ย้อนอ่านตุลาฯ นักกิจกรรมมลายูในบางกอก

ทางกองบรรณาธิการ เห็นว่าในสถานการณ์ที่มีการจับกุมและปฎิบัติการบุกค้นบ้านนักศึกษาหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพ  ได้มีการจับกุมนักศึกษามลายูมุสลิมไม่น้อยกว่า 40 คน สร้างความหวาดกลัวให้แก่นักศึกษาที่มีพื้นเพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องมาอาศัยเรียนที่กรุงเทพ ทางกองบรรณาธิการจึงขอเชิญชวนอ่านบทความเก่า เพื่อว่าทางสังคมไทยจะได้สติและสงบลงบ้าง หันมามองเพื่อนมนุษย์และตรวจสอบการทำงานของอำนาจรัฐมากขึ้น 

 

หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความ "คุยกับ พีรยศ ราฮิมมูลา ว่าด้วย กลุ่มนิสิตนักศึกษามุสลิมสลาตัน" โดย เอกรินทร์ ต่วนศิริ และเก่งกิจ กิติเรียงลาภ ในหนังสือชุด หมายเหตุเดือนตุลา ลำดับ 3 การเมืองวัฒนธรรมยุคเดือนตุลา บรรณาธิการเล่ม เก่งกิจ กิติเรียงลาภ จัดพิมพ์เมื่อ ตุลาคม 2552 สามารถโหลดบทความเต็มได้ที่ http://www.14tula.com/activity/AW_Book3.pdf 


กำเนิดกลุ่มสลาตัน: ขบวนการนักศึกษามุสลิมหลัง 14 ตุลาฯ

 

ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแล้ว ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ พวกเราที่มาเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ เราได้รวมกันตั้งกลุ่มนิสิตนักศึกษามุสลิมสลาตัน สลาตันแปลว่าใต้ ช่วงนั้นปี 2515 พวกเราที่มาเรียนกรุงเทพฯตามสถาบันต่างๆ ต้องขอบคุณรัฐบาลขณะนั้นที่มีโครงการนำนักศึกษามุสลิมตามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามาเป็นโควต้าพิเศษเรียนตามสถาบันต่างๆ ทุกมหาวิทยาลัย สอบแข่งกันเองแล้วก็เลือกมหาวิทยาลัย ผมเรียนธรรมศาสตร์ เข้าปี 15 จบวัดสุทธิวราราม ผมไม่เคยเรียนปอเนาะ ตอนนั้นผมเป็นประธานโรงเรียนวัดสุทธิวราราม 2 ปี แล้วเป็นหัวหน้าห้องคิงส์ฝรั่งเศส แล้วก็ไปสอบโครงการมหาดไทยได้ พอมาอยู่กรุงเทพฯพวกเราก็นัดเจอกัน มาเรียนตั้งแต่รุ่นพี่เรา ผมมาจากนราธิวาส

 

ผมได้ทุน บางคนได้เรียนอย่างเดียวไม่ได้ทุน เราก็นัดเจอกัน สมัยนั้นอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รุ่นพี่หนึ่งปี มุก สุไลมาน อารีเพ็ญเช่าบ้านกับผมแถวซังฮี้   จุดนัดผมของเราสมัยนั้นคือร้านอาหารที่กิ่งเพชร เป็นร้านมุสลิมขายข้าวแกง ร้านขายน้ำชา ผมเชิญพวกเรามาที่บ้านเช่าที่ผมอยู่ มาทำกับข้าวกินกัน  พวกเราคุยกันว่าได้เปรียบกว่าคนอื่น ควรจะทำอะไร นักศึกษาเป็นความหวังของสังคม ผมก็ชอบวิเคราะห์และสนใจการเมืองมาตลอด ขณะนั้นคิดกันว่าภาคใต้ขาดผู้นำทางความคิด ขาด speaker พวกเราที่เข้ามาเรียนในโครงการฯถือว่าเราเป็นปัญญาชน เราต้องมีเป้าหมายชัดเจนว่า เมื่อเรียนจบแล้ว ความหวังของสังคมคือต้องการให้คนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนา ใครจบสาขาอะไร แล้วมีงานทำที่บ้านก็ให้กลับไป ถ้าใครไม่มีก็อยู่กรุงเทพฯไป

