ส่องความคิดคู่ขัดแย้งปาตานี/ชายแดนใต้ โดย อาทิตย์ ทองอินทร์ ตอนที่ 2
ก่อนหน้านี้ในงานเขียน ส่องความคิดคู่ขัดแย้งปาตานี/ชายแดนใต้ ตอนที่ 1 ปาตานี ฟอรั่มได้นำเสนอมุมมองทางวิชาการโดย อาจารย์อาทิตย์ ทองอินทร์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิตเกี่ยวกับแนวคิด และนิยามเกี่ยวกับ “ความมั่นคง” ท่ามกลางสังคมการเมืองสมัยใหม่ พร้อมบทวิพากษ์ฝ่ายความมั่นคงไปบ้างเพื่อปูพื้นความเข้าใจ (ตามลิงค์ www.pataniforum.com/single.php?id=612) มาถึงตอนต่อเนื่องสำหรับตอนที่ 2 นี้อาจารย์อาทิตย์จะมานำเสนอข้อค้นพบและการศึกษาอย่างละเอียดยิ่งขึ้นในมุมมองของฝ่ายความมั่นคงต่อขบวนการมุสลิมในประเทศไทย อันหมายรวมไปถึงมุมมองต่อแนวคิดของกลุ่มขบวนการต่อสู้ติดอาวุธปาตานี ด้วยเช่นกัน
อาจารย์อาทิตย์ เริ่มด้วยชี้ไปที่ Concept ของคำว่า ขบวนการมุสลิม หมายถึงอะไร เพราะที่ผ่านมาเคยได้ยินแต่ขบวนการอิสลามการเมืองต่างๆ ซึ่งอาจารย์อาทิตย์ไล่เรียงความเข้าใจส่วนตัวว่า เวลาพูดถึงขบวนการมุสลิมอาจจะหมายถึงอะไรได้บ้าง
ประการที่หนึ่ง แน่นอนว่าอาจะหมายถึงขบวนการอิสลามการเมืองตรงนี้ก็มีรายละเอียดมากมาย แต่ในมุมมองของส่วนตัว ขบวนการทางการเมืองอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการตัจดีดหรือการฟื้นฟูอิหม่าน มีภารกิจหลายอย่างในขบวนการอิสลามการเมือง เริ่มมาตั้งแต่งานวิชาการเราได้เริ่มถกกันว่ามันไม่ค่อยมีนักคิดมากนักแต่นั่นก็คือภารกิจงานหนึ่ง งานด้านตัรบียะฮฺด้านการศึกษาฝึกอบรม งานด้านดะวะฮฺ งานด้านการเมือง มีหลายภารกิจของมันแต่เป้าหมายหลักก็คือฟื้นฟูอิหม่าน ไม่ใช่อิหม่านหลักศรัทธาน่ะครับแต่หมายถึงอิหม่านในประชาชาติให้กลับสู่ทางนำที่อิสลามเป็นหางเสือนั่นก็คือกระบวนการอิสลามกับการเมือง ดังนั้นเวลาเราพูดถึงขบวนการมุสลิมเราหมายถึงอันนี้หรือไม่ ท่านอาจจะไม่ต้องเปรียบเทียบทั้งโลกอาจจะมองที่ Position การเคลื่อนไหวของเราว่าหากเรานิยามว่าเราเป็นขบวนการมุสลิมแล้ว เรากำลังหมายถึงขบวนการเคลื่อนไหวแบบมุสลิมแบบนี้หรือไม่
ประการที่สอง สำหรับขบวนการมุสลิมอาจจะหมายถึงขบวนการในเชิงอัตลักษณ์ เช่น ขบวนการที่มุ่งปกป้องต้านทาน และมอบคืนเกียรติภูมิศักดิ์ศรีให้แก่ความเป็นมุสลิมที่มันแฝงอยู่ในวิถีชีวิตมาอย่างยาวนาน ใช่แบบนี้หรือไม่ อันนี้ก็จะมีหลากหลาย และในทางปฏิบัติมันเหลื่อมทับซ้อนกับความเป็นขบวนการมุสลิมในเฉดความหมายแบบแรกพอสมควร เช่นถ้าเรามองในกรณีพรรคAKPของตุรกี