บททดลองนำเสนอ การเดินทางของอัตลักษณ์มลายู
ระหว่างที่กองกำลังปฏิบัติการตรวจค้นโดยใช้สรรพกำลังและป่าวบอกสาธารณะชนว่าจะมีการก่อการร้าย ทำให้สังคมเกิดความสะพรึงกลัว เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและการป้องกันที่ไม่แน่นอน จึงยอมอนุญาตและปิดทางข้างเดียว เพื่อให้ฝ่ายกองกำลังฝ่ายความมั่นคง บุก ค้น แก่ผู้ต้องสงสัยต่อไป
ทางกองบรรณาธิการปาตานีฟอรั่มเห็นว่า ในห้วงยามเช่นนี้ที่คนเล็กๆอย่างเราสามารถทำได้คือ การให้เหตุผลและอธิบายว่าทำไมคนมลายูจึงเดินทางออกนอกพื้นที่ เราจึงทำการวิเคราะห์ "บททดลองนำเสนอการเดินทางของอัตลักษณ์มลายู" เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ถกอภิปราย จะเห็นด้วยเห็นต่าง ย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญ หากมีการยกระดับการถกเถียงเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจโดยใช้สติปัญญามากกว่าใช้กองกำลัง
ข้อถกเถียงอันสำคัญอย่างมากในโลกมุสลิมก็คือมุสลิมจะอยู่อย่างไรท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสู่โลกสมัยใหม่หรือกล่าวในอีกแง่มุมก็คือมุสลิมจะมีการรับมืออย่างไรต่อกระแสโลกาภิวัตน์ที่เข้ามาในวิถีชีวิตประจำวัน การปรับเปลี่ยนหรือว่าย้ำอยู่กับวิถีแบบเดิม ทั้งสองคงไม่ใช่คำตอบอย่างแน่ชัดทางใดทางหนึ่งสำหรับสังคมมุสลิมที่ผ่านมา
ทางปาตานีฟอรั่มได้เคยมีประสบการณ์สัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับกลุ่มชาวบ้านในหมู่บ้านต่อทรรศนะที่มีการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ในโครงการเสวนา "Patani Cafe" สิ่งที่เหล่าประชาชนในพื้นที่ตระหนักอย่างยิ่งคือ เรื่องของ “การศึกษา” ที่มีผลอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านอัตลักษณ์มลายูมุสลิม แนวคิดและหลักปฎิบัติทางด้านศาสนา และในสภาวะปัจจุบันคือต้องการให้ลูกหลานออกจากหมู่บ้าน เพราะการอยู่ในหมู่บ้านย่อมไม่ปลอดภัยแน่ๆ โดยเฉพาะวัยรุ่นผู้ชาย เพราะการเกรงกลัวข้อกล่าวหาว่าจะเป็นกลุ่มขบวนการติดอาวุธหรือไม่ก็จะโดนกล่าวหาว่าจะเป็นผู้ที่สนับสนุนรัฐ จึงจำเป็นต้องให้ลูกหลานออกไปเรียน แน่นอนย่อมได้รับอานิสงส์จากนโยบายรัฐเรื่อง"เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา" ที่ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยเปิดทางให้พวกเขาเข้าสู่มหาวิทยาลัย
แต่ทว่ากระแสความเปลี่ยนแปลงจากบริบทการเมืองไทยหรือโลกมุสลิมก็ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกหรือจิตนาการของผู้คนจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ แน่นอนพื้นที่ใหม่ๆแห่งการเรียนรู้คือการปะทะสังสรรค์ของอัตลักษณ์มลายูมุสลิม เช่นมหาวิทยาลัย สถานที่ทำงาน หรือว่ากลุ่มเพื่อนใหม่ๆ และโอกาสในชีวิตใหม่
นักวิชาการตะวันตก อย่าง โรเบอร์ต โฮลตัน ที่สำรวจเรื่องนี้ไว้ จากการพิจารณาข้อโตแย้งและจุดยืนในเรื่องผลสืบเนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์นี้ เขาได้จำแนกแยกแยะข้ออภิปรายต่างๆ ออกเป็นหมวดหมู่ และจัดแยกได้เป็น 3 ทฤษฎีด้วยกันกล่าวคือ
- ทฤษฎีการกลายเป็นเนื้อเดียวกันหมด ( homogenization ) เป็นกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่ทำให้เกิดความเหมือนกันและความคล้ายคลึงกันทางด้านวัฒนธรรม จนถือว่าสังคมต่างๆจะมีโคจรบรรจบทางวัฒนธรรม หากจะกล่าวถึงแนวคิดในการวิเคราะห์ในชุดความคิดดังกล่าวก็คือ Coca-colonization Mc Donaldization Mc-University และ Karaokeization ล้วนแล้วตั้งอยู่ในฐานความคิดแบบการกลายเป็นเนื้อเดียวกัน
- ทฤษฎีการแยกขั้ว ( Polarization ) ซึ่งชี้ว่า ต่อไปจะเกิดความขัดแย้งและสงครามทางวัฒนธรรม เช่น ระหว่างตะวันตกกับฝ่ายปฏิปักษ์ ดังตัวอย่างแนวคิดเรื่องการปะทะทางอารยธรรม ( clash of civilization - S Hungtington) ซึ่งหมายถึงการปะทะระหว่างวิถีแบบอเมริกันกับสงครามศักดิ์สิทธิ์แห่งอิสลาม ( Mc World Vs Jihad – B.Barber)
