บันทึกการเดินทางแกะรอยความหมายของ พื้นที่ปลอดภัยในปาตานี

ย้อนกลับไปราวครึ่งปีก่อน ผมได้ตั๋วเดินทางมาใบนึงที่เรียกว่า “โครงการวิจัย” มันเป็นตั๋วเดินทางที่มีจุดหมายเพื่อแกะรอยความหมายอันแตกกระจายของคำว่า “พื้นที่ปลอดภัย” ในปาตานี  ด้วยจุดเริ่มต้นของการตระหนักถึงว่า ประเด็นนี้เป็นเป้าหมาย (?) ที่เกือบทุกคนต้องการเดินทางไปดื่มด่ำบรรยากาศ แต่กระนั้น ความหมายของ “พื้นที่ปลอดภัย” ในท่าทีของหลายคนนั้นกลับเห็นทางไปกันคนละทิศ 

การเดินทางของผมมิได้หมายมุ่งรวบรวม แล้วสังเคราะห์ลดทอนให้ทุกคนเห็นพื้นที่ปลอดภัยแบบเดียวและเกาะเกี่ยวยึดรั้งกันไว้เป็นก้อนเพื่อเดินไปในทิศเดียวกัน อันคงให้ภาพเหมือนผู้โดยสารรถไฟในอินเดียอย่างน่าพิลึก หากแต่ผมออกเดินทางเพื่อคลี่และสะท้อนความแตกกระจายเหล่านั้นให้ชัดเจนถึงความต่าง และเหตุผลที่มาของความต่าง ซึ่งเมื่อการเดินทางของผมสิ้นสุดลง ผมพบว่านอกจากเฉดความหมายของพื้นที่ปลอดภัยมีอยู่อย่างหลากหลายแล้ว ประเด็นสะท้อนลึกอีกเรื่องจากหลายฝ่ายคือ “ความกังวล” และ “ไม่พอใจ” ที่ในเมื่อ “พื้นที่ปลอดภัย” เป็นของควรค่าต่อทุกๆ ชีวิต แต่การขับเคลื่อนเรื่องอันเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นความตาย กลับเป็นไปด้วยกระบวนการเร่งรีบ รวบรัด ปิดลับเฉพาะคนไม่กี่กลุ่ม 

บันทึกเล่มนี้จึงถูกเขียนขึ้นในรูปแบบพ็อกเกตบุ๊ครายงานผลวิจัย ที่สะท้อน 2 อย่าง คือ ความหมายอันหลากหลายและความกังวลของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับปลายทางประเด็นนี้ ในเบื้องแรกผมพบว่า ความหมายของพื้นที่ปลอดภัยในสายตาของผู้คนเหล่านั้นแตกต่างกันในอย่างน้อย 3 เฉดความหมาย แต่ทั้ง 3 เฉดนั้นกลับดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับความหมายของ “พื้นที่ปลอดภัย” ซึ่งกำลังพูดคุยกันอยู่ที่มาเลเซีย ด้วยกลุ่มหลัง (ปาร์ตี้เอ-ปาร์ตี้บี) มีแนวโน้มที่จะมองมันในฐานะ “เครื่องมือทดสอบ” ความเชื่อมั่น และทดสอบ Command & Control ของปาร์ตี้บีที่กำลังคุยอยู่ นั่นคือ มาราปาตานี เป็นวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อจะหาทางไปต่อในข้อที่ลึกซึ้งมากขึ้นของกระบวนการพูดคุย เช่น TOR หรือประเด็นคุยอื่นๆ 

สิ่งที่บันทึกนี้ทำ เปรียบเสมือนการเดินแทรกเข้าไปรบกวน (disrupt) ตรงกลางระหว่างปาร์ตี้เอกับบีที่มาเลเซีย แล้วเอ่ยว่า “ขอโทษนะ ผมขอคุยอะไรด้วยหน่อย” เพื่อที่จะสื่อสารให้ทั้งคู่ตระหนักว่า หากพวกเขาจะจัดขบวนรถไฟที่พาทุกคนมุ่งหน้าไปสู่พื้นที่ปลอดภัยแล้ว “ทุกคน” ในที่นี้จะต้องมีส่วนออกแบบกระบวนการตั้งแต่เริ่มก้าวเท้าเข้าสู่ชานชาลา ไปจนถึงสถานีปลายทาง แต่ถ้าหากปาร์ตี้เอและบีที่คุยกันอยู่ ไม่อาจยอมรับข้อเสนอนี้ได้ ด้วยเห็นว่า “ผู้โดยสารมิใช่นายสถานีหรือเจ้าหน้าที่การรถไฟ” ทั้งคู่ก็ควรนำเอาความคิดและความกังวลของผู้คนที่เกี่ยวข้องมาร่วมส่วนอยู่ในการพิจารณาพูดคุยกันด้วย  

