บทเรียนจากชะตากรรมอันโศกเศร้าของอเลปโป

 

เมื่อผลประโยชน์มาก่อนคุณค่า สิ่งเลวร้ายจะเกิดขึ้น


โกรซนี (ประเทศรัสเซีย) เดรสเดน (ประเทศเยอรมนี) และ กัวนิกา (ประเทศสเปน) เป็นสามเมืองที่ผ่านประวัติศาสตร์การถูกทำลายจนสิ้นซาก เมืองอเลปโปซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นมหานครที่ใหญ่ที่สุดในประเทศซีเรีย กำลังจะกลายเป็นหนึ่งในนั้น มรดกทางประวัติศาสตร์ของมุสลิมที่มีอายุกว่าพันปีในอเลปโปถูกทำลายกลายเป็นฝุ่นผง โรงพยาบาลและโรงเรียนกลายเป็นเป้าหมายการโจมตีของเครื่องบินรบรัสเซีย ประชาชนถูกระดมยิง ระเบิด รมควัน และอดอยากไม่มีใครรู้ว่าประชาชนที่ยังอาศัยอยู่ในดินแดนอาหรับซุนนีแห่งสุดท้ายนี้จะต้องเสียชีวิตอยู่ใต้ที่หลบภัยซึ่งถูกทำลายเป็นซากปรักหักพังอีกกี่หมื่นคน แม้ว่าพวกเขาจะได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะได้รับการปกป้องให้ปลอดภัย แต่ตลอดประสบการณ์ความรุนแรงอันแสนสาหัสในอเลปโปสี่ปีที่ผ่านมา ได้หักล้างความน่าเชื่อถือและศรัทธาของหลักการที่ว่า ผู้บริสุทธิ์สมควรได้รับยกเว้นจากการถูกเข่นฆ่าและทำลายระหว่างสงครามโดยสิ้นเชิง เพราะในความเป็นจริง การทำลายอันโหดเหี้ยมทารุณต่างหากที่พวกเขาต้องประสบตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สภาวะเช่นนี้กำลังคุกคามและนำพาเราไปสู่โลกที่อันตรายและไร้เสถียรภาพมากขึ้น
 

หากจะประเมินความรุนแรงของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในอเลปโป เราอาจจะต้องระลึกย้อนไปสู่การรณรงค์ต่อต้านประธานาธิบดีบาชาร์อัลอัสซาด ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2011 ประชาชนจากนิกายซุนนีเดินเคียงคู่กับประชาชนนิกายชีอะห์ชาวคริสเตียน และชาวเคิร์ด เพื่อต่อต้านเขา เมื่อเริ่มแรกนายอัสซาดซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากอิหร่าน ได้ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนของเขาเองเพื่อจัดการกับขบวนการต่อต้านอย่างสันติต่อมา เขาได้กล่าวหาว่ากบฏทุกกลุ่มเป็นผู้ก่อการร้ายซึ่งเป็นประเด็นที่ร้ายแรงมาก แม้ว่าทุกวันนี้จะมีบางกลุ่มที่กลายเป็นผู้ก่อการร้ายแล้วก็ตาม ที่ผ่านมา มีจุดเปลี่ยนหลายครั้งที่เอื้อให้ชาติตะวันตกเข้ามาแทรกแซงได้ด้วยการจำกัดเขตห้ามโจมตีทางอากาศ หรืออาจจะเรียกว่า การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับอยู่อาศัยให้แก่พลเมือง หรือแม้กระทั่งโครงการเต็มรูปแบบเพื่อติดอาวุธให้กลุ่มกบฏ แต่ชาติตะวันตกกลับยับยั้งการแทรกแซงเอาไว้เมื่อพื้นที่นี้ยังถูกจองจำด้วยอิทธิพลที่มีอยู่เดิมของอิรัคและอาฟกานิสถาน เมื่อการต่อสู้เริ่มขยายตัว ความจำเป็นในการแทรกแซงก็เพิ่มขึ้นไปด้วย แต่ความเสี่ยงและความซับซ้อนของการแทรกแซงแต่ละครั้งก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน เมื่อนายอัสซาดกำลังถูกโค่นอำนาจ รัสเซียจึงเข้าร่วมต่อสู้อย่างไร้มนุษยธรรมและไม่คำนึงถึงผลกระทบจากการทำลายล้างที่จะเกิดขึ้น การล่มสลายของอเลปโปเป็นสิ่งพิสูจน์แล้วว่านายอัสซาดเป็นผู้ชนะและอิหร่านมีอิทธิพลต่อชัยชนะนั้นด้วย แต่เมื่อนับรัสเซียเป็นพันธมิตรหนึ่งของตะวันออกกลาง รัสเซียต่างหากเป็นเจ้าของชัยชนะที่แท้จริง
 

