ห้องเรียนเพศวิถี “สอน” อะไร

บทความนี้ สืบเนื่องจากการถกเถียงกรณีห้องเรียนเพศวิถี ร้านหนังสือบูคู และทีมฟุตบอล Buku FC[1] ซึ่งจุดประเด็นเกี่ยวกับ LGBTI[2] ความเท่าเทียมทางเพศ มุสลิม และศาสนาอิสลามในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ภายหลังจากการออกอากาศรายการสารคดีก(ล)างเมือง ตอน ห้องเรียนเพศวิถี ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 โดยมีนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งในและนอกสามจังหวัดชายแดนใต้หลายท่านได้ร่วมถกเถียงกันทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างเผ็ดร้อน ทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่าง[3] ข้อกล่าวหาสำคัญที่มีต่อห้องเรียนเพศวิถีและกิจกรรมฟุตบอล Buku FC คือห้องเรียนเพศวิถี “สอนให้รักร่วมเพศที่ปาตานี” และ “ฟุตบอลหญิงจะสร้างสันติภาพหรือความขัดแย้งกันแน่” นำไปสู่ความเข้าใจผิดและการโจมตีแบบไร้ข้อมูล มีการใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง (hate speech) การข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงหรือมาตรการทางสังคมเพื่อยุติการทำกิจกรรมดังกล่าวในสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการเริ่มต้นส่งต่อภาพและข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางไลน์ อันเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงและอาจนำไปสู่ความรุนแรงในมิติต่างๆกับบุคคลเหล่านั้น จนหลายฝ่ายต้องออกมาส่งเสียงห้ามปรามและเสนอให้หาทางพูดคุยกันอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์[4] โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อกังวลของคุณอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นมุสลิมะห์[5] และปฏิกิริยาสาธารณะที่มีต่อเหตุการณ์นี้[6]

 

บทความนี้ต้องการอธิบายต่อข้อกล่าวหาข้อแรก ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถี ผู้เขียนอยากเล่าให้ฟังว่าห้องเรียนเพศวิถีคือกิจกรรมหนึ่งของร้านหนังสือบูคู เริ่มต้นครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2556 ก่อนที่จะเติบโตเป็นองค์กรเล็กๆที่ไม่แสวงหาผลกำไรในชื่อ “ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู” (Buku’s Gender, Sexuality and Human Rights Classroom) หรือ Buku Classroom ในเวลาต่อมา กิจกรรมนี้ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2560) และได้พัฒนาต่อยอดไปในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ กิจกรรมฟุตบอล (Buku FC) ศิลปะบำบัด และห้องเรียนภาษาอังกฤษสำหรับนักกิจกรรมรุ่นใหม่

 

วัตถุประสงค์ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของห้องเรียนเพศวิถี คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเพศสภาวะ (gender) และเพศวิถี (sexuality) สำหรับผู้สนใจทั่วไปที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรงซึ่งปัญหาเกี่ยวกับสุขภาวะและความรุนแรงทางเพศถูกละเลยและกลายเป็นสิ่งที่ถูกซุกซ่อนไว้ใต้พรมมายาวนาน เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องนี้พร้อมกับสนับสนุนการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนที่มีเพศวิถีที่แตกต่างหลากหลาย

 