ผมไม่ได้กล่าวอ้างว่า การเดินทางของผมเข้มข้นถึงขนาดเคาะประตูบ้านขอข้อมูลได้ครบสมบูรณ์ จนกระทั่งสามารถกล่าวอ้างสถาปนาตัวขึ้น “พูดแทน” คนปาตานีทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ และหากทำเช่นนั้น ก็จะกลายเป็นการครอบงำชุดใหม่เสียเอง ผมใช้วิธีเดินเข้าพบ 6 กลุ่มภาคส่วนหลัก คือ (1) กลุ่มคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAOW)  (2) นักการเมืองชายแดนใต้ (3) ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ (4) กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านชายแดนใต้ (5) เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และ (6) กลุ่มไทยพุทธในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งหวังว่าเสียงสะท้อนจากกลุ่มเหล่านี้จะหมุนเริ่มบทสนทนาในเรื่องนี้ให้เดินต่อและเพื่อให้การพูดถึงพื้นที่ปลอดภัยมีคนปาตานีร่วมส่วนอยู่ในการสนทนา รวมทั้งสั่นคลอนการมุบมิบพูดคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัยในเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับความหมายของ…. [*] 

เนื้อหาของบันทึกเล่มนี้คลี่คลายให้เห็นอย่างน้อย 3 รูปแบบของการให้ความหมายเกี่ยวกับพื้นที่ปลอดภัยจากผู้ที่ผมไปพบเจอมา แต่ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องที่จำเป็นต้องครุ่นคิดควบคู่ไปด้วยอีก 2 เรื่อง ผมไล่เรียงลำดับของบทสนทนาเหล่านั้นในบันทึกเล่มนี้ ดังนี้

1. เงื่อนไขเบื้องต้น (precondition) ก่อนการทำพื้นที่ปลอดภัย คือ ความเข้าใจต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ การนิยามพื้นที่ปาตานี/ จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ชัดเจนว่าเป็น “พื้นที่สงคราม” หรือ “พื้นที่ขัดแย้ง” การรับฟังผลักดันตามเสียงสะท้อนของคนตัวเล็กตัวน้อยในระดับชุทชน บนหลักการสำคัญคือ ต้องให้คนในพื้นที่ได้คิดออกแบบของเขาเอง และการประเมินบทบาทของ “ปาร์ตี้แฝง” (ภัยแทรกซ้อน)

2. ตัวแบบที่ 1 พื้นที่สาธารณะปลอดภัย เป็นตัวแบบที่ถูกผลักดันมากจากคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAOW) เพื่อกันเอาการดำเนินชีวิตพลเรือนทั่วไป ออกจากการเป็นเป้าของความรุนแรง ซึ่ง ‘พื้นที่สาธารณะ’ ในที่นี้หมายถึง พื้นที่ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในชีวิตประจำวัน เพื่อประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยกดดันเรียกร้องผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่ายยุติการก่อเหตุเหตุรุนแรงและปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่สาธารณะ พร้อมกับส่งเสริมให้ชุมชนเป็นกลไกหลักของการรักษาความปลอดภัยพื้นที่สาธารณะแทนหน่วยงานความมั่นคงของรัฐอันเป็นคู่ขัดแย้งและเป้าหมายของการโจมตีโดยตรง กระนั้น ตัวแบบนี้ก็มีอุปสรรคสำคัญคือ เป็นการสร้างอำนาจต่อรองและท้าทายกับคู่ขัดแย้ง รวมทั้งความขาดแคลนทรัพยากรสำหรับรักษาความปลอดภัย อุปสรรคข้อหลังนี้โยงมาสู่สิ่งที่ต้องแลกคือ อาจทำให้ชุมชนตกอยู่ในสภาวการณ์ต้องพึ่งพิงการสนับสนุนและการเป็นพี่เลี้ยงจากรัฐ จึงหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะถูกมองเป็นฝ่ายเดียวกับรัฐ หรือกระทั่งเป็นเครื่องมือของรัฐ

