ยุติการตรวจค้น จับกุม คุมขังนักศึกษาและเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยพลการ
นับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้มีการตรวจค้น จับกุม คุมขังนักศึกษาและเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเขตกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 10-15 ตุลาคม 2559 เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังตรวจค้นจับกุมนักศึกษาและเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พักอาศัยย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหงรวม 44 คน และนำตัวพวกเขาไปควบคุมในสถานที่ต่างๆ ก่อนจะปล่อยตัวออกมาเป็นส่วนใหญ่โดยไม่มีการแจ้งข้อหา มีห้าคนถูกควบคุมตัวที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 และถูกส่งตัวต่อไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี หลังครบกำหนดเจ็ดวัน และหนึ่งคนยังถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกลางคลองเปรม หลังจากนั้นยังคงมีการตรวจค้นจับกุมนักศึกษาและเยาวชนเหล่านี้เป็นระยะ โดยล่าสุดในวันที่ 19 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นและควบคุมตัวนักศึกษาและเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ย่านรามคำแหงจำนวนสองคนในช่วงบ่ายและห้าคนในช่วงค่ำ รวมทั้งมีการตรวจตราชมรมนิสิตนักศึกษามุสลิมในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างขึ้นและส่งผลให้นักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากหวาดกลัว ไม่กล้าพักอาศัยในที่เดิมอีกต่อไป ไม่นับรวมการตรวจค้นข่มขู่คุกคามพวกเขาในพื้นที่ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
เจ้าหน้าที่อ้างว่าปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปเพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรมในโอกาสครบรอบการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบในวันที่ 25 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ ทว่าจากการที่มีการปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยส่วนใหญ่โดยไม่มีการตั้งข้อหาชี้ให้เห็นว่าการจับกุมเป็นในลักษณะเหวี่ยงแหและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเป็นไปโดยพลการเพราะไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือหมายจับแม้จะอาศัยอำนาจตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ตาม ขณะเดียวกันก็ไม่มีการแจ้งให้ญาติและบุคคลที่เกี่ยวข้องรับทราบถึงสถานที่ควบคุมตัว และญาติที่เดินทางมาจากพื้นที่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมในช่วงแรก รวมทั้งมีข้อให้ชวนสงสัยว่ามีการบังคับขู่เข็ญให้ผู้ต้องสงสัยรับสารภาพ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง นอกจากนี้ การส่งตัวเยาวชนเหล่านี้ไปควบคุมต่อที่เรือนจำค่ายอิงคยุทธบริหารโดยอ้างกฎอัยการศึกถือเป็นการอ้างอำนาจตามกฎหมายที่ผิดเพราะกรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกแต่อย่างใด
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองเห็นว่าการตรวจค้น จับกุม คุมขัง นักศึกษาและเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ในกรุงเทพฯ ด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้น ถือเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกินขอบเขต ไม่เป็นไปตามหลักการและวิธีการตามกฎหมาย และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสิทธิพลเมืองอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ปฏิบัติการดังกล่าวถือเป็นการอาศัยช่วงจังหวะเวลาที่สังคมอยู่ในภาวะเศร้าโศกเสียใจในการใช้อำนาจตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ เป็นการอาศัยช่วงจังหวะเวลาที่สังคมอยู่ในความวิตกกังวลในการโหมไฟความหวาดกลัวที่มีต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ขยายวงกว้างมากขึ้น และเป็นการอาศัยช่วงจังหวะที่ความโกรธแค้นเกลียดชังผู้เห็นต่างกำลังถูกปลุกปั่นในสังคมในการขยายอคติต่อชาวมลายูมุสลิมที่ไหลเวียนอยู่ให้ฝังแน่นยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อหลักการสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยและการเคารพในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อของสมาชิกในสังคม
เพื่อปกป้องสิทธิของนักศึกษาและเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะพลเมืองไทยและป้องกันมิให้อคติทางชาติพันธุ์และศาสนาขยายวงกว้างและเป็นเครื่องมือของการใช้อำนาจโดยพลการ ตามอำเภอใจ และไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองมีข้อเรียกร้องดังนี้
1. ยุติการตรวจค้น จับกุม คุมขังนักศึกษาและเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยพลการ และให้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งให้ใช้กระบวนการยุติธรรมปกติในการดำเนินคดีกับพวกเขาหากมีมูล
2. ยุติการอาศัยช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังอยู่ในความเศร้าโศกเสียใจ อ่อนไหว และเปราะบาง ในการละเมิดหลักการและวิธีการตามกฎหมาย เพราะนอกจากขัดหลักนิติรัฐและสิทธิพลเมืองแล้ว ปฏิบัติการดังกล่าวยังสร้างรอยมลทินให้กับยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านและไม่เป็นผลดีต่อการปกครองประเทศในระยะยาว
3. รัฐและสังคมไทยควรเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจและเคารพในความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนา ตลอดจนการคำนึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบด้วยกระบวนการสันติวิธีและการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
20 ตุลาคม 2559