" นบีไม่กินหมาก " ของอนุสรณ์ อุณโณ

 

สัปดาห์ที่แล้วมีหนังสือเล่มที่ 3 ของสำนักพิมพ์ปาตานี ฟอรั่ม ออกสู่สาธารณะเป็นที่เรียบร้อย ชื่อ ของหนังสือเล่มนี้คือ "นบีไม่กินหมาก"

ครั้งแรกที่ได้เห็น ความสนใจของผมตกไปอยู่กับชื่อของหนังสือเป็นอย่างมาก  ชื่อซึ่งแฝงไว้ถึงการท้าทายทางความคิด ทำไมนบีจึงไม่กินหมาก? ทำไมต้องเป็นหมาก? และทำไมนบีต้องจำคู่กับหมาก?  ทว่า เมื่อได้อ่านแล้วจึงพบว่าเนื้อในของหนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งที่แทบไม่ได้มีหมากและนบีเป็นแกนหลักของการเดินเรื่อง  หัวใจสำคัญในหนังสือเล่มนี้คือการอธิบายชีวิตสามัญชนชาวมลายูที่มีชีวิตอยู่ในสามจังหวัดภาคใต้  หมากและนบีเป็นเพียงอุปลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงสภาวการณ์ที่ยุ่งยากในการมีชีวิตของคนมลายู

 

ถามว่าหนังสือที่ว่าด้วยการศึกษาในสามจังหวัดภาคใต้เล่มนี้ แตกต่างจากเล่มอื่นอย่างไร  ผมพบความโดดเด่นสำคัญอยู่ 5 ประการด้วยกัน

ประการแรก ท่ามกลางอุตสาหกรรมหนังสือว่าด้วยสามจังหวัดภาคใต้ที่มีอยู่ล้นตลาดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา  หนังสือเล่มนี้ได้เลื่อนโฟกัสคำอธิบายจากความขัดแย้งและความรุนแรงทางประวัติศาสตร์และการเมืองระหว่างมลายูกับรัฐไทย มาสู่การเมืองในชีวิตธรรมดาสามัญของคนมลายู เนื่องจากที่ผ่านมา ภาพของสามจังหวัดภาคใต้มักถูกระบายออกมาออกมาในลักษณะภาพที่ขัดแย้งกันอย่างล้นเกินไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สันติสุข-ความขัดแย้ง, พลเมืองที่ดีของรัฐ-ผู้ก่อการร้าย  เราจึงรู้จักผู้คนในสามจังหวัดภาคใต้ผ่านภาพตัวแทนใหญ่ๆ เหล่านี้แทบทั้งนั้น  งานเขียนน้อยชิ้นนักที่สนใจชีวิตประจำวันของคนมลายูและถ่ายทอดออกมาอย่างมีพลัง  อนุสรณ์แสดงให้เห็นว่า ชีวิตประจำวันของผู้คนนี่แหละคือพื้นที่ทางการเมืองอย่างลึกซึ้งและยากที่จะเข้าใจได้โดยง่าย  เรื่องพวกนี้จึงถูกเลือกที่จะมองข้าม และให้เอาคำใหญ่ๆ มาแปะป้ายตีตรากันไปอย่างง่าย