 

จนเกิดเป็นความคิดตั้งชมรมนิสิตนักศึกษามุสลิมสลาตันขึ้นมา   ทุกคนเห็นชอบด้วย ก็ไปเชิญท่านชูศักดิ์ มณีชยางกูร รุ่นพี่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ  ให้มาเป็นประธาน ผมเป็นผู้ประสานงาน  คุณอารีเพ็ญ เป็นรองประธาน ผมเสนอว่าให้จัดตั้งเป็นชมรม เหตุผลคือเราเคลื่อนไหวได้ง่าย ไม่ต้องขอจดทะเบียน จะพบปะกันเดือนละครั้ง สถานที่ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

 

พอตั้งได้ประมาณ 3 เดือน ก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ปิด เราก็ต่างคนต่างกลับบ้าน กระทั่งรัฐบาลแต่งตั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ซึ่งเป็นอาจารย์ผม ผมเคยเรียนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยกับท่านตอนอยู่ธรรมศาสตร์ปี 1 ตอนนั้นท่านได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ให้เป็นคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและเผยแพร่ประชาธิปไตย แล้วบังเอิญอาจารย์ผม 2 คนที่ไปอยู่ในคณะอนุกรรมการที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เป็นประธาน คือ ดร. ปราโมทย์ นาครทรรพ และดร.เอื้อย มีศุข สอนเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์ปราโมทย์ได้โทรเลขให้ผมมากรุงเทพฯด่วน ผมก็ขึ้นมา อาจารย์อยู่ทำเนียบรัฐบาลกับหม่อมคึกฤทธิ์ อาจารย์ให้ไปเจอที่ทำเนียบ แล้วบอกว่ามีโครงการนี้ แล้วอยากให้ผมช่วย

 

ผมก็ช่วยงานที่นั่น ตัดข่าวหนังสือพิมพ์ทุกวัน เป็นโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตย ผมก็บอกว่า สำหรับ 3 จังหวัดภาคใต้ ผมขอให้ชมรมนักศึกษามุสลิมสลาตันรับผิดชอบได้มั้ย เพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่พิเศษ ใช้ภาษาท้องถิ่น เวลาลงไปต้องใช้สองภาษา

 

ในตอนนั้น จังหวัดสตูลเราไม่ได้ไป ปัญหาจริงๆเกิดในสามจังหวัด  สงขลา คือ อำเภอสะบ้าย้อย สี่อำเภอยังไม่มีอะไร ในช่วงปี 2514 ความรุนแรงอยู่ใน 3 จังหวัดเป็นหลัก ทางอนุกรรมการพิจารณาบอกว่าโอเค ผมก็เรียกประชุมกลุ่มสลาตันบอกว่าเรามีงานทำ มีโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตย โดยผมเสนอชมรมนักศึกษามุสลิมสลาตันรับผิดชอบ 3 จังหวัด โดยขอร้องว่า ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ ศนท. ขณะนั้นไม่ต้องลงไป เราแบ่งโซนกัน เขาลงไปสตูล สงขลา เพราะประชากรตรงนั้นฟังภาษาไทยได้ 90 % ส่วน 3 จังหวัด ประชากรอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้

 

เราก็ตระเวนบรรยายประชาธิปไตย เคาะประตู พบปะกลุ่มชาวบ้าน เผยแพร่ แล้วก็เก็บข้อมูลแต่ละจุดมาเสนอต่ออาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรี จากจุดที่เราไปพบประชาชน ปัญหาชาวบ้านได้สะท้อนมากมายคือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ มันมีกฎหมายอันธพาลกับกฎหมายหนักแผ่นดินในสมัยนั้น หลายคนถูกจับกุมมาขังที่กรุงเทพฯที่สีคิ้ว บรรดาลูกหลาน ภรรยาก็เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาคดีพวกเขา ถ้าผิดก็ว่าไปถ้าไม่ผิดขอให้ปล่อย กลุ่มสลาตันก็มีโอกาสในฐานะสัญญาเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์และถือว่าเป็นอาจารย์ของเรา เราก็ประสานผ่านดร.ปราโมทย์ กลุ่มสลาตันเป็นตัวแทนเข้าไปพบอาจารย์สัญญา อาจารย์สัญญาก็สั่งการตำรวจให้ดำเนินการด่วนเรื่องนี้ คนที่ถูกกล่าวหาหากไม่มีความผิดให้ปล่อย ก็ลงหนังสือพิมพ์เลยกลุ่มสลาตันพบนายกรัฐมนตรี มีการร้องเรียนจากประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอให้ปล่อยผู้ต้องหาที่ไม่มีความผิด