รูปแบบการจัดการเรียนรู้ของห้องเรียนเพศวิถี เป็นไปในลักษณะของการจัดกลุ่มพูดคุย (focus group) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดความเชื่อ โดยไม่ตัดสินถูกผิดแต่เน้นการเปิดกว้าง รับฟัง ตั้งคำถามและหาคำตอบของตัวเอง ผู้ผ่านการเรียนรู้ในกิจกรรมนี้อาจจะไม่ได้ข้อสรุปอันเดียวกันในเรื่องเดียวกัน ขึ้นอยู่กับความสนใจและการใคร่ครวญของแต่ละคน ในแต่ละครั้งจะกำหนดให้มีผู้เข้าร่วมระหว่าง 5-12 คน จากการเปิดรับสมัครทางออนไลน์ รวมถึงการสมัครร่วมกิจกรรมในรูปแบบกลุ่มที่ผู้เข้าร่วมสามารถจับกลุ่มกันเองระหว่างเพื่อนหรือคนรู้จักที่สนิทสนม สำหรับผู้ที่สมัครทางออนไลน์นั้น ผู้จัดจะมีการติดต่อกลับเพื่อสอบถามข้อมูล และพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรม ข้อมูลส่วนตัวเช่น อายุ และเพศสภาวะของแต่ละท่านว่าเหมาะสมที่จะเรียนรู้ร่วมกันหรือไม่ ในกลุ่มใด แล้วจึงแจ้งตอบรับ กิจกรรมนี้เปิดกว้างและต้อนรับผู้เข้าร่วมทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ สำเนียงภาษา ภูมิหลัง ระดับการศึกษา ศาสนาหรืออัตลักษณ์ ที่มีจุดร่วมคือสนใจและต้องการพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ปลอดภัยในประเด็นเพศสถาวะและเพศวิถี กิจกรรมส่วนใหญ่จัดขึ้นในห้องประชุมเล็ก ๆ ในร้านหนังสือบูคู ที่มีลักษณะเป็นส่วนตัวแต่ไม่ “ปิดลับ”

 

การจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ ความรับผิดชอบสูงสุดของผู้จัดอยู่ที่การสร้างความรู้สึกที่ปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจให้แก่ผู้เข้าร่วม การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะต้องระมัดระวังการโจมตีกันทางความคิด การตัดสินตีตรา การตั้งตนเป็นผู้รู้หรือการสั่งสอนของผู้เข้าร่วมที่มีอาวุโสหรือมีแหล่งอำนาจมากกว่า และแหล่งอำนาจที่ไม่เท่ากันของผู้เข้าร่วม โดยให้ความสำคัญต่อการเคารพในประสบการณ์ ภูมิหลัง ความคิดความเชื่อ และสิทธิความเป็นส่วนตัวของกันและกัน รวมถึงระมัดระวังในประเด็นที่อ่อนไหว การเปิดบาดแผลทางใจ (trauma) และอาการเกลียดกลัวในรูปแบบต่างๆ[7] รูปแบบการจัดการเรียนรู้ในลักษณะนี้จึงต้องเริ่มต้นอย่างใส่ใจตั้งแต่การออกแบบกระบวนการและกิจกรรมที่จะใช้ ให้เหมาะสมต่อกลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้ กำหนดการ บรรยากาศของสถานที่ แสง อุณหภูมิ อุปกรณ์ที่เรียบง่ายและเหมาะสม การสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้เข้าร่วม และความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจของกระบวนกร (facilitator) ซึ่งแนวการจัดการเรียนรู้ลักษณะนี้ อิงอยู่บนฐานคิดของหลักสิทธิมนุษยชนสากลและเป็นแนวทางแบบสตรีนิยม

 

องค์ความรู้ของห้องเรียนเพศวิถีอิงกับการอธิบายสังคมวัฒนธรรมแบบมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ที่มิได้มองว่าวัฒนธรรมหรือจารีตทางเพศเป็นสิ่งที่แข็งทื่อตายตัว หากเต็มไปด้วยการต่อรอง มีความตึงแย้งในรายละเอียด มีการผสมผสาน เปลี่ยนผ่าน และหยิบยืม มันจึงเป็นการประกอบสร้างทางสังคม (social construction) ที่แท้จริงแล้วสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทว่าถูกฝังรากลึก (internalize) ในความคิดความเชื่อของผู้คนจนกลายเป็นชุดความจริงชุดหนึ่ง และที่สำคัญคือความตระหนักว่าวัฒนธรรมและจารีตเรื่องเพศอิงกับแนวคิดอำนาจ เช่น แนวคิดชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ชาตินิยม จารีตนิยม หรือ dogmatism ที่คับแคบและเลือกปฏิบัติ ส่งผลให้ผู้คนในสังคมมองเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนแต่ละเพศไม่เท่าเทียมกัน มีการกีดกันให้คนบางกลุ่มกลายเป็นชายขอบ มีการกดขี่ การควบคุมจัดการเนื้อตัวร่างกาย หรือแม้กระทั่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงระหว่างกันทั้งทางตรงทางอ้อม ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาในรูปของความรุนแรงทางตรง หรือแนบเนียนซ่อนเร้นในนามของความรักความปรารถนาดี หรือในนามของการสงวนรักษาคุณค่าบางอย่างที่ถูกผูกขาดคำอธิบายไว้โดยบางกลุ่มคนในสังคมเท่านั้น ในท้ายที่สุดแล้ววัฒนธรรมและจารีตทางเพศในลักษณะนี้ส่งผลกระทบต่อคนทุกเพศทุกวัยในสังคม