ประการที่สองในเชิงกายภาพ พรมแดนความรู้ที่มีอยู่มากมายในสามจังหวัดภาคใต้ของไทย  โดยมากแล้วมักกระจุกตัวในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แบบพื้นที่ราบริมชายฝั่งทะเล  อันเป็นพื้นที่ซึ่งกระแส Islamization  มีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของชนมลายูค่อนข้างมาก หนังสือเล่มนี้ชวนให้ผู้อ่านคิดต่างออกไป อนุสรณ์ได้เลือกบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนในบริเวณเชิงเขาและติดกับลำน้ำสายใหญ่ที่ห่างออกไปจากชายทะเล  ทั้งยังอธิบายว่า ท่ามกลางความรุนแรงนั้น  คนในพื้นที่จำเป็นต้องต่อรองกับสิ่งที่ยากลำบากพอกันหรืออาจจะยากจนไม่สามารถอธิบายออกมาได้ นั่นคือ แรงปะทะระหว่างความเชื่อท้องถิ่นกับหลักการทางศาสนาอิสลาม  สำหรับ ชนมุสลิมทั่วไป คงทราบดีว่าความยุ่งยากในการจัดการกับสภาวะนี้นั้นเป็นเช่นไร  ความเชื่อท้องถิ่นผูกโยงถึงสายสัมพันธ์ที่เรามีกับคนกลุ่มอื่นๆ และสะท้อนซึ่งอัตลักษณ์อันหลากหลายของเราทั้งในเชิงท้องถิ่นและชาติพันธุ์  ทว่า อัตลักษณ์หรือตัวตนเหล่านั้นบ่อยครั้งก็มักไปด้วยกันไม่ได้กับหลักศรัทธาทางศาสนา  ความยากเช่นนี้เป็นประเด็นที่ถกเถียงมานานในสังคมมุสลิมแต่ไม่มีใครทำการศึกษาอย่างจริงจัง  ทั้งยังถูกทำให้ให้เข้มข้นขึ้นในสถานการณ์ความรุนแรง  อนุสรณ์ได้ศึกษาผ่านอะไร?

ประการที่สาม อนุสรณ์ศึกษาผ่านพิธีกรรม  เนื่องจากพื้นที่ศึกษาของเขาขึ้นชื่อในเรื่องของหมอทำพิธีกรรมตามความเชื่อท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าทรงหรือมะโย่ง  ในภาพรวมของสามจังหวัด พื้นที่นี้น่าจะเป็นเสมือน "หัวใจห้องหลัก" ที่คอยสูบฉีดให้อัตลักษณ์มลายูดำรงอยู่ร่วมกับหลักศรัทธาทางศาสนาได้อย่างลงตัว  และนี่คือเหตุผลสำคัญซึ่งเราสามารถย้อนกลับไปยังชื่อ "นบีไม่กินหมาก" ได้  เนื่องจากข้อค้นพบของอนุสรณ์คือความพยายามยืนยันในความหลากหลายของความเป็นมุสลิมท่ามกลางหลักศรัทธาร่วมกันของศาสนาอิสลาม มุสลิมในทุกที่จึงมีมิใช่ภาพชีวิตแบบพิมพ์เขียวหมือนมุสลิมตะวันออกกลาง  หากมีสีสันในชีวิต มีความหลากหลาย และการพยายามสร้างบทสนทนาชีวิตต่อกันมากกว่าการนั่งเชื่อฟังอย่างเซื่องๆ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นแกนกลางในการทำความเข้าใจสังคมของผู้นับถือศาสนาอิสลาม  ความหลากหลายในสังคมมุสลิมเช่นนี้ต่างหากคือเอกภาพที่ควรจินตนาการถึง


