ส่องความคิดคู่ขัดแย้งปาตานี/ชายแดนใต้ โดย อาทิตย์ ทองอินทร์ ตอนที่ 1

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งปาตานี/ชายแดนใต้ การฟาดฟันทางความคิดของคู่ขัดแย้งระหว่างฝ่ายความมั่นคงไทยและฝ่ายขบวนการต่อสู้ปาตานี มีความสำคัญอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการคลี่คลายความขัดแย้งในพื้นที่ สืบเนื่องจากคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายซึ่งต้องยอมรับว่าต่างก็มีอิทธิพลทางความคิดและการปฏิบัติการของกลุ่มพลังทางสังคมและประชาชนในพื้นที่ในการแสวงหาสันติภาพอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ที่ผ่านมาการจะทำความเข้าใจความคิดของคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายมันช่างยากเสียเหลือเกิน หากทำได้ก็เพียงแค่การทำความเข้าใจผ่านปรากฎการณ์ บทวิเคราะห์หรือความรู้เชิงหลักการทฤษฎี และสัญญะต่างๆที่ถูกทำให้รับรู้เชิงประจักษ์ด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจากคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายเท่านั้นซึ่งเราสามารถรับรู้ได้จากงานเอกสารและบทสนทนาของนักกิจกรรมและนักวิชาการหลายท่าน หนึ่งในนั้นก็คือ อาจารย์อาทิตย์ ทองอินทร์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งครั้งหนึ่งในกิจกรรมของ ปาตานี ฟอรั่ม ได้มีโอกาสรับฟังมุมมองและร่วมเสวนา จนมิอาจเก็บไว้เรียนรู้แต่ผู้เดียวแต่อยากจะนำมารายงานเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจทั้งที่ฝักฝ่ายหรือไม่ฝักฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ตาม

อาจารย์อาทิตย์ เริ่มต้นด้วยการชี้ว่า เมื่อพูดถึงพลวัตรทางความคิดและการต่อสู้ของฝ่ายความมั่นคงที่มีต่อขบวนการมุสลิมในประเทศไทยซึ่งเอาจริงๆมันไม่เคยมีพลวัตรเท่าไหร่ โดยจะชี้ให้เห็นประเด็นดังนี้

เวลาเราพูดถึงฝ่ายความมั่นคงแล้ว น่าสนใจชวนถกในเชิงทฤษฎีก่อนว่า ความมั่นคงคืออะไร ความมั่นคงก็คือความอยู่รอดปลอดจากภัยคุกคาม เราอาจจะตั้งข้อสังเกตขึ้นมาว่าอะไรคือภัยคุกคาม ใครมีสิทธิจะนิยามว่าภัยคุกคามคืออะไร ทั้งนี้ Concept หลักอย่างง่ายซึ่งอาจมองคำถามนี้ได้จาก 2 มุม คือ เวลาเราพูดถึงความมั่นคง เรากำลังหมายถึงความมั่นคงของรัฐหรือความมั่นคงของมนุษย์ เรากำลังหมายถึงความอยู่รอดของรัฐ ความปลอดจากภัยคุกคามของรัฐ หรือกำลังหมายถึงความปลอดภัยของมนุษย์ ความปลอดจากภัยคุกคามของมนุษย์