 

นอกจากนี้ เพศ ยังเป็นเพียงอัตลักษณ์หนึ่งของมนุษย์ ความรับรู้ที่มีต่อตัวเองและผู้อื่นยังผูกพันอยู่กับความเข้าใจอัตลักษณ์ที่ซับซ้อนและซ้อนทับกัน (intersectionality) เช่น สีผิว ฐานะ การศึกษา รูปร่างหน้าตา วัย สภาพร่างกาย สำเนียงภาษา ศาสนา และชาติพันธุ์ฯลฯ อีกด้วย และอัตลักษณ์ทั้งหมดนี้ส่งผลให้รูปแบบของการกดขี่หรือความรุนแรงเชิงอัตลักษณ์มีความซับซ้อน กล่าวคือ คนหนึ่งคนอาจจะเป็นผู้ถูกกดขี่และเป็นผู้กดขี่ผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกัน

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ข้อกล่าวหาที่ว่าห้องเรียนเพศวิถีสอนให้ผู้เข้าร่วม “กลายเป็น” คนรักเพศเดียวกัน จึงเป็นข้อกล่าวหาที่เป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง และสะท้อนว่าคำถามนี้เกิดจากการมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความเป็นเพศและเพศวิถี อย่างไรก็ตามมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการตั้งชื่อกิจกรรมว่า “ห้องเรียน” นั้น จะปฏิเสธอย่างไรว่าไม่ได้ “สอน” ผู้เขียนเห็นว่าหากตีความตามความหมายที่คับแคบของห้องเรียนในแบบที่คนทั่วไปเข้าใจ อันเกิดจากระบบคิดที่ถูกปลูกฝังไว้แน่นหนาในการศึกษาแบบ “ไทย ๆ” การสอนดูจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยตั้งอยู่บนฐานคิดว่าผู้เรียนนั้นว่างเปล่า ขาดเจตจำนงของตัวเอง ไม่มีความสามารถในการคิดหรือพิจารณาด้วยตัวเอง ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนวคิดพื้นฐานของห้องเรียนเพศวิถีที่เชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ประสบการณ์ของมนุษย์นั้นแตกต่างกัน และทุกประสบการณ์คือความรู้ที่มีคุณค่า ผู้เรียนและผู้สอนมี “อำนาจ” เท่าเทียมกัน โดยไม่อาจแยกขาดอย่างเด็ดขาดได้ว่าใครเป็นผู้เรียนรู้จากใครเพียงอย่างเดียว

 

สิ่งที่ห้องเรียนเพศวิถีและ Buku FC “สอน” จึงไม่ใช่การการสอนให้ใครเป็น “อะไร” เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิและมีเจตจำนงที่จะเลือกไม่เป็นหรือเป็นในสิ่งที่เขาต้องการได้ โดยที่สิทธิข้อนี้ไม่มีมนุษย์คนไหนสามารถพรากเอาไปจากเขาได้ สิ่งที่ห้องเรียนเพศวิถีสอน คือ การบอกให้คุณรู้ว่าการแสวงหาความรู้ไม่ใช่เรื่องผิด คุณสามารถเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้โลกกว้าง ชุดความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นสากล และรู้จักทบทวนตั้งคำถามกับความเชื่อแบบฝังหัวที่ถูกปลูกฝังผ่านโครงสร้างต่าง ๆ ทางสังคม เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนและใคร่ครวญถึงคุณค่าที่สำคัญในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เราถูกบอกถูกสอนมาเกี่ยวกับเพศ เพศสภาวะ และเพศวิถี สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดและยากที่สุดที่จะสอนกันได้ แต่เราพยายามอย่างมาก คือการสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้รู้จักเคารพในความแตกต่างหลากหลาย การมองเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของมนุษย์คนอื่น รวมทั้งคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเอง การไม่ตัดสินตีตราหรือเบียดขับคนอื่นที่แตกต่างจากเรา เช่นเดียวกับที่ไม่ทำเช่นนั้นกับตัวเอง

