการพัฒนชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งท่านให้ทัศนะว่า  “ ท่านสนับสนุนกระบวนการเคลื่อนไหวด้วยสันติวิธีทางด้านการเมืองโดยเฉพาะคนในพื้นที่ ให้มีโอกาสได้กำหนดการพัฒนาชุมชนของตนเอง ตามวิถีวัฒนธรรม  ซึ่งรัฐไทยควรสนับสนุนหรือหาวิธีทางในการสนับสนุนให้คนในพื้นที่ได้มีโอกาสให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เป็นการลดและขจัดเงื้อนไขความรุนแรงในที่สุด   ในขณะเดียวกันมุสลิมในพื้นที่จะต้องไม่ลืมการพัฒนาตนเองผ่านการศึกษาที่เท่าทันแต่อยู่ภายใต้หลักการของอิสลาม  ”