- ทฤษฎีการผสมผสาน (hybridization) เห็นว่าการปฏิบัติทางวัฒนธรรมต่างๆที่หลากหลาย พัฒนาการของวัฒนธรรมสังคมในอดีตก็เป็นกระแสวัฒนธรรม ข่าวสาร ผู้คน ฯลฯ ข้ามพรมแดน ปรากฏการณ์แนวนี้จึงเป็นแนวทางหลัก
หากจะพิจารณาจากแนวความคิดของ โรเบอร์ต โฮลตัน กองบรรณาธิการได้นำแนวคิดมาพิจารณาเกี่ยวกับอัตลักษณ์มลายูมุสลิมที่กำลังเผชิญกับกระแสของโลกาภิวัตน์ เพื่อที่จะเห็นพลวัตของมุสลิมที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
การพิจารณาแนวคิดของ Edward Said ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่ทำให้เกิดการเดินทางของผู้คนมากขึ้น ซาอิด นักบูรพาคดีศึกษา ก็ได้เสนอทฤษฎีแห่งการเดินทาง (Travelling Theory ) ย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อพิจารณากับเงื่อนไขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ให้ความสำคัญกับทางด้านการศึกษาเพื่อสู่ทางรอดชีวิตใหม่และสำหรับนักศึกษารุ่นใหม่จำนวนมากได้มีโอกาสเดินทางไปเรียนต่างพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ไปเรียนทางด้านศาสนาเพื่อที่จะกลับมาพัฒนาสังคมด้วยองค์ความรู้ แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะเป็นทางด้านวิชาการต่างโลกสมัยใหม่มากขึ้นหรือไม่ก็เรียนควบคู่กันไป
ในส่วนของ Edward Said ได้ระบุถึงความสำคัญของทฤษฏีแห่งการเดินทางจากวัฒนธรรมหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง ทฤษฎีได้นี้ได้กล่าวไว้ว่า
“Like people and schools of criticism, ideas and theories travel—from person to person, from situation to situation, from one period to another. Cultural and intellectual life are usually nourished and often sustained by this circulation of ideas, and whether it takes the form of acknowledged or unconscious influence, creative borrowing, or wholesale appropriation, the movement of ideas and theories from one place to another is both a fact of life and a usefully enabling condition of intellectual activity. Having said that, however, one should go on to specify the kinds of movement that are possible, in order to ask whether by virtue of having moved from one place and time to another an idea or a theory gains or loses in strength, and whether a theory in one historical period and national culture becomes altogether different for another period or situation. Said Edward (1983, p. 226)”
“การวิพากษ์วิจารณ์ในปัจเจกบุคคลและสำนักคิดทางความคิดและทฤษฎีการเดินทาง จากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง จากสถานการณ์หนึ่งไปยังอีกสถานการณ์หนึ่ง จากช่วงระยะเวลาหนึ่งไปสู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง วัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของเหล่าปัญญาชนโดยปกติแล้วจะถูกทำให้อุดมสมบูรณ์และถูกสนับสนุนโดยวัฏจักรทางความคิดเหล่านี้ กระทั่งยังได้รับรูปแบบมาจากอิทธิพลแห่งการรับรู้และการไม่รับรู้ การหยิบยืมอย่างสร้างสรรค์ การจัดสรรอย่างเหมาะสม การเคลื่อนย้ายทางความคิดและทฤษฎีจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งก็คือข้อเท็จจริงของชีวิตและเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดกิจกรรมทางภูมิปัญญา อย่างไรก็ตามควรจะชี้ชัดถึงความเป็นไปได้ของประเภทของการเคลื่อนไหว ในอีกทางหนึ่งโดยการเคลื่อนย้ายแนวคิดทางศีลธรรมจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งและจากเวลาหนึ่งไปยังอีกเวลาหนึ่ง หรือเป็นทฤษฎีที่มีทั้งจุดแข็งและจุดด้อย หรือเป็นทฤษฎี ณ ช่วงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมหนึ่งที่กลายมาเป็นความแตกต่างที่มาหลอมรวมกัน ณ สถานการณ์หรือช่วงเวลาหนึ่ง”