 

แน่นอนว่ามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมห้องเรียนเพศวิถีบางส่วน เป็น LGBTI หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง LGBTI มุสลิม จึงมีผู้โจมตีว่านี่เป็นการ “สนับสนุน” ให้คนเหล่านี้ “เป็น” LGBTI ผู้เขียนต้องการตั้งคำถามกลับไปว่าการสนับสนุนในที่นี้หมายถึงอะไร? การทำงานของห้องเรียนเพศวิถีเป็นเพราะเราเล็งเห็นว่าสิ่งที่ยังขาดไปในความตระหนักรับรู้ของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนใต้คือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับ LGBTI โดยเฉพาะอย่างยิ่ง LGBTI มุสลิม เช่น การใช้ความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบ การบังคับแต่งงาน การเลือกปฏิบัติ การรังแก การล่วงละเมิด การคุกคามทางเพศ การใช้มาตรการทางสังคมหรือความรุนแรงในการ “รักษา” ให้มีวิถีทางเพศตามแบบที่สังคมต้องการ การลิดรอนสิทธิในด้านต่าง ๆ การถูกเหยียด ปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งสุขภาพใจและกาย การออกจากระบบการศึกษา การละทิ้งศาสนา การละทิ้งถิ่นฐาน และการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ เนื่องจากคนเหล่านี้ถูกเบียดขับให้เป็นชายขอบจากโครงสร้างทางสังคม การทำงานของห้องเรียนเพศวิถีจึงเป็นไปเพื่อ “สนับสนุน” คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลเหล่านี้ โดยสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ด้านเพศสภาวะ เพศวิถี สร้างกลุ่มสนับสนุน ที่มีความเมตตาเห็นอกเห็นใจกัน เข้าใจถึงสภาพปัญหา ไม่ตัดสินตีตรา เสริมสร้างความเข้มแข็งทางร่างกายและจิตใจ และลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้คนเหล่านี้ “มีที่ยืน” ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และห้องเรียนเพศวิถีเปิดกว้างเสมอสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้

 

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนจะตั้งข้อสังเกตถึงอาจารย์โชคชัย วงค์ตานี นักวิชาการด้านสันติศึกษาซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งในวงวิชาการอิสลามและสันติศึกษา ที่ได้โพสข้อความในเฟสบุ๊กส่วนตัว แบบตั้งค่าเปิดสาธารณะไว้ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ว่า “เตะบอลในที่ลับตาไม่มีใครว่า แต่มาสอนให้รักร่วมเพศที่ปาตานี โปรดหยุดเถอะ” ข้อความนี้ถูกส่งต่อไปในสื่อสังคมออนไลน์ 75 ครั้ง และได้กลายเป็นพื้นที่ในการถกเถียงอย่างดุเดือดจนหมิ่นเหม่จะสร้างความขัดแย้งในวงกว้างระหว่างมุสลิมหรือผู้ที่สนับสนุนข้อความดังกล่าว กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายคนเป็น LGBTI ที่รู้สึกรุนแรงต่อถ้อยคำนี้ ในการแสดงความคิดเห็นใต้โพสและจากการส่งต่อ ผู้เขียนพบว่ามีหลายครั้งทีปรากฏข้อความในลักษณะกล่าวหา การเหยียดเพศ การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เขียน คู่ชีวิตของผู้เขียน และ LGBTI โดยทั่วไป ข้อความเหล่านั้นได้แสดงความเกลียดชังและข่มขู่ เช่น การขู่จะใช้วิธีการเดียวกันกับที่จัดการกับผู้เห็นต่างในพื้นที่ หากห้องเรียนเพศวิถีไม่ยุติการจัดกิจกรรม ซึ่งบรรยากาศของความขัดแย้งนี้ได้ขยายวงขึ้นเรื่อยๆ จนสร้างความรู้สึกกังวลใจจนถึงหวาดกลัวให้แก่ผู้ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมของห้องเรียนเพศวิถี รวมถึงนักกิจกรรมและ LGBTI ในพื้นที่ และเป็นที่ห่วงใยของเพื่อนนักวิชาการและนักกิจกรรมทั้งในและนอกพื้นที่ ที่ได้ช่วยกันออกมาส่งเสียงห้ามปราม ระงับยับยั้งไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่บานปลายมากขึ้นจนทุกอย่างเริ่มคลี่คลายลง และการโพสข้อความแสดงจุดยืนไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงของอาจารย์ในวันต่อมาก็ช่วยหนุนเสริมการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นมิตรมากขึ้นต่อประเด็นนี้

