เกาะติด Café ชุมชนสะเอะ อ.กรงปินัง: ไฟใต้-อาเซียน/วิกฤต-โอกาส กับอนาคตการกศึกษาชายแดนใต้

ใครจะไปคาดคิดว่า เช้าของวันที่ 31 สิงหาคม ปี 55 ซึ่งตรงกับกำหนดแผนงาน Patani Café ครั้งใหม่ที่ว่าด้วยเรื่อง ไฟใต้-อาเซียน/วิกฤต-โอกาส กับอนาคตการกศึกษาชายแดนใต้ ณ โรงเรียนบ้านสะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา จำเป็นต้องเลื่อนไปโดยฉุกละหุก ด้วยเหตุผลเดียวคือ ความผิดปกติในพื้นที่ “ปูพรม ธงมาเลย์” ครอบคลุม 3 จชต. แต่หลังจากนั้นถัดมาอีก 1 สัปดาห์ Patani Café ตามที่วางPlan กันไว้ ก็เกิดขึ้นจนได้ และแน่นอนช่วงระยะเวลาที่ห่างเพียงสัปดาห์เดียวย่อมทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นของชาวบ้านและทีมงานปาตานี ฟอรั่มไม่น้อย ซึ่งเป็นผลทำให้ชาวบ้านเองเข้ามาร่วมเสวนาครั้งนี้กันอย่างคับคั่ง

นูรุดดีน  โต๊ะตาหยง หนึ่งในทีมงานปาตานี  ฟอรั่ม เกริ่นเข้าสู่การเสวนาว่า เรามีความตั้งใจ  และมุ่งมั่นทุกๆ  ครั้งในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนซึ่งครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งความตั้งใจอีกหนึ่งเวที   ในการขยายพื้นที่ให้ชาวบ้านพื้นที่เป้าหมายได้ทำความรู้จักกับ  ปาตานี ฟอรั่ม มากขึ้น  รวมถึงการจัดเวทีในการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่สังคมทั้งประเทศให้ความสนใจไม่น้อยซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่ในกระแส คือ  ไฟใต้-อาเซียน/วิกฤต-โอกาส กับอนาคตการกศึกษาชายแดนใต้ โดยมีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนอย่าง นายอิสมาแอ  สาและ จากมูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  และนักวิชาการด้านการศึกษาคนรุ่นใหม่ คุณธีรวัช  จาปาง เข้ามาสร้างสีสัน และนำเสนอประสบการณ์การทำงาน มุมมองที่แทบจะไม่เคยมีใครพูดถึงมากนัก   

นายอิสมาแอ  สาและ ให้มุมมองว่า ถ้าพูดถึงเรื่องของยุทธศาสตร์หรือเรื่องของอาเซี่ยน ถือได้ว่าคนที่อยู่ที่นี่ค่อนข้างที่จะตื่นตัวและให้ความสนใจมาก เมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซีย  อินโดนีเซีย  ซึ่งรัฐควรกำหนดให้พื้นที่  3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาคในการประสานงานเพราะใช้ภาษาเดียวกัน ข้อดีของอาเซี่ยนเมื่อเข้ามาในพื้นที่  3  จังหวัด ด้านเศรษฐกิจคน3จังหวัดจะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นในการเป็นตัวกลางการแปลภาษาให้กับสถานที่ต่างๆ  เช่น โรงพยาบาล  โรงงาน ขณะที่ข้อเสียคือเราอาจสูญเสียความเป็นอัตลักษณ์ก็เป็นได้

นายอิสมาแอ  สาและ บอกต่อว่า Professor ที่อยู่  UAL  มาเลเซียซึ่งเป็นคนปัตตานี  ตอนนี้ไม่สามารถกลับมาพัฒนาพื้นที่บ้านเกิดของตนเองได้เนื่องจากปัญหาความมั่นคง และอีกหลายๆ  คน ซึ่งถ้าเรามองถึงการพัฒนา  กับ  ความมั่นคงแล้ว  สองคำนี้ไม่สามารถไปด้วยกันได้เลย 

“ตั้งแต่ปี 47  เป็นต้นมา  จนถึงตอนนี้ ความรุนแรงทำให้มีการเสียชีวิตจากสถานการณ์  ประมาณ  5,000  คน  ผู้ที่สูญหายอีกประมาณ  40  คน  ผู้ที่ไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้อีกหลายคนและส่งผลให้มีเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้นเป็น  8,000  คน แล้วเด็กเหล่านี้จะอยู่กันยังไง  ซึ่งจากข้อมูลที่ได้จากการทำงานทราบว่าเด็กเหล่านี้ถูกทอดทิ้งประมาณ  100,000  คนหรือมากกว่านั้น  เนื่องจากสาเหตุ  ที่พ่อถูกระเบิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบ,  พ่อถูกอุ้ม,  พ่ออยู่ในคุก  ทำให้เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการอบรมการเลี้ยงดู  หรือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั้น  แน่นอนว่าสังคมก็จะเป็นสังคมที่ไม่มีคุณภาพ”