ประการที่สี่ การเขียนงานชิ้นนี้ของอนุสรณ์เกิดขึ้นมาจากพื้นฐานการทำงานทางมานุษยวิทยา นั่นคือ งานชาติพันธุ์นิพนธ์ (Ethnography) งานประเภทนี้เป็นที่เข้าใจผิดกันเสมอว่าเป็นเพียงงานสนามหรืองานที่ปราศจากแนวคิดอะไรที่ลึกซึ้ง  ทว่า อันที่จริง งานชาติพันธุ์นิพนธ์ที่ดีคือการซึมซับเอาแนวคิดทฤษฏีไปใช้ในงานสนามอย่างเข้มข้น แต่ถ่ายทอดออกมาในฐานะเรื่องเล่าที่เรียบง่าย  หนังสือของอนุสรณ์เล่มนี้จึงสามารถอ่านได้สองระดับ ระดับแรกคือคือความเพลิดเพลินไปกับข้อมูลสารพัดที่ถูกเล่าออกมาอย่างไม่รู้จบ มีการเริ่มเรื่องที่ตื่นเต้น ท้าทาย และจบลงด้วยคำถามที่กระทุ้งเข้ามาในหัวสารพัน  ระดับที่สองคือ อนุสรณ์ซ่อนแนวคิดเอาไว้อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะการศึกษาพิธีกรรม อันเป็นหัวข้อคลาสสิกทางมานุษยวิทยา อนุสรณ์ได้สานต่อและพัฒนาแนวคิดนี้ไปสู่การถกเถียงร่วมสมัยได้ไกล ท่ามกลางการเล่าเรื่องที่ไม่ติดขัด  จุดนี้เองที่จะทำให้หนังสือเล่มนี้ เป็นเสมือนคู่มือสำคัญของการศึกษาทางมานุษยวิทยาทั้งในกระบวนการงานสนาม, การมอง และวิธีการเล่าเรื่อง  เพราะในปัจจุบัน "การเขียนวัฒนธรรม" คือส่วนหนึ่งของกระบวนการต่อสู้ทางวัฒนธรรม  ปัญหาสำคัญคือ จะเขียนอย่างไรที่ยังคงความแยบยลทางความคิดและสามารถนำไปต่อสู้ทางวัฒนธรรมได้ต่างหาก

ประการสุดท้าย หนังสือเล่มนี้คือเล่มแรกๆ ที่พยายามอธิบายการเมืองเรื่องชีวิตของคนมลายู  การมีชีวิตอยู่ของคนมลายูในฐานะคนที่มีความหวาดกลัว ความหวัง และการพยายามมีชีวิตต่อไปข้างหน้า สิ่งเหล่านี้ เมื่อมองข้ามพ้นเรื่องพิธีกรรมความเชื่อและการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความรุนแรงทางการเมืองไปแล้ว มันคือการเพียรค้นหาความเป็นคนของคนมลายู ความเป็นคนที่สามารถแชร์ร่วมกับคนต่างกลุ่ม ต่างศาสนา และต่างเชื้อชาติหรือภาษาออกไป

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผมพบว่าสิ่งที่อนุสรณ์ต้องการจะบอกเล่าคือความเป็นคนของมุสลิม ไม่ใช่ความเป็นมุสลิมของคน  สิ่งนี้เองมันจึงกลายเป็นการเมืองเรื่องชีวิตของคนมลายู  ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมในสามจังหวัดภาคใต้ สิ่งสำคัญมากที่สุดการมองคนให้เป็นคน และเห็นถึงความเป็นคนอย่างเท่าเทียมกันเสียก่อน  ก่อนที่เราจะตัดสินเขาว่าเป็นคนชาติไหนหรือนับถือศาสนาอะไร

นบีไม่กินหมากของอนุสรณ์ บอกกับผมแบบนี้

 

หมายเหตุ: สำหรับผู้สนใจ เราสามารถหาหนังสือเล่มนี้ได้ในร้านหนังสือทั่วไป แต่ผมอยากเชิญทุกท่านให้อุดหนุนสำนักพิมพ์เล็กๆ ในสามจังหวัดภาคใต้อย่างปาตานี ฟอรั่ม  สำนักพิมพ์นี้กำเนิดขึ้นด้วยเจตจำนงในการสื่อสารกับสาธารณะว่าด้วยความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดภาคใต้  โครงการจัดพิมพ์หนังสือจึงเกิดขึ้นผ่านการระดมทุนเป็นสำคัญเพื่อนำทุนดังกล่าวจัดพิมพ์หนังสือเล่มอื่นๆ ต่อไป  ผู้สนใจสามารถติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เพจ PATANIFORM.COM , www.pataniforum.com และอีเมล์ editor.pataniforum@gmail.com

" นบีไม่กินหมาก " ของอนุสรณ์ อุณโณ เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท
   https://prachatai.com/journal/2016/12/69320