และเช่นเดียวกัน การเอาชนะครั้งนี้ มิใช่เพียงแค่ทำลายคู่ตรงข้ามของนายอัสซาดได้สำเร็จเท่านั้น แต่ยังเป็นการลบความน่าเชื่อถือของแนวนโยบายต่างประเทศแบบชาติตะวันตกที่อ้างว่ายึดถือเฉพาะคุณค่าอีกด้วย เพราะแท้จริงแล้ว "ในการต่างประเทศนั้นคุณค่าสำคัญพอๆกับผลประโยชน์ "หลังจากโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเมื่อ ค.ศ. 1994 ซึ่งในครั้งนั้นชาวตุตซี่ถูกสังหารจำนวนมากแต่โลกกลับหันหลังให้ไม่สนใจช่วยเหลือ ประเทศต่างๆ ก็เริ่มตระหนักถึงภาระหน้าที่ที่ตนมีต่อการยับยั้งการฆ่าและทำร้ายอย่างโหดเหี้ยมทารุณที่จะเกิดขึ้นอีก เมื่อสมาชิกของสหประชาชาติต่างยอมรับภาระในการปกป้องเหยื่ออาชญากรรมสงครามไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตามแล้ว ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการใช้อาวุธชีวภาพและการฆ่าพลเมืองอย่างโหดเหี้ยมจึงกลายเป็นสารที่สำคัญและเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์โลกในปัจจุบัน ความปรารถนาที่จะส่งเสริมเสรีภาพและประชาธิปไตยก็อยู่ไม่ไกล


ฝุ่นผงและเถ้าถ่าน

อุดมคติแห่งการแทรกแซงเพื่อเสรีภาพได้ผ่านสนามทดสอบในโลกแห่งความเป็นจริงมาอย่างแสนสาหัส แนวนโยบายแทรกแซงในอาฟกานิสถานและอิรัคที่นำโดยสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นแล้วว่า แม้แต่ประเทศที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็มิอาจยัดเยียดประชาธิปไตยให้ประเทศอื่นด้วยวิธีการทางทหารได้ โศกนาฏกรรมในอเลปโปอาจจะเป็นกรณีที่ไม่ชัดเจนในเรื่องนี้แต่ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากรณีอื่น  ทั้งที่ซีเรียกำลังเผชิญกับการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อนของนายอัสซาด ชาติตะวันตกกลับไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการกล่าววาทะทางการทูตซ้ำไปมา เมื่อชาติตะวันตกล้มเหลวที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อคุณค่าที่ตนควรยึดถือ ก็เป็นการตอกย้ำความจริงที่ว่า คุณค่าเหล่านั้นเป็นเพียงลมปากและชาติตะวันตกเลือกที่จะละเลยมันด้วยการไม่เอาผิดกับผู้เป็นภัยต่อมนุษยชาติอย่างอัสซาด

“ หลายๆ คนตกเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากนายอัสซาดตัดสินใจรมควันประชาชนด้วยแก๊สพิษที่มีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งถือเป็นการล้ำเส้นที่สหรัฐอเมริกากำหนดแล้ว รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรได้ลงมติค้านการใช้มาตรการทางทหารที่จำกัด ในขณะที่ประชาชนชาวซีเรียหลายล้านคนหนีตายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเลบานอนและจอร์แดน ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่กลับหมางเมินต่อสถานการณ์ หรือกระทั่งพยายามสร้างกำแพงป้องกันการไหลบ่าของผู้ลี้ภัยเสียด้วยซ้ำ 


นายบารัค โอบามาถูกตำหนิในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปฏิบัติต่อซีเรียราวกับว่าเป็นกับดักหนึ่งที่เขาต้องการหลบหลีกให้พ้น  การคาดการณ์ว่ารัสเซียจะตกหล่มและพบกับความยุ่งยากในซีเรียในที่สุด เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าโอบามาได้ตัดสินอย่างผิดพลาด ในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นายโอบามาได้หาทางผลักดันโลกที่ขึ้นอยู่กับระบบเดิมซึ่งมีอเมริกาเพียงผู้เดียวที่ปฏิบัติการเพื่อปกป้องคุณค่าที่ยึดถือ ไปสู่โลกที่ภาระในการปกป้องธรรมเนียมระหว่างประเทศตกอยู่กับทุกประเทศ เพราะท้ายที่สุดทุกประเทศก็ได้รับผลประโยชน์จากการรักษาธรรมเนียมเหล่านั้นทั้งสิ้น อเลปโปเป็นตัวชี้วัดว่านโยบายนั้นล้มเหลวอย่างไร เมื่อสหรัฐอเมริกาถอยออกห่าง ภาวะสุญญากาศของการแทรกแซงในซีเรียไม่ได้ถูกแทนที่ด้วยประเทศที่รับผิดชอบต่อภาระการปกป้องตามธรรมเนียมระหว่างประเทศ แต่กลับกลายเป็นรัสเซียและอิหร่านผู้ซึ่งเห็นภารกิจส่งเสริมคุณค่าแบบตะวันตกเป็นเสมือนการวางแผนอย่างมีเงื่อนงำเพื่อล้มล้างระบอบอำนาจของตน
 

