การเมืองของภาคประชาสังคมไทย...เป้าหมายที่เป็นไป และความเชื่อมโยงกับชายแดนใต้ (ตอนจบ)

 

“ภาคประชาสังคมได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐสถาปนา ที่เกิดจากสายสัมพันธ์ทั้งในทางอุดมการณ์และในเชิงอุปถัมภ์ที่ชนชั้นนำในภาคประชาสังคมมีต่อบุคคล/สถาบันที่อยู่ในศูนย์กลางอำนาจของรัฐไทย และสภาพการณ์เช่นนี้ก็ยิ่งเด่นชัดขึ้นในห้วงของรัฐประหาร

 เป็นโจทย์ถกเถียงไม่เพียงมาจากสายธารความคิดของอาจารย์ชลิตา บัณฑุวงศ์ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่กล่าวไว้ในการบรรยายเรื่อง การเมืองภาคประชาสังคมในไทย ตามที่ได้สรุปและเผยแพร่ไปแล้วนั้น (อ่านรายงานตอนที่ 1 ได้ที่ http://www.pataniforum.com/single.php?id=611) แต่ยังเป็นโจทย์ที่มีการถกเถียง วิพากษ์ในแวดวงนักกิจกรรมและนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง แต่ก็อาจจะแตกต่างออกไปในบริบท สถานการณ์การเมืองของพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้

ดังนั้นในตอนที่ 2 นี้จะเป็นการบันทึกการบรรยายของเรื่องการเมือง-ภาคประชาสังคมไทยของอาจารย์ชลิตา ที่ได้วิพากษ์ถึงหลักการและความบิดเบี้ยวของภาคประชาสังคมไทยภายใต้วิกฤติการเมืองในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา ที่สำคัญได้เชื่อมโยงสถานการณ์นี้กับภาคประชาสังคมในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนภาคใต้ด้วย

บทวิพากษ์ คำถาม ความย้อนแย้งของภาคประชาสังคมไทย

ประเด็นแรก แทนที่ภาคประชาสังคมไทยจะมีบทบาทในการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยประชาสังคมไทย แต่ในความเป็นจริงภาคประชาสังคมไทยกลับมีความเป็นปฏิปักษ์ ไม่ไว้วางใจ และหวาดระแวงต่อระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) อย่างมาก โดยอ้างว่า ระบอบการเมืองไทยที่ผ่านมายังไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง อ้างว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เลือกตั้ง หรืออ้างว่าเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งทำให้ “คนไม่ดี” ขึ้นมามีอำนาจ อีกทั้งยังเน้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบจารีตที่วางอยู่บนแนวคิดลำดับชั้นของอำนาจทางศีลธรรม ซึ่งหมายศีลธรรมที่เหนือกว่าของชนชั้นนำในภาคประชาสังคม

ดังนั้น ภาคประชาสังคมไทยจึงมาเน้นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participatory democracy) และประชาธิปไตยแบบถกเถียงเรียนรู้/ปรึกษาหารือ (deliberative democracy) โดยทำผ่านกิจกรรม “สมัชชา” เพื่อรวบรวมความเห็นที่หลากหลายและการเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด เน้นสิทธิและเสียงของภาคส่วนที่ไม่สามารถแข่งขันในระบบการเมืองแบบตัวแทนที่มีการใช้เงินซื้อเสียงมากได้ สิ่งเหล่านี้ที่จริงแล้วก็คือสิ่งที่ดี แต่ปัญหาก็คือ ท่าทีเช่นนี้ทำให้ภาคประชาสังคมไทยวางเฉยต่อชะตากรรมของประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยแบบตัวแทน ดังกรณีการล้อมฆ่าผู้ชุมนุมเสื้อแดง ที่เพียงแค่เรียกร้องการยุบสภาและการเลือกตั้งใหม่เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งในขณะนั้นชนชั้นนำภาคประชาสังคมไทยต่างก็รับรองความชอบธรรมของการล้อมฆ่าด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้กลบเกลื่อนการสั่งฆ่าของตน น่าสนใจว่ากระบวนการปฏิรูปประเทศไทยเป็นแนวทางที่สอดรับแนวคิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและแบบถกเถียงเรียนรู้/ปรึกษาหารือ ซึ่งถูกชนชั้นนำในภาคประชาสังคมไทยจัดวางให้อยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งด้วย

