ความรุนแรงบนรอยต่อของแผนที่โลก

      

อับดุรเราะฮหมาน  มูเก็ม [1]

“ความบริสุทธิ์และความจริงใจระหว่างเพื่อนมนุษย์นั้น

จะหดหายไปเพราะตรรกะแห่งผลประโยชน์

พันธะแห่งชาติพันธ์ วิถีแห่งความอิ่มหนำ”

-ซัยยิด กุฏุบ-

 

วาทกรรมความรุนแรงได้ “หมกมิดและซ่อนเร้น” จนรกทึบในพงหญ้าแห่งป่าเมือง โดยมากมักมาพร้อมกับการทำให้ “วิถีแห่งชนบท”เปลี่ยนรูปร่างเป็นมหานครแห่งเมืองด้วยอาหารการกิน วิถีชีวิต วัฒนธรรม การแต่งการ ภาษา ป้ายโฆษณาสินค้ายี่ห้อต่าง ๆ ยังไม่รวมถึงแผ่นปลิวโฆษณาเครือข่ายโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ตสามจีที่พร้อมจะย่นและย่อโลกให้เล็กลงอย่างน่าใจหาย หรือที่แสดงมโนภาพแบบชัดแจ้ง นั่นก็คือ“การโผล่”ในรูปของห้องเช่า ตึกแถว ศูนย์การค้าหรือแม้แต่กองทรายที่วางเกลื่อนกราดในย่านก่อสร้างของเมือง  

ใครเล่าจะรู้ว่า อาการตาแดงของเด็กชั้นประถมศึกษาข้างบ้านที่เริ่มอาละวาดเมื่อช่วงเย็นของวันนี้มาจากละอองทรายที่พัดผ่านมายามต้องลมวางไว้หน้าตึกแถวที่เพิ่งวางโครงการหมู่บ้าน เพราะนายช่างที่รับเหมาไม่สะดวกจะมาเริ่มงานหลังจากได้ตีราคาไว้แล้ว ข้าวของราคาสูงไม่ได้มีสาเหตุมาจากอะไรอื่นนอกจากรถบรรทุกแก็สพึ่งคว่ำไปเมื่อไม่กี่นาทีก่อนหน้า

นายจ้างหมดเงินก้อนสุดท้ายไปกับแก็สที่ระเบิดจากอุบัติเหตุและความไม่แน่นอนของลูกค้าที่จะมาเช่าบ้านหากนายจ้างได้เริ่มวางแผนผังทำเสร็จ นายจ้างขาดความเชื่อมั่นเรื่องธุรกิจบ้านเช่าในย่านภาคใต้เพียงเพราะข่าวระเบิดเจะโก๊ะและสายัณเมื่อครั้งเมืองยะลาและร้านอาหารเล็ก ๆ ของอามีนะห์เริ่มร่อยหรอผู้คนหลังโรงแรมลีการ์เด้นหาดใหญ่ถูกวางระเบิด

ใครเล่าจะรู้ แรงระเบิดอาจมาจากกลุ่มส่งยาเสพติดข้ามชาติก็เป็นไปได้ เพื่อลวงให้ประชาชนตาดำ ๆ และนักท่องเที่ยวเชื่อว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนเป็นผู้สร้างเรื่องอื้อฉาวลักษณะนี้ขึ้น ก็อีกนั่นแหละ ใครเล่าจะจินตนาการไปถึงว่า การเดินทางของยาเสพติดชนิดนี้อาจมาจากประเทศแถบยุโรป ซึ่งเปลี่ยนมาจากเงินก้อนใหญ่ที่รัฐบาลไทยเพิ่งเข้าไปยืมมาจากธนาคารชาติแห่งหนึ่งในอเมริกา

ซึ่งใครละล่วงรู้อีกเล่าว่า เงินที่ปล่อยให้ยืมไปก้อนนี้มาจากการขายอาวุธครั้งสุดท้ายเมื่ออเมริกาเริ่มประกาศสงครามกับอิหร่านและตะวันออกกลาง และอาวุธชนิดนี้คือแรงอัดฉีกร่างเด็กน้อยนอนในกองเลือดริมบาทวิถีใกล้เขตฉนวนกาซาร์และเวสแบงค์ ยังไม่รวมอาวุธชนิดเดียวกันที่สลายการชุมนุมของคลื่นประชาชนที่ซีเรีย