ถ้าเราเชื่อตามทฤษฎี หรือปรัชญาการเมืองในการสร้างรัฐขึ้นมา มนุษย์อยู่ในสภาวะธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวและพวกเขาเหล่านั้นยอมละทิ้งอาวุธ ยอมละทิ้งการใช้ความรุนแรงแล้ว ทำสัญญากันเข้ามาอยู่ภายใต้กรอบของรัฐเพื่อให้รัฐปกป้องความหวาดกลัวจากภัยคุกคามต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหวาดกลัวต่อการเสียชีวิต นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเกิดรัฐสมัยใหม่ เราพบว่าความมั่นคงของรัฐที่เป็นอยู่ในหลายๆประเทศอาจะไม่พูดถึงเพียงแค่ประเทศไทย มันกลายเป็นว่าเขาพยายามจะรักษาความมั่นคงของรัฐโดยไปทำลายพื้นฐานการเกิดขึ้นของรัฐเสียเองคือทำให้ประชาชนหวาดกลัว ดังนั้นเราจึงเห็นว่า ในทางทฤษฎีแล้วนั้นความมั่นคงของรัฐและความมั่นคงของมนุษย์เป็น Concept ที่สัมพันธ์กัน ทั้งในเชิงบวกและลบ อยู่ที่ว่าเราจะบริหารจัดการอย่างไร รัฐมองอย่างไร

“ผมเพิ่มความซับซ้อนอีกนิด เวลาบอกว่าอะไรคือความมั่นคง มันเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็น Unnatural selection คือไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้นทางสังคม อะไรคือความมั่นคงและอะไรคือภัยคุกคามนี่ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติเป็นเรื่องที่ถูกกล่อมเกลาขึ้นทางสังคมเป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นทางภาษา ผมยกตัวอย่างวาทกรรมง่ายๆที่อยู่ในสังคมไทย ที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องมากนัก เช่น เจอแขกกับเจองู ตีอะไรก่อน คำตอบเป็น ตีแขก นี่เป็นธรรมชาติหรือไม่ แขกเป็นภัยคุกคามทางธรรมชาติหรือไม่ คำตอบคือไม่ แต่เป็นสิ่งที่ถูกขัดเกลาขึ้นทางสังคมจากสถาบันพื้นฐานต่างๆ รวมถึงวงศาคณาญาติ เพื่อนฝูงมิตรสหายในสังคมไทย จนเรารู้สึกกับมันอย่างคุ้นชิน เคยชิน โดยไม่เห็นว่ามันมีความผิดปกติ หรือน่าสงสัยอยู่ในความรู้สึกนั้น เพราะฉะนั้นตัวความมั่นคงก็เช่นเดียวกัน มันเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้น”

"คำถามต่อมาคือ ใครมีสิทธิประกอบสร้างขึ้น ตรงนี้ไม่ว่าจะความมั่นคงของประชาชนหรือของรัฐก็ตาม อะไรบ้างที่จะทำให้เป็นความมั่นคง มันต้องผ่านกระบวนการ Securitization หรือการทำให้เป็นเรื่องของความมั่นคง ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะกลายเป็นเรื่องความมั่นคง มีแค่บางเรื่องเท่านั้นที่ถูกทำให้เป็นเรื่องความมั่นคง ตัวอย่างเช่น การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสักที่หนึ่ง ในมุมมองของชุมชนนี่คือภัยคุกคามที่กระทบความมั่นคงของเขา แต่หากมองในมุมของรัฐแล้วรัฐอาจบอกว่าไม่ใช่ รัฐอาจคิดว่าโครงการนี้คือการกำลังสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อันจะนำไปสู่การยับยั้งการเกิดขึ้นของขบวนการติดอาวุธ ผ่านการทำให้คนมีงานทำ แก้ปัญหายากจน ถามว่าตรงนี้ใครมีสิทธิในการสร้างเรื่องบางเรื่องให้เป็นความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงของรัฐหรือมนุษย์ก็ตาม ทุกๆเรื่องมันถูกทำแบบนี้หมดเราพบในปรากฏการณ์โลกร้อนสำหรับปัญหาของพื้นที่ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสารคดีของอัลกอ แห่งพรรคเดโมแครต สารคดีชุดนั้นทำให้ประเด็นเรื่องโลกร้อนกลายมาเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของมนุษยชาติ แต่ในมุมของพรรค รีพับลีกันอาจบอกไม่ใช่ เพราะฉะนั้นนี่คือกระบวนที่มันสร้างขึ้น ในบริบทปัจจุบัน"