เราก็จะมองว่าเป็นพรรคการเมืองแนวอิสลามนิยมหรือแนวศาสนานิยมซึ่งมีมรดกตกทอดมาจากพรรคเมืองอิสลามนิยมในตุรกีในรุ่นก่อนๆพอสมควรแต่ในบทบาททางปฏิบัติของพรรคAKP มันก็ก้ำกึ่ง ว่าจะเป็นขบวนการอิสลามการเมืองหรือขบวนการเชิงอัตลักษณ์ เพราะมุ่งมอบคืนอัตลักษณ์ในความเป็นมุสลิมเติร์กให้กับชาวตุรกี หลังจากที่มันถูกกดมานานนับแต่การปฏิวัติของเคมาลอาตาร์เติร์ก Position ของขบวนการที่เรากำลังพูดถึงกัน เป็นแบบนี้หรือไม่
ประการที่สาม ขบวนการที่ใช้คำว่าอิสลาม หรือใช้เบ้าหลอมของอิสลามใช้อัตลักษณ์ของมุสลิมเป็นเครื่องมือทางการเมือง คำว่าเครื่องมือในที่นี้อย่าเพิ่งมองในแง่ลบ อาจจะเป็นเครื่องมือที่ดีก็ได้ โดยไม่ได้มีเป้าหมายหลักในการฟื้นฟูอิสลามทางการเมือง ไม่ได้มีเป้าหมายหลักในการปกป้องอัตลักษณ์ แต่เป็นการใช้เบ้าหลอมความคิดหรือภาษาทางศาสนา หรือ ภาษาทางอัตลักษณ์ในการMobilization คน ในการเป็นเครื่องมือเพื่อไปสู่บางอย่างที่เป็นเป้าหมายอื่น อาจจะเป็นเรื่องทางโลกเป็นแบบนี้หรือไม่ ตัวอย่าง เช่นในอียิปต์ช่วงนัซเซอร์ เป็นรัฐแบบโลกียวิศัยพอสมควร เป็นอาหรับชาตินิยมและก็ไปทางสังคมนิยมด้วย เราอาจจะทราบกันดีว่าสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์นี่ถ้าพูดถึงลัทธิมาร์กซ์ คือไม่มีพระเจ้า ไม่เชื่อในพระเจ้า เพื่อไม่ให้แรงต่อต้านในประเทศมันไม่มากหรือว่ามันมีน้อย นัซเซอร์ก็ออกมาบอกว่าสังคมนิยมของอิยิปต์ไม่เหมือนของโซเวียต เพราะสังคมนิยมของโซเวียตไม่มีพระเจ้า แต่สังคมนิยมของอิยิปต์มีพระเจ้า อันนี้ก็คือตัวอย่างการใช้ภาษาศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี แต่ใช้มันเป็นเครื่องมือบางอย่างเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ดีหรือไม่ดีก็ได้
ทั้ง 3 ประการนี้ อาจารย์อาทิตย์พยายามชวนให้สนใจเพราะจะสามารถมองได้หลากหลายว่าขบวนการมุสลิมคืออะไร การมองที่แตกต่างกันจะนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายและยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันออกไป แต่ โจทย์ของผม คือ ตั้งคำถามให้ไปถามกันต่อว่าในขณะที่กำลังกำหนดว่าขบวนการเคลื่อนไหวหรือกิจกรรมที่เราทำมันอยู่ในกรอบตรงไหน ขณะเดียวกันคำถามที่สำคัญมาก คำถามหนึ่ง คือฝ่ายความมั่นคงมองขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นอะไร