ข้อวิพากษ์หลักเป็นเรื่องที่ว่า ข้อเสนอนี้เป็นเพียงความพยายามทำให้บางพื้นที่ปลอดจากภัยรุนแรงทางกายภาพ แต่ขาดมิติของการจัดการรากเหง้าปัญหาที่ขับเคลื่อนจูงใจให้คนใช้ความรุนแรง ขณะเดียวกัน การประกาศพื้นที่สาธารณะใดเป็นพื้นที่ปลอดภัยก็อาจเป็นเสมือนชนวนที่ตกเป็นเป้าของความรุนแรงยิ่งกว่าเดิม เป็นการเข้าไปสร้างอำนาจต่อรองต่อคู่ขัดแย้ง

3. ตัวแบบที่ 2 พื้นที่ปลอดภัยภายใต้โครงการประชารัฐร่วมใจ เป็นตัวแบบที่ถูกผลักดันไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 โดยภาครัฐ ตัวแบบนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการประเมินสภาพการณ์ของรัฐว่าในระยะปัจจุบัน รัฐกับภาคประชาชนมีขีดอำนาจมาก ในขณะที่ฝ่ายผู้คิดต่างจากรัฐมีอำนาจน้อยลง จึงเป็นห้วงเวลาเหมาะสมต่อการรุกคืบ โดยให้ชุมชนเป็นผู้เล่นหลัก พื้นที่ปลอดภัยในตัวแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุข โดยกำหนดให้ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ ที่มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าศูนย์ เป็นศูนย์กลางการทำงานในระดับพื้นที่ มุ่งดำเนินงาน 3 ด้านหลัก คือ งานสร้างพื้นที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน งานการเมือง และงานพัฒนา อุปสรรคสำคัญของตัวแบบนี้คือ ความเป็นไปได้ที่ชุมชนอาจไม่ให้ความร่วมมือด้วยเหตุผลหรือความกังวลต่างๆ และความเสี่ยงต่อการสร้างเงื่อนไขใหม่เพิ่มขึ้นในระดับชุมชน ความเสี่ยงที่ต้องแลกคือ ตัวแบบนี้จะพารัฐไปยืนอยู่ ณ จุดของการถูกทดสอบความจริงใจอย่างหนักหน่วงเข้มข้น และถูกตีความไม่ยากว่าเป็นการร่วมมือ 2 ฝ่าย คือ รัฐกับภาคประชาชน เพื่อรุกคืบกดดันฝ่ายของผู้เห็นต่างฯ อันอาจทำให้ความรุนแรงกระจายตัวลงสู่ระดับชุมชนมากขึ้น คู่ขนานไปกับความเป็นไปได้ที่พลเรือนจะเข้าถึงอาวุธมากขึ้น 

ผู้ผ่านพบในการเดินทางของผมหลายท่านแสดงความกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการรักษาความปลอดภัยโดยกลไกของชุมชนตามตัวแบบนี้ ซึ่งหากรัฐทำการเสริมเขี้ยวเล็บในหมู่บ้าน โดยเพิ่มศักยภาพกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้เห็นต่างที่ใช้ความรุนแรงก็ต้องเพิ่มศักยภาพระดับปฏิบัติการตามไปด้วยเป็นเรื่องปกติ จึงมีแนวโน้มที่จะปรากฏพลเรือนติดอาวุธมากขึ้น หรือพูดอีกแบบคือ พลเรือนจะถูกเปลี่ยนสภาพเป็นพลรบ เพิ่มขึ้น อันสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดคู่ปฏิปักษ์ในชุมชนมากขึ้น ขณะเดียวกัน หลายวงสนทนาสะท้อนตรงกันว่าจุดอ่อนหลักของตัวแบบนี้คือ “มีความเป็นตัวแบบของรัฐมากเกินไป” รัฐแสดงบทบาทชี้นำมากเกินไป และอาจกระทบต่อการทำงานของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อันเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนตามตัวแบบนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นสะพานเชื่อมระหว่างรัฐกับชาวบ้านด้วย

