พลวัตความคิดทางการเมืองในโลกมุสลิมกับแนวความคิดการต่อสู้ของขบวนการมลายูมุสลิมปาตานี (ตอนที่ 2)
ก่อนอาณาจักรออตโตมานล่มสลาย เกิดจากคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวางและหยั่งรากลึก ซุลต่านพระองค์ก่อนคือ อับดุลมายิด ใช้จ่ายเงินที่ยืมมาจากยุโรปสร้างฮาเร็ม ประราชวัง ใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือยจนเจ้าหนี้ชาวยุโรปต้องเข้ามาควบคุมการเงินของอาณาจักรฯ การคอรัปชั่นที่เรื้อรังต่อเนื่องมาจนกระทั่งช่วงสมัยของซุลต่านอับดุลฮามิดฯทำให้ นักวิชาการหลายต่อหลายคน ที่เคยสนับสนุนซุลต่าน ต่างพากันถอนตัวออกห่าง หนึ่งในนั้นคือ นักคิด-นักเขียน นักวิชาการศาสนาแนวปฏิรูปผู้ทรงอิทธิพลในโลกมุสลิมคนสำคัญคือ เชค รอซีด ริฏอ (Muhammad Rachid Rida: 1865-1935) ผู้เป็นลูกศฺษย์ของ เชคมูฮัมหมัด อับดุฮฺ (Muhammad Abduh: 1849-1905) นักปฏิรูปและเป็นผู้นำสูงสุดทางศาสนาของอียิปต์และเป็นศิษย์ของ อัฟฆอนีย์ เชค รอชีด ริฏอ ผู้ซึ่งเคยสนับสนุนซุลต่านอับดุลฮามิดฯ อย่างแข็งขัน ชี้ว่าระบบการปกครองแบบคิลาฟะฮไม่ใช่เป็นระบบการปกครองที่จะสามารถใช้ได้อีกในยุคปัจจุบัน สภาพสังคมและสถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากไปจนถึงระดับที่มิอาจใช้คนๆเดียวปกครองอาณาจักรที่กว้างใหญ่ไพศาลอีกต่อไป การแตกกระจายของอุมมะฮก็ยากที่จะประสานให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้การนำของคอลีฟะฮดังเช่นในอดีต ความคิดในเรื่องทางเลือกอื่นๆในการเมืองการปกครองมุสลิมจึงค่อยๆเริ่มก่อตัวขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดในเชิงรัฐสมัยใหม่แบบตะวันตก แต่ในโลกมุสลิมความเป็นอุมมะฮเป็นหลักสำคัญทางศาสนาที่ไม่อาจละทิ้งได้ดังที่ได้กล่าวไว้ตอนต้น ขณะที่ความเป็นชาติและชาติพันธุ์ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของรัฐชาติสมัยใหม่ถือเป็นมโนทัศน์ที่นอกเหนือไปจากคำสอนของอิสลาม (foreign to Islam) เชค รอชีด ริฎอ เป็นคนแรกๆที่สังเคราะห์แนวคิดเรื่องรัฐสมัยใหม่กับอิสลามโดยใช้กรอบความคิดอุมมะฮมาแทนที่กรอบทางชาติและชาติพันธุ์ในรัฐสมัยใหม่ จนกลายเป็นรัฐอิสลาม (Dawlah Islamiyah) ซึ่งให้ความหมายว่าเป็นระบอบการเมืองการปกครองที่มีผู้ปกครองเป็นมุสลิม ใช้อิสลามเป็นรากฐานของการปกครอง (ใช้อย่างไรนั้นเป็นเรื่องของอุลามะฮ หรือศัพท์เทคนิคทางความคิดทางการเมืองอิสลามเรียกว่า alh al hal wal aqd ที่ต้องถกเถียงหาข้อสรุปกัน) การปกครองดังกล่าวยึดสถานะเดิมของผู้ปกครองในบริเวณนั้นๆเป็นหลัก เช่นถ้าระบบเดิม เป็นแบบซุลต่าน หรือรายอ ก็ยังคงเป็นรูปแบบเดิมแต่ต้องประยุกต์ใช้อิสลามต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมือง ใช้หลักชารีอะฮมาอธิบายความสัมพันธ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นเพื่อ govern แนวคิดนี้ได้รับการตอบรับอย่างมากจากกลุ่มผู้นำและรายอในปาตานี ผมเข้าใจว่า GAMPAR (Gabungan Melayu Patani Raya) ก็นำเอาแนวคิดดังกล่าวมาใช้