ทั้งนี้อาจารย์อาทิตย์เริ่มต้นสาธยายต่อเนื่องโดยการออกตัวว่า สำหรับคำถามข้างต้นนั้น ต่อจากนี้จะเป็นสะท้อนความคิดที่ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ส่วนตัว เพราะที่ผ่านมาไม่มีงานวิจัยที่จะบอกว่ารัฐในฝ่ายความมั่นคงคิดอย่างไร ต่อขบวนการเหล่านี้ เท่าที่ค้นคว้ามายังไม่มีงานวิจัยจริงๆจัง แต่จะเป็นประสบการณ์ที่ได้แล้วก็ตีความออกมา ซึ่งอาจารย์อาทิตย์พบว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้ ฝ่ายความมั่นคงไทยมองภาพใหญ่ภาพเดียวว่านี่คืออิสลาม ไม่ได้เห็นความหลากหลายเฉดใดๆที่กล่าวมาข้างต้น แต่เห็นแบบรวมๆ ว่านี่คือขบวนการอิสลาม
แม้กระทั่งในตะวันออกกลางก็ดีจะพบว่าการใช้ภาษาศาสนาในทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ หลายครั้งก็ไม่ใช่เพื่อศาสนา หลายครั้งก็ไม่ได้มีเป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่มุ่งหวังทางศาสนา แต่มันเป็นสิ่งที่คุ้นชินอยู่กับวิถีชีวิต ซึ่งในฝ่ายความมั่นคงผมเชื่อว่าไม่เห็นภาพตรงนี้ จะเห็นว่านี่คือพลวัตรของโลกมุสลิม เป็นธรรมชาติของศาสนาอิสลาม และมองเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ที่เชื่อมกันในหลายๆที่ ในโลกรวมถึงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มุมมองกระแสหลักที่ผมพบก็คือว่า อิสลามเท่ากับปัญหามีแต่ปัญหาเต็มไปหมดเลย ถ้าไม่ก่อการร้ายก็จะสังหารกันเองนั่นเป็นกระแสหลักที่คิดกันอยู่ แล้ววิธีคิดตรงนี้มาจากไหน
ประการที่หนึ่ง มองว่าตัวขบวนการเหล่านี้กล่องใหญ่คืออิสลาม เป็นกระแสสุดโต่ง ไปไกลกว่านั้นคือพูดถึงอิสลามแล้วแน่นอนก่อการร้าย วาทกรรมมายาคติที่เราอาจจะเคยได้ยินมุสลิมทุกคนไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่ผู้ก่อการร้ายทุกคนเป็นมุสลิม มายาคติชุดใหญ่ที่เราเห็นอยู่บ่อยๆ เราจะได้ยินบ่อย
ประการที่สอง เวลาที่เราพูดถึงมายาคติเรื่องอิสลามเท่ากับปัญหา มักจะพูดถึงเรื่องของการขยายเผ่าพันธุ์ ถ้าหลายๆ คนในสภาวะบรรยากาศเปิดอกคุย มันจะมักจะมีประเด็นแบบนี้เกิดขึ้นเสมอว่า มีเมียสี่ ลูกอีกเท่าไหร่ กลืนกินกลายเป็นอิสลามไปทั้งหมด ในเชิงตัวเลขก็ต้องยอมรับว่ามันชวนให้เขากังวลแบบนั้นได้ บทความในประชาไท ของอาจารย์ชัยวัฒน์ เรื่องอิสลามโมโฟเบีย ก็สะท้อนชี้ชัดว่าดูตามตัวเลขภายในปี 2050 จำนวนของประชากรมุสลิมก็จะเพิ่มขึ้น ในอัตราที่มากขึ้นแต่ประชากรของศาสนิกอื่นมันเพิ่มในอัตราเท่าเดิม หรือลดลงด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่อัตลักษณ์อื่นจะมีมุมมองแบบที่ว่า แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า พลวัตเชิงโครงสร้างประชากรดังกล่าว มันคือปัญหาจริงๆ หรือไม่ หรือถูกมองว่าทำให้อัตลักษณ์สูญเสียไป มันเลยเกิดอคติไปสู่การกล่าวโทษบางอย่างพอแบบนี้แล้วคือปัญหา
