"พื้นที่ปลอดภัย" นิยาม-ความคิด ที่กะเทาะ(ยัง)ไม่แตก

กระแสเรื่อง “พื้นที่ปลอดภัย” นับเป็นประเด็นที่น่าจับตาไม่น้อยท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ที่ยืดเยื้อเรื้อรังจะเข้าขวบปีที่ 13 นับจากปี 47 เป็นต้นมาโดยสร้างความเสียหายต่อชีวิตของประชาชนพื้นที่ทั้งที่บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นสถิติรวมไปแล้วกว่าหมื่นชีวิต

ทั้งนี้เรื่อง “พื้นที่ปลอดภัย” ได้กลายมาเป็นกระแสจนถึงทุกวันนี้หลังจากรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เดินหน้าสานต่อกระบวนการพูดคุยที่เรียกว่า “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” โดยมีการจัดตั้งคณะตัวแทนจากภาครัฐที่ถูกแต่งตั้งให้เป็น กลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยถูกเรียกว่า “ปาร์ตี้ A” ซึ่งมีคณะกรรมการ 3 ระดับ คือ (1) คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ (2) คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย และ (3) คณะประสานงานระดับพื้นที่ โดยมีผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 เป็นหัวหน้าคณะประสานงาน อันเป็นห้วงเดียวกับการปรากฏตัวต่อสาธารณะของกลุ่มการเมืองซึ่งขัดแย้งกับภาครัฐที่เรียกว่า “มารา ปาตานี” โดยถูกเรียกว่า “ปาร์ตี้ B” ที่พ่วงความสงสัยถึงกลุ่มขบวนการ BRN ซึ่งเชื่อว่ามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่

นับแต่นั้นเป็นต้นมาประเด็นเรื่อง “พื้นที่ปลอดภัย” ก็ถูกหยิบยกให้เป็นวาระในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างภาครัฐและกลุ่มมาร่า ปาตานี จนกระทั่งเวทีพูดคุยสันติสุขอย่างไม่เป็นทางการรอบล่าสุด เมื่อ 2 กันยายน 2559 หลังหยุดชะงักมาหลายเดือน ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกันที่จะพิจารณาการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยเฉพาะในบางพื้นที่ ทำให้ได้รับความสนใจ วิพากษ์ ถกเถียงในแวดวงของภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้การถกเถียงของสาธารณะชวนให้วิเคราะห์กันด้วยคำอธิบายต่างๆนานา แต่คำอธิบายที่เป็นกระแสหลักคือ การชี้ชวนให้เข้าใจว่า พื้นที่ปลอดภัย "จะเป็นพื้นที่ที่มีการกำหนดไม่ให้มีการใช้ความรุนแรงของกลุ่มติดอาวุธที่มาจากทั้งภาครัฐและฝ่ายกลุ่มก่อการ" แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีการคุยกันถึงเรื่องนี้ด้วยคำอธิบายและความคิดที่แตกต่างออกไป อย่างกลุ่ม Perwani ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมกลุ่มหนึ่งที่มุ่งทำงานพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงต่อการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ พร้อมทั้งให้การฟื้นฟู เยียวยา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงและครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คิดว่ายังมีคำอธิบายอีกแบบ ซึ่งเชื่อว่าอาจจะเป็นความคิดและคำอธิบายที่เป็นกระแสหลักของหลายชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่มีความอ่อนไหวต่อความมั่นคง

ฮูดา หลงแดหวา อุปนายกภายนอกกลุ่ม Perwani

ฮูดา หลงแดวา อุปนายกภายนอกกลุ่ม Perwani บอกว่า การขับเคลื่อนเรื่อง พื้นที่ปลอดภัย ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับประชาชน แต่การทำเรื่องพื้นที่ปลอดภัย ทางกลุ่ม Perwani ทำมานานแล้ว ทำก่อนจะมีการเสนอกันในกระบวนการพูดคุยสันติสุข ระหว่างรัฐไทย กับ กลุ่มมารา ปาตานี เสียอีก เป็นกิจกรรมรณรงค์เรื่อง “หยุดล้ำเส้นพื้นที่ปลอดภัยผู้หญิงและเด็กปาตานี