อาจารย์อาทิตย์ชวนให้คิดต่อว่า พอพูดถึงการสร้างรัฐสมัยใหม่และความมั่นคงในวันนี้ เราก็กำลังพูดถึงความมั่นของการอยู่ในสภาวะสมัยใหม่ อยู่ในกรอบของรัฐสมัยใหม่ รัฐสมัยใหม่ซึ่งมันยืนพื้นอยู่บนราคาและคุณค่าของมนุษย์แต่ละคน รัฐอ้างว่ามันดำรงอยู่เพื่อคนแต่ละคนโดยที่ชีวิตของคนมีค่า เปรียบเทียบกับรัฐสมัยจารีตไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสนาหรือรัฐอะไรก็แล้วแต่ เกือบจะทั้งหมดมนุษย์ล้วนเป็นของรัฐ โดยรัฐอาจจะ Claim ตัวเองว่าได้สิทธิเป็นโอรสแห่งสวรรค์เป็นอะไรต่างๆก็แล้วแต่ แต่มนุษย์นี่คือทรัพย์สินของรัฐคือทรัพยากรของรัฐ ผู้ปกครองรัฐคือเจ้าชีวิต นั่นคือรัฐแบบจารีต แต่ถ้าสมัยใหม่จะอ้างถึงความชอบธรรมในการปกครองขึ้นมา จากการอ้างว่ารัฐมีไว้เพื่อจัดการให้มนุษย์อยู่อย่างมีคุณภาพที่ดี และไม่ใช่มนุษย์ที่พูดแบบรวมๆ เป็นเนื้อเดียวกันทั้งก้อน แต่หมายถึงมนุษย์เป็นรายบุคคลเลยทีเดียว เวลาเราพูดถึงรัฐสมัยใหม่มันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะโยงมนุษย์เข้ากับการเป็นปัจเจก

“เราอยู่ในบริบทของปัจเจกแต่ละคนคิดถึงแต่ความมั่นคงของแต่ละคนและแน่นอนมันกระจัดกระจายเราแต่ละคนอาจจะมองความมั่นคงไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะบอกว่าความมั่นคงคือรัฐรักษาอาณาเขตดินแดนเอาไว้ที่บรรพบุรุษสร้างให้ นั่นคือความมั่นคงของรัฐ มนุษย์บางคนอาจจะบอกว่าสันติภาพต่างหาก การอยู่รอดปลอดภัยอยู่ดีมีสุขในพื้นที่ใดๆก็ได้คือความมั่นคงของเขา กล่าวคือเขาอาจจะมองในมุมความมั่นคงของมนุษย์ เราอยู่ในสภาพของการมองความมั่นคงกันอย่างกระจัดกระจายหลากหลายมากแต่ละคนอาจจะอยู่ในกลุ่มต่อสู้เดียวกันอาจจะมองไม่เหมือนกัน ปัญหาก็คือว่าแล้วรัฐจะหลอมรวมสำนึกที่แตกต่างเหล่านี้มาสนับสนุนงานความมั่นคงของรัฐได้อย่างไร นั่นคืออุดมการณ์ที่มีการทำงานคล้ายคลึงกับอุดมการณ์ที่หลอมรวมว่าจะทำให้คนไปตายเพื่อรัฐได้อย่างไร ในเมื่อรัฐควรปกป้องคนไม่ใช่คนไปปกป้องรัฐ ซึ่งซับซ้อนแต่ง่ายที่สุดคือการใช้ศรัทธา"