ประการที่สาม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปรากฏการณ์ความรุนแรงในโลกมุสลิมที่ถูกฉายภาพขึ้นนั้น ในหลายๆ ที่ทั่วโลก คือตัวแปรอันหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสซึ่งมองว่าอิสลามคือปัญหา ถ้าเรามองโดยละเอียดเราก็จะพบว่าปัญหาที่เป็นสถานการณ์ความรุนแรงที่ดำรงอยู่ในโลกตะวันออกกลางก็ดี อัฟกานิสถานก็ดี กลุ่มขบวนการต่อสู้อย่างอัลกออิดะฮฺไอเอสก็ดี มีส่วนสาเหตุที่ตะวันตกร่วมสร้างมันขึ้นมาเช่นเดียวกัน เวลาเกิดเหตุรุนแรงในยุโรป ฝรั่งเศส บรัสเซล เยอรมัน มันก็จะมองที่ปลายเหตุว่านี่ มุสลิมอาหรับ มุสลิมอาหรับ มุสลิมอาหรับ แต่ไม่ได้มองว่าอะไรที่เป็นสภาพสังคมซึ่งมุสลิมอาหรับซึ่งเกิดที่นั่นโตมา
อย่างกรณีเกิดเหตุในฝรั่งเศส กรณีการก่อเหตุของอาเดลที่เป็นเลบานอน อาจจะเกิดเลบานอนก็จริงแต่มาโตที่ฝรั่งเศส ตอนเด็กก็โตมาปกติเพื่อนสมัยเด็กเขาก็ยังบอกเลยว่า เด็กชายอาเดลชอบเตะบอลและชอบฟังเพลงอย่างมาก คนที่เขาคลั่งไคล้ในวัยเด็กมากก็คือนักร้องอย่างรีฮันนา แต่หลังเหตุการณ์ชาลีแอบโด เด็กชายอาเดล เปลี่ยนไปเป็นอีกคนหนึ่ง ไม่มีใครศึกษาว่าทำไมเหตุการณ์ในช่วงเวลาแป๊ปเดียว เขาถึงเปลี่ยนมาเป็นคนที่เกลียดชังสังคมขนาดนั้น ซึ่งสามข้อแรกมันคือสิ่งที่เราเรียกกันว่าอิสลามโมโฟเบีย
ประการที่สี่ เมื่อพยายามเชื่อมโยงมาสู่ประเทศไทยแล้ว ผมเรียกมันว่าปรากฏการณ์ที่เกิดด้านกลับของการรับรู้ในเชิงอัตลักษณ์ ด้านกลับตรงที่ว่าเวลาฝ่ายความมั่นคงมอง เขาไม่ได้มองว่าขบวนการอะไรหรอก เขามองว่าอัตลักษณ์นั้นมีปัญหา คือ มลายูมุสลิม จะเห็นได้ว่าเกิดเหตุการณ์ระเบิดล่าสุด (ระเบิด 7 จุดในภาคใต้ตอนบนเมื่อ 11-12 ส.ค.59) จำเลยแรกที่ถูกสันนิษฐานถึงถ้าไม่ใช่เสื้อแดงก็ต้องเป็นสามจังหวัด นั่นคือเป็นการด่วนตัดสินของสังคมมันเป็นการที่ทุกคนถูกหล่อหลอมด้วยเบ้าหลอมบางอย่างทำให้ Reaction อย่างอัตโนมัติ โดยด่วนสรุปอย่างทันทีทันใด
“ปรากฏการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นแบบไหนสำหรับปาตานี คำตอบคือ เกิดขึ้นในสภาวะที่ขบวนการไม่ว่าจะไล่มาตั้งแต่ พูโล ไม่ว่าจะเป็นบีอาร์เอ็น ต่างเหมารวมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งว่าเขาคือตัวแทนของอัตลักษณ์มลายูมุสลิมอย่างร้อยเปอร์เซ็น จึงเป็นเรื่องกระทำสองฝ่าย สื่อสารสองทาง เหมือนเป็นเรื่องที่ตบมือข้างเดียวไม่ดัง ก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องแปลกใจมากนัก แม้มันจะไม่ถูกต้อง เพราะเหตุใดทำให้สังคมไทยมองว่าอัตลักษณ์มลายูมุสลิม เป็นปัญหาเพราะมันเป็นอัตลักษณ์ที่ถูกใช้มาต่อสู้ต่อรองทางการเมือง และต่อสู้ต่อรองกับอะไรที่ใหญ่แต่อ่อนไหวมากด้วย นั่นคือ อุดมการณ์ชาติของรัฐไทย ที่มันพยายามจะรักษาและพิทักษ์มาอย่างยาวนานนี่คือด้านกลับที่เกิดขึ้น”
อาจารย์อาทิตย์กล่าวถึงประเด็นต่อเนื่องเกี่ยวกับพลวัตรทางความคิดในรายละเอียดของฝ่ายความมั่นคงต่อขบวนการมุสลิมในสามจังหวัด ซึ่งมองว่ามีจุดเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยไล่มาจากช่วงสมัย ร.5 ก็จะเห็นการรวมศูนย์อำนาจ มีความพยายามรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง หากมองในมุมของคนถูกลิดรอนสิทธิถูกกดทับอัตลักษณ์ อาจจะเรียกกระบวนการตรงนี้ว่าเป็นกระบวนการล่าอาณานิคมภายใน เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจริง ในช่วง ร.6 เราอาจจะเห็นวิธีการอีกแบบหนึ่งในการปกครอง เพื่ออุปถัมภกให้ไพร่ฟ้าประชากรอยู่ใต้การปกครองได้ ไม่ใช่ผู้ปกครองไม่ใช่ผู้มีส่วนร่วมแต่เป็นผู้ถูกปกครอง ต่อมาหลัง 2475 เล็กๆ ช่วงไม่กี่ปีนี้ เราจะเห็นความหวังเพียงชั่ววูบ ต่อสิทธิในการปกครองตนเอง อันนี้ก็จะอยู่ในงานเขียนของอาจารย์ปรีดี ซึ่งบันทึกไว้ว่ามีการพิจารณาและตกลงกันจริงในเรื่องสิทธิการปกรองตนเอง
อย่างไรก็ตามคู่ขนานกับช่วงเวลานี้เอง กระแสการเมืองระดับชาติมันก็สวิงด้วย ปีกการทหารปีกสายเหยี่ยว ขึ้นมามีอำนาจ ซ้ำด้วยการรัฐประหารปี 2490 ทำให้กระแสของการเปิดกว้างของกติกาทางการเมืองในระดับชาติต่อปาตานีสวิงกลับอย่างชัดเจน ไปสู่แนวทางที่กระแสรัฐไทยนิยมได้ก่อรูปอย่างสมบูรณ์แบบ และก็เป็นอุดมการณ์หลักมาจนถึงทุกวันนี้ เราจะเห็นปรากฏการณ์ในช่วงไม่ใช่แค่จอมพล ป. แต่ช่วงจอมพลสฤษดิ์ก็ชัด ทำต่อเนื่องมา เช่น การควบคุมปอเนาะการบังคับภาษาไทยเป็นภาษาการเรียนการสอนทุกระดับ หรือแม้กระทั่งการสร้างนิคมของชาวอีสานในพื้นที่ ก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่งของความพยายามกลืนกลาย เราจะพบว่าตั้งแต่ช่วงจอมพลสฤษดิ์ ถึงอย่างช้าที่สุด คือ คุณธานิน ภาครัฐมีความคิดที่จะจัดการปัญหาตรงนี้ โดยวิธีการปราบปราม ใช้มาตรการทางการทหารเป็นหลัก และกดทับปิดกั้นมาตลอด ไม่ยอมรับว่าคนในพื้นที่คือเสียงหนึ่งในทางการเมือง เขานับคนในพื้นที่ตรงนี้ให้ไม่รวมส่วนอยู่ในการเมืองระดับชาติ เป็น Uncountable
