มรณสักขีจากตูนีเซียถึงตรุกี

 

 

 

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ผมได้มีโอกาสดูหนังเรื่อง Paradise Now (สวรรค์ทันที)  โดยการแนะนำจากเพื่อนรุ่นพี่ชื่อภาคภูมิ ตอนนั้นคุณภาคภูมิ ได้กำลังศึกษาต่อในชั้นปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความมีน้ำจิตน้ำใจต่อผม คุณภาคภูมิมักจะมีหนังสือใหม่ๆ หนังดีๆ และเรื่องเล่าต่างๆ บ่อยครั้งก็คุยกันต่อเนื่องยาวถึงร้านน้ำชาแถวๆพญาไท ยามค่ำคืน จำได้ว่าคุณภาคภูมิได้ช่วยอธิบายและแนะนำเรื่อง เศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งการก่อการร้าย/ความรุนแรง (The Political Economy of Terrorism) ที่ผมฟังแล้วรู้สึกสนุก และได้ให้ยืมแผ่นซีดีหนังเรื่อง Paradise Now หนังเกี่ยวกับการปาเลสไตน์และการระเบิดพลีชีพ 

 

ในหนังสือ เศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งการก่อการร้าย/รุนแรง ผู้เขียนหนังสือได้อธิบายการใช้ความรุนแรงด้วยตัวเลขในการพิสูจน์ แสดงกราฟการใช้ข้อมูลตัวเลขก่อการร้ายระหว่างประเทศ ลักษณะของเหตุการณ์การก่อการร้าย และบอกสรุปชี้ให้เห็นความรุนแรงกับตัวเลขว่ามันสัมพันธ์กันอย่างไร โดยมีปัจจัยทางภายนอกประเทศและภายในประเทศเป็นตัวกำหนดความรุนแรง โดยทั้งหมดเป็นการแสดงตรวจสอบเชิงปริมาณของการก่อการร้าย  (The Political Economy of Terrorism เขียนโดย Walter Enders and Todd Sandler) 

 

สำหรับหนังเรื่อง Paradies Now (สวรรค์ทันที) หนังได้ชี้ให้เห็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ กระบวนการนำคนเข้ามาสู่การเป็นมือระเบิดพลีชีพ โดยถ่ายทอดเรื่องราวของวัยรุ่นซ่อมรถชื่อว่า ซาอิดกับคาเล็ดซึ่งเป็นเพียงเด็กหนุ่มธรรมดาๆ ในสังคมชั้นล่างของประเทศปาเลสไตน์ หนังได้สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตความจริงที่ย้อนแย้งกับการที่จะไปเป็นมือระเบิดพลีชีพคือ ฉากของซาอิดกับคาเล็ด ฟังเพลงร็อกจากวิทยุเก่าๆ นั่งดูดกัญชากับฉิบชาร้อนๆ และพูดถึงหญิงสาวนักข่าวที่ซาอิดแอบชอบ ซึ่งเป็นหญิงสาวนักข่าวที่มีความฝันถึงสันติภาพที่เดินทางมาจากฝรั่งเศส โดยมีภูมิหลังคือพ่อของเธอเป็นวีรบุรุษที่ชาวปาเลสไตน์ยกย่อง แต่เธอปฎิเสธการใช้ความรุนแรง อย่างสิ้นเชิง 

 

หนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นเนื้อแท้ของคนธรรมดาชาวปาเลสติเนียนโดยทั่วไป ที่ต้องเผชิญกับความอยุติธรรมที่เห็นและรับทราบมาตลอดชีวิตว่าประเทศอิสราเอล ได้เอารัดเอาเปรียบประเทศปาเลสไตน์มาโดยตลอด แต่ก็ไม่มีองค์กรใดหรือหน่วยงานใดของโลกสามารถหยุดอิสราเอลได้ ทั้งๆที่ทั่วโลกทราบดีว่าอิสราเอลได้ใช้ความรุนแรงกับชาวปาเลสติเนียนมาโดยตลอด จึงทำให้องค์กรที่ไม่ใช่รัฐแต่ติดอาวุธ ได้เข้ามามีบทบาทเพื่อต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่าความอธรรม ทำให้คนหนุ่มจำนวนไม่น้อยได้ออกร่วมขบวนการต่อสู้ติดอาวุธจนถึงการพลีชีพด้วยการระเบิดตัวเอง 

 

กล่าวให้ถึงที่สุดหนังเรื่องนี้ชวนให้ผู้ที่ชมเห็นถึงความเป็นมนุษย์ของคนที่จะไประเบิดพลีชีพ เช่น ฉากตอนที่พวกเหล่าทีมงานกำลังอัดวีดีโอเพื่อจะไปแจกจ่ายในเมืองปาเลสไตน์ แต่พวกตากล้องก็เปิดกล่องขนมที่แม่ซาอิดส่งมาให้ หยิบเข้าปากโดยไม่สนใจและถามเขาเลย ต่อมาคือ เรื่องเกี่ยวกับคำถามที่ซาอิดมีต่อกลุ่มขบวนการ ที่เขาถามถึงชีวิตของเขาหลังจากความตาย จะได้ตอบรับหรือไม่ ? 

