หากจะเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง 5 เรื่องสำคัญ CSOs ชายแดนใต้ต้อง Get
ตลอดระยะเวลาการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมเพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในปาตานี/ชายแดนใต้นับจากปี 47 เป็นต้นมา โดยอีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะย่างเข้าปีที่ 13 ไฟใต้ แม้นผลลัพธ์จะยังไม่นำไปสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้นแต่ก็ต้องยอมรับว่า การขับเคลื่อนงานของภาคประชาสังคมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติเช่นกัน อาทิ ศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้น จำนวนคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น ประเด็นที่ไม่เคยถูกพูดถึงถูกหยิบยกมาถกเถียงและเป็นประเด็นในการแก้ปัญหา
อย่างไรก็ตามหากมองย้อนกลับดูบทเรียนการทำงานและมองไปถึงยุทธศาสตร์ข้างหน้าของการขับเคลื่อนเพื่อคลี่คลายปัญหาในพื้นที่ ก็มีประเด็นให้ได้แลกเปลี่ยนกันไม่น้อย โดยไม่นานมานี้ก็มีวงพูดคุยของภาคประชาสังคมซึ่งทำงานประเด็นต่างๆไม่ว่าประเด็นเด็ก ผู้หญิง สื่อ ศาสนาวัฒนธรรม และการพัฒนา โดยมีปาตานี ฟอรั่ม เป็นเจ้าภาพเปิดพื้นที่ในการคุยซึ่งการพูดคุยครั้งนี้ซึ่งมีเนื้อหาหลากหลายประเด็นสำคัญที่เป็นประโยชน์น่าจะนำมาเผยแพร่ เพื่อความเข้าใจของคนทำงานประชาสังคมปาตานี/ชายแดนใต้
ประเด็นที่หนึ่ง“ตกผลึก” ร่วมในปัญหารากเหง้า
ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีพลวัตรความขัดแย้งค่อนข้างสูงและมีปัจจัยที่ซับซ้อนมากมาย หากมีแง่มุมที่ภาคประชาสังคมจะต้องหันกลับมาทบทวนวิเคราะห์และทำความเข้าใจกันอย่างต่อเนื่อง คือ สถานการณ์ความขัดแย้งที่มีพลวัตร ยังคงเชื่อมโยงกับรากเหง้าของปัญหาซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมือง เป็นปัญหาที่มีจุดเริ่มต้นจากการใช้อำนาจและการบริหารของภาครัฐในอดีตซึ่งได้สร้างบาดแผลซ้ำแล้วซ้ำอีกในพื้นที่จนทำให้เกิดปัญหาซับซ้อนอื่นๆต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน อาทิ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การเลือกปฎิบัติ กระบวนการยุติธรรมที่เป็นปัญหา หรือแม้นแต่การจัดการอำนาจการปกครองที่ไม่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ เป็นต้น แม้นจะมีการกล่าวอ้างว่าการพัฒนาและการแก้ปัญหาที่ผ่านได้มีความพยายามสร้างการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่แล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าการตัดสินใจสุดท้ายมักถูกกำหนดโดยส่วนกลางเป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้การทบทวนวิเคราะห์เกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจกับความคิดของกลุ่มเป้าหมายที่ทำงาน ภาครัฐและกลุ่มขบวนการBRN ซึ่งมีผลต่อการทำยุทธศาสตร์ของภาคประชาสังคมอันสอดคล้องต่อสภาพปัญหาอย่างแท้จริงแต่ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมชายแดนใต้มักยึดติดอยู่กับประเด็นปัญหาเฉพาะหน้าและแนวนโยบายของภาครัฐ จนทำให้ปัญหารากเหง้าจึงยังคงถูกซุกเอาไว้หรือไม่ได้ขยับไม่ไหนไกล