 

หลังจากนั้น 1 อาทิตย์ เลขาฯนายกก็โทรศัพท์มา บอกว่ารัฐบาลปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดกลับไปใต้ ให้พวกเราไปรับ ก็ร่วมกับชมรมนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ที่เราเป็นกรรมการอยู่ด้วย ตอนนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่ถนนสุโขทัย ก็ร่วมกับเขารับมา ไปถึงสถานีรถไฟธนบุรี เราก็ไปเยี่ยมคนเหล่านั้นประมาณ 2 โบกี้รถไฟ รัฐก็จัดการค่าใช้จ่ายหมด เราก็ไปสัมภาษณ์ มีคนหนึ่งอายุ 60 ปี ถามว่าลุงโดนคดีอะไร แกบอกว่าผมขโมยไก่ตัวหนึ่งแล้วถูกตั้งข้อหาเป็นอันธพาล ตอนนั้นชมรมนักศึกษามุสลิมดังมาก หนังสือพิมพ์ลงทุกวัน หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย อยู่กิ่งเพชรซอย 7  คนใต้ทำงานอยู่เยอะก็ทำงานร่วมกับเรา

 

ตอนนั้น ผมมีโอกาสหลายอย่าง หนึ่งคือเป็นรองประธานสุทธิโดม ในฐานะศิษย์เก่าโรงเรียนวัดสุทธิวราราม และรองประธานกลุ่มโดมทักษิณ ซึ่งมี วีระ มุสิกพงศ์ เป็นประธาน เป็นรุ่นพี่  แต่แกติดกฎหมายล้มละลาย ตอนนั้นเกิดกบฏรัฐธรรมนูญ สมัยคุณอุทัย พิมพ์ใจชน สมัย 14 ตุลาฯ ผมอยู่ปี 2 แต่สูงใหญ่ เขาเข้าใจว่าผมอยู่ปี 4 แล้วก็เป็นตัวแทนคณะ อยู่สภาหน้าโดม ใต้ถุนเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ที่ผมสังกัดผมไม่ค่อยได้อยู่ เหตุผลเพราะคณะรัฐศาสตร์ขณะนั้นพวกลูกท่านหลานเธออยู่ พวกผมถูกกล่าวหาเป็นซ้าย ก็อยู่ในกลุ่มซ้าย ไม่เป็นไร

 

บทบาทกลุ่มสลาตันช่วยเหลือหลายๆอย่าง เรียกร้องอาหารบนรถไฟธนบุรี–สุไหงโกลกซึ่งไม่มีอาหารมุสลิม รัฐบาลก็จัดให้ และห้องน้ำขอให้มีน้ำทำความสะอาด เพราะบนรถไฟใช้กระดาษแข็ง ก็ประสบผลสำเร็จ กลุ่มสลาตันก็ดังมากตอนนั้น เราไปไหนใน 3 จังหวัด ชาวบ้านเข้าใจว่า เราเป็น ศนท. เราก็บอกว่าไม่ใช่ พวกเราคือสลาตัน แต่ก็ทำงานร่วมกัน กระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พวกเราถูกตามล่า ผมจบปี 2518 ก็หนีไปอินเดีย กลับตาลปัตรเลย เมื่อ 3 ปีก่อนนั้นบูมมาก พอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯก็สลายไปโดยปริยาย มันจบแล้ว อารีเพ็ญไปตั้งสำนักงานทนายความ และสุดท้ายก็สมัครสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) มีผมคนเดียวในกลุ่มไปเรียนต่อปริญญาโท กลับมาสอนที่ มอ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) แล้วไปต่อปริญญาเอก เป็นนักวิชาการคนเดียว หลายคนเป็นตำรวจ เป็นปลัดอำเภอ วันนี้หลายคนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด   ศิษย์เก่าโครงการมหาดไทยหลายคนประสบความสำเร็จ นักวิชาการมีผมคนเดียว