และใครเล่าจะรู้ว่า โรคตาแดงที่ใครบางคนกำลังไปโรงพยาบาลเพื่อรักษามันพ่วงต่อและเชื่อมร้อยกับเด็กน้อยโดนถล่มในพื้นที่ฉนวนกาซาร์อย่างลงตัว ส่วนหนึ่งของโลกภายใต้อาณาจักรแห่งความบ้าคลั่งกำลังเชื่อมต่อกันอย่างไม่ประติดประต่อผ่านของมนุษย์ แต่มันคือ ความโหดร้ายที่เพื่อนมนุษย์มองข้าม โดยเฉพาะ “ความไม่เข้าใจในวัฒนธรรม” ที่เป็นไป

รถในประเทศอินเดียวิ่งขับผ่านงานซ่อมประปาข้างทางอย่างเชื่องช้าและระมัดระวัง พนักงานกำลังขุดลอกคูคลองอย่างขยันขันแข็ง น้ำในคูสาดเทลงมาริมถนนที่ล้อรถบดวิ่งผ่านไปมา มอเตอร์ไซด์ซ้อนคนนั่งสองคนวิ่งขับผ่าน น้ำดำสกปรกสาดเทจากคูน้ำ กลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว กระเด็นกระดอนใส่รองเท้าและกางเกงของชายสองคน ที่ถือวีซ่านักท่องเที่ยว

คนหนึ่งบอกว่า หากเราไม่เคยมาอินเดีย เราจะพูดว่า “ไอ้สัตว์ มึงทำห่าอะไร แม่งไม่มามันแล้ว ถ้าเถื่อน ๆ อย่างนี้” พร้อมทำหน้าบึ้งตึงอย่างเอาเรื่อง แต่สำหรับคนที่มาประจำและหลงไหลความเป็นอินเดียก็จะบอกว่า                                         

  “โอ้คลาสสิคเหลือเกิน สนุกดี น่าท้าทาย” พูดพลางยิ้มอย่างพอใจเพราะความเป็นอินเดียที่ “เราเปลี่ยนเขาไม่ได้

มันคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่“ไม่มีวันจะเหมือนกัน”ในพื้นที่ส่วนต่างๆของโลกหากเพื่อนร่วมโลกไม่เข้าใจในความเป็นวัฒนธรรมแบบนี้ “โลกเรายังจะชดใช้ชีวิตแลกความไม่เหมือนกันอย่างที่เคยเป็นมา” หากเราไม่ได้มีวิธีการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ หลักสูตรสันติภาพที่เราก่อร่างขึ้นก็คงเป็นเพียง “มายามิติแห่งความฝัน” ที่กำลังลามเลียชีวิตและเพื่อนร่วมโลกจนอ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปในที่สุด

มีอย่างหนึ่งที่เรากลายเป็นข้อด้อยหรือข้อเด่น ก็ไม่สามารถพูดฟันธงออกมาได้ แต่อย่างหนึ่งที่เด่นชัด นั่นก็คือ วัฒนธรรมการขับรถของ“ความเป็นไทย”ที่เป็นไปอย่างเรียบง่ายและไม่ได้โลดโผนเหมือน“ความเป็นอินเดีย” เมื่อมองอีกภาพในดินแดนอันแปลกประหลาดสำหรับชาวไทย การนั่งบนรถสำหรับบนท้องถนนของอินเดียราวการผจญภัยครั้งใหญ่ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะผิวจราจรไม่ได้บรรจุด้วยรถราหรือผู้คนเพียงอย่างเดียว ทว่ามันคือ “สถานรวมพล” ตั้งแต่จักรยาน รถม้า  ลาโง่ อูฐบรรทุกของ รวมกระทั่งเกวียนที่ลากด้วยวัวควาย ยังไม่รวมถึง รถบรรทุกของและรถรับจ้างไม่ประจำทางที่ผ่านไปมาอย่างโกลาหล

เหตุการณ์บนท้องถนนในอินเดียมักทิ้งร่องรอยคราบเลือดแห้งกรังและแผลถลอกสด ๆ ให้เห็นเป็นประจำ “ความเงียบและเรียบขรึมของความเป็นไทย” มักปิดเร้นด้วย “ความรุนแรง”(โหด)ผ่านการกระทำบางอย่างที่มาพร้อมกับการสูญเสียได้ทุกเมื่อ เช่นการชนกันบนท้องถนน หากเป็นคนไทยต้องลงมาจากรถและเอาเรื่อง ตลอดจน “ฟาดฟัน” กันอย่างเผ็ดมัน บ้างก็ชกต่อยกันเพื่อคลายเครียดและแก้แค้นเพื่อฉาย “ความรุนแรงแบบเงียบขรึม” ออกมาอย่างฉกาจและเด่นชัดภายใต้สถานการร์ฉุกเฉิน