อาจารย์อาทิตย์ชี้ว่า ในตำรา The Prince ของ Niccolo Machiavelli  เขียนว่า มีเพียงรัฐแบบรัฐศาสนาเท่านั้นที่จะปกครองคนโดยที่ไม่ต้องกลัวว่าคนจะทรยศ เพราะเขาสามารถควบคุมได้ที่สมอง และใช้งานการทำงานสมองได้อย่างชาญฉลาด คำว่ารัฐศาสนาของ Machiavelli  ไม่ได้หมายความว่ารัฐที่ใช้ศาสนาปกครองเท่านั้น แต่หมายถึงรัฐที่ใช้ศรัทธาหลอมรวมคน อันทำให้คนปราศจากการตั้งคำถาม การวิพากษ์และสงสัยต่อการทำงานของรัฐ รูปแบบเช่นนี้จะเชื่อมโยงกับ concept ของ Michel Foucault ที่เรียกว่าการปกครองชีวญาณ

“การปกครองชีวญาณคือการทำให้คนกระทำไปในทางใดทางหนึ่งหรือคิดไปในทางใดทางหนึ่งโดยอัตโนมัติโดยรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติโดยไม่รู้ว่าตัวว่าถูกชักใยทางความคิดอยู่เราจะพบปรากฏการณ์แบบนี้อยู่ในสังคมทุกๆที่ สังคมไทยก็เช่นกัน เวลาเหตุเกิดระเบิด สมมติผู้เสียชีวิตอาจจะเป็นพระสงฆ์ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลสะท้อนกลับทันทีของสังคมไทยคือฆ่ามันให้สิ้นซาก แม้กระทั่งคนที่มีการศึกษาสูงมากและประวัติ ดีเลิศ หลังเกิดเหตุระเบิดเจ็ดจุดในภาคใต้ตอนบน ปฏิกิริยาแรกของเขาก็อาจเป็นการสนับสนุนให้ใช้มาตรการแข็งกร้าวและนำผู้ก่อเหตุ ไปบั่นคอ มันเป็นอัตโนมัติ เพราะรู้สึกว่า เรากำลังถูกทำร้ายจากบางอย่าง อันนี้คือสิ่งที่รัฐประสบความสำเร็จถ้าเรามองในมุมที่ว่า รัฐประสบความสำเร็จที่จะทำให้คนตอบโต้ต่อเหตุการณ์บางอย่างโดยเขาไม่สงสัยว่าเขากำลังทำในสิ่งที่มันตั้งคำถามได้ และน่าตั้งคำถามอย่างมาก เขาคิดว่าเขากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง นี่เองคือกลไกการทำงานของความมั่นคงของรัฐในปัจจุบัน

“แน่นอนว่าถ้าเรามีสติ มีตรรกะ เราเถียงมันด้วยหลักการ อาจจะหักล้างหรือโต้เถียงได้ คือสร้างสภาวะให้เกิดการถกเถียงเพื่อในความมั่นคงรับใช้มนุษย์มากขึ้น แต่กลไกหนึ่งที่สอดแทรกอยู่ในชีวญาณและทำงานได้ดีเสมอคือจุดตั้งต้นที่มนุษย์สร้างรัฐขึ้นมาตามทฤษฎี คือความหวาดกลัว สังเกตหรือไม่ เวลาสังคมไหนเกิดความหวาดกลัวไม่รู้ว่ากลัวอะไร เกิดความไม่แน่นอนว่าจะกลายเป็นเหยื่อของเหตุรุนแรงเมื่อไหร่ ในสภาวะสังคมแบบนั้นซึ่งหากดำเนินไปสักระยะเวลาหนึ่ง คำตอบมักจะโยนไปที่การให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับอะไรบางอย่าง ในกรณีสังคมไทยก็คือการฝากความหวังไว้ให้รัฐที่มีความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้นกว่าปกติ นอกเหนือจากรัฐ นั่นคือสิ่งที่เกิดในสภาวะสังคมที่เกิดความหวาดกลัว ไม่แน่นอนกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นแถมยังไม่รู้ด้วยว่าอดีตที่มามันเกิดอะไรจริงๆบ้าง”