 

ถ้านับๆดูตอนนั้น กลุ่มสลาตันมีสมาชิกประมาณ 20-30 คน เพราะเรามีข้อจำกัด สถาบันการศึกษาในกรุงเทพฯ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรฯ ศิลปากร ก็ประชุมกันได้ แต่พรรคพวกเราใครอยู่ต่างจังหวัดก็ตั้งสาขา เชียงใหม่ สงขลานครินทร์ สาขาสงขลานครินทร์ก็คุณไซมอน (วศิน สาเมาะ) ที่ดูแลเด็กกำพร้าเวลานี้ เขาเป็นประธานชมรมนักศึกษามุสลิม เวลาเราลงใต้ แล้วไปประสานชมรมมุสลิม มอ. กลุ่มสลาตันมีเครือข่ายมากช่วงนั้น ล้วนเป็นปัญญาชนมุสลิม พอหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พวกเราจบแล้ว สลาตันก็หมดไป แต่บังเอิญกลุ่มนักศึกษา PNY เริ่มเกิดขึ้นที่รามคำแหง แต่ความสัมพันธ์ส่วนตัวโยงใยมาถึงวันนี้ พวกเราในเชิงปัญญาชนตอนนั้น บทบาทที่เราทำ คือ เข้าไปสู่วงวิชาการ ภาคเอกชน ทำงานกระทรวงต่างๆ ถือว่าประสบผลสำเร็จ แต่พอเกิดเหตุการณ์ 6 ตัวพวกเราถูกล่า แต่เราสลายตัวง่ายเพราะเป็นชมรม หารายชื่อก็ไม่ได้ รวมกลุ่มคุยกัน เน้นการกลับไปสู่มาตุภูมิ

 

ในเวลานั้น ส่วนใหญ่เราอาศัยหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ที่มีคนใต้เป็นเจ้าของ อยู่ที่ถนนเพชรบุรี ซอย 5 มีความใกล้ชิดกัน สมัยเรียนธรรมศาสตร์ก็ทำงานโรงพิมพ์นั้นด้วย เป็นนักข่าว เราไม่มีเอกสารต่างๆ เพราะกลุ่มสลาตันพยายามเลี่ยงเอกสารที่เป็นหลักฐาน เรารู้ว่าแบบนี้จะทำให้ทางการใส่ร้ายเราได้ง่าย หนังสือพิมพ์เป็นกระบอกที่สำคัญที่สุด เพราะคนทั้งประเทศอ่าน

 

สมัยนั้นเอกสารของกลุ่มคนมุสลิมหลายเล่ม มีอันจีฮาดซึ่งเป็นหนังสือที่กลุ่มธุรกิจในกรุงเทพฯทำ เป็นวารสาร ถ้าในเชิงพรรคการเมือง ในประชาธิปัตย์ก็มีสานประชาธิปัตย์เฉพาะชายแดนใต้ก็มี ที่เราทำบางฉบับ หลังจากเรามาสู่เวทีการเมือง รุ่นพี่หลายคนมาทำ อย่างมุสลิมนิวส์ ของกลุ่มวาดะ โอเค คุณจะอยู่พรรคการเมืองอะไรเราเข้าใจกัน จะให้นักการเมืองมาอยู่พรรคเดียวกันเป็นไปไม่ได้ เก้าอี้มันมีจำกัด การแข่งขันมันต้องมี พรรคนู้นพรรคนี้เข้ามามีบทบาท แต่สิ่งที่ผมเรียกร้อง นักการเมืองทุกคนที่เป็นมุสลิม อะไรที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ประชาชน ขอให้พูดเสียงเดียวกัน แล้วก็ให้แยกระหว่างการเมืองกับมิตรภาพ  อย่าเอาการเมืองมาเป็นศัตรู แม้เราจะต่างอุดมการณ์ก็ไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำงานร่วมกันในบางจุด ต้องยึดถือประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ เราสบายใจได้ ในกระบวนการนักศึกษาตั้งแต่ยุคผมมันไม่มีที่จะพัวพันขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่ในกลุ่ม PNY ก็ต้องยอมรับความจริง เพราะมันมาจากหลายพื้นฐานของสังคม ที่เขาได้รับความอยุติธรรม พ่อเขา ลุง พี่ อาจจะถูกกลไกรัฐ บางคนไปใช้วิธีการรุนแรงกับเขา ความแค้น ความโกรธเมื่อถึงเวลาเขาก็อาจระบายออกมา

