การปฏิรูปรัฐธรรมนูญของตุรกี: ทุกเรื่องที่ต้องรู้
ผู้สนับสนุนกล่าวว่า การปฏิรูปรัฐธรรมนูญจะนำตุรกีไปสู่ความมีเสถียรภาพ แต่ผู้วิจารณ์เชื่อว่า มันจะนำไปสู่การปกครองโดยคนคนเดียว
Binali Yildirim, นายกรัฐมนตรีตุรกีลงคะแนนเสียงกับสมาชิกรัฐสภา ในระหว่างการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญ [Umit Bektas/Reuters]
เดือนธันวาคมที่ผ่านมา พรรคยุติธรรมและการพัฒนาซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของตุรกีได้เปิดเผยร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองประเทศถึงระดับฐานราก
ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ฉบับนี้ ถูกเรียกอีกชื่อว่า ประธานาธิบดีแบบตุรกี (Turkish-style presidency) กำลังพยายามแทนที่ระบอบรัฐสภาเดิมด้วยระบอบประธานาธิบดีที่จะปูทางให้ประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdogan ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมาเป็นเวลา 13 ปีแล้ว ตั้งแต่เริ่มเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และในปี ค.ศ. 2014 เป็นต้นมาในตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อที่เขาจะได้ถืออำนาจบริหารสูงสุดเพียงผู้เดียวในประเทศ
มีอะไรบ้างในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขที่ถูกเสนอ |
สำนักนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะถูกยกเลิก ประธานาธิบดีจะกลายเป็นผู้นำอำนาจฝ่ายบริหารและสามารถออกพระราชกำหนดได้ ประธานาธิบดียังคงมีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองได้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาจะจัดขึ้นพร้อม ๆ กัน ทุก 5 ปี รัฐสภาจะไม่มีสิทธิในการตั้งกระทู้ถาม ประธานาธิบดีจะต้องรับผิดในทางอาญา ประธานาธิบดีจะมีอำนาจเหนือผู้พิพากษาและอัยการสูงสุด |
รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขซึ่งกำลังอภิปรายกันอยู่ในรัฐสภาขณะนี้ จะสร้างตำแหน่งรองประธานาธิบดี และยกเลิกสำนักนายกรัฐมนตรี
ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขนี้ผ่านการยอมรับโดยรัฐสภาและประชามติ ตุรกีจะไม่มีคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการที่ขึ้นตรงต่อรัฐสภาอีกต่อไป ประธานาธิบดีจะมีอำนาจตรงในการแต่งตั้งและปลดรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง
ประธานาธิบดีจะมาจากการเลือกตั้งและมีวาระ 5 ปี และยังสามารถดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองได้ต่อไป
การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาจะจัดขึ้นทุก ๆ 5 ปี (เปลี่ยนจากเดิมทุก 4 ปี) และจัดในวันเดียวกันกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี
รัฐบาลตุรกีอ้างว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะทำให้ตุรกีมีผู้นำที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดรูปแบบรัฐบาลผสมที่อ่อนแอดังที่เกิดขึ้นในอดีตได้อีก
“ต่อไปเราจะมีแต่ผู้นำที่เข้มแข็ง” นายกรัฐมนตรี Binali Yildirim กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
“รัฐสภา ... จะเข้มแข็งขึ้น ในขณะที่ตำแหน่งประธานาธิบดี ผู้กุมอำนาจฝ่ายบริหาร จะถูกปรับโครงสร้างใหม่เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างอำนาจฝ่ายอื่น ๆ ที่เหลือ” แต่ผู้วิจารณ์กล่าวว่า แท้จริงแล้ว การปรับแก้ไขดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อบั่นทอนอำนาจของรัฐสภาให้อ่อนแอลง และระบอบการเมืองที่ไร้ซึ่งการตรวจสอบถ่วงดุลจะเข้ามาแทนที่ และในท้ายที่สุดอาจนำพาประเทศไปสู่ระบอบที่ถูกปกครองโดยคน ๆ เดียว
ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลที่อ่อนแอลง
การมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลจะรับประกันว่า อำนาจทั้งสามฝ่าย ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จะสามารถจำกัดการใช้อำนาจของกันและกันได้ และรับรองได้ว่าจะไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจมากเกินไป
“ตามข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น การเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน และอนุญาตให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองต่อไปได้” Bertil Emrah Oder ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญจากมหาวิทยาลัยคอคแห่งอิสตันบูล กล่าวกับอัลจาซีรา
“เมื่อพิจารณาระบบพรรคการเมืองของตุรกี การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสามารถตัดสินใจได้ว่าใครจะเป็นผู้สมัครในนามพรรคของเขาในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา” เธอกล่าว “และนี่จะส่งผลให้ประธานาธิบดีเป็นผู้ควบคุมรัฐสภาและวาระของสภา นำไปสู่การทำลายระบบตรวจสอบทั้งหลายโดยสิ้นเชิง”
อีกความเห็นหนึ่งที่คล้ายกันของ Levent Korkut ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเมดิพอลแห่งอิสตันบูล กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อทำให้ระบอบที่เป็นอยู่ “อ่อนแอลง”
“แน่นอนว่า การกล่าวหาว่าข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะกำจัดระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลออกไปโดยสิ้นเชิงอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก” เขากล่าว “แต่การอ้างว่าระบบการตรวจสอบในร่างใหม่นั้นจะแข็งขันพอ ๆ กับในระบบรัฐสภาดั้งเดิม หรือระบบบริหารโดยประธานาธิบดีแบบอเมริกัน นั้นก็คงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องเช่นกัน เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขได้อนุญาตให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองได้พร้อม ๆ กัน”
“ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา เราจะเห็นว่าหัวหน้าพรรคและผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคการเมืองนั้นจะเป็นคนละคนกัน และทั้งสองยังสามารถดำเนินตามวาระที่แตกต่างกันได้” เขากล่าว “ระบบเช่นนี้ทำให้ทั้งสองตำแหน่งสามารถตรวจสอบและคัดค้านการกระทำของกันและกันได้
“ระบบใหม่ของตุรกีจะไม่เอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการดังกล่าว และในทางปฏิบัติยังส่งผลให้ประธานาธิบดีเข้าควบคุมทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติด้วย
แอร์โดกาน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของตุรกีที่มาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมาก ในปี ค.ศ.2014 [EPA]
แต่ Mehmet Ucum ที่ปรึกษาตุลาการของประธานาธิบดีแอร์โดกาน บอกกับอัลจาซีราว่า ความกังวลของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบการตรวจสอบนั้นเป็นการกล่าวหาที่ “ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักความเป็นจริงเลย”
“ในข้อเสนอของเรา ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลจะเข้มแข็งมากกว่าระบบรัฐสภาเดิมด้วยซ้ำไป” เขากล่าว
“ภายใต้ระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ถ้ารัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารมีคะแนนเสียงเป็นส่วนใหญ่ในรัฐสภา กฎหมายที่ถูกยกร่างและเสนอเพื่อพิจารณาจะสามารถผ่านมติของรัฐสภาได้อย่างง่ายดาย ไร้ซึ่งการคัดค้านใด ๆ ... การแยกส่วนและคานอำนาจระหว่างอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติจะชัดเจนขึ้นในระบบใหม่ที่เราเสนอ”