“Dawlah Islamiyah” แตกต่างจากระบอบการเมืองแบบคิลาฟะฮในอดีตในแง่ที่ในอดีต มีคอลีฟะฮเป็นผู้นำสูงสุด ชุมชนทางการเมืองอิสลามถือว่าเป็นประชาชาติเดียวกันภายใน Dar al Salam (abode of Islam)ที่มีภาระผูกพัน (ทางศาสนา) ที่จะต้องภักดี (ตออัต) ต่อคอลีฟะฮ
Concept รัฐอิสลามที่เสนอโดย เชค รอชีด ริฏอ ยังคงอยู่ในช่วงระยะเวลาเริ่มต้นก่อตัวของการหาทางเลือกใหม่ให้แก่ระบอบการเมืองการปกครองของชุมชนมุสลิมซึ่งแตกกระจัดกระจายจากการล่มสลายของอาณาจักรอิสลาม และเพื่อเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองแก่ชุมชนมุสลิมในการต่อสู้กับการยึดครองของจักรวรรดินิยม แม้แนวคิด “Dawlah Islamiyah” จะยังคงไม่ตกผลึกและขาดรายละเอียด แต่แนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลอย่างมากและได้รับการขยายต่อให้หนักแน่นยิ่งขึ้นโดย Muhammad Asad (1900-1992)ในหนังสือ Principle Governance in Islam และต่อมาแนวคิดดังกล่าวมีอิทธิพลอย่างมากต่อการจัดตั้ง รัฐอิสลามปากีสถาน ในปี 1947 (Muhammad Ali Jinnah ผู้ก่อตั้งปากีสถาน ถือว่า Muhammad Igbal (1877-1938)กวี-นักปรัชญา สายปฏิรูปเช่นเดียวกับเชค ริฎอ เป็นครูผู้ให้คำปรึกษา / ขณะที่ Akbar Ahmad เห็นว่า สาเหตุที่ Jinnah ถอนตัวจากการให้การสนับสนุนพรรค Congress เนื่องจากเขา [Jinnah] “ได้ค้นพบตัวตนของความเป็นมุสลิม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมอิสลาม [และต้องการจัดตั้งรัฐมุสลิมที่มีรากฐานมาจากอิสลาม] ในช่วงท้ายชีวิต”) ความสำเร็จของปากีสถานได้ส่งผลอย่างมากต่อความหวังของนักต่อสู้มุสลิมที่จะปลดแอกจากอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของการขยายตัวของขบวนการชาตินิยมหลังสงครามโลกครั้งที่2 ขบวนการชาตินิยมมาเป็นตัวผลักดันให้มุสลิมต่อสู้โดยมีพรมแดนแคบลง จากที่เคยคิดถึงประชาชาติอิสลามอันกว้างใหญ่ไพศาลมาเป็นการต่อสู้เพื่อมาตุภูมิ (Watan) โดยการทำให้การต่อสู้เพื่อมาตุภูมิเป็นภาระสำคัญทางศาสนา เชค อะหมัด ฟาตอนี กล่าวว่า:
“จำเป็นต่อบุคลที่บรรลุศาสนภาวะทุกคนต้องดูแลตนเอง และผู้อยู่ใต้ปกครองโดยทั่วไปในกรณีต่อไปนี้ การปฏิบัติตามกฎหมายอิสลาม ตามศาสนบัญญัติ การปกป้องศาสนา ชีวิตของตนเอง ทรัพย์สิน ชาติพันธุ์ สติปัญญา และเกียรติยศและจำเป็นต้องพิทักษ์รักษามาตุภูมิ เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี และต้องมีรัฐบาลที่บริหารการเมืองที่ดีเยี่ยม” (อิสมาแอล เบญจสมิทธิ์, 217)