หลังรัฐบาลพลเอกเปรมเราจะเห็นรัฐบาลจัดกระบวนการใหม่ของรัฐเริ่มใช้มาตรการทางการเมืองและสังคมจิตวิทยามากขึ้น มีการตั้ง พ.ต.ท. 43 มีการตั้ง ศ.อ.บ.ต เกิดขึ้น กลไกเหล่านั้นถูกใช้มากขึ้นไม่ใช่เพื่อที่จะ address ไปที่รากเหง้าของปัญหา แต่เพื่อยับยั้งเสรีปฏิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วยวิธีการแบบใหม่ที่มันเนียนมากขึ้น ขณะเดียวกันเราเห็นว่าในช่วงพลอกเปรมเช่นกัน รัฐเริ่มตระหนักรู้ถึงความเฉพาะและหนักหน่วงของปัญหาชายแดนภาคใต้มากขึ้น รูปธรรมคืออะไร คือการออกนโยบายความมั่นคงเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับชายแดนภาคใต้เฉพาะเลย และเป็นนโยบายความมั่นคงอย่างรอบด้าน ไม่ใช่แค่มาตรการการรบ แต่ทำในงานพัฒนาด้วยการศึกษาด้วย ดำเนินการทุกอย่าง แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่เกิด เราจะพบว่า หลักคิดหลักตั้งแต่ปี 2521มันไม่ค่อยมีความเปลี่ยนแปลงมากนัก จึงนิยามว่ามันเป็น “อพลวัตร” มันมีความอพลวัตรหรือไม่ได้เปลี่ยนแปลงค่อนข้างconsistency มาก ในชุดความคิดบางเรื่องในฝ่ายความมั่นคงไทย
ความไม่เปลี่ยนแปลง เรื่องที่หนึ่ง คือความสูงส่งที่สุดของความเป็นไทย ในกรอบของความเป็นรัฐชาตินี้ ความเป็นไทยเป็นความสูงส่งที่สุดเหนือกว่าชาติพันธุ์อื่นๆ ถ้าชาติพันธ์อื่นจะดำรงอยู่ได้ อยู่ได้ในฐานะผู้รับความช่วยเหลือรับการอนุเคราะห์รับการอุปถัมป์จากอัตลักษณ์ความเป็นไทยที่กำหนดจากกรุงเทพ ปัจจุบันมีการเปิดให้มีการมีส่วนร่วมมากขึ้นจากภาคประชาชนซึ่งบรรยากาศนี้นับก่อนหน้ารัฐประหาร มีการกลไกท้องถิ่น ท้องที่ คนสามารถดูแลท้องถิ่นได้มากขึ้น มีความหวังมากขึ้นให้ความสำคัญเรื่องอัตลักษณ์มากขึ้น ให้ความสำคัญต่อเสียงผู้คนมากขึ้น แต่เวลาทำอะไรทุกๆเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่เรื่องความมั่นคง พวกเราคือตัวประกอบ ถูกกำหนดโดยคนไม่กี่คน ว่าอะไรทำได้บ้าง อะไรเป็นเรื่องความมั่น อะไรเป็นเรื่องภัยคุกคาม กำหนดโดยคนไม่กี่คน จัดเวทีรับฟังความคิดทุกภาค แต่กำหนดโดยคนไม่กี่คน สรุปรายงานขึ้นไปถูกตัดออกแล้วเหลือไม่กี่ข้ออะไรอย่างนี้ นี่ก็สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการที่การมองว่าตัวเองคือผู้ที่อยู่สูงส่งกว่า และเป็นคุณพ่อรู้ดีที่จะจัดการกับทุกๆเรื่องโดยเฉพาะเรื่องความมั่นคง
เรื่องที่สอง ถ้าไปมองในกรอบของกองทัพอันนี้ก็จะชัดเจนมากกว่าหน่วยความมั่นคงหน่วยอื่นๆ ผมใช้คำแซลงว่ามันเป็นความ “พุทโธเนี่ยน” ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไรเหมือนกัน แต่มันมีกลิ่นอายอยู่ คำว่าพุทโธเนี่ยน กล่าวคือดูเหมือนจะมีความเป็นพหุวัฒนธรรม แต่เป็นพหุวัฒนธรรมบนพื้นฐานของศาสนาพุทธ อธิบายแบบศาสนาพุทธ
