วิชาสุดท้ายสอบที่เรือนจำ: ประสบการณ์จากชายแดนใต้ ถึง ไผ่ ดาวดิน

เมื่อต้นปี 2548 ทหารและตำรวจได้เข้ากวาดจับกุมนักศึกษา มอ.ปัตตานี โดยใช้กฎอัยการศึก สืบเนื่องจากสถานการณ์เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ถูกกล่าวหาและถูกจับตามองอย่างเข้มงวด เช่นมีการส่งสันติบาล ตำรวจนอกเครื่องแบบ มาเฝ้าหน้าห้องสอบ ในตึกอาคารเรียนรวมของมหาวิทยาลัย 

 

หากทว่ากรณีที่เป็นข่าวใหญ่ที่สุดคือ การจับกุมดำเนินคดีแก่นายมุสตอปา เจ๊ะยะ, นายอิลยาส หรืออิสยาส มันหวัง, นายอุสมาน ปะชี, นายยูไล โสะปนแอ และนายมะอาซี บุญพล ทั้งหมดเป็นสมาชิกขบวนการเบอร์ซาตู ในกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1

 

สิ่งที่น่าสนใจในฐานความผิดตามกฎหมาย คือร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายและก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ ในเขตพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อแบ่งแยกดินแดน โดยใช้ปืนฆ่าตำรวจเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน มุ่งหมายเพื่อบังคับขู่เข็ญรัฐบาลไทยให้ยินยอมแบ่งแยกดินแดนใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของ จ.สงขลา ออกจากราชอาณาจักร เพื่อสถาปนาเป็นรัฐอิสระปกครองตนเอง 

 

คดีใหญ่ขนาดนี้ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว คงไม่มีใครกล้ารับรองประกันตัว คงไม่ต้องกล่าวถึงการผ่อนปรนต่อผู้ต้องสงสัยทั้ง 5 คน ที่แม้ว่าบางส่วนยังมีสภาพเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ เพราะข้อหาและความผิดไม่ใช่เป็นเรื่องความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง แต่เป็นคดีอาญาในมาตราหนึ่งของรัฐธรรมนูญปี 2540 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการคือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ในขณะนั้น พูดก็พูดเถอะ คนรับสนองพระบรมราชโองการคือคนมลายู และผู้ถูกกล่าวหาที่จะฉีกแผ่นดินก็คือคนมลายู 

 

หากว่าความจริงที่เกิดขึ้นกับ นายยูไล โสะปนแอ และนายอุสมาน สาและ และซึ่งกำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี ปีสุดท้าย ที่เหลือวิชาสอบตัวสุดท้าย ผมจำได้แม่นยำว่าคราวนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้นำข้อสอบไปให้ทำถึงในเรือนจำที่กรุงเทพมหานคร โดยทางเรือนจำได้ให้สอบเป็นกรณีพิเศษ และอาจารย์ผู้สอนในรายวิชาดังกล่าวก็ไปนั่งรอที่เรือนจำ เพื่อตรวจข้อสอบ โดยได้นำคะแนนเก็บทั้งหมดบวกกับคะแนนสอบในเรือนจำ ประกาศเกรดผลการสอบที่เรือนจำ เป็นอันว่าทั้งสองได้เกรดเพียงพอสำหรับการจบระดับปริญญาตรี และทางมหาวิทยาลัยได้ทำเรื่องแจ้งการจบการศึกษาให้แก่นักศึกษาทั้งสองคน ขณะที่ไปเยี่ยมทั้งสองคน ก็เล่าให้ผมฟังว่า ทางเพื่อนๆที่เรือนจำบางส่วนก็ได้เข้ามาแสดงความดีใจหลังจากทราบข่าวว่าทั้งสองจบการศึกษา 

 

และระหว่างการรอพิจารณาคดีจากศาลฎีกา ท้ัง 5 คนก็ได้รับการประกันปล่อยตัวชั่วคราว และทราบข่าว ทั้ง 5 คนก็ได้เข้าทำงานและประกอบอาชีพต่างๆโดยใช้วุฒิปริญญาตรีในการรับรองตน แม้ว่ายังติดคดีในศาล แต่เนื่องจากมีใบปริญญาจึงสามารถหางานทำได้ ระหว่างรอฟังคำพิพากษา และไม่ได้หลบหนีไปไหนทั้งสิ้น เป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกาได้ตัดสินจำคุกทั้ง 5 คน โดยทั้ง 5 คนได้เข้าร่วมฟังคำตัดสินและรับโทษตามคำตัดสินของศาลฎีกา ไม่มีการหลบหนี

 

ที่เขียนเรื่องข้างต้นได้เป็นเพราะข่าวของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ที่ตอนนี้ยังไม่สามารถได้ประกันตัวและยังไม่ชัดเจนว่าจะได้สอบวิชาสุดท้ายของมหาวิทยาลัยหรือไม่ ?

 

สำหรับกรณีการแชร์บทความ BBC Thai ของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ที่ไม่สามารถประกันตัวออกมาได้และยังไม่มีท่าทีที่จริงจังของสถาบันการศึกษาต้นสังกัด ที่ออกมาร่วมทุกข์ในระดับการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษาตนเอง ที่เป็นปรัชญาของมหาวิทยาลัย

 

หากเปรียบเทียบและข้อกล่าวหาและบริบททางการเมืองในชายแดนใต้เมื่อ 10  กว่าปีก่อน กับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างมาก และยิ่งห่างไกลกันมากหากเปรียบเทียบข้อกล่าวหาของกลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี กับกรณีของ ไผ่ ดาวดิน แต่วิธีการปฎิบัติกลับแตกต่างกัน ทั้งที่ผู้เกี่ยวข้องของทั้งสองเหตุการณ์ก็แทบจะบอกว่าเหมือนกัน ไมว่าจะเป็น ทหาร ศาล มหาวิทยาลัย และองค์กรสิทธิมนุษยชน และที่เหมือนยิ่งกว่าและสัมผัสได้ก็คือ การไม่รู้ร้อนรู้หนาวของคนในสังคมไทย ที่ “เลือดเย็น” และ “อยู่เป็น” อันไม่รู้สึกถึงเพดานมาตราฐานเสรีภาพต่ำลงเรื่อยๆในสังคมไทย 

 

คำถามจึงมีอยู่ว่าหากเปรียบเทียบทั้งสองกรณีหลักปฎิบัติและมาตราฐานกระบวนการยุติธรรมของสังคมไทยอยู่ตรงไหน ?