12 ปีไฟใต้กับก้าวย่าง “สื่อสันติภาพปาตานี”

 

ความพยายามในการคลี่คลายความขัดแย้งปาตานี/ชายแดนใต้ของภาคส่วนต่างๆในรอบ 12 ปีของถานการณ์นับจากปี 47 เป็นต้นมาได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างทางมีทั้งล้มลุกคลุกคลาน มีทั้งเกิดกลุ่มองค์กรหน้าใหม่และองค์กรที่ดับไปในสนามของการจัดการความขัดแย้ง แต่ก็ทำให้เกิดการเรียนรู้และมองเห็นความหวังใหม่ๆ เป็นระยะๆ เช่นเดียวกับกลุ่มคนทำงานสื่อภาคพลเมืองชายแดนใต้ที่ผู้เขียนให้ความหมายคือ กลุ่มคนที่ตระหนักต่อสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยคาดหวังที่จะใช้งานด้านการสื่อสารเป็นกลไกหนึ่งทำความเข้าใจสภาพบริบท สถานการณ์ของปาตานี/ชายแดนใต้ ต่อภาคพลเมืองในสังคมไทยโดยรวม

หนึ่งในความพยายามของคนทำงานด้านสื่อภาคพลเมืองนั้น ผู้เขียนค้นพบว่า การพัฒนาเสริมศักยภาพการทำงานอย่างมืออาชีพ และคาดหวังที่จะร่วมกันเป็นเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนการด้านการสื่ออย่างมีพลัง งัดคานกับข้อมูลข่าวสารที่มักถูกชี้นำผ่านข้อมูล ข่าวสารกระแสหลัก มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับก้าวแรกของการเป็น “สื่อสันติภาพ” ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูล ที่อ้างอิงจากรายงาน “ข้อเสนอนโยบายสาธารณะการสื่อสารเพื่อหนุนเสริมสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้” จัดทำโดยปาตานี ฟอรั่ม เมื่อปี 2557 ที่สรุปว่า…        

สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจ สังคมโดยรวม โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ที่ยังคงยึดโยง ปฎิสัมพันธ์และเรียนรู้ร่วมกับสังคมไทยในภูมิภาคอื่นๆอย่างมิอาจแยกขาดกันได้  ขณะที่สื่อมวลชนคือกลไกหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างพื้นที่ยึดโยง ปฎิสัมพันธ์การเรียนรู้ระหว่างสังคมชายแดนใต้กับสังคมไทยด้วยการนำเสนอข่าวสารและเหตุการณ์ให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจ แต่ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าผลที่เกิดจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อพื้นที่ สืบเนื่องจากข่าวสารมักจะให้น้ำหนักการต่อการสะท้อนปรากฏการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ สั่งสมจนกลายเป็นความเข้าใจตีตรา ตัดสินแบบเหมารวมผู้คนในพื้นที่อย่างมักง่าย แล้วท้ายที่สุดก็ทำให้สังคมไทยเหินห่างภายใต้ความคิดที่มีอคติและขาดความตระหนักที่จะทำความเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาในพื้นที่

ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงเชื่อว่าการนำเสนอข่าวสารของสื่อจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะกระตุ้นความมีอคติ หรือในทางกลับกัน คือ สร้างความเข้าใจต่อคนในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของสื่อออนไลน์ทำให้ข้อมูลข่าวสารได้แพร่กระจายกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อน แม้คนทำงานทางด้านสื่อเอง หากไม่ปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและเข้าใจถึงสถานะของตนก็อาจจะทำให้หลงทิศทางได้  โดยในรายงานข้อเสนอฯ อธิบายว่า สถานการณ์ดังกล่าวมักเกิดขึ้นกับสื่อกระแสหลักที่ยึดติดกับการรายงานข่าวสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปของข่าวอาชญากรรมทั่วไปโดยมิได้ทำงานเชิงลึกมากเพียงพอ   และแม้ว่าในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมาจะมีการทำงานข่าวหรือสื่อสารในเชิงลึกอยู่บ้าง หากยังไม่สามารถก่อให้เกิดความต่อเนื่อง หรือสร้างวาระข่าวเพื่อสันติภาพในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ได้ แต่กลับกลายเป็นสื่อทางเลือกที่ทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารได้ครอบคลุมรอบด้านและเข้าถึงข้อมูลที่เท็จจริง ทั้งยังตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่