หากเป็นวัฒนธรรมแบบอื่นเช่น อินเดีย หรือ อาหรับ การชนกันถือเป็นเรื่องปกติและการพูดคำแรกหลังจากชนกันคือ “มาอัฟกาโระ” (ขอโทษด้วยนะครับ) และเป็นเรื่องปกติยิ่งกว่า (แม้จะมีบางส่วนของรถหักพัง หรือผู้คนมีรอยพกช้ำและบาดแผล)หากเห็นการปะทะกันด้วยเสียง ใครส่งเสียงออกมาดังน้อยกว่าถือว่า “แพ้”

ความหยาบคายผ่าน “การคุกคามด้วยเสียง” คงจะดีกว่าการประทุษร้ายด้วยความรุนแรงที่“หมกซ่อนในความเงียบขรึม”เป็นไหน ๆ เพราะเสียงอาจทำได้แค่ “ลามเลียความรู้สึก” ในห้วงยามหนึ่งเท่านั้น แต่ “การหำหั่นและประทุษร้าย” แล้วไซร้บาดริ้วจากผิวเนื้อถึงรากเหง้า โคตรตระกูล หากเรายังเป็นกันเหมือนอย่างเดิม ทางเดียวของความขัดแย้งลักษณะนี้คือ “การสูญเสียชีวิต  ทรัพย์สินผ่านหยดเลือดและคราบน้ำตา”

มีความจำเป็นขนาดไหนที่เราต้อง“ฆ่าฟัน”และ“หยิบยื่นมลทินแห่งบาป”ให้แก่กันเมื่อโลกคือ“พันธสัญญาและปึกแผ่นเดียวกัน” เพราะความจำเป็นในการเข่นฆ่าและชำระหยดเลือด ไม่ได้มีเป้าหมายอื่นนอกจาก ผลประโยชน์ อำนาจ

ไม่ต่างจาก ซัยยิด กุฏุบ ได้บอกว่า “ความบริสุทธิ์และความจริงใจระหว่างเพื่อนมนุษย์นั้นจะหดหายไปเพราะตรรกะแห่งผลประโยชน์ พันธะแห่งชาติพันธ์ วิถีแห่งความอิ่มหนำ”

จึงไม่แปลกที่เพื่อนร่วมโลกจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเขนฆ่ากัน ทุกคนกระทำต่อกันอย่างไร้ความปราณี  แม้กระทั่งคนเหล่านั้นคือผู้นำและบุคคลสำคัญในแต่ละประเทศ

“บุคคลสำคัญของโลกถูกลอบสังหารนั้นเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งจากมนุษย์ร่วมโลกด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ค.ศ.1812  สเปนเซอร์ เปอร์ซีวาล (Spencer Perceval) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จบชีวิตจากการถูกลอบยิง  หรือ ค.ศ.1865 ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln, 1809-1865) ผู้นำการเลิกทาสในสหรัฐอเมริกา ถูกลอบยิงระหว่างนั่งชมละคร ฆาตกรคือนายจอห์น วิลคส์ บูธ(John Wilkes Booth) ชายหนุ่มหัวรุนแรงที่สนับสนุนการให้มีทาสต่อไปในสังคมอเมริกัน” 

 มันคือ การห้ำหั่นกันของมนุษย์ร่วมโลกอย่างไร้ความปราณีและความเมตตา ผืนแผ่นดินของมนุษย์โลกในสายตาของผู้คุกคามนั้นแฝงด้วยมองผลประโยชน์ แน่แท้มันงอกเงยและสุกงามภายใต้หยดเลือดของเพื่อนร่วมโลกดี ๆ นี่เอง

“ความโกลาหลมาจากมนุษย์เองไม่ต่างจากช่วง ค.ศ.1875 ประธานาธิบดี กาเบียล การเซีย์ โมริโน(Gabriel Garcia Moreno) ของเอกวาดอร์ก็ได้ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมอีกคนหนึ่งเช่นกันและใน ค.ศ.1881 ประธานาธิบดี เจมส์ อับราม การ์ฟิลด์ (James Abram Garfield, 1831-1881) ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงเข้าที่แผ่นหลังหลายนัด”

“ในปี ค.ศ.1894 ประธานาธิบดีฝรั่งเศส  มาเรีย ฟรานโคอิส ซาดี คาร์นอท (Marie Francois Sadi Carnot ถูกแทงเสียชีวิต โดยสมาชิกกลุ่ม) ผู้ฝักใฝ่ลัทธิอนาธิปไตยชาวอิตาเลียน,ยังไม่รวมถึงท่านนายพลอีโสโรโก ยามามูโต (Isoroku Yamamoto)ผู้บัญชาการกองทัพเรือญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้แผนการของฝ่ายอเมริกา (1943)”