การผสมผสานระหว่างแนวคิดชาตินิยมและศาสนามีพลังมากในช่วง 1941-1945 เนื่องจากเป็นช่วงที่ขบวนการชาตินิยมมลายูทั่วทั้งโลกมาเลย์ต่างเร่งดิ้นรนต่อสู้อย่างหนักเพื่อเป็นอิสระจากเจ้าอาณานิคม แนวคิดดังกล่าวมีพลังมากจนกระทั่ง ฮัญญี สุหลง บินอับดุลกอเดร์ (1895-สูญหาย 1955) ผู้รู้ทางศาสนาสายปฏิรูปซึ่งตอนแรกสนใจแต่เพียงการปฏิรูปอิสลามในเรื่องหลักการยึดมั่นและการปฏิบัติศาสนกิจให้ปลอดจากความเชื่อและประเพณีดั้งเดิมของพุทธ-ฮินดู-ผี และริเริ่มปฏิรูปการศึกษาจากระบบการเรียนการสอนแบบปอเนาะดั้งเดิมมาเป็นระบบมัดราซะฮ ต้องหันเหจากความเป็นผู้นำทางศาสนาไปเป็นผู้นำทางการเมืองในเชิงขบวนการชาตินิยมด้วยในเวลาเดียวกัน ขณะที่โลกอาหรับในห้วงเวลาดังกล่าวร้อนระอุไปด้วยขบวนการต่อสู้เพื่อปลดแอกจากอาณานิคมโดยมีอียิปต์เป็นศูนย์กลาง บรรดาขบวนการชาตินิยมต่างแสวงหาความช่วยเหลือและการสนับสนุนทั้งทางด้านการเงิน การเมือง และกำลังใจจากอียิปต์ โดยเข้าไปตั้งสำนักงานเพื่อออกหนังสือพิมพ์ ตีพิมพ์หนังสือ และจัดตั้งองค์กรเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง
อียิปต์เองมีความยินดีต่อพัฒนาการดังกล่าวเนื่องจากมองเห็นประโยชน์ในหลายๆด้านจากการเป็นผู้นำของโลกอาหรับ ในจดหมายของ Riyad al-Sulh ส่งถึง Mkram Ubaid ในคราวที่ Ubaid ไปเยือนเลบานอน ในปี 1931 เขากล่าวว่า
“ถ้าอียิปต์จะสูญเสียจากการเป็นผู้นำของโลกอาหรับนั่นถือว่าเราได้ทำการเสียสละ(เพื่อพี่น้อง)อย่างใหญ่หลวง แต่ผลประโยชน์ที่อียิปต์จะได้รับมันมหาศาล(กว่าความเสี่ยงที่จะสูญเสีย) ถ้ามหาอำนาจตระหนักว่าอียิปต์ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากชาติอาหรับ และชาติอาหรับเหล่านั้นได้รับอิทธิพลจากอียิปต์ ย่อมทำให้อำนาจการต่อรองของอียิปต์บนโต๊ะเจรจา(กับเจ้าอาณานิคม) แข็งแกร่งขึ้นกว่าการที่อียิปต์พูดในนามของอียิปต์เพียงชาติเดียว”[1]
มีปัจจัยอีกหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเศรษฐกิจที่ชาติอาหรับจะเป็นแหล่งวัตถุดิบและตลาดสำหรับอียิปต์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม Azzam ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคนแรกของอาหรับลีกส์ชี้ว่า
“อนาคตของเราจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อเราเป็นนักอุตสาหกรรม”[2]
การปฏิวัติของกามาล อับดุลนัซเซอร์ ในเดือนกรกฎาคม 1952 และขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีอียิปต์ในปี 1954 ได้เปลี่ยนไม่เฉพาะอียิปต์เท่านั้นแต่ทั่วทั้งโลกอาหรับให้เป็นขบวนการปฏิวัติ (Revolutionary) นัซเซอร์ คือสัญลักษณ์ของความสำเร็จของการต่อสู้กับจักรวรรดินิยม เป็นสัญลักษณ์ของการกอบกู้เกียรติยศของมุสลิมให้กลับคืนมา เป็นแรงบันดาลใจแก่การต่อสู้กับการกดขี่ข่มเหงจากเจ้าอาณานิคม และนัซเซอร์เองก็ต้องการเช่นนั้นด้วยการส่งออกแนวความคิดในเชิงการต่อสู้ด้วยอาวุธในลักษณะปฏิวัติโค่นล้มผู้กดขี่โดยมีอุดมการณ์สังคมนิยมอิสลาม(Islamic Socialism) เป็นเครื่องมือสำคัญผสมผสานกับความคิดการรวมตัวของชาติอาหรับเข้าด้วยกัน (Pan-Arabism)