กระนั้นก็ตามสื่อทางเลือกในพื้นที่เองต่างก็ยอมรับ ปัญหาและสถานการณ์คนทำงานสื่อทางเลือกในพื้นที่ ด้านหนึ่งก็มักถูกมองจากฝ่ายความมั่นคงว่าเป็นสื่อที่อยู่คนละฝ่ายกับรัฐ จนบ่อยครั้งที่มักถูกคุกคามและแทรกแซงอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะอีกด้านหนึ่งสื่อทางเลือกก็จำเป็นจะต้องพัฒนาศักยภาพในความเป็นคนทำงานสื่ออย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับสื่อกระแสหลัก สื่อส่วนกลาง และสื่อทางเลือกในภูมิภาคอื่นๆ ไปพร้อมๆกับพัฒนาทักษะและความเฉียบคมในการทำงานทั้งในเชิงกระบวนการและเชิงประเด็น และควรตระหนักว่าสื่อมีบทบาทต่อการหนุนเสริมสันติภาพและการสื่อสารข้อเท็จจริงที่ซับซ้อน  ควรเป็นผู้นำในเชิงประเด็นและสร้างเนื้อหาข่าวที่น่าสนใจน่าดึงดูดใจ อีกทั้งควรตระหนักถึงข้อได้เปรียบและจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองเพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของคนในระดับปฏิบัติการ และสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างกันทั้งในระดับพื้นที่และระดับภูมิภาค

ด้วยหลักการและเหตุผลข้างต้นผู้เขียนจึงพอสรุปได้ว่า การพัฒนาศักยภาพองค์กรสื่อภาคพลเมือง เพื่อการสื่อสารสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ เป็นเรื่องที่ต้องมุ่งเน้นการสร้างพื้นที่ความร่วมมือระหว่างสื่อภาคพลเมืองในพื้นที่ด้วยกันเอง เพื่อนำเสนอข่าวสาร พัฒนาศักยภาพ สร้างความร่วมมือ เป็นแนวทางสำคัญในการสร้างจุดเริ่มต้นความร่วมมือของคนทำงานสื่อภาคพลเมืองที่มีทิศทางในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้เชื่อได้ว่า สื่อภาคพลเมืองมีพื้นที่ในการปฏิบัติงานสามารถวิเคราะห์และพัฒนาประเด็นเพื่อการทำข่าว มีทักษะการทำงานสื่อสารอย่างมีความรู้ มีความเข้มแข็งและสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การทำงานในระดับเครือข่ายได้ ซึ่งเป็นทิศทางที่ตกผลึกมานานของคนทำงานด้านสื่อแต่ดูเหมือนว่าทิศทางดังกล่าวอยู่ในเครื่องหมายคำถาม “เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป” หรืออาจจะ “ไม่ไปถึงไหน” ในขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ก็เรียกร้องความจำเป็นในเรื่องนี้อย่างหนักหน่วง

อย่างไรก็ดีการที่สื่อภาคพลเมืองปาตานี/ชายแดนใต้จะไปสู่ทิศทางดังกล่าวอย่างจริงๆ จังๆ อาจต้องเผชิญกับเงื่อนไข ปัจจัยหลายๆประการ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาความสำคัญที่ผู้เขียนตกผลึกผ่านประสบการณ์การทำงาน ดังนี้

1. ที่ผ่านมากลุ่มคนทำงานด้านการสื่อสารภาคพลเมืองเพื่อส่งเสริมสันติภาพในพื้นที่ มีการทำงานร่วมกันมาเป็นระยะๆ แต่ยังขาดการทำงานเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นไปได้ว่าการจะกระชับการทำงานเป็นเครือข่ายมากยิ่งขึ้นนั้น อาจะเริ่มต้นด้วย "การพื้นที่ร่วมกันอย่างหลวมๆ" เพื่อวิเคราะห์การทำงานสื่อของตัวเอง วิเคราะห์ประเด็นข่าวร่วมกัน ก่อนจะนำไปสื่อสารผ่านช่องทางสื่อขององค์กรตนเอง 

2. การจะไปสู่ทิศทางความเป็นเครือข่ายควรให้ความสำคัญกับ "การหนุนเสริมสิ่งที่คนทำงานด้านสื่อภาคพลเมืองทั้งในกลุ่มเล็กและใหญ่อยากจะพัฒนาศักยภาพร่วมกัน" หรืออาจต้องมีการ Work shop เกี่ยวกับประเด็นข่าว วิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนการทำงานที่ผ่านมา เพื่อมาเป็นความรู้ไปพัฒนาการทำงานการสื่อสารสันติภาพให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