 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและเพื่อนนักวิชาการด้วยกันที่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว เนื่องจากอาจารย์เคยได้สนับสนุนร้านหนังสือบูคูและนำหนังสือมาฝากขาย ผู้เขียนจะขอวิจารณ์ว่า อาจารย์ซึ่งมีบทบาทเป็นนักสันติวิธีซึ่งมีความรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ที่เห็นเภทภัยของความรุนแรงในหลากหลายระดับ และด้วยความเป็นมุสลิมที่กำลังเผชิญหน้ากับการโจมตีอิสลามและ Islamophobia อาจารย์ได้ตระหนักหรือไม่ว่าข้อความสั้น ๆ เพียงสองบรรทัดนั้น จะสร้างความเสียหายในชื่อเสียงและการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ข้อความสั้น ๆ เพียงสองบรรทัดนั้น จะถูกผลิตซ้ำและเป็นส่วนหนึ่งในการขยายความเกลียดชัง Homophobia ต่อ LGBTI ซึ่งเป็นความเกลียดชังที่ไร้เหตุผลและไร้หัวใจอย่างเลวร้ายไม่ต่างจากที่พี่น้องมุสลิมต้องเผชิญ หรือการที่ข้อความนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่จุดไฟเพิ่มอุณหภูมิของความขัดแย้งทางความคิด จนอาจจะลุกลามกลายเป็นการขัดแย้งที่รุนแรงในมิติเชิงอัตลักษณ์ระหว่างมุสลิมและ LGBTI หรือปลายทางของมันจะทำให้ตัวของผู้เขียนเองและคู่ชีวิต รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับห้องเรียนเพศวิถีต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่ออันตรายจากผู้ที่มีความคิดสุดโต่งหรือ Homophobic ผู้เขียนไม่อาจเข้าใจได้เลยว่าทั้งที่เราเป็นเพื่อนกันทั้งในโลกวิชาการและเฟสบุ๊ก เคยไปทานอาหารร่วมกัน จะทำให้อาจารย์เลือกที่จะสื่อสารเช่นนั้นโดยไม่ได้สอบถามข้อเท็จจริงมายังผู้เขียนก่อนได้อย่างไร และไม่พบความตระหนักหรือคำชี้แจงใด ๆ ในเรื่องนี้จากโพสครั้งหลังของอาจารย์

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มิใช่เกิดจากการโพสเฟสบุ๊กของอาจารย์โชคชัยเพียงเท่านั้น แต่มันสะท้อนถึงทัศนคติเชิงลบต่อ LGBTI มุสลิมที่มีมายาวนานของสังคมชายแดนใต้ การขาดความรู้ความเข้าใจ การไม่ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้ และการขาดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ในเรื่องดังกล่าว กล่าวตามความรู้สึก...สามจังหวัดชายแดนใต้ได้ละทิ้งคนเหล่านี้มาเนิ่นนาน โดยปิดตาไม่รับไม่รู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต่อคนกลุ่มนี้ อันเป็นสิ่งที่เกิดจากโครงสร้างทางสังคมของปาตานี/ชายแดนใต้นั่นเอง กล่าวให้หนักขึ้นไปอีก...จารีตหรือวัฒนธรรมอันงามของปาตานี จะงดงามอยู่ได้อย่างไรหากคนกลุ่มหนึ่งในสังคมถูกรุกไล่เบียดขับ ถูกผลักให้เผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆจากตัวโครงสร้างของจารีตนั้น และสุดท้าย สิ่งที่ห้องเรียนเพศวิถีตั้งคำถามให้ผู้เข้าร่วมได้กลับไปขบคิดอยู่เสมอคือ...เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย โดยที่เราไม่ทำลายกันและกัน สันติภาพและการกำหนดชะตากรรมตนเอง รวมถึงนิยามความหมายของปาตานีคืออะไร รวมหรือกีดกันใครออกไปบ้างหรือไม่ หรือเป็นสันติภาพเพียงผลประโยชน์ของชนชั้นนำที่ไม่ต่างอะไรกับที่ชนชั้นนำอีกฝ่ายหนึ่งต้องการ?