“ผมก็เป็นพุทธ แต่ผมก็รู้สึกว่ามันมากเกินไปในการที่จะผลักดันในเรื่องของกระแสเหล่านี้ มีคำอธิบายชุดหนึงที่ผมได้ยินจากการคุยส่วนตัวกับบุคคลท่านหนึ่ง เขาบอกว่าในประเทศไทยเรื่องศาสนา เรื่อง ISISมันจะไม่แรงเพราะว่า ประเด็นเรื่องศาสนามันไม่ปะทะกันขนาดนั้น ความขัดแย้งเกี่ยวกับอารยธรรม ไม่ Crash กันขนาดนั้น ผมก็เริ่มคล้อยตามแต่เขาก็อธิบายด้วยเหตุที่ว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น มันจะมีปัญหากับคริสต์กับอิสลามเพราะร้อนทั้งคู่ แต่กับพุทธไม่มีปัญหาเพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาเย็นของร้อนกับของเย็นมันอยู่ร่วมกันได้ แน่นอนว่า ท่านกำลังพูดถึงพหุวัฒนธรรมพูดถึง peaceful coexistence แต่มันเป็นการพูดด้วยชุดคำอธิบายว่าเพราะศาสนาเราดี คือนี่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะคิดแบบนี้อันนี้มีความหลากหลายในฝ่ายความมั่นคงก็มีความหลากหลายเช่นกันแต่นี่คือกระแสหลัก มันเป็นสิ่งที่มันสะท้อนออกมาในหลายๆครั้ง ในหลายโอกาสด้วยกัน”
เรื่องที่สาม คือ การผสมกลมกลืน และความพยายามที่จะกลืนกลายอัตลักษณ์ ให้สู่ร่องรอยอัตลักษณ์ในมาตรฐานของกรุงเทพให้มากที่สุด มันเป็นสิ่งที่เราจะเห็นความพยายามตรงนี้มาโดยต่อเนื่องทั้งที่อัตลักษณ์มาตรฐานของกรุงเทพฯมันคืออัตลักษณ์ส่วนน้อยของทั้งประเทศ ของทั้งสังคมไทย และน้อยคนที่จะทำได้ตามเอกลักษณ์มาตรฐานนั้น เช่นวันพระไปทำบุญคนพุทธก็ทำไม่ทุกครั้ง แต่นั่นคือเอกลักษณ์มาตรฐาน มันมีคือชุดอุดมคติที่คาดหวังให้ทุกคนวิ่งเข้าหา
“ผมพบว่าปรากฏการณ์สองอย่างนี้มันลงมาเล่นในระดับพื้นที่มากขึ้นในปัจจุบัน รัฐไทยเขาอาจจะนิยามว่าคือความสำเร็จเพราะจำนวนเหตุการณ์ลดลงผ่านการใช้กองกำลังระดับท้องถิ่นระดับชาวบ้านอาสา ช.ร.บ. อะไรต่างๆ เขาอาจจะนิยามว่านั่นคือความสำเร็จ แต่ในขณะเดียวกันมันทำให้เกิดการเผชิญหน้ามากขึ้นระหว่างอัตลักษณ์ที่เคยอยู่ร่วมกันได้”
“จากตรงนี้น่าสนใจว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน กระแสที่มองในกรอบที่ศาสนาพุทธครอบงำวิธีคิดของสังคมต่อความแตกต่าง แล้วมามองในกรณีสามจังหวัด สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ พื้นที่ขัดแย้งในเชิงสำนึกเชิงจินตนาการมันขยายออกนอกพื้นที่ชายแดนใต้ไปแล้ว ไปทั่วประเทศแล้ว ณ วันนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนมุสลิมที่อยู่ที่อื่น ส่งผลกระทบต่อคนนายูที่ไปทำงานที่อื่น ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวเลย ไม่ได้รู้เรื่องเลยซ้ำร้ายอาจจะเชียร์รัฐไทยด้วยซ้ำ แต่ตรงนี้ความขัดแย้งและพื้นที่เส้นแบ่งระหว่างอัตลักษณ์มันขยายไปแล้วมันไม่ได้อยู่แค่พื้นที่ชายแดนภาคใต้แล้ว ด้วยการผสมพุทโธเนียนผ่านการกลมกลืนทางวัฒนธรรมในงานความมั่นคงโดยไม่ได้บัญญัติไว้ในนโยบาย เป็นสิ่งที่ทำโดยอำนาจในเชิงปฏิบัติ นโยบายเขียนมาดี แต่ไม่สามารถปฏิบัติ หรือปฏิบัติโดยหาเหลี่ยมมุมบิดมาเป็นอีกแนวทางได้”