“ ที่เราทำเรื่องนี้เพราะสถานการณ์การคุกคามสิทธิชาวบ้านยังมีให้เห็นอยู่ ซึ่งการที่จะทำเรื่องพื้นที่ปลอดภัย คงต้องคุยเรื่องพื้นที่ทางการเมือง คือ พื้นที่ของความรู้สึกปลอดภัย เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการรวมตัวเพื่อแสดงออก เพื่อจะพูด จะแสดงความเห็น หรือจะปกป้องสามีตามกรอบกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านจำนวนไม่น้อยรู้สึกหวาดระแวง ที่จะพูด จะแสดงความเห็น จะร้องเรียน เรียกร้องเกี่ยวกับการถูกคุกคาม ชาวบ้านยังรู้สึกไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐ ชาวบ้านยังกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ คำถามคือ ทำไมชาวบ้านถึงกลัวแต่สิ่งที่เราทำก็ไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณะชนและสื่อเท่าทุกวันนี้ ”

“แม้กระทั่งกลุ่ม Perwani เองก็รู้สึกไม่ปลอดภัยในการทำงานเรารู้สึกอึดอัดกับการที่ต้องถูกติดตามจากฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้ารัฐมักจะมาร่วมกิจกรรมของเราเกือบทุกครั้ง บางทีก็ขอเข้ามามีบทบาทในกิจกรรม บางทีก็สั่งห้ามจัดกิจกรรมไปเลย”

“ทางกลุ่มเคยจัดเสวนาในชุมชนโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าร่วมโดยไม่ได้รับเชิญ ซึ่งความหวาดระแวงของชาวบ้าน ถึงขนาดมีคำถามในวงเสวนาว่า กลับจากงานนี้เราจะโดนอะไรหรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ก็บอกว่ารับประกันความปลอดภัย ไม่โดนอะไรแน่นอน ประเด็นก็คือ มีความรู้สึกเหล่านี้มีอยู่ เป็นความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัยในการรวมกลุ่ม เพื่อทำกิจกรรมในชุมชน ทั้งๆที่เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ผิดกฎหมายใดๆ”

Perwani เป็นองค์กรภาคประชาสังคมกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนให้ผู้หญิงชายแดนใต้ได้มีส่วนร่วมในการทำงานส่งเสริมสันติภาพในพื้นที่ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิต เสริมสร้างทักษะ พัฒนาความรู้ ปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกทั้งต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ด้วยการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายและสร้างพื้นที่ทางการเมืองของผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในทางมิชอบ โดยเครือข่ายอาสาสมัครสตรีนี้จะอยู่ครอบคลุมทั้ง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอสงขวา ประมาณ 90 คน ทั้งที่เป็นแกนนำชาวบ้าน ครู พยาบาล อุสตาซ(ครูสอนศาสนาอิสลาม) ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้จะมีบทบาทในการช่วยประสานงานระดับชุมชน รับเรื่องร้องเรียน และบันทึกรายงานข้อเท็จจริง กรณีมีการละเมิดสิทธิ

หนึ่งในตัวอย่างกรณีล่าสุดที่กลุ่ม Perwani และนักสิทธิมนุษยชนติดตามอยู่ซึ่ง ฮูดา เล่าว่า กลุ่ม Perwani ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับเรื่องปัญหาการใช้กฎหมายพิเศษ หรือพฤติกรรมเจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่ทำให้รู้สึกถูกคุกคาม เช่นกรณีภรรยาของบุคคลที่เชื่อว่าเป็นผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงรายหนึ่งที่ ซึ่งเธอรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อพฤติกรรมของเจ้าที่ทหารบางคนในพื้นที่ อ.สุไหง-ปาดี

“เหตุการณ์ประมาณว่า ผู้หญิงคนหนึ่งที่สุไหง-ปาดี ต้องออกจากบ้านไปอยู่บ้านญาติที่อื่น เพราะเจ้าหน้าที่มาตามหาสามี แต่สามีไม่อยู่ ผู้หญิงอยู่กับลูก 2 คน เท่านั้น เจ้าหน้าที่เลยบอกว่า ถ้าไม่อย่างนั้นจะเอาตัวเธอไปแทน ทำให้ผู้หญิงคนนั้นไม่กล้าอยู่บ้าน ต้องไปอยู่บ้านญาติที่อื่น เมื่อเธอออกไปอยู่ที่บ้าน ก็มาทราบภายหลังว่าขณะนั้นมีเจ้าหน้าเข้าไปอาศัยในบ้านของเธอ ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ออกไปหรือยัง”