 

สุดท้ายนี้ ในทางตรงข้าม ผู้เขียนมีความเป็นห่วงและไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชังต่อคนมุสลิม รวมทั้งการล้อเลียนโจมตีศาสนาอิสลาม และการเหมารวมนักกิจกรรมในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก LGBTI ทั้งนี้ ไม่เป็นการดีต่อการสร้างความเข้าใจ การเรียนรู้ความคิดที่แตกต่างอย่างเป็นมิตร และทำลายโอกาสที่จะรับรู้ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน จากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่แห่งนี้ ผู้เขียนพบว่าอารมณ์ความรู้สึกของคนที่นี่ ความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์วัฒนธรรมมลายู และความศรัทธาเชื่อมั่นในศาสนา เป็นคุณค่าสำคัญที่นำพาให้ผู้คนมากมายในสามจังหวัดชายแดนใต้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก บางทีเราอาจเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ผ่านความทุกข์ยากเหล่านี้ การถูกเบียดขับกดขี่ เรียนรู้ที่จะให้พื้นที่ทางความคิดและสื่อสารโต้แย้งกันด้วยสันติค่ะ

 

[1] โปรดดูเฟสบุ๊ก BBC Thai ที่ https://www.facebook.com/BBCThai/videos/1834002456820786/?hc_ref=PAGES_TIMELINE และรายการสารคดี ก(ล)างเมือง ตอน ห้องเรียนเพศวิถี ที่ https://www.youtube.com/watch?v=8u_...

 

[2] LGBTI คือคำที่ใช้เรียกบุคคลที่มีเพศวิถีหลากหลาย จำแนกอย่างหยาบๆได้ว่า L ย่อมาจาก Lesbian (หญิงรักหญิง), G: Gay (ชายรักชาย), B: Bisexual (คนที่รักได้ทั้งสองเพศ ซึ่งมีทั้ง Bisexual man และ Bisexual women), T: Transgender (คนข้ามเพศซึ่งมีทั้งข้ามจากชายเป็นหญิง และหญิงเป็นชาย) และ Intersex ซึ่งวงวิชาการและวงการกฎหมายไทยใช้คำว่าบุคคลเพศกำกวม

 

[3] โปรดดู อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ), กรณีทีมฟุตบอลหญิงในพื้นที่ความขัดแย้ง: สร้างสันติภาพหรือเพิ่มความขัดเเย้ง ที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/10258 (8 ก.พ. 2560) เข้าถึงเมื่อ 10 ก.พ. 2560 และเฟสบุ๊ก Chokchai Wongtanee ที่ https://www.facebook.com/chokchai.wongtanee/posts/1293802430678437 (9 ก.พ. 2560) เข้าถึงเมื่อ 10 ก.พ. 2560

 

[4] โปรดดูสรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ, จดหมายจากเบอร์ลิน ที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/10265 (10 ก.พ. 2560) เข้าถึงเมื่อ 10 ก.พ. 2560, ซากีร์ พิทักษ์คุมพล http://deepsouthwatch.org/node/1027..., นวลน้อย ธรรมเสถียร http://deepsouthwatch.org/node/1027..., อสมา มังกรชัย http://deepsouthwatch.org/node/1027..., แถลงการณ์กลุ่มด้วยใจ http://deepsouthwatch.org/ms/node/1..., จดหมายเปิดผนึก

การคุกคามนักกิจกรรมเพื่อสิทธิในภาคใต้ กรณีห้องเรียนเพศวิถี http://prachatai.com/journal/2017/0...

 

[5] โปรดดูเฟสบุ๊ก Angkhana Neelapaijit ที่ https://web.facebook.com/angkhana.n...

 

[6] อาทิ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์, ภัควดี วีรภาสพงษ์, Dr. Patrick Jory, ไพศาล ศิลป์ปรีชากุล, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

[7] เช่น Homophobia, Biphobia, Transphobia, Islamophobia เป็นต้น