ในทางทฤษฎี ประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐอเมริกาอาจจะหาทางแก้ไขเรื่องนี้ได้ อย่างไรก็ตาม โดนัลด์ทรัมป์ได้ทำให้เกิดความเชื่อที่ว่า การแทรกแซงเพื่อเสรีภาพเป็นเรื่องของคนที่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ การเสนอชื่อนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน อดีตผู้บริหารเอกซอนโมบิล เป็นเลขาธิการรัฐ กลับเป็นการตอกย้ำสาระสำคัญของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์ได้เป็นอย่างดี: ในฐานะประธานาธิบดี นายทรัมป์ไม่ต้องการบันทึกข้อตกลงแต่จะผดุงไว้ซึ่งคุณค่า
 

การหาข้อยุติในข้อตกลงต่างๆ เป็นส่วนสำคัญของการทูต โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อตกลงกับฝ่ายตรงข้ามอย่างรัสเซียและอิหร่านและคู่แข่งอย่างจีน แต่นโยบายต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงตามลักษณะของข้อตกลงโดยไม่มีการวางยุทธศาสตร์ หรือยึดเหนี่ยวกับคุณค่าที่วางไว้มักเป็นต้นเหตุของความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบร้ายแรง หนึ่งในนั้นคือการที่ประเทศพันธมิตรกลายเป็นตัวหมากสำหรับการต่อรอง นายทรัมป์เริ่มแสดงท่าทีสนับสนุนไต้หวัน ทั้งที่จีนให้สถานะว่าเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งที่ต้องการแยกตัวออกจากจีน นายทรัมป์มองการสานความสัมพันธ์กับไต้หวันครั้งนี้ว่า เป็นสิ่งที่ต้องแลกมาแม้จะต้องผิดใจกับจีนเพื่อช่วยลดภาวะการขาดดุลการค้ากับจีน นอกจากนี้ การต่อรองครั้งสำคัญที่มีนายทิลเลอร์สันและสหายของเขาในรัสเซียเป็นผู้ร่วมเจรจา และเป็นผลให้สหรัฐฯถอนกำลังทหารออกจากรัฐแนวหน้าของนาโต้ เพื่อแลกกับการดำเนินการทางการทูตร่วมกันในการคานอำนาจอิหร่านหรือจีน กลับจะทำให้ประเทศแถบคาบสมุทรเบาติกต้องเผชิญกับการรุกรานจากรัสเซีย

 

คำสั่งที่เป็นผลมาจากข้อตกลงเหล่านี้ สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์คาดการณ์ได้ยากและไม่มั่นคงอีกด้วย หากนายทรัมป์ไม่สามารถต่อรองกับรัสเซียได้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองอาจจะร้าวฉานได้อย่างรวดเร็ว และคงมีคนคิดถึงท่าทีอันเยือกเย็นของอดีตประธานาธิบดีโอบามามากขึ้นกว่าเดิม เมื่อมหาอำนาจเป็นผู้ตัดสินถูกผิด ประเทศเล็กๆก็จะถูกกีดกันหรือถูกบีบบังคับให้รับเงื่อนไขที่ไม่ดี ในขณะที่มหาอำนาจสามารถวางและเดินหมากของตนเองได้ การไม่มีกรอบร่วมกันในการผูกพันข้อตกระหว่างประเทศ ทำให้ต้องเจรจากันใหม่บ่อยขึ้นโดยที่ไม่อาจบรรลุผลที่แน่นอนได้ ปัญหาข้ามพรมแดนที่ซับซ้อนอย่างปัญหาการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศก็จะแก้ไขได้ยากยิ่งขึ้น

เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกแล้วว่า อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อคุณค่าไม่สามารถยับยั้งความวุ่นวายและอนาธิปไตยแห่งภูมิศาสตร์การเมืองได้ การละทิ้งเมืองอเลปโปให้โดดเดี่ยวในโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ทำให้การต่อสู้ดูเหมือนไร้ความปราณีมากขึ้น ผู้คนที่ต้องทนทุกข์ทรมานมากที่สุด ก็คือ คนจนและผู้บริสุทธิ์

 

 

ต้นฉบับภาษาอังกฤษ : http://www.economist.com/news/leaders/21711903-when-interests-triumph-over-values-terrible-things-can-happen-lessons-aleppos-tragic?fsrc=scn/fb/te/bl/ed/thelessonsfromaleppostragicfate