 “นอกจากนั้นยังมีนายพลอองซาน (Aung San, 1915-1947) ผู้นำขบวนการชาตินิยมเพื่อเอกราชของพม่าผู้เป็นบิดาของนาง อองซาน ซูจี ( Aung San Suu Kyi ) ถูกยิงในที่ประชุมรัฐบาลชั่วคราว โดยการสั่งการของ อูซอ (U Saw) คู่แข่งทางการเมือง ผู้เคยเป็นถึงนายกรัฐมนตรีมาแล้ว ไม่ต่างจาก มหาตมะ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi, 1869-1948) ผู้นำชาวอินเดียในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษถูกจ่อยิงด้วยน้ำมือของหนุ่มนักชาตินิยมชาวฮินดู,

คนมุสลิมอเมริกันอย่าง มาลคอล์ม เอ็ก (Malcolm X ) นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของคนผิวสี (1965), หรือกระทั่ง นักต่อสู้เพื่อสิทธิ มนุษยชนชาวอเมริกันผิวดำ อย่าง มาติน ลูเทอร์ คิง (Martin Luther King, Jr.1968),ศิลปินเพื่อสันติภาพชาวอังกฤษ จอห์น เลนอล (vpjk’John Lennon 1980)”  

 “การสังหารอินธิรา คานธี (Indira Gandhi, 1917-1984) ซึ่งถูกยิงโดยองครักษ์ชาวซิกห์ของเธอเอง ลูกของเธอคือราจีฟ คานธี (Rajiv Gandhi, 1944-1991) ก็มาโดนระเบิดพลีชีพของกลุ่มกบฏชาวทมิฬและในปี 2007 ในปากีสถาน เบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto, 1953-2007) ก็ถูกลอบสังหารด้วยเช่นกัน”

ความโกลาหลเหล่านี้ได้ดำรงและซ่อนเร้นในสังคมโลกอย่างยาวนานและเหมือนว่า มันจะฝังลึกและกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ให้คนรุ่นใหม่ได้นำมาเป็น“เครื่องมือผลิตซ้ำความรุนแรง”และการเข่นฆ่ากันมาหลายต่อหลายครั้งเหตุผลเพียงความไม่เหมือนกันของเพื่อนร่วมโลกนี่เอง

ประการทั้งหมดเหล่านี้อาจารย์คนสำคัญของโลกอย่าง Samuel P. Huntington  ได้นำเสนอแบบง่าย ๆ ใน The Clash Of Civilizations and The Remaking Of World Order นั่นก็คือ ความไม่เข้าใจในมิติที่แตกต่างของความเป็นวัฒนธรรมบนรอยต่อของพื้นที่โลกผ่านประเด็นที่เด่นชัดและรูปแบบง่าย ๆ แม้มันจะผ่านไปมากกว่า ๒ ทศวรรษแล้วก็ตาม

ประการแรก ความต่างของพื้นหลังสำหรับเพื่อนร่วมโลก (ความต่าง ณ โลกใบนี้รวมไปถึงความเป็นตะวันตก ลัทธิขงจื้อ  อิสลาม ฮินดู ความเป็นชาวลาตินอเมริกา และวัฒนธรรมแบบแอฟริกา) ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา เพราะเมื่อมนุษย์มีสิ่งเหล่านี้แตกต่างกัน มุมมอง ทัศนคติและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์แต่ละคนกับพระเจ้านั้นไม่เหมือนกัน ยังไม่รวมถึงความสัมพันธ์ในรูปของปัจเจก สังคม พลเมือง ตัวตน และครอบครัว ก็มีความต่างกันอย่างมากมาย  ยิ่งไปกว่านั้น ความต่างในมุมมองเหล่านี้ มนุษย์จึงให้ความสำคัญของความเท่าเทียม  สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ  เสรีภาพ แตกต่างกันออกไปอย่างเห็นได้ชัด

มันคือ “ผลผลิตแห่งยุคสมัย” ที่แย่ไปกว่านั้น (อาจจะดีก็ได้ หากคิดในอีกมุมของผู้ได้ผลประโยชน์จากความขัดแย้ง) ความไม่ลงรอยในมุมมองการเมือง และความขัดแย้ง สิ่งเหล่านี้จะเป็น “เส้นแบ่ง”และ “ขีดเลือก”ไปโดยอัตโนมัติ