ภายใต้ระบบใหม่ Ucum รับรู้ดีว่า ถ้าพรรคการเมืองของประธานาธิบดีถือที่นั่งส่วนใหญ่ในรัฐสภา (ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงเนื่องจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาจะจัดขึ้นในวันเดียวกัน) อำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติจะเข้าใกล้และทับซ้อนกันมากขึ้น
แต่เขายังกล่าวอีกว่า หากสถานการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นผลสะท้อนจาก “ความต้องการของประชาชน” “สถานการณ์เช่นนี้เอื้อให้อำนาจทางการเมืองถูกใช้ในทางที่ผิดได้หรือไม่? แน่นอนอยู่แล้ว แต่ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ๆ เราก็แก้ปัญหาได้โดยการคืนอำนาจให้ประชาชนและจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะความพยายามใด ๆ ที่จะสถาปนาอำนาจควบคุมสถาบันทางการเมืองให้อยู่เหนือเจตจำนงค์ของประชาชนเป็นการขัดขวางประชาธิปไตย”
ผู้เชี่ยวชาญยังชี้ประเด็นที่ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่เสนอมานั้นจะลบล้างสิทธิของรัฐสภาในการตั้งกระทู้ถามและสิทธิในการใช้อำนาจการตรวจสอบอื่น ๆ ต่อฝ่ายบริหารด้วย
การตั้งกระทู้ถาม เป็นสิทธิอย่างเป็นทางการของรัฐสภาที่จะยื่นข้อคำถามต่อรัฐบาล ให้รัฐบาลอธิบายเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินการใด ๆ ของตน และอนุญาตให้รัฐสภาสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับกิจการของรัฐบาลได้ ในระบบรัฐสภา กระบวนการนี้อาจจะนำไปสู่การลงมติไม่ไว้วางใจ หรือการเปลี่ยนรัฐบาลได้
นักการเมืองจากพรรครัฐบาล-พรรคยุติธรรมและการพัฒนา และพรรคฝ่ายค้านหลัก-พรรคประชาชนริพับบลิกัน ต่อสู้กันพัลวันในระหว่างการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญ [Reuters]
“เมื่อสิทธิในการตั้งกระทู้ถามถูกยกเลิกตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐสภากำลังถูกขัดขวางไม่ให้ทำหน้าที่เพื่อพัฒนาการดำเนินการของประธานาธิบดี” Korkut ผู้ก่อตั้งสมาคมเพื่อการพัฒนาทางสังคม บอกกับอัลจาซีรา
อีกด้านหนึ่ง Ucum กล่าวว่า สิทธิในการตั้งกระทู้ถามนั้นไม่จำเป็นและไม่เหมาะที่จะอยู่ในระบบซึ่งอำนาจบริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
“ในระบบที่เราเสนอ ประธานาธิบดีซึ่งมีอำนาจฝ่ายบริหารจะได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง” เขากล่าว “ดังนั้น เราจะยอมรับให้รัฐสภามาตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับการดำเนินงานและการตัดสินใจของคนที่ได้รับอำนาจมาจากประชาชนโดยตรงไม่ได้”
“นอกจากนี้ ในร่างใหม่ประธานาธิบดีจะมีความรับผิดในทางอาญา และรัฐสภามีสิทธิในการริเริ่มการไต่สวนฟ้องร้องเกี่ยวกับประธานาธิบดีและตัวแทนของเขาได้หากจำเป็น” เขากล่าวเสริม
ภายใต้ร่างฉบับใหม่นี้ กระบวนการไต่สวนและกล่าวหาประธานาธิบดีจะเริ่มด้วยการลงลายมือชื่อของสมาชิกสภาอย่างน้อย 301 คนจากทั้งหมด 600 ที่นั่งในรัฐสภา หลังจากนี้ รัฐสภาจะสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน โดยการเห็นชอบของสมาชิกสภาไม่น้อยกว่า 360 เสียง ผ่านการลงคะแนนลับ
หากคณะกรรมการไต่สวนตัดสินใจส่งฟ้องกรณีประธานาธิบดีไปยังศาลฎีกา ประธานาธิบดีจะถูกพิจารณาคดีในศาลก็ต่อเมื่อมีการเห็นชอบของสมาชิกสภาไม่น้อยกว่า 400 เสียง ผ่านการลงคะแนนลับ
“ระบบนี้ทำให้การฟ้องร้องและปลดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ” Korkut กล่าว “หากจะทำให้กลไกดังกล่าวเป็นไปได้ รัฐสภาต้องมีเสียงสนับสนุนการฟ้องร้องประธานาธิบดีและรัฐมนตรีอยู่ไม่น้อยกว่าสองในสามของทั้งหมด แต่นั่นคงเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาและเสียงสนับสนุนของประธานาธิบดีมาจากพรรคการเมืองเดียวกัน”
ฝ่ายบริหารควบคุมฝ่ายตุลาการ