สังคมนิยมอิสลามเป็นผลจากการสังเคราะห์แนวคิดสังคมนิยม (Socialism) และอิสลาม (Islamic) เนื่องจากแนวคิดชาตินิยมและสังคมนิยมนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับอิสลามซึ่งจำเป็นต้องทำการปรับแต่งให้เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการศาสนาและมวลชน และจุดบรรจบกันของแนวคิดดังกล่าวกับอิสลามคือมิติด้านการเป็นศาสนาในลักษณะสังคมนิยมของอิสลามที่มุ่งสร้างความเท่าเทียมกัน (Egalitarianism) ในสังคม
สมควรจะกล่าวในที่นี้ว่าความคิดเชิงสังคมนิยมมาร์กซิสม์ (Marxist Socialism)ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ปัญญาชนอียิปต์เช่นเดียวกันกับแนวคิดดังกล่าวที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ปัญญาชนฝรั่งเศสในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งการวางรากฐานทางปัญญาเกี่ยวกับมาร์กซิสม์ในอียิปต์นั้นได้เกิดขึ้นก่อนที่นัซเซอร์จะทำการปฏิวัติ งานเขียนสำคัญที่พยายามสังเคราะห์อิสลามกับสังคมนิยมมาร์กซิสม์ เช่น Min Tarikh al-Harakat al-Fikriyyat Fi’l-Islam (ประวัติศาสตร์ของขบวนการปัญญาชนในอิสลาม) โดย Bandali al-Jawzi (1871-1943) ถือเป็นงานชิ้นแรกๆที่พยายามอธิบายอิสลามในเชิงสังคมนิยมมาร์กซิสม์ al-Jawzi ชี้ว่า ประวัติศาสตร์ทางความคิดของอิสลามส่วนสำคัญคือประวัติของความคิดเชิงสังคมนิยม และอุดมการณ์ที่แท้จริงของอิสลามที่ได้รับการรักษาและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นคืออุดมการณ์ที่ต้องการนำเอาแนวคิดด้านสังคม (ที่มีความเท่าเทียมกัน) ไปปฏิบัติ[3]
Ustaz Abdul Karim bin Haji Hasan หรือที่รู้จักกันในนามของ อุสตาซ การีม ซึ่งจบการศึกษาจากอียิปต์และกลับมาเป็นครูสอนศาสนาใน มัดราซะฮ นะฮดะห์ อัล-ชุฮบาน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ขบวนการ BRN ได้รับแรงบันดาลใจอย่างยิ่งจากแนวคิดสังคมนิยมอิสลามของนัซเซอร์ โดยก่อนที่ อุสตาซ การีมจะไปเรียนต่อที่กรุงไคโร เขาได้เข้าร่วมทำงานเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มชาตินิยมมาเลย์ของ Dr. Burhanuddin al-Helmy และยังเป็นสมาชิกฝ่ายเยาวชนของของพรรคอิสลามกลันตันหรือพรรคปาส (PAS: Parti Islam SeMalaya) อีกด้วย[4] Dr. Burhanuddin เป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดด้านสังคมนิยมต่อ อุศตาซ การีม ก่อนที่จะไปศึกษาต่อ เมื่ออาศัยอยู่ในอียิปต์แนวทางของนัซเซอร์ในการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอังกฤษและการปฏิรูปสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปที่ดินได้เป็นแรงขับเคลื่อนให้อุสตาส การีม เอาเป็นแบบอย่างเพื่อจะนำไปใช้ในปาตานี