ประการที่สอง ความเป็นโลกได้แบ่งซอยผู้คนมาจากสถานที่เล็ก ๆ ในทุกภาคส่วนของโลก เพราะพื้นที่เหล่านี้ได้กำหนดความไม่เหมือนของเพื่อนร่วมโลกไว้โดยอัตโนมัติ แถมสิ่งนี้ยังเพิ่มความแตกต่างไปหลายขุม

ประการที่สาม   เกิดจากกระบวนการทางเศรษฐกิจในโลกสมัยใหม่และการเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านการแบ่งผู้คนให้เชื่อมร้อยความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นในพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของโลก

ประการที่สี่  เกิดจากการสำนึกด้านอารยะธรรมที่ตนได้ถือครองอยู่

ประการที่ห้า  การแสดงอัตลักษณ์เฉพาะและความเป็นตัวตนของแต่ละพื้นที่ เพราะสิ่งนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มันคือสิ่งที่ติดมาจากความเป็นพื้นที่เดิม เช่น ความเป็นบอสเนีย  อาหรับ มาลายู หรือ จาม

ประการสุดท้าย  การเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของโลกไม่ว่าจะเป็น อเมริกา เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง  แอฟริกา ยุโรป หรือลาตินอเมริกา

กล่าวโดยสรุป การเติบโตโดยโครงสร้างที่เป็นไปตามที่ Samuel P. Huntington ได้นำเสนอคร่าว ๆ ประมาณ ๖ ข้อหลัก ๆ นั้น “โครงสร้างของสังคมโลกเป็นการสร้างมิติปิดกั้นการเรียนรู้ในการก้าวข้ามความต่างของอารยะธรรมมนุษย์ไว้โดยอัตโนมัติ จึงเป็นเรื่องปกติของความเป็นมนุษย์ที่ต้องฆ่าฟันกัน” แต่ด้วยความเมตตา ความฉลาดที่มนุษย์ปกติมีก็สามารถก้าวข้าวสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยหัวใจที่เปิดกว้างและยอมรับชะตากรรมของกันและกันเพราะทุกคนคือ“ผลพวงและสำนึกส่วนหนึ่งของรอยร้าวที่โลกกำลังเผชิญ”

เอาเข้าจริง เมื่อจะกล่าวว่า วัฒนธรรมคืออะไร มันก็คือ ส่วนหนึ่งที่ชีวิตมนุษย์ได้ “หมุนวน”เข้าไปมีส่วนร่วมและได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรอยต่อจิกซอร์ได้แบ่งพื้นที่ไว้ มันคือ ส่วนของความเป็นวิถี มุมมอง วัฒนธรรม ความเป็นเผ่าพันธุ์ ชนกลุ่มน้อยแห่งชาติพันธุ์กลุ่มแห่งศาสนาและความเป็นชาตินิยม ทั้งหมดคือ “ร่องรอยที่มีผลต่อการพรากคนรักออกจากอ้อมกอดของกันและกัน”

เพราะ “มิติตื้น ๆ”ของวัฒนธรรมมันส่งผลไปถึง “ความกลวงลึก”ของความเป็นมาเลย์ ไทย พม่า ลาว ปุสตุน อินดู หรือ ยิว คริสต์ อิสลาม ตะวันตก ตะวันออก และมายาคติเหล่านี้ที่แต่ละประเทศหาทางออกด้วยการมี “เครื่องมือในการต่อรอง” จึงไม่แปลกที่มิสไซน์มีชื่อว่า Agni V.” (ผู้เขียนจะนำเสนอในบทความครั้งต่อไป) ของอินเดียที่มีความยาวประมาณ ๑๗.๕๐ เมตรที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ เมตร น้ำหนักแรงประมาณ ๕๐,๐๐๐ กิโลกรัม ระยะพิกัดประมาณ ๕,๐๐๐ กิโลเมตรได้ผลิตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทางออกของการอยู่รอดในโลกแห่งความต่างเหมือนจะมีไม่กี่ทาง หนึ่งในนั้นอินเดียได้เลือกใช้ “นิวเคลียร์” เป็นเครื่องมือต่อรองสำคัญเพราะมันคือแรงต้านอันทรงพลังในการแสดงแสนยานุภาพบนเวทีการเมืองโลกและอินเดียได้ประกาศความโหดร้ายของประเทศตัวเองผ่าน “อุปกรณ์เสริมอำนาจ” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา



[1] M.A. Political science (Islamic political philosophy), Aligarh Muslim University,India,2008-2010 เขียนเมื่อ ; 15-5-2012