ประเด็นที่สอง ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมไทยมีบทบาทในการสนับสนุนการรัฐประหารหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยอ้างความเป็นตัวแทนของชนชั้นล่างหรือประชาชนทั้งหมด โดยเชื่อว่านี่จะเป็นการ “ลดอำนาจรัฐ (ระบอบทักษิณ) เพิ่มอำนาจสังคม”ในขณะนั้นก็มีแกนนำและองค์กรภาคประชาสังคมบางส่วนร่วมเรียกร้องมาตรา 7 และการถวายคืนพระราชอำนาจ ต่อมาชนชั้นนำภาคประชาสังคมไทยก็ไปมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ที่สำคัญคือการเข้าร่วมกับ กปปส. อย่างแข็งขัน ทั้งในการนำเครือข่ายชาวบ้าน ชุมชน องค์กรต่างๆ รับทุนจากพวกตนเข้ามาร่วมชุมนุม และร่วมในการหารือเพื่อปฏิรูปประเทศกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปัจจุบันก็ยังทำงานในฐานะกลไกหนึ่งของ คสช. ในการขับเคลื่อนตามนโยบายต่างๆ อาทิ โครงการประชารัฐโครงการจัดระเบียบชุมชนริมคูคลอง

ประเด็นที่สาม ตามหลักการแล้วภาคประชาสังคมควรมีเป้าหมายในการเพิ่มอำนาจประชาชนและสร้างการพัฒนาที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมไทยกลับนิยมอ้างอิงสถาบันหรืออำนาจที่อยู่เหนือกฎหมายและเหนือกลไกการเมืองการปกครองปกติ ในการเป็นที่พึ่งผลักดันข้อเรียกร้องของตนเองโดยที่ยังการขาดการวิเคราะห์สถาบันหรืออำนาจนี้ในฐานะสาเหตุของปัญหา ทำเสมือนว่าสถาบันหรืออำนาจดังกล่าวลอยอยู่เหนือปัญหาทั้งปวง การกระทำเช่นนี้ไม่ได้ช่วยเพิ่มอำนาจของประชาชนเลย

นอกจากนั้นในแนวทางการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจก็เน้นการควบคุมการดำเนินชีวิตของชาวบ้านให้เป็น “คนดี” มากกว่าการเพิ่มพลังอำนาจ สิ่งนี้โยงกับอุดมการณ์ของภาคประชาสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับชุมชน-ชาตินิยม วัฒนธรรมชุมชน และเศรษฐกิจพอเพียง ที่มองระบบเศรษฐกิจทุนนิยมว่าเป็นต้นตอของวิกฤติต่างๆ ของชาติ และเน้นว่าต้องแก้ปัญหาด้วยการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของชาวบ้านในระดับครัวเรือนและปัจเจกบุคคล  เช่น การรณรงค์วิจัยเพื่อเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ การทำบัญชีครัวเรือนเพื่อลดความฟุ่มเฟือย การทำเกษตรอินทรีย์ในฐานะการปฏิบัติธรรม แทนที่จะให้ความสำคัญกับโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองที่ทำให้ผลประโยชน์จากระบบทุนนิยมไปตกอยู่กับคนส่วนน้อย

ปาตานี/ชายแดนใต้ ในบริบทการเมืองภาคประชาสังคมไทยปัจจุบัน              

อาจารย์ชลิตาได้ตั้งประเด็นและคำถามที่สำคัญว่า เมื่อเชื่อมโยงสภาพการณ์ของภาคประชาสังคมไทยในระดับชาติข้างต้นเข้ากับสถานการณ์ปาตานี/ชายแดนใต้ สิ่งที่ควรเป็นกังวลก็คือ การที่ภาคประชาสังคมระดับชาติไม่ได้ทำหน้าที่ในการส่งเสริมประชาธิปไตยและเพิ่มอำนาจของประชาชนหรือทำให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็นนั้น สิ่งนี้จะมีผลอย่างไรต่อสถานะของประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น