“ขณะเดียวกันกลับมาพูดถึงเรื่องกระแสของอาเซียนที่เกิดขึ้นในบ้านเรานั้นสังเกตเห็นว่าตามโรงเรียนต่างๆ  จะมีการปักธงชาติที่เป็นประชาคมอาเซียน  10  ประเทศ  เกือบทุกโรง  แต่ถามว่าเราเข้าใจเนื้อแท้ข้างในบ้างหรือไม่ว่า  อาเซียนคืออะไร  เข้าใจแค่ไหนและเรามีการเตรียมตัวอย่างไรมัน  หรือว่ามันเป็นแค่ภาพลวงตา  เราในฐานะที่อยู่ตรงกลางล้อมไปด้วยประเทศมลายู  ทำให้ได้รู้ถึงวัฒนธรรมของชาติต่างๆเท่านั้น”

นายอิสมาแอล ชี้ให้เห็นว่า ข้อได้เปรียบซึ่งถือเป็นจุดแข็งของคน  3  จังหวัด  นั่นก็คือ การได้พูดหลายภาษา  เช่น  ภาษามลายู  ภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ  และยิ่งกว่านั้นก็คือภาษาอาหรับ  แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ  ผู้ปกครองจะไม่สนับสนุนภาษามลายู โดยดูจากที่ลูกๆ  พูดแต่ภาษาไทยในบ้าน  จนถือว่ามันคือความปกติไปเสียแล้ว ใ

“ขณะเดียวกันคนที่อยู่แถบเอเชียใต้  ห้าร้อยล้านกว่าคนพูดภาษามลายู เหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่ง  ในเรื่องของสถานที่ศึกษาของลูกหลานก็เช่นเดียวกัน ถ้าเทียบกับคนไทยพุทธ  หรือ คนจีน  จะให้การสนับสนุนให้ลูกๆ  ไปศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศ  มาเลเซีย,อินโดนีเซีย,สิงค์โปร์ ,บรูไน เป็นต้น  แต่คนบ้านเรา(ต.กรงปินัง,ต.บันนังสตา)จะส่งลูกไปเรียนกรุงเทพฯ  บ้าง  เชียงใหม่บ้าง  วิทยากรได้ส่งเสียงเรียกร้องต่อผู้ปกครองว่าถ้าหากท่านเหล่านี้อยู่กันแบบปิดหูปิดตา  ไม่สนใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วท่านก็จะไม่ทันกับกระแสเศรษฐกิจสังคมภายนอก  ยกตัวอย่างถึงชีวิตของคนมุสลิมโรฮิงยาประเทศพม่า จากข่าวที่เกิดขึ้นโดยได้ตั้งข้อสังเกตุว่าข่าวที่เกิดขึ้นในต่างประเทศนั้น  หากเราไม่เก่งหลายๆภาษาแล้วเราไม่สามารถที่จะอ่าน  ฟังและบอกต่อไปยังเพื่อนบ้านเราได้  เพราะเราไม่ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการศึกษา  และได้ให้ชาวบ้านผู้เข้าร่วมเกิดความรู้สึกเป็นห่วงต่อชีวิตที่ประสบถึงความลำบากของพี่น้องเรา  และได้เชิญชวนให้พี่น้องที่อยู่ที่นี้เกิดความรู้สึกที่อยากจะช่วยเหลือ”

นายอิสมาแอล ยังกล่าวต่อว่า  การได้รับความรู้ทางด้านการศึกษาของเด็กในพื้นที่นี้  ไม่สามารถที่จะเทียบกับเด็กรุ่นเดียวกันที่อยู่เขตภาคอื่นๆ  เนื่องจากว่าผู้ที่เป็นแม่พิมพ์ที่มีความรู้เฉพาะสาขาวิชาไม่กล้าที่จะลงมายังพื้นที่บ้านเรา  แต่ที่เป็นการซ้ำเติมให้กับเด็กทำให้เด็กขาดทุนคือการปิดเรียนก็เกิดขึ้นบ่อยๆ  และการจำกัดเวลาให้เหลือน้อยกว่าเดิม  จากแต่ก่อน  8  โมง  เด็กจะถึงที่โรงเรียน  4  โมงก็จะกลับบ้าน  แต่ที่สังเกตหลายโรงแล้ว  10  โมงเช้าครูบางคนเพิ่งจะถึงที่โรงเรียน  3  โมงเย็น  ก็จะต้องออกจากโรงเรียนแล้ว  เหตุผลความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน

“ขณะนี้เด็กบ้านเราที่ไปเรียนต่างประเทศและประสบความสำเร็จทั้งหมด  6  คน  สิ่งเหล่านี้ไม่ได้บอกว่าเด็กบ้านเราทำไม่ได้แต่มันขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม  เช่น  โรงเรียน  ครู  ผู้ปกครอง  และได้เล่าถึงการเลี้ยงดูลูกของคนประเทศญี่ปุ่น  กับ  ประเทศอังกฤษ ว่าพ่อ – แม่จะให้ลูกได้เรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนคลอดออกมารัฐจะให้แม่เลี้ยงลูกด้วยตนเองนาน  3  ปี  แต่คนบ้านเราทุกอย่างจะส่งให้โรงเรียนเป็นคนดูแลรับผิดชอบทั้งหมด ในเรื่องของผู้นำหรือฝ่ายปกครองที่เห็นลูกบ้านเป็นเด็กกำพร้า  เร่ร่อน  เก็บขยะขาย  ควรที่จะให้ความสำคัญกับเด็กเหล่านี้ในการส่งต่อให้ไปเรียน” 

“ถ้ามองประเทศเพื่อนบ้านอย่าง  มาเลเซียนั้น  เค้าไปไกลว่าเราถึง  20  ปี  หมายความว่าเราตามหลังมาเลเซียอยู่  ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวของบ้านเราก็คือการไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม  โรงเรียนเองก็ไม่คิดที่จะมีการเปลี่ยนแปลง  แล้วเราจะให้ลูกหลานเราก้าวเข้าสู่อาเซี่ยนได้อย่างไร  จนนำไปสู่ที่กล่าวมาตอนต้นว่าเราจะรู้เท่าทันอาเซี่ยนหรือเราจะตกเป็นเบี้ยล่างของอาเซี่ยนเพราะความไม่รู้  จนนำไปสู่การเสียทรัพยากรในพื้นที่  เสียบุคลากรในพื้นที่  เพราะความไม่รู้เท่าทันอาเซี่ยน  ยกตัวอย่างทรัพยากรที่เป็นพลังงานลมที่ดีที่สุด  อยู่ระหว่าง  ต.กาบัง  กับ  ต.บันนังสตา  ถ้าหากทำที่ตรงนั้นได้  สามารถที่จะกระจายไฟฟ้าไปอย่าง  14  จังหวัดได้สบายๆ  และพื้นที่  3  จังหวัดเร่าจะมีทรัพยากรที่เป็นแร่ที่สามารถผ่านกระบวนการเป็นน้ำมันได้เทียบเท่ากับโลกอาหรับที่มีอยู่ในปัจจุบัน  กล่าวคือถ้าเด็กบ้านเราไม่มีจิตสำนึกที่จะดูแลรักษา  ท้ายสุดมันก็จะหมดไปเหมือนกัน” วิทยากรกล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ คุณธีรวัช  จาปาง นักวิชาการด้านการศึกษา ได้เล่าประสบการณ์เมื่อครั้งศึกษาอยู่ในประเทศมาเลเซียว่า มีความแตกต่างของเด็กบ้านเรามาก

“ประเทศมาเลเซียที่ให้ความสำคัญอย่างเห็นได้ชัดนั่นก็คือความกระตือรือร้นและมีความรับผิดชอบต่อตนเอง  กล่าวคือ  เด็กที่ประเทศมาเลเซียนั้นจะตื่นตี  5  ละหมาดซุบฺฮี  เสร็จก็จะเตรียมตัวไปเรียนเลย  แต่เด็กบ้านเรา 7  โมงเช้า  ก็เพิ่งตื่น  โรงเรียนในประเทศมาเลเซีย  จะเลิกบ่ายโมง ชั่วโมงเรียนเค้าจะสั้นแต่จะเป็นการเรียนที่ลึกซึ้ง  และหลังจากนั้นก็จะเรียนในสิ่งที่ตัวเองถนัด  แต่เด็กบ้านเราเรียนเสร็จ  4  โมงเย็น  และไปเล่นต่อ  กลับอีกที  ถึงเวลาละหมาดมัฆริบ  และไปเรียน  กีรออาตี  วันไหนที่ขยันก็ไป  วันไหนที่รู้สึกขี้เกียจก็หยุด  และเด็กบ้านเราจะเป็นคนอ่านหนังสือน้อย  ดังนั้นผู้ปกครองเองต้องดูแลและให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกๆ  เพราะอัลกุร-อ่าน  เองก็บอกไว้”

 