4. ตัวแบบที่ 3 พื้นที่สันติ เป็นตัวแบบที่สะท้อนความเห็นค่อนข้างมากจากภาคประชาสังคม ตัวแบบนี้ให้น้ำหนักกับคุณลักษณะนามธรรมของพื้นที่ปลอดภัย เช่น การรับประกันคุณค่าสิทธิมนุษยชน การเปิดกว้างและผนวกรวม (openness & inclusion) การทำงานหลายฝ่าย (multilateral) ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญร่วมส่วนอยู่ในคำดังกล่าว พร้อมกับยอมรับให้ความขัดแย้งยังคงสามารถดำเนินได้ต่อไป แต่ภายใต้กฎเกณฑ์กติกาบางอย่าง และไม่เพียงมุ่งจำกัดความรุนแรงต่อสถานที่และตัวบุคคลเท่านั้น หากแต่มุ่งเป็นมาตรการหนึ่งในการกระบวนการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งโดยสันติวิธี พร้อมกับมุ่งหวังที่จะเพิ่มอำนาจ (empowerment) ให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งรุนแรง บนหลักคิดสำคัญคือ เราไม่อาจมี Safety zone หากไม่รับประกัน Safety voice 

หลักการเหล่านี้ถูกแปลงไปสู่การกำหนดพื้นที่จริงผ่านการที่ชุมชนร่วมมือกับหน่วยงานที่เป็นกลางกำหนดพื้นที่สันติขึ้นมาในชุมชนนั้น และตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐ ภาคประชาชน และกลุ่มผู้คิดต่างจากรัฐ ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ ควบคู่กับการดำเนินงาน 3 เรื่องหลัก คือ ควบคุมกำกับการเคลื่อนไหวของบรรดากลุ่มที่ติดอาวุธ ส่งเสริมการพูดคุยสานเสวนา และสนับสนุนการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ 

หลายท่านที่ปรากฏอยู่ในบันทึกเล่มนี้ สนับสนุนตัวแบบพื้นที่สันติอย่างมาก ด้วยเหตุที่เป็นตัวแบบอันมุ่งจัดการรากเหง้าของความรุนแรง โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นธรรมและสัดส่วนอำนาจที่ไม่สมดุลระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น พร้อมกับเป็นพื้นที่ที่เน้นความเปิดกว้างและชุมชนเป็นเจ้าของ อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลสำคัญต่อตัวแบบนี้คือแนวทางปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะในเรื่องของการหาหน่วยงานที่เป็นกลาง ซึ่งทุกวงสนทนาล้วนยอมรับว่า “ความเป็นกลาง” ไม่มีอยู่จริง ทว่าแต่ละวงก็ให้ข้อเสนอเพื่ออุดช่องโหว่แตกต่างกันไป เช่น ให้สร้าง “คณะกรรมการ/คณะทำงานร่วม” ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนหรือเป็นผู้เห็นใจสนับสนุนฝ่ายต่างๆ หรือการก่อรูปในลักษณะ “พื้นที่กลาง” ขึ้นมาในชุมชน เป็นต้น ส่วนการออกแบบกลไกนั้นจำต้องยึดสูตรความร่วมมือสามฝ่ายระหว่างรัฐ-ผู้เห็นต่าง-ภาคประชาสังคมและประชาชน หรือสรุปเป็นสมการว่า “A+B+C” โดยรายละเอียดขึ้นอยู่กับชุมชนแต่ละแห่งที่จะต้องมีสิทธิอำนาจเป็นคนคิดเกี่ยวกับรูปแบบพื้นที่ปลอดภัยที่สอดคล้องกับบริบทเฉพาะของตนเอง 