“เรื่องนี้ชาวบ้านก็ต้องการความปลอดภัยจากทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ รวมไปถึงฝ่ายก่อการ เช่นกัน แต่กับเจ้าหน้าที่รัฐนั้นชาวบ้านเห็นหน้า เห็นตา เปิดตัวชัดเจน ชาวบ้านคิดว่าน่าจะเรียกร้องได้มากกว่าเพราะเจ้าหน้าที่มีบทบาทดูแล คุ้มครองชาวบ้าน”

ทั้งหมดนี้ พออธิบายให้เห็นชัดว่า พื้นที่ปลอดภัยในอีกคำอธิบายหนึ่งที่เป็นกระแสอยู่จริงในชุมชน คือ พื้นที่ปลอดภัยจากการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าความมั่นคงบางคนในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ และความปลอดภัยในการเรียกร้องสิทธิความเป็นธรรมของตัวเองหรือสามี แต่ก็มักไม่ค่อยถูกพูดถึงในกระแสหรือพื้นที่สื่อ แม้นกระทั่งในงานวิจัยล่าสุด เรื่อง “พื้นที่ปลอดภัยปาตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งเขียนโดย อาจารย์อาทิตย์ ทองอินทร์ หัวหน้าภาควิชาวิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ยังอธิบายเรื่องนี้ไว้ไม่มากนัก แต่อาจารย์อาทิตย์ในฐานะผู้วิจัยก็ยอมรับว่า งานวิจัยดังกล่าวยังไม่สมบูรณมากนัก ซึ่งคำว่าพื้นที่ปลอดภัยในความหมายข้างต้นมีความสำคัญที่ควรจะศึกษาวิจัยอย่างยิ่ง หากมีโอกาสผู้วิจัยเองก็อยากศึกษาเพิ่มเติม

กระนั้นจึงเข้าใจได้ว่า คำอธิบาย เรื่องพื้นที่ปลอดภัยนั้น ไม่ได้ผูกขาดความหมายเพียงแค่การยุติการสู้รบของคู่ขัดแย้งเท่านั้น แต่จะต้องมีการถกเถียง ขุดคุ้ยออกมาให้มากกว่านี้ เพื่อทำให้คำอธิบายเรื่อง “พื้นที่ปลอดภัย” สอดคล้อง ครอบคลุมสภาพปัญหาอย่างแท้จริง ดั่งข้อค้นพบสำคัญของโครงการวิจัยซึ่งระบุในเอกสารโครงการว่า เรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัย คือเบื้องต้นแม้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมีการรับรู้เชิงบวกต่อคำว่า “พื้นที่ปลอดภัย” กระนั้น แต่ละฝ่ายก็มีระดับมุมมองของความหมาย คุณค่า และนิยามเชิงปฏิบัติการที่แตกต่างกัน

อันเป็นเหตุผลสำคัญของความยากในการหาจุดร่วมและผลักดันพื้นที่ปลอดภัยในเชิงรูปธรรมได้อย่างประสบผลสำเร็จโครงการวิจัยนี้ทำการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลแล้วพบว่า เมื่อพูดถึงคำว่า “พื้นที่ปลอดภัย” ความหมายในกระบวนทัศน์ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องแตกกระจายออกเป็น 3 ตัวแบบ คือ 1 )พื้นที่สาธารณะปลอดภัย 2) พื้นที่ปลอดภัยภายใต้โครงการประชารัฐร่วมใจและ 3)พื้นที่สันติ โดยที่แต่ละตัวแบบอาจมีจุดที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่ แต่ต่างก็มีหลักคิด แนวปฏิบัติ จุดแข็ง จุดอ่อน อุปสรรค และสิ่งที่ต้องแลกอันเป็นแบบฉบับเฉพาะตนเองการครุ่นคิดและอภิปรายเกี่ยวกับตัวแบบเหล่านี้จะช่วยให้การพูด ถกเถียง และต่อสู้ต่อรองกันเรื่องพื้นที่ปลอดภัยมีความกระจ่างขึ้น

ดั้งนั้นสำหรับเรื่อง “พื้นที่ปลอดภัย” จำต้องมีสติ เข้าใจความต้องการภาคประชาชน ให้รอบด้านยิ่งขึ้น ดีกว่าไปติดหล่มการเมืองของคู่ขัดแย้งโดยไม่รู้ตัว