 

จะเห็นว่ากลุ่มสลาตันเข้ามาสู่บทบาททางการเมืองก็มีคุณอารีเพ็ญ และคุณมุก ตอนนั้น หลายคนไปทำงานธนาคารเกษตร เป็นปลัดอำเภอ นักวิชาการอย่างผมจะมีบทบาทโดดเด่นใน มอ. เพราะเป็นข้อสัญญาทางใจ เป้าหมายหลักก็คือพยายามเป็นปากเป็นเสียงให้พี่น้อง แล้วเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ถ้าจะพูดตรงๆคือ นักศึกษาธรรมศาสตร์มีผมคนเดียวที่เข้าไปร่วมประชุม หนึ่งผมเป็นตัวแทนนักศึกษาธรรมศาสตร์ปี 1 มี 5 คน ผมเป็น 1 ใน 5 มีผมคนเดียวเป็นมุสลิม นศ.ธรรมศาสตร์  นอกนั้นก็ไม่ได้มีใครเข้ามามีบทบาทอะไร แต่มีการชุมนุมประท้วงเราก็ร่วม ตั้งแต่เข้ามา 3 สัปดาห์แรก เราเข้าร่วมเรื่องต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ตอนอยู่ปี 1 พอหลังจากนั้นก็ต่อสู้กฎหมาย 299 ของรัฐบาลถนอม-ประภาส ที่ต้องการให้นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ อยู่ในอำนาจทั้งหมด  

 

หลังจากสลาตัน สลาตันหมดบทบาทจริงๆหลังปี 2518 หลังพวกผมจบแล้ว มหาวิทยาลัยรามคำแหงก่อตั้งขึ้นในปี 2512 ช่วงนั้นเด็กทางใต้ เด็กมุสลิม 3 - 4 จังหวัด ยังขึ้นมาเรียนไม่มากนัก พอหลังจากนั้นก่อตัวขึ้นมาช่วงสลาตันมีอยู่ กลุ่มนี้มีอยู่แล้ว แต่บทบาทไม่โดดเด่นเท่าเรา อย่างที่บอกหลังจากเรายื่นหนังสือที่ทำเนียบ ไปจุฬาฯ พบ สุธรรม แสงประทุม แล้วก็ไปที่รามฯ เพื่อให้ PNY ร่วมมือกับเรา พอหลังพวกผมจบไปแล้ว บทบาทกลุ่มนี้ก็เริ่มมีแทนที่เรา

 

ปลายปี 2518 และปี 2519 มีการประท้วงที่ปัตตานีปลายปี 2518 กลุ่ม PNY เริ่มมามีบทบาทแทนเราแล้ว เขารับช่วงเรา มีการไปมาหาสู่ การปรึกษาหารือ และให้คำแนะนำให้พยายามรวมกลุ่มกัน แต่มันแตกต่างจากสลาตันตรงที่มันร้อยพ่อพันแม่ที่มา ต้องขอบคุณรัฐบาลที่มีมหาวิทยาลัยเปิดทำให้เด็กทางใต้มา บางคนก็มาตายดาบหน้า เขาอยากได้ความรู้ มันเป็นการรวมกลุ่มของเด็กทางใต้ที่ใหญ่ที่สุด 

 