นิเดย์ วาบา ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยาซึ่งศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร กรุงไคโรในช่วงเวลาที่อุสตาซการีมไปศึกษาและเคยอาศัยอยู่ด้วยกัน กล่าวถึงอุสตาซ การีมว่า:
“เขา [อุสตาซ การีม] รู้สึกทึ่งและได้รับแรงบันดาลใจอย่างยิ่งจากความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งของประธานาธิบดีนัซเซอร์ ผู้ซึ่งจัดการอย่างเฉียบขาดต่อปัญหาการยึดครองของอาณานิคมอังกฤษในอียิปต์ ขณะเดียวกันพยายามที่จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยที่มีจำนวนน้อยกับคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของอียิปต์ นัซเซอร์ คื อคนที่นำเกียรติยศและศักดิ์ศรีของชาวอียิปต์กลับคืนมาหลังจากที่ถูกอังกฤษเหยียบย่ำมาอย่างยาวนาน เขามองเห็นความเหมือนกันระหว่างกรณีของอียิปต์และกรณีของสังคมปาตานี และมีความเชื่อมั่นอย่างแข็งแกร่งว่า ระบอบแบบนัซเซอร์ถือแบบอย่างได้อย่างดีเยี่ยมในการแก้ไขปัญหาปาตานี …ด้วยการปฏิวัติ”[5]
การเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (CPT) และพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา (CPM) ย่อมมีอิทธิพลอย่างมากต่อ BRN ในทางยุทธศาสตร์ทั้ง CPT และ CPM เห็นว่าขบวนการเคลื่อนไหวของชาวมลายูปัตตานี มีเป้าหมายร่วมกันกับพรรคฯ คือการสร้างความไร้เสถียรภาพในบริเวณชายแดนด้วยการปลุกเร้าให้ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาล ท่าทีดังกล่าวของพรรคฯเห็นได้จากบางส่วนในแถลงการณ์ในโอกาสครบรอบ 34 ปีของ CPT โดยบางส่วนของเนื้อหาในแถลงการณ์มีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงดูดความสนใจของขบวนการเคลื่อนไหวของชาวมาลายูดังมีใจความว่า:
“สิทธิของประชาชนทุกชาติพันธุ์ในประเทศไทยต้องมีความเท่าเทียมกัน ต้องเคารพ สนับสนุน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พวกเขาต้องมีสิทธิในการใช้ภาษา รักษาประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของพวกเขา เราต่อต้านการเลือกปฏิบัติและต่อต้านการกดขี่ ความเป็นชาติพันธุ์ในทุกรูปแบบ” [6]