ประเด็นที่สอง“ทบทวน” การทำงานข้ามกลุ่มที่แตกต่าง
การทบทวนท่าทีของภาคประชาสังคมต่อการทำงานกับกลุ่มความคิดที่แตกต่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นความต่างในเรื่องแนวคิดทางการเมือง เพศ วัย ศาสนาและวัฒนธรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดมุมมอง ความคิด ความร่วมมือ และการแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ๆ แต่ที่ผ่านมาการยึดมั่นถือมั่นในกรอบคิดของตัวเอง หรือกลุ่มก้อนของตัวเองมากจนเกินไป ทำให้พื้นที่ร่วมเพื่อสร้างอำนาจต่อรองต่อคู่ขัดแย้งคือภาครัฐและฝ่ายขบวนการลดน้อยลงไปด้วย ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งที่เป็นอุปสรรคอาจต้องกลับไปดูเรื่องของการตกผลึกร่วมในปัญหารากเหง้าซึ่งภาคประชาสังคมแต่ละกลุ่มมองกันอย่างไร หากการตกผลึกร่วมนั้นมองเห็นไปในทิศทางเดียวกันอาจจะทำให้เกิดการลดกำแพงในการทำงานข้ามกลุ่มกันได้แม้นวิธีการทำงานจะแตกต่างกันก็ตาม หรืออาจทำให้มองเห็นประเด็นร่วมที่เกี่ยวโยงกับปัญหารากเหง้า อาทิ ประเด็นสิทธิมนุษยชน ประเด็นประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น
ประเด็นที่สาม“ชัดเจน” ในมุมมองและท่าทีว่าด้วย “ความเป็นกลาง”
การนิยามบทบาทและหลักการของภาคประชาสังคมในสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ภาคประชาสังคมเองต่างก็เข้าใจและเชื่อในการนิยาม หลักการ แตกต่างกัน แต่หลักการว่าด้วย “ความเป็นกลาง” นั้นเป็นหลักการใหญ่ที่ถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่าที่ที่เป็นกลางของภาคประชาสังคมที่อยู่ระหว่างคู่ขัดแย้งคือภาครัฐและฝ่ายขบวนการ ซึ่งเป็นนัยยะของเรื่องท่าทีที่ต้องแสดงออกมาให้ชัดเจน แม้นในเชิงความคิดจะมีความเอนเอียงกับอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไรก็ตาม
ขณะเดียวกันก็มักจะมีการเรียกร้องความเป็นกลางระหว่างพลเมืองที่ได้รับผลกระทบกับภาครัฐ ซึ่งโดยนัยยะนี้เป็นเรื่องที่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไม่น้อย เพราะโดยเนื้อแท้ของภาคประชาสังคมแล้วเป็นกลไกที่มีการทำงานแอบอิงกับภาคพลเมืองที่ได้รับผลกระทบเป็นประการสำคัญ ภาคประชาสังคมคือกลไกหนุนเสริมอำนาจหนึ่งของพลเมืองทีสามารถต่อรองกับภาครัฐและกลุ่มขบวนการได้ จึงไม่สมเหตุสมผลที่จะให้ภาคประชาสังคมต้องเลือกระหว่างพลเมืองกับคู่ขัดแย้งซึ่งหมายถึงภาครัฐและกลุ่มขบวนการ
ประเด็นที่สี่“ค้นหา” ความเชื่อมโยงกับภาคพลเมืองชายแดนใต้
สถานการณ์การเมืองไทยเป็นปัจจัยสำคัญที่จำกัดพื้นทางการเมืองของภาคพลเมืองโดยรวมของประเทศ ขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนในการคลี่คลายความขัดแย้ง คือการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐเพื่อนำมาสู่การแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง แต่ด้วยพื้นที่ทางการเมืองที่โดนจำกัดจึงทำให้การมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองที่กำหนดโดยพลเมืองเองจึงอีหลักอีเหลือ ไปไม่สุดถึงการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ที่ผ่านมาคนทำงานประชาสังคมพยายามจะมีบทบาทในการเชื่อมการมีส่วนร่วมแต่การกำหนดท่าทีของภาคประชาสังคมเองกับคู่ขัดแย้งก็ทำให้มีเส้นแบ่งระหว่างภาคพลเมืองในพื้นที่ท่ามกลางบรรยากาศของความหวาดระแวงที่เป็นทุนเดิมจึงทำให้การเชื่อมประสานกันไม่ได้เป็นไปโดยความรู้สึกนึกคิดร่วมอย่างแท้จริง ดังนั้นภาคประชาสังคมจึงต้องค้นหาแนวทางการทำงานเชื่อมโยงกับภาคพลเมืองโดยอาจจะเริ่มต้นด้วยการกำหนดความสัมพันธ์ท่าทีที่ใกล้ภาคพลเมืองไปพร้อมๆกับการสร้างบรรยากาศความไว้วางใจระหว่างกัน
ประเด็นที่ห้า “ยกระดับ” การสื่อสารสาธารณะ
กว่าทศวรรษของความขัดแย้งในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้มีองค์ความรู้ ข้อมูล ข้อเท็จจริงมากมาย ให้ได้ศึกษาทำความเข้าใจซึ่งการเข้าใจปัญหาเป็นกุญแจสำคัญคลี่คลายความขัดแย้งในพื้นที่ หรืออย่างน้อยทีสุดก็จะไม่นำไปสู่การตอกย้ำซ้ำเติมต่อปัญหา แต่ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมที่หมายรวมไปถึงกลุ่มวิชาการเองก็ไม่ได้มีการจัดการสิ่งเหล่านี้ให้เป็นระบบ มีความเชื่อมโยงข้อมูลอย่างรอบด้านเท่าที่ควรจนมาช่วงระยะที่เข้าใจได้ว่า 4-5 ปีให้หลัง ก็เริ่มมองเห็นความพยายามและตระหนักในเรื่องเหล่านี้ แต่ถึงกระนั้น ความรู้ ข้อมูล ข้อเท็จจริง ก็ถูกจัดการให้เข้าใจต่อกลุ่มเฉพาะ ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรังในพื้นที่ส่งผลกระทบไม่ได้เพียงแค่ภาคพลเมืองในพื้นที่เท่านั้น แต่กำลังขยายผลกระทบไปทั่วทั้งประเทศ
โดยเฉพาะผลกระทบต่อการจัดการความสัมพันธ์ของผู้คนที่ต่างหลั่งไหล ไปมาหาสู่ ไม่ได้หยุดนิ่งในแบบวิถีของโลกสมัยใหม่ ขณะที่การเกิดขึ้นของ Social media ยิ่งตอกย้ำความใกล้ของการปฏิสัมพันธ์ยิ่งขึ้น ทำให้การมองความขัดแย้งของปาตานี/ชายแดนใต้ดำเนินไปอย่างโดดๆไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นการออกแบบการสื่อสารข้อมูลข้อเท็จจริง การจัดการชุดความเข้าใจและองค์ความรู้ จึงต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายในสังคมทุกระดับทั้งในและต่างประเทศด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไปตามบริบทและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย เพราะนั่นหมายถึงการเอาจริงเอาจังกับโอกาสที่ได้มีบทบาททางเมืองในพื้นที่ของภาคประชาสังคม
ทั้งหมด คือ 5 ประเด็นพื้นฐานที่ท้าทายภาคประชาสังคมนอกเหนือจากประเด็นอื่นๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าการทำงานของภาคประชาสังคมในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ยังให้ความสำคัญกันน้อยมากทั้งๆที่ 5 ประเด็นข้างต้น คือ กุญแจสำคัญในการยกระดับการทำงานของภาคประชาสังคมไปถึงจุดที่เป็นเอกภาพและการเสริมสร้างอำนาจการต่อรองกับคู่ขัดแย้ง ดังนั้นในทศวรรษต่อจากนี้จึงเป็นความท้าทายสำคัญของภาคประชาสังคมที่ต้องขับเคลื่อนงานในสังเวียนของการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งปาตานี/ชายแดนใต้ ที่น่าจับตา
แต่หากยังนิ่งเฉยกับประเด็นเหล่านี้ “ความหวัง” ในการคลี่คลายความขัดแย้งก็อาจจะเป็นได้แค่ความ “เพ้อฝัน” เท่านั้นเอง..