อย่างไรก็ตาม อาจารย์อาทิตย์เผยให้เห็นเพิ่มเติมว่าก็พอเห็นการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง คือจะมองเห็นการปรับตัวทางความคิดภายในฝ่ายความมั่นคงเองพอสมควรแม้กระทั่งในกองทัพคนที่คิดในเชิงสันติภาพ คนที่ไปได้ไกลในเชิงการคิดออกนอกกรอบตรงนี้ และคิดจะมองว่าความมั่นคงของมนุษย์คือโจทย์
“ความมั่นคงของรัฐอยู่ไม่ได้ถ้าไม่ address ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ คือมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำพร้อมกัน ไม่ใช่รัฐมาก่อน คนเหล่านี้ก็มีเยอะขึ้น แต่เราจะเห็นคนเหล่านี้อยู่วงนอกของการตัดสินใจในนโยบายระดับสูง พวกเขาจะค่อยๆถูกถีบถูกกันออกไปจากจุดที่สามารถตัดสินใจเชิงนโยบายแล้วสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่ว่าไม่มีความหวัง แต่ผมกำลังชวนมองว่าคนเหล่านี้และคือเครือข่าย ถ้าเรามองว่านี่คือทีมสันติภาพนี่คือทีมของเราทีมของเราอยู่ทั้งหมดทั้งในปาร์ตี้เอและปาร์ตี้บี มีอำนาจมากบ้างน้อยบ้าง แต่นี่คือทีมที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก เพราะในวันนี้พลวัตรทางความคิดของฝ่ายความมั่นคงไทยมันถูกฉุดรั้งด้วยกระแสอนุรักษ์นิยมสายเหยี่ยวอย่างมหาศาล มันถ่วงเอาไว้มาโดยตลอดนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น”
โจทย์ก็คือแล้วจะทำไงต่อถ้าฝ่ายความมั่นคงมีความคิดแบบนี้ แล้วเปลี่ยนไม่ได้ เปลี่ยนได้ยากแต่มันมีคนคิดที่จะเปลี่ยนอยู่ เราจะทำอย่างไร จะเคลื่อนไหวอย่างไร ในบริบทแบบนี้ จะสร้างเส้นแบ่งช่วยเขาสร้างกำแพงมากขึ้นหรือไม่ ขณะเดียวกันก็มีคำถามทิ้งไว้ให้ก็คือว่า ในอพลวัตรในความคิดเหล่านี้ลองมองกลับกัน
"ปาร์ตี้บี (ฝ่ายขบวนการต่อสู้ปาตานี) คิดแบบนี้หรือไม่ Superiority of Melayu-ness คิดหรือไม่ เขามีความคิดแบบเดียวกันหรือไม่ ความไม่ยืดหยุ่นต่อคนต่างศาสนิกหรือรู้สึกว่าตัวเองสูงส่งกว่ามีหรือไม่ คำถามนี้อาจเป็นคำถามชวนทะเลาะ คือพยายามจะโยนคำถามออกไปในฝั่งของปาร์ตี้บี คิดแบบนี้หรือไม่ เพราะในอีกแง่หนึ่ง คือ เรากำลังสู้กับตัวคนหรือสู้กับหลักการ” นักวิชาการด้านความมั่นคงตั้งประเด็นคำถามทิ้งท้าย