“นี่คือกลไกที่ในสภาวะของความหวาดกลัวเอื้อไม่ใช่แค่ความมั่นคงของรัฐ แต่เอื้อให้รัฐเป็นคนที่สามารถผูกขาดการนิยามว่าอะไรบ้างคือความมั่นคง เพราะรัฐเล่นกับเหตุผลของมนุษย์ได้อย่างง่ายดายเลย ในสภาวะที่คนตกเป็นเหยื่อของความหวาดกลัว อยู่ภายใต้ระบอบของความกลัวอย่างสิ้นเชิง ในมุมมองของ Giorgio Agamben นักปรัชญาท่านหนึ่ง บอกว่า ในบรรยากาศแบบนี้ มันเอื้ออำนวยต่อสภาวะที่เรียกว่า“สภาวะข้อยกเว้น” ยกเว้นจากอะไร ยกเว้นจากการจำกัดอำนาจรัฐ ความกลัวทำให้คนจำนวนมากสนับสนุนให้รัฐทั้งในการนิยามรูปแบบของภัย ทั้งในการใช้อำนาจจัดการกับภัยโดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักนิติรัฐ แต่ถูกกฏหมายใช้อำนาจจัดการกับภัยคุกคามที่รัฐกำหนดขึ้นด้วยทรัพยากรเท่าไหร่ก็ได้ที่มี และสามารถกระทำการในทางลับ เช่น ด้านงานการข่าว หรือ การรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคล ได้มากขึ้น มันหล่อหลอมให้คนเชื่อไปในทางของรัฐและรัฐจัดการได้อย่างเด็ดขาด”

“พูดโดยต่อยอดจาก Giorgio Agamben นี่คือตัวอย่างของการ “Legalizing Lawlessness” สภาวะแบบนี้ ทำให้เรื่องที่ปกติไม่ถูกกฎหมายกลายเป็นถูกกฎหมายขึ้นมาในวงเล็บว่าถูกกฎหมายแต่ไม่ถูกหลักนิติรัฐ และคนก็ยอมรับให้เป็นเช่นนั้น น่าสนใจตรงนี้ สามารถขยายความอีกว่าสภาวะข้อยกเว้นมันมี 2 แบบ คือจริงกับลวง ในสังคมประมาณ 20-30 ปี ในช่วงสงครามเย็น สภาวะข้อยกเว้นตรงนี้อาจจะเป็นสภาวะลวงที่ถูกปั้นแต่งขึ้นมา เพื่อเป็นข้ออ้างเพื่อมารองรับรูปแบบของการนิยามของความมั่นคง แล้วไปจัดการกับฝ่ายตรงข้ามอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในยุคสมัยศตวรรษที่ 21 เราพบว่าวิกฤติที่มันเป็นสภาวะฉุกเฉินสภาวะวิกฤตแห่งชาติมันเกิดขึ้นจริงในหลายๆเหตุการณ์ด้วยการเช็คข้อมูลข่าวสารต่างๆที่เข้าถึงปัจเจกมากขึ้น สามารถตรวจสอบได้มากขึ้น แต่วิกฤตการณ์ที่เกิดจริงเหล่านี้ มักจะถูกขยายความต่อยอดปั้นแต่งเรื่องเพิ่มเติมใส่ไข่เข้าไป เพื่อให้ขนาดของความวิกฤตมันใหญ่เกินกว่าที่มันเป็นจริงและเอื้อให้รัฐสามารถใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จมากขึ้น”

“ฉะนั้นในประเด็นแรกจะโยนคำถาม ชวนถกแล้วกันว่าภายใต้ Concept ข้างต้น ฝ่ายความมั่นคงคิดถึงความมั่นคงในแบบใด นี่คือโจทย์แรกที่จะช่วยเติมต่อภาพวาด และทำไมถึงคิดแบบนั้น ทำไมถึงคิดแบบนี้ ความมั่นคงของรัฐกับความมั่นคงของมนุษย์ สองอย่างนี้ไปด้วยกันได้หรือไม่” อาจารย์อาทิตย์ฝากประเด็นทิ้งท้ายก่อนจะถึงตอนที่สอง