ความขัดแย้งชายแดนใต้ “ไม่ไร้เดียงสา”

ชั่วโมงนี้คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมาแน่นอนว่า รากเหง้าปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยนั้นมาจากความขัดแย้งในความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างความเป็นรัฐไทยกับความเป็นชนชาติปาตานีมลายูของผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณของ3จังหวัด(ปัตตานี ยะลา นราธิวาส)กับอีก4หรือ5อำเภอจังสงขลา ซึ่งจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทุกคนก็มีสถานะความเป็นพลเมืองไทยโดยนิตินัยด้วยการถือบัตรประจำตัวประชาชนคนไทยกันถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตามก็ยังมีอีกหลายๆคนที่ไม่เข้าใจว่าทำไมฝ่ายประชาชนที่พูดมลายูเป็นหลักในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองชัดเจนว่า ไม่ยอมจำนนต่อระบบโครงสร้างอำนาจแห่งรัฐไทยที่พยายามหลอมรวมความต่างทางอัตลักษณให้เป็นเนื้อเดียวกันภายใต้อัตลักษณ์ความเป็นคนไทย ยังคงใช้กิจกรรมทางอาวุธควบคู่ไปกับกิจกรรมทางการเมืองอย่างมีพลวัตในการต่อสู้กับรัฐไทยภายใต้ธงนำทางยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายรัฐไทยเองก็ยอมรับว่าเป็นการนำโดยขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานีหรือ BRN       

   "จริงๆแล้วการที่ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกใช้อาวุธในการต่อสู้กับรัฐใดๆนั้น ปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญของการตัดสินใจเลือกนั้นไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยของศาสนาที่ประชาชนนับถือแต่อย่างใด เพราะอาวุธไม่ได้มีสถานะเป็นยุทธศาสตร์ในตัวของมันเอง ในทางกลับกันอาวุธนั้นมีสถานะเป็นได้แค่ยุทธวิธีโดยตัวของมันเองเท่านั้น กล่าวคือวิธีคิดว่าจะใช้อาวุธหรือไม่ใช้อาวุธของประชาชนนั้น ไม่ได้เจาะจงว่าตัวเองต้องเป็นมุสลิมหรือไม่เป็นมุสลิม แต่ปัจจัยสำคัญข้อแรกที่ประชาชนคิดก็คือ ถ้าไม่ใช้อาวุธต่อสู้ควบคู่ไปกับงานการเมือง จะมีโอกาสที่จะได้สู้อย่างมีความหวังว่าจะชนะตามเป้าหมายทางเมืองที่ได้วางไว้นั่นคือปาตานีเป็นเอกราช หรือไม่?"

แน่นอนว่าในความเป็นจริงนั้นถ้าประชาชนไม่ได้ใช้อาวุธสู้กับรัฐควบคู่ไปกับงานการเมืองเฉกเช่นสถานการณ์ในปัจจุบันที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับฮัจญีสุหลงและอีกหลายๆคนที่ต้องสังเวยชีวิตตัวเองแลกกับ “ความสง่างามของความเป็นนักสันติวิธี” ที่รัฐในฐานะศัตรูทางการเมืองให้การเชิดชูเยินยอ ก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นการตอบโต้จากรัฐต่อประชาชนที่แข็งข้อบังอาจคิดต่างในทางการเมืองกับรัฐ จนกว่าฝ่ายประชาชนที่คิดสู้กับรัฐจะถูกกำจัดปราบปรามจนหมดหรือฝ่ายรัฐเสียเองจะปรับท่าทีจากความแข็งกร้าวของเขี้ยวเล็บทหารมาเป็นความประนีประนอมของท่าทีทางการเมืองแทน

แต่กระนั้นก็ขึ้นอยู่กับระดับความเป็นประชาธิปไตยในโครงสร้างอำนาจของรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจวบจนถึงปัจจุบันคำว่าประชาธิปไตยไทยก็ยังถูกผูกขาดโดยคณะทหารเป็นคนอธิบายความหมายอยู่

ฉะนั้นการที่ได้มีเหตุการณ์จากกิจกรรมทางอาวุธเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งอาจจะทำให้เชื่อได้ว่ามาจากฝ่ายประชาชนที่มีอุดมการณ์ต้องการปลดปล่อยมาตุภูมิบ้านเกิดของตัวเองจากโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมและกดขี่โดยระบบการปกครองของรัฐไทย และบังเอิญว่าเหตุการณ์นั้นผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนนับถือศาสนาพุทธ แล้วก็ไปรีบด่วนสรุปแบบง่ายๆว่า ผู้ที่ก่อเหตุนั้นต้องเป็นคนนับถือศาสนาอิสลามหรือมุสลิมแน่นอนนั้น ถือได้ว่าเป็นการแสดงความเห็นที่ด่วนสรุปอยู่บนฐานคิดที่มักง่ายเกินไป

โดยเฉพาะความคิดเห็นที่อ่อนไหว ชี้เป็นชี้ตายต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะในสถานการณ์ความขัดแย้งตามบริบทสภาพของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ไม่เพียงแต่ปัญหารากเหง้าที่ไม่ใช่ประเด็นของศาสนาเท่านั้น ในมิติของการต่อสู้ทั้งทางการเมืองและทางอาวุธเอง ก็ไม่ใช่แบบคณิตศาสตร์หนึ่งบวกหนี่งเท่ากับสองเสมอไป เพราะยังมีการลับลวงพรางที่สลับซับซ้อนมากเกินที่คนไม่ได้อยู่ในสนามจะเข้าใจได้

   "ถ้ามองแบบหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสองเสมอไป ในทางกลับกันกรณีที่ผู้สูญเสียส่วนใหญ่เป็นคนนับถือศาสนาอิสลามหรือมุสลิม ผู้ก่อเหตุก็เป็นคนไทยพุทธกระนั้นหรือ ? คนไทยพุทธที่เจตนาดีไม่อยากให้สังคมมุสลิมเข้าใจว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาไม่ดี ก็ต้องออกมาแสดงความขอโทษแทนอย่างออกหน้าออกตากระนั้นหรือ คงไม่ใช่วิธีการที่สมเหตุสมผลอย่างแน่นอน เพราะแนวโน้มสถานการณ์ความขัดแย้งที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ผู้คนในพื้นที่ทั้งมุสลิมและพุทธจะต้องอยู่ในสภาพกึ่งสงบกึ่งสงครามแบบนี้ไปอีกนาน"    

ไม่เช่นนั้นทั้งผู้มีเจตนาดีในฝั่งของชาวมุสลิมและในฝั่งของชาวพุทธ ก็จะต้องมีกิจกรรมแสดงการขอโทษประจำสัปดาห์ ประจำเดือน ประจำปี แทนภาพมายาคติที่เชื่อว่าต้องเป็นคนที่นับถือศาสนาเหมือนตัวเองแน่นอนเป็นผู้ก่อเหตุอย่างครึกครื้นเป็นแน่แท้…