Oder คณบดีแห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอค ชี้ให้เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบในทางเสียหายต่อความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการในตุรกี
“ร่างรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจกับประธานาธิบดีอยู่เหนือสภาผู้พิพากษาและอัยการสูงสุด” เธอกล่าว “สภานี้รับผิดชอบต่อความเป็นอิสระในการใช้อำนาจตุลาการ ... และในระบบที่ประธานาธิบดีมีอิทธิพลในการแต่งตั้งสมาชิกของสภาผู้พิพากษาและอัยการสูงสุด อีกทั้งรัฐสภาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เราจะคาดหวังให้สภาดังกล่าวมีสมดุลระหว่างการเมืองและความยุติธรรมตามอุดมคติได้อย่างไร
แต่ Ucum ที่ปรึกษาตุลาการคนสำคัญของประธานาธิบดีแอร์โดกาน บอกกับอัลจาซีราว่า เขามั่นใจมากว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะทำให้ระบบตุลาการของตุรกี “เป็นอิสระโดยสมบูรณ์”
“ข้อเสนอของเราทำให้ฝ่ายตุลาการมีอำนาจมากขึ้น” เขากล่าว “พวกเราเป็นผู้เสนอให้เพิ่มเติมมาตราเกี่ยวกับความเป็นกลางของตุลาการเข้าไปในรัฐธรรมนูญด้วย”
“ภายใต้ข้อเสนอของเรา ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นผู้เลือกและแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้พิพากษาและอัยการสูงสุด ไม่ใช่ข้าราชการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอีกต่อไป”
Ucum กล่าวว่า นอกจากเขาจะสนับสนุนแนวคิดการแบ่งแยกอำนาจแล้ว เขายังเชื่อว่า อำนาจฝ่ายต่าง ๆ ของรัฐบาลควรจะขึ้นตรงต่อเจตจำนงค์ของประชาชน
“นี่เป็นสาเหตุที่เราเชื่อว่า สมาชิกตุลาการควรได้รับการแต่งตั้งจากผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง” เขากล่าว “ถ้าสมาชิกตุลาการได้รับการแต่งตั้งโดยทหาร เราก็คงจะต้องอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร และหากสมาชิกตุลาการได้รับการแต่งตั้งโดยข้าราชการ เราก็จะตกอยู่ภายใต้ระบบคณาธิปไตยราชการ
ขั้นต่อไป: ประชามติ
รัฐสภาตุรกีเริ่มกระบวนการออกเสียงเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
ที่ผ่านมา ร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคชาตินิยม (MHP) พรรคฝ่ายค้านที่เล็กที่สุดในรัฐสภา แต่กลับไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านขนาดใหญ่อย่างพรรคประชาชนริพับบลิกัน (CHP) หรือ พรรคประชาชนประชาธิปไตย (HDP)
ร่างดังกล่าวต้องการเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 330 เสียงเพื่อจะเข้าสู่กระบวนการประชามติ ทั้งนี้ พรรคยุติธรรมและการพัฒนา (AKP) และ พรรคชาตินิยม (MHP) มีเสียงเพียงพอที่จะผ่านร่างดังกล่าวโดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากพรรคอื่น ๆ ในรัฐสภา
เมื่อร่างดังกล่าวได้รับการอนุมติจากรัฐสภาแล้ว ประชาชนจะได้เข้าร่วมในการลงคะแนนประชามติ ในช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน “การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองทั่วไปกับรัฐให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น” Ucum กล่าว
“การแก้ไขครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการปฏิรูปอันยาวนาน หลังจากผ่านร่างนี้แล้ว เราจะผลักดันให้กฎหมายเกี่ยวกับการแก้ไขระบบการเมืองและกฎหมายทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องต่อไป จะมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ฝ่ายบริหาร แต่ฝ่ายอื่นของรัฐบาลก็จะมีความเข้มแข็งภายในมากขึ้นด้วยเช่นกัน
แปล กองบรรณาธิการปาตานีฟอรั่ม
ต้นฉบับภาษาอังกฤษ http://www.aljazeera.com/indepth/features/2017/01/turkey-constitutional-reform-170114085009105.html