 

สำหรับเรื่องราวการอัตวินิบาตกรรมทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดคลื่นแห่งการปฎิวัติในโลกมุสลิมในระยะหลังคือ มูฮัมหมัด บูอาซีซี วัย 26 ปี หนุ่มผู้ได้รับใบปริญญาแต่ไม่สามารถหางานทำได้เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศ อันเนื่องจากความไร้น้ำยาของผู้นำเผด็จการที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานคือ ประธานาธิบดีไซน์ เอล อาบีดีน เบน อาลี แห่งตูนิเซีย 

 

ในวันที่ 17 ธันวาคม 2553 บูอาซีซีได้ทำการจุดไฟเผาตัวเอง พูดให้ชัดคือ การฆ่าตัวตายในทางการเมือง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจอันอดยาก ซ้ำร้ายก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตบหน้าเขาและได้ยึดรถขายผลไม้ของเขา การจุดไฟเผาตัวเองของเขาทำให้ประธานาธิบดีตูนีเซียต้องหนีออกประเทศและก่อกำเนิดประวัติศาสตร์การเมืองที่เรียกว่า “อาหรับสปริง” รวมไปถึงประเทศซีเรียที่กำลังเกิดสงครามอยู่ในตอนนี้ด้วย 

 

ผมคิดเอาเองว่า “การจุดไฟเผาตัวเอง” เป็นการแสดงให้เห็นถึง การไม่ทำให้คนอื่นต้องตายและบาดเจ็บเพราะหากเขาเลือกไปฆ่าตำรวจที่ตบหน้าเขา เขาก็จะไม่สามารถล้มเผด็จการได้ ยิ่งทำให้ตำรวจมีอำนาจและเผด็จการยิ่งเข้มแข็ง

 

 

การเลือกเส้นทางของอาบูซีซีโดยการอัตวินิบาตทางการเมืองครั้งนี้ ได้รับการตอบรับมากกว่ากองกำลังติดอาวุธ เช่น ไอซิส กลุ่มมูจาฮีดิน ฯลฯ กล่าวคือมันดึงสามัญสำนึกของประชาชนในตูนีเซียและโลกอาหรับว่าจะไม่ทนกับผู้นำเผด็จการอีกต่อไป 

 

กลับมาที่เหตุการณ์สังหารฑูตรัสเซียในกรุงอังการา ประเทศตรุกี มือสังหารคือตำรวจหนุ่มวัย 22 ปี นายเมวลูท แมรท อัลทินทาซ (Mevlüt Mert Altıntaş) ชาวเมืองไอดิน(Aydın) ข้ามฝั่งทะเลอีกด้านก็จะเป็นกรุงเอเธนส์ ของประเทศกรีก

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ วันที่เกิดเหตุการณ์นายเมวลูท ได้โทรศัพท์คุยกับแม่  เขาบอกแม่ว่าตอนนี้กำลังอยู่ในงานต้อนรับ(ฑูต) และได้ถามถึงแม่ว่า “ทำอะไรอยู่”  แม่เขาก็ตอบว่ากำลังตอนรับแขกเช่นกัน ไม่ทันได้คุยต่อ ตำรวจหนุ่มก็ ได้บอกแม่ว่า พระเจ้าได้มอบเนื้อที่ฮาลาลให้” หลังจากนั้นลูกเขาก็ได้วางโทรศัพท์และไม่สามารถติดต่อไปเลย 

 

 

แม่ของตำรวจหนุ่มได้กล่าวถึงลูกตัวเองว่า เขาเป็นเด็กเรียบร้อยและไม่พูดมาก เป็นคนเงียบๆด้วยซ้ำ ไม่เคยแสดงความก้าวร้าวใดๆ  

 

หลังจากความตายของตำรวจหนุ่ม ได้มีการนำศพไปฝังที่บ้านเกิดของเขา และโดยส่วนใหญ่ประชาชนตุรกี ก็ไม่ได้สนับสนุนวิธีการนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้เกิดการประท้วงที่หน้าสถานฑูตรัสเซียในตรุกีก็ตาม เพราะโดยส่วนใหญ่การแสดงความไม่พอใจต่อรัสเเซียก็มีมาอย่างต่อเนื่องจากโลกมุสลิม การกระทำครั้งนี้ได้ถูกประณามจากรัฐบาลตรุกีและรัสเซีย และถูกจำกัดความครั้งนี้ว่าเป็นการก่อการร้าย  

 

ย้อนไปถึงหนังสือเรื่อง เศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งการก่อการร้าย/ความรุนแรง ที่ไม่ได้อธิบายคือ การกระทำความรุนแรงทางการเมืองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โครงสร้างทางการเมือง ระบบการเมือง ผู้นำทางการเมือง ฯลฯ ในแต่ละครั้งส่งผลอย่างไร และวิธีการแบบใดที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง 

 

แน่นอนสองคนที่ไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างแน่นอนคือ นายมูฮัมหมัด บูอาซีซี แห่งตูนีเซีย และนายเมวลูท แมรท อัลทินทาซ แห่งตุรกี เพราะทั้งสองเลือกที่จะขึ้น Paradise Now (สวรรค์ทันที) ?