โดยสาระสำคัญของ ซาอิด ก็คือการให้ความสำคัญกับ “คน” ที่มีการเดินทางข้ามถิ่น และได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองไปพบเจอมา โดยซาอิดเสนอลักษณะของการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดออกเป็น 4 ขั้นตอนดังนี้
- จุดกำเนิดของแนวคิด ( point of origin ) ทางด้านแนวคิด ซึ่งอาจจะเป็นบริบททางสังคมวัฒนธรรม ณ. สถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง หรือ ช่วงเวลาหนึ่งไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง
- จุดเปลี่ยนหรือรอยต่อของการเดินทาง ( distance traversed ) ที่แนวคิดได้เคลื่อนจากจุดบ่อเกิดผ่านไปยังเวลาและสถานที่อื่น โดยอาศัย สื่อกลาง ในการเปลี่ยนผ่านทางด้านแนวคิด เช่น ชุมชนของผู้อพยพ ปัญญาชนผลัดถิ่น หรือ สื่อทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสารทางด้านเทคโนโลยี เป็นต้น
- การเผชิญกับชุดของเงื่อนไข ( series of conditions) ที่จะเป็นจุดหักเหในการยอมรับ ปฏิเสธ หรือปรับเปลี่ยนในเวลาและสถานที่ใหม่ เช่น ค่านิยม วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และระเบียบกฎเกณฑ์ของแต่ละสังคมแต่ละสถานที่และยุคสมัย
- แนวความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการใช้บริบทใหม่ ( idea is to some extent transformed ) Said Edward (1983, p. 227)
หากพิจารณาการเสนอของซาอิดทั้ง 4 ขั้นตอนก็สามารถที่จะสร้างกรอบแนวคิดดังต่อไปนี้
จากแนวคิดข้างต้น สามารถอธิบายได้ว่าอัตลักษณ์มลายูมีจุดกำเนิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยแน่นอนมีการผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธ ฮินดู หรือความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งถือว่าเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นมลายูมุสลิม จุดที่ทำให้เกิดความหักเหหรือมีการปรับเปลี่ยนก็คือ การเดินทางไปศึกษาต่างประเทศของกลุ่มปัญญาชน หรือออกเดินทางไปค้าขายท่องเที่ยว สิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับศาสนาอิสลามเช่น การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในเมืองมะดีนะฮฺและเมืองมักกะฮฺ ประเทศซาอุดิอารเบีย โดยสมัยก่อนได้มีการเดินทางด้วยเรือ โดยใช้เวลานานนับเดือน ก่อนที่ในยุคหลังจะมีการเดินทางไปด้วยเครื่องบิน แต่ทว่าขั้นตอนที่สาม ก็คือ การเผชิญกับเงื่อนไขตลอดระยะเวลาของเดินทางหรืออยู่ต่างถิ่น ขั้นตอนที่สี่ ก็คือ การกลับมาของเหล่าปัญญาชนเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมตามประสบการณ์และองค์ความรู้ของตนเองที่ได้รับมา
กระบวนการนี้สะท้อนให้เห็นว่า อัตลักษณ์มลายูดั้งเดิมของท้องถิ่นจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและการต่อรองกับสิ่งใหม่ หรือองค์ความรู้ใหม่ต่างๆที่เข้ามาสู่ท้องถิ่น และที่สำคัญอย่างยิ่งองค์ความรู้ใหม่ที่ว่านั้นก็เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของความเป็นมุสลิม จึงมีกลุ่มคนด้วยกันพร้อมที่จะเรียนรู้ในการเปลี่ยนแปลงและก็ย่อมมีบางส่วนที่ความรู้สึกต่อต้านทางด้านองค์ความรู้ใหม่
ทางกองบรรณาธิการเห็นว่า การทำความเข้าใจเรื่องข้างต้นอาจพอจะช่วยให้เห็นถึงความจำเป็นและเงื่อนไขต่างๆของชีวิตสามัญโดยทั่วไป ที่ต้องดิ้นร้นต่อสู้และปรับเปลี่ยนชีวิตภายใต้เงื่อนของความเปลี่ยนแปลงทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปาตานีฟอรั่มจึงอยากชวนให้มองเห็นถึงคนธรรมดาทั่วไป เช่น อดีตเจ้าหน้าที่ รปภ.ตึกมาลีนนท์ ช่อง 3 คือ “มะเย็ง เว๊าะบ๊ะ” กับลูกสาว 5 ขวบ ด.ญ.มิตรา เว๊าะบ๊ะ ที่เสียชีวิตจากเหตุมอเตอร์ไซค์บอมบ์ที่ตากใบ นราธิวาส
อ้างอิง
Said, Edward W. (1983). Traveling theory. In: The world, the text, and the critic. Cambridge, Massachusetts: Harvard UP.