อาจารย์ชลิตาชี้ว่า ประชาสังคมชายแดนใต้มีความหลากหลายและซับซ้อนกว่าในพื้นที่อื่น เนื่องจากก่อตัวขึ้นจากบริบทเฉพาะของพื้นที่ เช่น จากบทเรียนความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพในประเทศอื่นๆจากการเชื่อมโยงกับองค์กรภาคส่วนต่างๆ ในท้องถิ่น และจากการเชื่อมโยงกับความเป็นศาสนาและชาติพันธุ์ อย่างไรก็ดี ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ก็มีองค์กรที่เป็นสาขาของภาคประชาสังคมระดับชาติเข้ามาทำงานอย่างมีบทบาทสำคัญด้วย ดังนั้น จึงควรจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า การที่ชนชั้นนำและองค์กรภาคประชาสังคมระดับชาติที่มีอุดมการณ์และปฏิบัติการเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย สนับสนุนรัฐประหาร และมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม ได้เข้ามามีบทบาทในฐานะเจ้าภาพในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จะช่วยแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นกันแน่ ตรงนี้อาจเทียบเคียงได้กับอีกคำถามที่สำคัญว่า “กระบวนการสร้างสันติภาพภายใต้ระบอบเผด็จการทหารจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือ?”

ประเด็นคำถามถัดมาที่อาจารย์ชลิตาได้ตั้งไว้ก็คือว่า ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถแยกขาดจากปัญหาความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายและในกระบวนการยุติธรรมที่ได้เกิดขึ้นกับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มอื่นๆ ในประเทศไทยได้หรือไม่ ทั้งนี้ ในขณะที่ชนชั้นนำของภาคประชาสังคมระดับชาติได้เข้ามาเป็นแหล่งทุนสำคัญแก่กลุ่มองค์กรต่างๆ ในชายแดนใต้ และชนชั้นนำเหล่านี้ได้พร่ำพูดถึงการพัฒนาชายแดนใต้และการสร้างสันติภาพที่สวยหรู แต่ที่ผ่านมาพวกเขาล้วนมีบทบาทในการสร้างความชอบธรรมแก่การล้อมฆ่าผู้ชุมนุมเสื้อแดงในช่วงเดือนเมษา-พฤษภา 2553 รวมทั้งเพิกเฉยต่อการคุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองตลอดช่วงระยะเวลากว่าสองปีภายใต้การปกครองของ คสช.

ประเด็นสุดท้ายก็คือ แนวคิดและอุดมการณ์ของภาคประชาสังคมระดับชาติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ได้นำมาสู่ข้อเสนอของพวกเขาในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ผ่านแนวคิดการกระจายอำนาจ/ท้องถิ่นจัดการตนเองที่เน้นบทบาทของผู้นำตามธรรมชาติ หรือ “สภาซูรอ” ที่จะเข้ามาแทนที่นักการเมืองท้องถิ่นในระดับต่างๆ ซึ่งผู้นำตามธรรมชาติ หรือ “สภาซูรอ”ถูกวาดให้เป็นพื้นที่ของ “คนดี” ตามคำนิยามของชนชั้นนำภาคประชาสังคม อันเป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมการเมืองคนดี โดยละเลยมิติชีวิตที่สลับซับซ้อนของชาวบ้านมลายูมุสลิมที่ชีวิตทางการเมือง ทางสังคม และทางศาสนาไม่แยกขาดจากกัน อาจารย์ชลิตากล่าวว่าการขาดความเข้าใจพื้นฐานเช่นนี้ไม่มีทางที่จะนำมาสู่การแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้

ทั้งหมดคือมุมมองและข้อสังเกตทางวิชาการต่อการเมืองภาคประชาสังคม ท่ามกลางวิกฤติการเมืองไทยและความสลับซับซ้อนของสถานการณ์ในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ที่บทบาทของประชาสังคมต่างมีความเกี่ยวข้องต่อการเปลี่ยนผ่านอย่างมีนัยยะ ซึ่งภาคพลเมือง สามัญชนคนธรรมดามิอาจมองข้ามในฐานะกลไกสำคัญของสังคมไทยต่อไป

หมายเหตุ: ภาพจาก deepsouthwatch