ความเงียบหลังจากจับกุมนักศึกษามลายู

 

สำนักข่าววาร์ตานีเป็นสื่อทางเลือก สื่อเดียวที่ติดตามการบุกค้นจับกุมนักศึกษาบริเวณย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีตัวเลขผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 40 คน และบางส่วนยังไม่ทราบชะตากรรม ซึ่งสำนักข่าววาร์ตานีได้เกาะติดตามรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ได้มีบางคนได้รับการปล่อยตัว แต่ก็ยังมีอีกหลายคนไม่ทราบสถานที่คุมขังตัวว่าอยู่ที่ไหน  

 

ก่อนหน้านี้หน่วยงานความมั่นคงได้ประกาศว่าจะมีการวางระเบิดที่กรุงเทพ เนื่องจากวันครบรอบวันสถาปนาบีอาร์เอ็น10 ตุลาคม ส่วนครบรอบสถาปนาพูโลคือ 12 ตุลาคม และวันที่ 25 ตุลาคม คือครบรอบ 12 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ จึงทำให้เกิดการปฏิบัติการบุกค้นหอพักนักศึกษาย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง  หากทว่าในทุกๆปีโดยเฉพาะวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ เหล่านักศึกษา นักกิจกรรมทางสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆก็มีงานจัดกิจกรรมเสวนา ต่างๆหลากหลาย ด้วยสันติวิธีมาโดยตลอด หากหน่วยงานความมั่นคงหรือหน่วยข่าวกรองพอจะมีความเชี่ยวชาญและความเป็นมืออาชีพ (Professional) เก็บบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบก็ย่อมน่าจะรู้ดี เว้นแต่สักว่าจะมีเหตุผลอื่น 

 

ผลของการปฏิบัติการจับกุมครั้งนี้ ได้สร้างความหวาดกลัวเฉพาะเจาะจงกลุ่มชาวมลายูมุสลิมโดยเฉพาะนักศึกษา ซึ่งได้สร้างความเดือนร้อนแก่ญาติมิตร ที่ต้องเดินทางกว่าพันกิโลเมตร เพื่อมาเยี่ยมลูกหลานของตัวเองที่โดนจับกุม ซ้ำร้ายในความเป็นจริงปัจจุบัน ก็คือการไม่อนุญาตให้เยี่ยม และบางกรณีคือเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้แจ้งว่าคุมขังอยู่ที่ไหน 

 

ครั้งนี้ถือว่าเป็นการบุกจับกุมจำนวนมากที่สุดแต่ก็เงียบที่สุด ไม่มีการนำเสนอข่าวหรือติดตามชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาทั้ง 40 คน ไม่มีนักข่าวกระแสหลัก สำนักข่าวกระแสหลัก ติดตามชีวิตนักศึกษา ว่าสภาพการเป็นอยู่อย่างไร เป็นความเงียบเหมือนประเทศนี้ไร้อาชีพนักสื่อสารมวลชน 

 

ภาวะเงียบงันที่น่าสนใจยิ่ง คือความเงียบของคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพทั้งสองฝ่ายคือคณะตัวแทนรัฐไทยและคณะกลุ่มมาราปาตานี เหมือนอยู่คนละบริบทและคนละโลก และสิ่งที่เจรจาพูดคุยกันก็ยิ่งน่าสนใจยิ่งว่า คุยกันไปคุยกันมา กลับมาปฏิบัติการจับกุมนักศึกษา อย่างน่าประหลาดใจเหลือเชื่อ

 

หากพอจะมีเสียงไถ่ถามของผู้ที่ได้รับผลกระทบและญาติมิตรที่โดนจับกุมทั้งหมด คงมีคำถามเดียว นี้หรือผลของการพูดคุยเพื่อสันติภาพและดอกผลที่เรียกว่า “งานการเมือง” ของคู่เจรจาทั้งสองฝ่าย หากทว่าการจับกุมครั้งนี้เป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่กลับทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นและอาจจะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ 

 