กระนั้น ตัวแบบนี้ประชาชนต้องเป็นผู้ริเริ่มผลักดันเอง ทำให้ชุมชนที่ประกาศเป็นพื้นที่สันติจะกลายเป็นเป้าของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายโดยตัวเองทันที ซึ่งคนไทยพุทธท่านหนึ่งเสนอขั้นตอนกระบวนการผลักดันด้วยการนิยามว่า พื้นที่สันติ คือ พื้นที่สันติธรรมชาติ หมายถึง ให้มันค่อยๆ เป็นไปตามบริบทของสังคมเรา แบบค่อยๆ ปรับเปลี่ยน เหมือนน้ำซึมบ่อทราย และใช้วิถีชีวิตธรรมชาติของมนุษย์เป็นตัวตั้ง

5. เรื่องที่ควรถูกพูดถึงมากกว่า “พื้นที่ปลอดภัย” ผู้ร่วมทางกับผมหลายท่านในบันทึกเล่มนี้ โดยเฉพาะจากวงของภาคประชาสังคมเห็นว่า “พื้นที่ ไม่ ปลอดภัย” เป็นอาการปลายเหตุ และ “ความไม่ปลอดภัย” ในที่นี้พันอยู่กับสาเหตุรากเหง้าหลายประการในทางการเมือง การพูดถึงและเร่งรัดผลักดันการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” โดยไม่ได้จัดการกับรากเหง้าของปัญหาความรุนแรง จึงเป็นเสมือนความพยายามเพียงแค่บำบัดอาการของโรค หรือเป็นการรักษาตามอาการไปพลางเท่านั้น อาจหยุดปฏิบัติการก่อเหตุรุนแรงไปได้สักพัก เช่น 5 ปี หรือ 10 ปี แต่ในเมื่อรากของปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ความรุนแรงก็อาจเกิดระลอกใหม่ขึ้นอีก ขณะที่บางท่านกังวลว่า การที่สังคมสนใจเรื่องพื้นที่ปลอดภัยกันอยู่นี้ อาจสะท้อนแนวโน้มที่บีบให้นักเคลื่อนไหวและคนในพื้นที่พูดในเรื่องที่ “หดแคบ” ลงไปเรื่อยๆ จนทำให้ปัญหาใหญ่ และเรื่องอันเป็นใจกลางของความขัดแย้ง เป็นสิ่งที่ไม่ถูกพูดถึงอีกต่อไป

...

ผมนำส่งบันทึกฉบับเต็มไว้ในรูปของลิงก์สำหรับดาวน์โหลดในเว็บไซต์ปาตานีฟอรั่มด้วยแล้ว ตัวแบบเชิงปฏิบัติตามขนบนิยมของงานวิจัยเสนอหน่วยราชการแต่อย่างใด หากแต่มุ่งสั่นคลอนความมั่นใจที่อาจจะมากเกินไปของผู้ใดก็ตามที่กำลังพูดแทน/ พูดในนามประชาชนในพื้นที่ปาตานี/ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับสะท้อนให้เห็นบทสนทนาอันรุ่มรวยไปด้วยความคิดเห็น และความรู้สึกของผู้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ไม่มีส่วนตัดสินใจ เพื่อคาดหวังว่า การหารือและตัดสินใจจัดทำพื้นที่ปลอดภัยในรูปแบบใดก็ตามจะเป็นไปโดยเริ่มต้นครุ่นคิดพิจารณาความกังวลต้องการของผู้คนเหล่านี้ก่อนเป็นลำดับแรก 

ที่สำคัญคือ สำหรับพื้นที่ปลอดภัยแล้ว จำเป็นอย่างมากที่จะต้องให้มี “safety voice ก่อน หรือ พร้อมกับ safety zone” เพราะในเมื่อ “พื้นที่ไม่ปลอดภัย” พันอยู่กับรากสาเหตุปัญหาทางการเมือง ดังนั้นแล้ว หากพื้นที่ทางการเมืองยังไม่เปิด พื้นที่ปลอดภัยก็มิอาจมี

 

---------------

ข้อความขยาย: 

* คนปาตานีผู้ถูกกล่าวอ้างกระทำการแทนและมักเป็นเพียง footnote สำหรับการอ้างอิงของคู่ขัดแย้ง
  รวมทั้งนักอุตสาหกรรมความมั่นคง นักธุรกิจวิชาการ ฯลฯ มาโดยตลอด