3. การเป็นเครือข่ายควรจะทักทอ "พื้นที่เรียนรู้ความคิดการทำงาน" ระหว่างคนทำงานด้านสื่อภาคพลเมืองด้วยกันเอง ด้วยการมีพื้นที่ในการปฏิสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น และมีพื้นที่ถกเถียง หนุนเสริมการทำงานด้านสื่อ ก่อนพัฒนาเป็นเครือข่ายสื่อภาคพลเมืองที่มีบทบาทหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพในที่สุด

4. กลุ่มเป้าหมายทั้งหมดในการทำงานด้านการสื่อสารภาคพลเมืองนั้นไม่ควรจำกัดเฉพาะบุคคลที่ทำงานองค์กรสื่อข่าวโดยตรงเท่านั้น เพราะในสถานการณ์ความขัดแย้งนั้นจะต้องอาศัย "รูปแบบของความเป็นสื่อใหม่ซึ่งหมายรวมถึงกลุ่มองค์กร คนที่ทำงานสื่อสารด้วยรูปแบบอื่นเพิ่มเติม" เช่น กลุ่มสื่อสารกิจกรรม หรือ กลุ่มทำงานวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมบรรยากาศสันติภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้เพื่อให้การขับเคลื่อนประเด็นข่าวสารมีแง่มุมที่หลากหลาย ซึ่งการดำเนินกิจกรรมในแผนงานควรจะให้พื้นที่สำหรับองค์กรทำงานเชิงประเด็นอยู่ในพื้นที่การถกเถียงความคิดเชิงประเด็นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามต้องทำความเข้าใจว่าตัวกลไกหลักในงานด้านการสื่อสาร คือ คนทำงานด้านสื่อ ซึ่งต้องให้ชัดว่ามีความแตกต่างจากองค์กรรณรงค์ องค์กรทำงานเชิงประเด็นที่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือ แต่องค์กรสื่อไม่ใช่องค์กรรณรงค์ เพราะความเข้าใจของภาคประชาสงคมในพื้นที่ชายแดนใต้อาจจะสับสนระหว่างบทบาทขององค์กรสื่อกับองค์กรรณรงค์นั้นมีความแตกต่างกัน องค์กรสื่อภาคพลเมือง คือ คนทำงานด้านสื่อที่ตื่นตัวเรื่องสถานการณ์ทางสังคม การเมืองในพื้นที่ อยากจะสื่อสารเรื่องราวของตนเอง ซึ่งมีอยู่หลากหลายประเด็น ไม่ใช่ขับเคลื่อนรณรงค์สื่อสารสาธารณะเฉพาะประเด็นเป้าหมายขององค์กร

6. เคยมีข้อเสนอจากคนทำงานด้านสื่อในพื้นที่เกี่ยวกับการมี กองบรรณาธิการรวมของคนทำสื่อภาคพลเมืองแต่ที่ผ่านมาพบว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจจะต้องมาสรุปบทเรียนให้ชัด แต่ในระยะใกล้สำหรับการมีกองบรรณาธิการรวมซึ่งรูปธรรมที่มีความจำเป็นอาจหมายถึงการ "พื้นที่วิเคราะห์สถานการณ์ ประเด็นข่าวร่วมกัน"

ทั้งหมดนี้เป็นการเสนอและชวนให้เห็นรูปธรรมกว้างๆซึ่งเชื่อว่ามีอีกหลายหลายประเด็นที่ควรคำนึง พิจารณา เกี่ยวกับแนวทางของคนทำงานด้านการสื่อสารภาคพลเมืองในสนามอันมีเส้นแบ่งระหว่างความขัดแย้งและสันติภาพ ที่มีความท้าทายสำคัญ คือ การเป็นสื่อที่มีการพัฒนารูปแบบและประเด็นสื่อสาร ในหลายๆมิติ โดยมีเพดานจรรณยาบรรณสื่อเป็นมาตรวัด เพื่อการสร้างความเข้าใจใหม่ต่อสังคมไทย โดยเฉพาะการสื่อสาร “ถ่วงดุลความจริง” ด้วยการนำเสนอความจริงหลายๆด้านทั้งที่มาจากเสียงผู้คน ปรากฏการณ์ ข้อมูล ความรู้ ซึ่งที่ผ่านมามักถูกชี้นำความจริงด้วยข้อมูล ข่าวสาร ด้านเดียวเสมอมา ทั้งหมดนี้ อาจเป็นสิ่งที่คนเป็นสื่อภาคพลเมืองในพื้นที่ตระหนักอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว 12 ปีไฟใต้ ควรจะเป็นก้าวย่างสู่รูปธรรมได้เสียที

หรือจะรอให้สถานการณ์ความขัดแย้งปาตานี/ชายแดนใต้ ล้ำหน้าการสื่อสันติภาพไปมากกว่านี้