สำหรับสังคมไทยแล้ว เมื่อตอนที่ทหารล้อมจับนักศึกษามลายูย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหงไปค่ายทหารหรือที่ไหนสักแห่ง คนไทยส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้เป็นญาติและใกล้ชิดกับนักศึกษามลายูมุสลิม ย่อมไม่รู้สึกสยดสยองน่าสะพรึงกลัวแต่อย่างไร เพราะเป็นเรื่องผู้ต้องสงสัยที่จะมาวางระเบิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เกี่ยวอะไรกับตัวเอง เช่นเดียวกับการระเบิด กราดยิง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้สึกขนาดต้องสยดสยองน่าสะพรึงกลัวสักเท่าไร เพราะมั่นใจได้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจะเกิดขึ้นในพื้นที่เท่านั้น จะไม่มาถึงกลางเมืองหลวง และมีคนเล็กคนน้อยจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่โชคร้ายบาดเจ็บล้มตายลง 

 

หากถามเรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยตอนนี้ถือว่าเป็นภาวะยกเว้นเสียแล้วและมันเกิดขึ้นตั้งนานแล้ว ตั้งแต่เราไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของอำนาจรัฐและขณะนี้สังคมไทยก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า เราจะลุกขึ้นมาถามถึงสิทธิและเสรีภาพ โดยเฉพาะทางด้านการเมือง ซึ่งแน่นอนจะทำให้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แก้ไขลำบากมากขึ้น เช่นกรณีเหตุการณ์ครบรอบตากใบ เจ้าหน้าที่รัฐทำให้ผู้เสียชีวิต 80 กว่าคน แทนที่หน่วยงานรัฐจะจัดงานครบรอบทุกปีเพื่อเป็นการสานความสัมพันธ์กับญาติของผู้เสียชีวิตและเหยื่อที่จะคงมีชีวิตยังพิการอีกจำนวนหนึ่ง (ผู้เขียนจำได้ว่าเคยไปลงพื้นที่หลังเหตุการณ์ตากใบและได้พบกับเด็กชายคนหนึ่งถูกคมกระสุนยิงเข้าที่ดวงตา ทำให้เขาต้องสูญเสียดวงตาไป และระบบประสาทบางส่วน) แต่กลับทำให้เรื่องตากใบเป็นเงื่อนไขพิเศษหวาดระแวง น่ากลัว ต้องระวัง หากคิดแบบนี้ก็ต้องหวาดระแวงไปทุกปี เมื่อครบรอบ 25 ตุลาคม บุกค้นทุกปี และปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สามารถคลี่คลายความจริงและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้เสียชีวิตได้ แต่การเปิดเผยความจริงและให้พื้นที่แก่ญาติมิตรของผู้สูญเสียได้แสดงออก มีพื้นที่ให้แก่คนรุ่นใหม่ๆได้เรียนรู้และจดจำ เพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก 

 

ในทางกลับกัน "วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด" (impunity) ถือว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยิ่ง กระบวนการนำคนผิดมาลงโทษยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตราบเท่าที่เรายังอยู่ภายใต้ระบบที่ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐได้ และแน่นอนย่อมหมายถึงระบอบประชาธิปไตย ที่มีปรัชญาสำคัญคือ ให้ประชาชนเป็นนายของตัวเอง แต่สำหรับเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูเหมือนว่าประชาชนจะเป็นเพียงหมากเบี้ยทางการเมืองของทุกฝ่าย ทั้งรัฐและกลุ่มขบวนการติดอาวุธในขณะนี้ด้วย และทั้งสองฝ่ายโดยเนื้อแท้แล้วก็เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางความคิดของประชาชนในพื้นที่พอๆกัน 

 

ผลของการปฏิบัติการจับกุม บุกค้นนักศึกษาลายูมุสลิมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพของรัฐไทยต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะคณะพูดคุยกับรัฐไทยที่เรียกว่ากลุ่มมาราปาตานี (Mara Patani) ก็มีตัวแทนของกลุ่ม บีอาร์เอ็นและพูโลร่วมสนทนาอยู่ด้วย แล้วจะมาระเบิดเพื่อเฉลิมฉลองการสถาปนาวันครบรอบก่อตั้งเพื่อ? และเหตุการณ์ครบรอบตากใบ ก็เป็นวันที่ประชาชนขาดอากาศหายใจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน ไม่ได้มีการต่อสู้และมีกลุ่มกำลังติดอาวุธใดๆเลย เช่นนี้แล้วข้ออ้างข้างต้น จะไม่ให้พี่น้องชาวมลายูมุสลิมมีความรู้สึกข้างในใจได้อย่างไรว่า “Why Always Me(layu)?” อะไรๆก็มลายูตลอด...