ผมอ่านหนังสือเรื่อง“จินตนาการอิสลามเชิงสังคมวิทยา:สันติภาพครอบครัวและสตรี”
ของอาจารย์สุชาติเศรษฐมาลินี ด้วยความปรารถนาอยากรู้และผมก็ได้รับความรู้อย่างมากมายจึงขอนำสิ่งที่ได้รับมานี้แบ่งปันกันซึ่งแน่นอนว่าคงไม่สามารถพูดทั้งหมดได้อย่างลึกซึ้งเท่าหนังสือแต่หวังว่าท่านผู้อ่านจะไปหาฉบับเต็มมาอ่านนะครับ
ในโลกวันนี้คนจำนวนมากกำลังหวาดกลัวกับความแตกต่างโดยเฉพาะทางศาสนาและคนจำนวนไม่น้อยลงความเห็นตามความเชื่อแบบตายตัวไปแล้วว่าศาสนาอิสลามมีความสัมพันธ์อยู่กับความรุนแรงอาจารย์สุชาติได้ทำให้เราได้ข้ามพรมแดนความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนี้เพื่อที่จะเข้าใจ “บรมธรรม” ของศาสนาอิสลามได้มากขึ้นความปรารถนาของท่านคือความมุ่งหวังให้เราทั้งหมดสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสันติซึ่งจะต้องลดทอน“อคติ”อันนำมาซึ่งความเกลียดกลัวระหว่างกันลงไป
การจัดวางความคิดที่จะนำไปสู่ความเข้าใจศาสนาอิสลามลึกซึ้งขึ้นอาจารย์สุชาติได้เริ่มต้นด้วยการอธิบายหลักการของศาสนาในหัวข้อที่ว่าด้วย “อิสลามกับสันติภาพ” ท่านแปลงานของ Mohammed Abu-Nimer (อาจารย์และนักคิดแห่ง American University) เรื่อง “การสร้างสันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลาม” เพื่อวางพื้นฐานความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาอิสลามกับสันติวิธีและสันติภาพด้วยความตั้งใจที่จะให้เข้าใจถึงหลักการศาสตร์กับบริบททางประวัติศาสตร์เพราะหากหยิบคำสอนมาอธิบายนอกบริบท (ไม่พิจารณาบริบท) จะทำให้เกิดความเข้าใจผิด และเกิดการเน้นไปในเฉพาะบางด้าน เช่น กลุ่มนักคิดทางศาสนากลุ่มหนึ่ง “อาจจะถูกวิจารณ์ได้ว่าละเลยคำสอนส่วนที่เน้นถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตมนุษย์ในทัศนะอิสลาม แต่กลับหยิบยกบางตอนของคำสอนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง” (หน้า 17)
ส่วนที่3ซึ่งเป็นหัวใจของบทความเป็นการทำความเข้าใจ “หลักการและคุณค่าในอิสลามเกี่ยวกับสันติวิธีและการสร้างสันติภาพ” ซึ่งมีทั้งหมด 12 ประการด้วยกัน ได้แก่ การสถาปนาความยุติธรรม การสร้างความเข้มแข็งทางสังคมผ่านการกระทำด้วยคุณธรรม และความดีงาม ความเป็นสากล และเกียรติศักดิ์ความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม ความศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตมนุษย์ การมุ่งสู่สันติสุขการสร้างสันติภาพ เพื่อลดความขัดแย้ง การให้อภัย ความรับผิดชอบในการกระทำ และการตัดสินใจ ความอดทน กระบวนการมีส่วนร่วมและยอมรับซึ่งกันและกัน ความเป็นพหุลักษณ์ และความหลากหลาย รายละเอียดในหลักการแต่ละประการ นำเราให้เข้าใจลึกซึ้งมากขึ้นถึงความปรารถนาขั้นสูงของศาสนาอิสลาม ที่จะผดุงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและความสงบสันติ
อาจารย์สุชาติได้เลือกประเด็นของศาสนากับกลุ่มชาติพันธุ์มาขยายความ เพื่อทำให้เราหลุดพ้นจากกรอบการอธิบายแบบที่ผูกติดชาติพันธ์กับศาสนา อย่างมองไม่เห็นความหลากหลายของผู้คน ซึ่งท่านได้ยกกรณีศึกษาในหลายพื้นที่มาแสดงให้เห็นว่า ความหลากหลายและเข้มแข็งของ “ศาสนชาติพันธุ์” ที่ดำรงอยู่ร่วมกันได้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่น่าสนใจมากได้แก่ การอธิบายมุสลิมจีนที่เชียงใหม่ (อิสลามบ้านฮ่อ) กับการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งซึ่งเกิดจากการสร้างความสัมพันธ์กับพี่น้องศาสนาและชาติพันธุ์อื่นๆในเชียงใหม่