อุดมการณ์ของ BRN และการเข้าไปสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งถือเป็นศัตรูสำคัญของศาสนานี่เองเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ BRN ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากมุสลิม ประกอบกับในช่วงทศวรรษที่ 1970 แนวความคิดการกลับไปสู่อิสลามอันบริสุทธิ์ ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นโดยซาอุดิอาระเบียมีชัยเหนือแนวคิดสังคมนิยมอิสลามของนัสเซอร์ในสมรภูมิการต่อสู้ทางความคิดและอุดมการณ์ระหว่างสองมหาอำนาจของโลกมุสลิมในขณะนั้น กล่าวคือ ในช่วงปลายทศวรรษ 1950’s ซาอุดิอาระเบียเริ่มขึ้นมามีอำนาจเป็นผู้เล่นสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลาง อันเนื่องมาจากการค้นพบน้ำมันในทศวรรษ 1930’s ประกอบกับการที่ซาอุดิอาระเบียเป็นแหล่งกำเนิดของอิสลามและมีสถานที่สำคัญในศาสนาอิสลามคือ อัลกะอฺบะฮ์ ที่ซึ่งมุสลิมต้องผินหน้าไปสู่เมื่อทำการละหมาดวันละ 5 เวลา และจะต้องไปประกอบพิธีฮัจญ์ครั้งหนึ่งในชีวิตเมื่อมีความสามารถ อันเป็นหนึ่งในหลัก พื้นฐาน 5 ประการของศาสนาอิสลาม ตำแหน่งแห่งที่ของซาอุดิอาระเบียในการเมืองโลกจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เองประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt ได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์พิเศษ (Special Relationship) กับกษัตริย์ Ibn Saud Bin Abdul Aziz บนเรือรบ USS Quincy
การขึ้นมาของประธานาธิบดีนัสเซอร์ในปี 1954 ทำให้ซาอุดิอาระเบียซึ่งปกครองโดยระบบกษัตริย์ถูกคุกคามอย่างหนักจากระบบนัสเซอร์ ที่ต้องการโค่นล้มการปกครองในระบบกษัตริย์ และสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้น โดยระบบกษัตริย์ถูกโค่นล้มในอิรักในปี 1958 ถูกโค่นล้มในเยเมนปี 1962 ถูกโค่นล้มในลิเบีย ปี 1969 และวิทยุจากรัฐบาลสาธารณรัฐเยเมนได้เรียกร้องให้ “ฆ่าสมาชิกของราชวงศ์สะอู๊ดทุกคนโดยปราศจากข้อยกเว้น”[7]
ด้วยเหตุนี้ ซาอุดิอาระเบียจึงจำเป็นต้องมองหาอุดมการณ์เพื่อต่อสู้คัดง้างกับอุดมการณ์สังคมนิยมอิสลามของนัสเซอร์ การกลับไปสู่อิสลามอันบริสุทธิ์ที่ปราศจากความคิดอื่นๆปลอมปน เช่นการปลอมปนของสังคมนิยมในอิสลามของนัสเซอร์ จึงเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดของซาอุดิอาระเบีย และเมื่อนัสเซอร์ได้ทำการกวาดล้างขบวนการอิควานอัลมุสลิมูนในอียิปต์ เหล่าบรรดาผู้นำของขบวนการก็ได้ลี้ภัยไปอยู่ซาอุดิอาระเบีย[8] และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากกษัตริย์ไฟซอล และเป็นกำลังสำคัญในการประกอบสร้างแนวความคิดการกลับไปสู่อิสลามอันบริสุทธิ์
การต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียในช่วงปลายทศวรรษ 1950’s และต่อเนื่องมายังทศวรรษ 1960’s เป็นไปอย่างรุนแรงดุเดือด และอาจกล่าวได้ว่า การต่อสู้ของขบวนการต่างๆในโลกมุสลิมได้รับอิทธิพลไม่มากก็น้อยจากการต่อสู้ของสองมหาอำนาจดังกล่าว