จะเห็นว่าการตั้งกลุ่ม PNY ถ้าคนไม่เข้าใจปรัชญานี้ P คือ ปัตตานี  N คือ นราธิวาส Y  คือ ยะลา S คือ สตูล มาเพิ่มทีหลัง PNYS แล้วมาเพิ่ม S อีกตัว PNYSS  P  ปัตตานี N -  national  Y - youth  S – solidarity S – student  การเชื่อมโยง ของนักศึกษาในรามกับเครือข่ายที่อยู่ข้างนอก เพราะมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ใครไป ใครมา ไม่มีใครรู้ เขาบินจากสวีเดนมาไทยแล้วเจอกัน เมื่อปี สองปีที่แล้ว ฮือฮากันใหญ่ มาค้นนักศึกษาที่เรียนราม เพราะนั้น ผิวเผินเราไม่รู้หรอก นึกว่า ปัตตานี นราธิวาส ยะลา จริงๆแล้วมันเป็นคำย่อ

 

เราจะเห็นว่า บทบาทกลุ่มสลาตัน กลุ่ม PNY บางอย่างเหมือน บางอย่างไม่เหมือน อันนี้เป็นเรื่องปกติ ในสังคมประชาธิปไตย  อย่างน้อยที่สุดบทบาทนักศึกษามุสลิม ตั้งแต่ยุคก่อนผม มาสู่ยุคผม กลุ่ม PNY ก็ยังอยู่ถึงทุกวันนี้ เพราะเขาเป็นกลุ่มใหญ่ หลายอาชีพ หลายครอบครัว เขาจะมีชมรมของเขา PNY ยะลา PNY นราธิวาส เขาจะมีการพบกัน แต่กลุ่มสลาตัน เกือบจะพูดได้ว่าส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จในอาชีพราชการ การเมือง ทำธุรกิจ เราก็ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศที่เราต่อสู้ก็ไม่พ้นรัฐจะมองทางลบ ทุกวันนี้ก็ยังมองอยู่ ไม่ว่าใครจะอยู่ฝ่ายค้าน รัฐบาล ตรงนี้ยากในการจะขจัดความระแวง ไม่ไว้วางใจ

 

การชุมนุมใหญ่ที่ปัตตานีปี 2518

เหตุการณ์ที่ศาลากลาง การชุมนุมเนื่องจากประชาชน 5 คนถูกมองเป็นโจร แล้วบังเอิญในนั้นมีเด็กชายคนหนึ่งที่รอดชีวิต และประชาชนมุสลิมก็ออกมาประท้วงนาวิกโยธินที่บริเวณหน้าโรงเรียนเบญจมราชูทิศ เมื่อปี 2518 ตอนนั้นผมอยู่ปีสุดท้ายที่ธรรมศาสตร์ (เหตุการณ์นี้) มันต่างจาก 14 ตุลาฯ 2516 ตรงที่เหตุการณ์ปี 2518 การต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนทั่วไป แน่นอน (ในปี 2516) ปัญญาชนเป็นตัวหลักสำคัญ ทุกคนมีอารมณ์และอุดมการณ์ร่วมกันที่จะลุกขึ้นมา เผด็จการถนอม-ประภาส-ณรงค์กลายเป็นศัตรูร่วมของนักศึกษา ประชาชน ส่วนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทหารมองว่ายังไงต้องสร้างเคาเตอร์เรโวลูชั่นคือการตีกลับ ทำลายองค์กรนักศึกษา 3 ปี ตั้งแต่เราเคลื่อนไหวปี 2516 ทางการทหารบอกว่าต้องปราบแกนนำนักศึกษาให้หมด ไม่งั้นทหารกลับมาลำบาก เลยมีการสร้างสถานการณ์ เป็นเคาเตอร์ 14 ตุลาฯ เราเรียกนักศึกษาธิปไตย  มา 6 ตุลาฯ เข้าป่าเยอะ