คุณธีรวัช ยังกล่าวอีกว่า จุดแข็งที่สำคัญของเด็กนักเรียนมาเลย์ คือเรื่องภาษาที่ใช้ คือ ภาษามลายู ซึ่งเราก็ใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้วในการเรียนอย่างตำราก็จะเป็นภาษาอังกฤษ  และจะมีเพื่อนที่เป็นคนจีนด้วยทำให้ได้เรียนรู้ภาษาจากเพื่อนคนจีน  ทำให้ได้  3 ภาษา ขณะที่คนบ้านเราก็จะได้หลายภาษาเหมือนกันแต่อย่างที่บอกว่าคนบ้านเราจะต้องเรียนรู้การใช้ภาษาให้สอดคล้องกับพื้นที่และวัฒนธรรม  ตัวอย่างคณะกรรมการอิสลามที่ไปเจอ อธิการเวลาแนะนำตัวตัวคนบ้านเรามักจะติดตำแหน่งที่เป็นภาษาไทยและจะพูดทับศัพท์  เช่น  คำว่า  กรรมการ  แต่คนประเทศมาเลเค้าไม่เข้าใจ  ตรงนี้ต้องคำนึงให้มากขึ้น

คุณธีรวัชคิดว่าในมิติของชาวบ้าน ซึ่งอยู่กับการทำงาน ทำกลุ่มอาชีพอยู่แล้ว ตรงนี้ก็เป็นจุดแข็ง แต่เราต้องพยายามรวมกลุ่มเพื่อสร้างกลุ่มอาชีพที่มีศักยภาพ  และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านสามารถยกระดับราคาสินค้าให้เทียบเท่ากับประเทศมาเลเซีย  อินโดนีเซีย

ทางด้านพี่น้องชาวบ้านชุมชนสะเอะ ต่างก็มีประเด็นแลกเปลี่ยนและบอกเล่าสู่กันฟัง เยอะแยะมากมาย แต่ครั้นจะนำมาเสนอให้หมดก็คงจะต้องใช้เวลาอ่านครึ่งค่อนวัน ดังนั้นจึงพอนำมาสรุปเป็นข้อๆ เข้าใจง่ายดังนี้

  1. เวลาเรียนของเด็ก  3  จังหวัดมีสัดส่วนที่แตกต่างกันมาก  คือ  เรียนไทย  5  วัน และเรียนศาสนา(ตาดีกา)แค่  2  วัน
  2. สำหรับเด็กที่มีความตั้งใจเรียน ศาสนา (ตาดีกา  )  สามารถนำความรู้เรื่องของภาษามลายูไปประกอบอาชีพค้าขายในประเทศมาเลเซียได้จนได้รับความสำเร็จ
  3. มีช่องทางใดบ้างที่จะให้เด็กได้รับโอกาสเรียนต่อต่างประเทศ
  4. สถานที่เรียนศาสนาหรือปอเนาะ  ส่วนใหญ่ไม่ใช่ความต้องการเรียนของเด็กแต่เป็นความต้องการให้เรียนของผู้ปกครองมากกว่า
  5. ในฐานะที่เป็นผู้ปกครองเข้าใจความหมายของการศึกษามากน้อยแค่ไหน การศึกษาของ  คน  3 จังหวัดมีความอ่อนแอ
  6. ให้ชาวบ้านพยายามสำรวจทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ตัวเองและปกป้องดูแลเพื่อไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของนายทุน
  7. คนที่เป็นครูควรคำนึงถึงคุณภาพของนักเรียนมากกว่าคำนึงถึงแต่เงินเดือนแต่เพียงอย่างเดียว 
  8. เราต้องเปลี่ยนแปลงคนในครอบครัวให้มีการศึกษาที่ดี  อย่าได้คำนึงถึงการตกงาน /ว่างงาน  อย่างน้อยก็ได้ยกระดับความคิด  ในทางกลับกันถ้าเรียนสูงระดับปริญญาโท  หรือเอก  แต่ไม่สามารถที่จะเปิดรับความคิดของคนอื่นได้  หรือยอมรับการเปลี่ยนแปลงก็ถือว่าคนนั้นล้มเหลวเช่นกัน
  9. รัฐต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอนในพื้นที่  3  จังหวัด

 

 

ทั้งหมดคือ เสียงที่ถอดออกมาจาก Patani Café รอบนี้ แต่ที่น่าสนใจในตอนท้าย ชาวบ้านพูดออกมาทำนองว่า “ขณะนี้ชาวบ้านก็ปรับตัว ไม่รู้จะปรับอย่างไรอีกแล้ว แต่หากระบบการศึกษาไทยไม่ปรับตัวบ้าง ก็คงเป็นเรื่องยากที่เด็กๆบ้านเราจะเท่าทันกับกระแสอาเซียนที่เกิดขึ้น”

 

เป็นเสียงจากชุมชนที่ชวนให้ขบคิด และซ่อนความหวังที่ยังรอคำตอบจากผู้หลัก ผู้ใหญ่ในสังคมบ้านเรา ....