เมื่อ นัสเซอร์ได้ถึงแก่อสัญกรรมในปี 1971 อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดเรื่องสังคมนิยมอิสลามได้ตายไปพร้อมกับนัสเซอร์ด้วย แม้ซีเรียและอิรักจะยังคงมีอุดมการณ์ในลักษณะสังคมนิยมอยู่อย่างเข้มแข็ง และสนับสนุนขบวนการปฏิวัติทั่วโลก แต่พรรคบาธซึ่งเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ควบคุมทั้งสองประเทศนี้อยู่ เป็นพรรคการเมืองในเชิงเซคิวลาร์ ซึ่งในแง่ของอุดมการณ์แล้วไม่อาจสร้างการยอมรับจากชาวปาตานีมุสลิม ซึ่งถือว่าอาณาบริเวณนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ศาสนาอิสลามอันดับต้นๆของภูมิภาค เป็น “ดารุสสลาม” และระเบียงของเมืองมักกะฮอันศักดิ์สิทธิ์
แม้ PULO จะเป็นขบวนการในเชิงปฏิวัติดังเช่น BRN คือการปลดปล่อยดินแดนจากการยึดครองของสยาม (ซึ่งถือเป็นเจ้าอาณานิคม) ด้วยกำลังอาวุธ แต่ความคิดและอุดมการณ์ของ PULO มีความแตกต่างอย่างมากกับ BRN กล่าวคือ PULO ถูกก่อตั้งในปี ค.ศ.1968 ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่แนวคิดเกี่ยวกับสังคมนิยมอิสลามได้อ่อนแรงลงไปมาก เนื่องจากเหตุผลดังที่กล่าวไว้ข้างต้น อีกทั้งสำนักงานของ PULO ยังตั้งอยู่ในเมืองมักกะฮ์ ทำให้ PULO ได้รับการยอมรับในแง่ของความน่าเชื่อถือในเชิงศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบรรดาผู้รู้ทางศาสนา (อุลามาอ์) ตลอดจนปัญญาชน ซึ่งศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ยิ่งความคิดในเชิงการกลับไปสู่อิสลามได้รับการฟื้นฟูในซาอุดิอาระเบียทำให้อุดมการณ์และปฏิบัติการของ PULO อยู่ในแนวทางที่นักวิชาการเรียกว่าอิสลามนิยม (Islamism) กล่าวคือ PULO ต้องการสถาปนารัฐในลักษณะอิสลาม หรือมีอิสลามเป็นรากฐานสำคัญมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงให้ความสำคัญกับชาตินิยมมลายู
ความนิยมที่มีต่อ PULO สะท้อนออกมาในรายงานของวันกาเดร์ เจ๊ะมันว่ามีชาวปาตานีอาศัยอยู่ในซาอุดิอาระเบียประมาณ 30,000 คนในช่วงต้นทศวรรษ 1970’s โดยที่ PULO อ้างว่ามีสมาชิกอยู่ในนั้น จำนวน 20,000 คน ซึ่งแต่ละคนบริจาคให้กับขบวนการคนละ US$0.40 ต่อเดือน[9]
กล่าวโดยสรุปแม้จะมีความแตกต่างกันในเชิงอุดมการณ์ในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาของปาตานี แต่ทั้ง BNPP, PULO และ BRN ต่างนิยามปัญหาของปาตานีคล้ายคลึงกันนั่นคือ ปัญหาของการถูกยึดครองโดยเจ้าอาณานิคมสยาม ส่วนปัญหาอื่นๆในสังคมปาตานีเช่นปัญหาการคุกคามอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและศาสนา ตลอดจนปัญหาความล้าหลังทางเศรษฐกิจและสังคม ล้วนมีสาเหตุมาจากการยึดครองดังกล่าว และวิธีการแก้ไขปัญหามีหนทางเดียวและจะต้องทำเป็นอันดับแรกก็คือการทวงคืนอำนาจทางการเมือง ด้วยการปลดแอกจากการยึดครองของสยาม