ในเหตุการณ์ปี 2518 ผมสอบที่ธรรมศาสตร์ช้ากว่าเพื่อน ผมและอารีเพ็ญ และอีกสามสี่คนประชุมกันที่ธรรมศาสตร์ คิดว่าเราลงไปไม่ได้ ก็ไปหาสุธรรม (แสงประทุม) ที่จุฬาฯ ขอร้องสุธรรมให้ลงไปช่วยที่ปัตตานี เขา (สุธรรม) ลงไปฐานะที่เขาเป็นแกนนำคนหนึ่งของนักศึกษา เขาเป็นเลขา ศนท. ตอนนั้น เราคิดไปต่อสู้เพื่อคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีใครคิดเรื่องกระบวนการอะไร ในความคิดกลุ่มสลาตันเรื่องแยกดินแดนไม่เกี่ยวกับเรา แนวความคิดกระบวนการแยกดินแดนส่วนใหญ่คือนักศึกษาที่ไปเรียนต่างประเทศ ตะวันออกกลาง เพราะเขาถูกกล่าวหา มันเจ็บปวด เขาต้องพิสูจน์ตัวเองออกมาตลอดเวลา 

ฝ่ายพวกเราตอนนั้นก็ไปที่รามคำแหง ตำรวจตามเราตลอด กระทั่งครั้งหนึ่งเมื่อมีการชุมนุมที่ศาลากลางปัตตานี ปี 2518 เราก็ไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นนายกฯ เราที่อยู่ธรรมศาสตร์กลับบ้านที่ใต้ไม่ได้ นอกนั้นสถาบันอื่นลงไปหมดแล้ว เราไปยื่นหนังสือ ต้องการพบนายกฯ ขอให้นายกฯลงไปพบผู้ชุมนุมที่หน้าศาลากลาง ตอนนั้นย้ายไปมัสยิดกลางแล้ว เราก็ไปประมาณ 20 คน ที่ทำเนียบรัฐบาล ผมเป็นคนยื่นหนังสือ และผมเป็นคนสั่งเวฟ พวกเรา 20 คน มองไปในทำเนียบ มันไม่รู้เกิดอารมณ์ได้ยังไง

นายกฯไม่ได้ลงมารับ แต่ตัวแทนนายกฯคือทหารมารับ ทหารบอกห้ามไม่ให้คึกฤทธิ์ลงไปพบผู้ชุมนุม หลังจากปฏิวัติแล้วนะ เสร็จแล้วหม่อมคึกฤทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า "ถ้าจะให้ผมไปพบผู้ชุมนุมที่ปัตตานีให้ผมไปฝังลูกนิมิตดีกว่า" นั่นเท่ากับเอาน้ำมันถังใหญ่ราด แต่เรานักศึกษาธรรมศาสตร์ช่วงนั้นยังกลับไม่ได้ ติดสอบอยู่ เราไปประชุมที่กิ่งเพชร แล้วลุงแช่ม (พรหมยงค์) บอกว่าไปใช้ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่คลองตัน 

เรื่องที่คุยกันที่คลองตันวันนั้นเป็นประเด็นการสร้างดุลการต่อสู้ ในเมื่อกลุ่มหนึ่งสู้อยู่ในพื้นที่ เราอยู่ในกรุงเทพฯ มันมีอารมณ์ร่วมกัน ที่บอกว่าพี่น้องมุสลิมในกรุงเทพฯก็ต้องมีการแสดงปฏิกิริยาเหมือนกัน ที่การกระทำของเจ้าหน้าที่นาวิกโยธินที่ฆ่าประชาชน ถ้าต้องการให้รัฐเห็นว่าการต่อสู้ไม่ใช่คนใน 3 จังหวัดอย่างเดียว มุสลิมในส่วนกลางจากองค์กรต่างๆ องค์กรมุสลิมหลายองค์กรออกแถลงการณ์ พวกพรรคพวกผม ชมรมนักศึกษามุสลิม 14 องค์กร ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาล แม่ทัพภาค 4 ขณะนั้น และทางเราเป็นคนไปเอาเด็กชายที่รอดชีวิตคนนั้นมาอยู่ที่บ้านและเอาขึ้นเวทีที่สนามหลวง ตอนนั้นมันธรรมดา เราเป็นวัยรุ่น และเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหมู่ปัญญาชนที่ลุกขึ้น ในที่สุดกลุ่มสลาตันก็ถูกกากบาท