ประเด็นของการทำความเข้าใจความหลายหลากของชาติพันธ์กับศาสนานี้จะทำให้ “มองเห็นผู้อื่น” ชัดเจนกว่าเดิม และจะทำให้เข้าใจความกว้างขวางของศาสนาได้มากขึ้น ตัวอย่างที่อาจารย์สุชาติประสบเอง ได้แก่ เยาวชนในภาคใต้ถามว่า “อาจารย์กินตะเกียบเนี่ยเป็นบาปไหม” ซึ่งเมื่อได้รับคำอธิบายถึงศาสนชาติพันธุ์ที่หลากหลายแล้ว ก็ย่อมทำให้เกิดการขยายพรมแดนการรับรู้ศาสนามากขึ้นอย่างแน่นอน
ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี ผอ.สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ
ผู้เขียนหนังสือจินตนาการอิสลามเชิงสังคมวิทยา l ภาพจากฟาตอนีออนไลน์
อาจารย์สุชาติได้เลือกแปลจดหมายของมัลคอมเอ็กซ์ ที่เขียนถึงเพื่อนขณะที่อยู่ในพิธีฮัจญ์ที่เมกกะ ซึ่งอาจารย์สุชาติถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของมัลคอมเอ็กซ์ ในเรื่องอคติที่มีต่อคนผิวขาว โดยในจดหมายได้แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกของเขา ที่มีต่อความรักเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับอย่างไม่เคยคิดมาก่อน ความตอนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและการมองเห็นพลังของศาสนาในการเยียวยาสังคมว่า “หวนกลับมาสู่แนวทางแห่งจิตวิญญาณอันเป็นสัจธรรมซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะนำพาสังคมอเมริกันไปให้พ้นจากภัยพิบัติอันเกิดจากอคติทางเชื้อชาติ” (หน้า79:มัลคอมเอ็กซ์ถูกสร้างภาพให้รับรู้โดยทั่วไปเน้นเพียงด้านการใช้ความรุนแรงบนความเกลียดชังคนผิวขาว)
หลังจากการทำให้เราเข้าใจในหลักคิด และกรอบคำสอนสำคัญของศาสนาอิสลามแล้ว อาจารย์สุชาติได้นำเราให้เข้ามาสู่ส่วนที่เป็น “รากฐานของชีวิตประจำวัน” อันได้แก่ครอบครัว
อาจารย์สุชาติได้อธิบายความหมาย และความสำคัญของศาสนาอิสลามกับความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวในหลายด้าน และท่านได้เน้นถึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันศาสนา กับความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว โดยทำให้เราเห็นถึงการสร้าง “ครอบครัวที่เข้มแข็งกับการจัดการที่เข้มข้น” ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญของครอบครัวในการแผ้วถางทางให้ลูกหลานได้ก้าวเดินไปอย่างมั่นคง
ส่วนท้ายของหนังสืออาจารย์สุชาติได้กลับความคิดความเชื่อของผู้คน ที่มีต่อศาสนาอิสลาม ในประเด็นเรื่องผู้หญิง โดยได้ชี้ให้เห็นถึงคำสอนทางศาสนา ที่ให้ความหมายและบทบาทแก่ผู้หญิงอย่างสำคัญ และไม่ยอมรับความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะการทำร้ายเด็กและผู้หญิง (หน้า 195) และเน้นให้เห็นถึงบทบาทของผู้หญิงในการสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
อาจารย์สุชาติได้ทำหน้าที่ของศาสนิกชนอย่างงดงามแล้ว ด้วยการทำให้เกิด “ศาสนสัมพันธ์บนความเข้าใจที่ดี” ต่อกันสิ่งที่พวกเราน่าจะต้องทำกันต่อไปก็คือขยายความเข้าใจนี้ออกไปให้กว้างขวางมากที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อหวังว่าความเข้าใจที่ถูกต้องเหมาะสม จะยังลดทอนความรุนแรงในสังคมลงได้
ขอขอบคุณอาจารย์สุชาติเศรษฐมาลินีและปาตานีฟอรั่มครับ
บทความเผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639475
หนังสือจินตนาการอิสลามเชิงสังคมวิทยา
ผู้เขียน สุชาติ เศรษฐมาลินี
จัดพิมพ์โดย ปาตานีฟอรั่ม
วางจำหน่ายที่ร้านหนังสือทั่วไป