การนิยามและชี้ปัญหาของปาตานีในลักษณะเช่นนี้ได้ถูกท้าทายจากกลุ่มนักวิชาการศาสนาที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยในซาอุดิอาระเบีย ในช่วงเวลาของการบ่มเพาะทางปัญญาของการฟื้นขึ้นมาของอิสลามในช่วงทศวรรษ 1970’s และต่อเนื่องไปยัง 1980’s กลุ่มนักศึกษาดังกล่าวประกอบด้วย ดร.อิสมาแอล ลุตฟี, ดร.ญิฮาด บิน มูฮัมมัด, ดร.อิสมาแอล อาลี และ ดร.อับดุลฮาลีม ไซซิง ซึ่งมองปัญหาและทางออกของปาตานีในแง่มุมที่ต่างออกไปจากวาทกรรมอำนาจและการยึดครองที่ครอบงำปาตานีอย่างน้อยในรอบ 20 ปีก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่เป็นผู้นำในทางความคิดคนสำคัญคือ ดร.อิสมาแอล ลุตฟี ซึ่งในขณะนั้นกำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย Imam Ibn Saud ณ กรุงริยาด มองว่าปัญหาของปาตานีเป็นปัญหาของการขาดความรู้ในอิสลาม กล่าวคือ อิสลามในปาตานีเป็นอิสลามที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานประเพณีนิยมมากกว่าการเป็นอิสลามที่ถูกต้องตามอัลกุรอาน และซุนนะฮ์ และแนวทางของบรรดาบรรพชนผู้ทรงธรรม (al-salaf al-salih) ภารกิจเบื้องหน้าคือการกลับไปสู่อิสลามที่ถูกต้องตามอัลกุรอานและซุนนะฮ์เพื่ออิสลามจะได้มีชีวิตอีกครั้งและเป็นศูนย์กลางของระบบการดำเนินชีวิตในสังคมดั่งเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงสมัยของท่านศาสดาและบรรดาศอฮาบะฮ์ และกลุ่มชนผู้ทรงธรรม
ในเดือนสิงหาคม 1976 มีการดีเบทเกิดขึ้นในเมืองมักกะฮ์ระหว่างดร.อิสมาแอล ลุตฟี และผู้นำจากขบวนการเคลื่อนไหว โดยหัวข้อของการดีเบทคือปัญหาปาตานีและแนวทางการแก้ไข (โปรดติดตามอ่านตอนจบ เร็วๆนี้)
ย้อนอ่านต่อที่ 1 : http://www.pataniforum.com/single.php?id=616
[1] Ralph M. Coury, Who “invented” Egyptian Arab Nationalism?, 461
[2] Ibid, 467
[3] Tamara Sonn, “Bandali Al-Jawzi’s Min Tarikh al-Harakat al-Fikriyyat Fi’l-Islam: The First Marxist Interpretation of Islam,” International Journal of Middle East Studies, 17 (1985), 90.
[4] Numan Hayimasae, Malay-Muslim Educational Institutions in Southern Thailand, PhD. Thesis, 2010, 226.
[5] อ้างใน Aryud Yahprung, Islamic Reform and Revivalism in Southern Thailand: A Critical Study of the Salafi Reform Movement of Shaykh Dr. Ismail Lutfi Chapakia al-Fatani, 1986-2010, Ph.D. Thesis, 2014, 128.
[6] สุรินทร์ 224
[7] Alexei Vassiliev, The History of Saudi Arabia..,369.
[8] เช่น ‘Ahd al-Fattah Abu Ghudda ชาวซีเรียซึ่งสอนในมหาวิทยาลัย Imam Muhammad ibn Sa‘ud Islamic University of Riyadh, Muhammad Qutb พี่ชายของ Syyid Qutb ซึ่งถูกนัสเซอร์แขวนคอในปี 1966 สอนที่มหาวิทยาลัย Umm al-Qura Islamic University of Mecca, Shaykh ‘Umar ‘Abd al-Rahman, และคนอื่นๆ.
[9] Che Man, Muslim Separatism,108,110.