วิเคราะห์ทิศทางการเมืองไทย โดย ใบตองแห้ง : อธึกกิต แสวงสุข

 

ทางปาตานีฟอรั่ม ได้เชิญคอลัมนิสต์ นามว่า “ใบตองแห้ง” มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกับนักกิจกรรมทางสังคมในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ สำหรับการมาครั้งนี้เป็นการเปิดพรมแดนให้มีการรู้จักและพูดคุย เพื่อให้เห็นโอกาสทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยไทยที่ช่วยให้เห็นการต่อสู้แบบสันติวิธีและแนวโน้มการเมืองไทยในอนาคต สำหรับวันที่ 20 มิถุนายน 2559 เป็นวันแรกของชีวิตที่ใบตองแห้ง ได้เดินทางมาสามจังหวัดชายแดนใต้ ณ ปัตตานี นับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับบทสนทนาต่อไปและการแลกเปลี่ยนของผู้เข้าร่วมฟังวันนั้น 

ภาพรวมการเมืองไทยในปัจจุบัน

การณ์ในภาพรวมการเมืองไทยปัจจุบัน ขออธิบายตามแนวคิดของ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในประชาไท เรื่อง เราจะไปทางไหน #6 Deep State ปะทะ Deep Society สู้อย่างไรในศึกยาว

http://prachatai.com/journal/2016/05/65935

อาจารย์เกษียรพูดชัดเจน  การต่อสู้กันครั้งนี้ต้องใช้เวลายาวนานมากและต้องยาวแน่ เพราะ “แนวโน้มหลักไม่เปลี่ยน ตั้งแต่ 2549 ถึงปัจจุบัน เป็นความพยายามที่จะหาทางออกจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้าพูดด้วยภาษาของ คปค.สมัยนั้นคือ ทำระบอบประชาธิปไตยให้เหมาะสมสำหรับสถาบันกษัตริย์ อันนี้เป็นโจทย์ที่อธิบายให้ตัวเขาเอง แล้วก็อยากดัดแปลงประชาธิปไตยให้เหมาะกับการคงอยู่ของสิ่งสำคัญในบ้านเมืองทั้งหลาย”

อีกตอนที่ อาจารย์เกษียรพูดคือการเมืองในปัจจุบันเป็น “การเมืองที่ไม่มีอำนาจนำ (hegemony) ไม่มีพลังทางการเมืองที่จะชักจูงใจคนส่วนใหญ่ของประเทศได้โดยที่ไม่ต้องบังคับให้ยอมรับ พอขาดพร่องอันนี้ไปก็วิ่งหาการทดแทน เพราะไม่ไว้วางใจว่าเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งจะยอมรับระเบียบการเมืองเดิมที่เป็นอยู่ได้ แต่ก่อนนี้ยังมีอำนาจนำที่กล่อมเกลา ที่ชักจูง ที่เชื่อมโยงเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งให้ยอมรับระเบียบอำนาจบางอย่างได้ ในภาวะที่อำนาจนำเสื่อมถอยก็มองหากติกาใหม่ขึ้นมา ทางออกก็คือสร้างระเบียบที่เป็นประชาธิปไตยน้อยลง”

อาจารย์เกษียรอธิบาย โครงสร้างอำนาจของสังคมไทยว่า ลักษณะเด่นสำคัญ 2 อย่างคือ เรามีรัฐที่รวมศูนย์สูงแต่ด้อยเอกภาพ และเรามีชนชั้นนำหลายกลุ่ม นี่คือแก่นแท้ของระเบียบการเมือง

คือชนชั้นนำมีเยอะมาก  ระบบอำนาจเป็นอำนาจที่รวมศูนย์จากบนลงล่าง แต่อำนาจข้างบนแตกเป็นเสี่ยง ไม่เป็นเอกภาพ  ไม่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้ต้องพึ่งพาอำนาจนำ อาจารย์เกษียรชี้ให้เห็นด้วยว่า อีลิทหรือชนชั้นนำ ไม่ได้มีแค่ผู้กุมอำนาจรัฐ แต่มีหลายกลุ่ม กลุ่มคุมสื่อ กลุ่มคุมธุรกิจ กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัย กลุ่มข้าราชการ เทคโนแครต สังคมไทยมีอีลีทเต็มไปหมด พอกพูนเพิ่มขึ้นตามบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป

เมื่อเราอยู่ในภาวะการเมืองที่ไม่มีอำนาจนำ ก็จึงมี คสช.ซึ่งมาจากการยึดอำนาจ คือไม่สามารถที่อยู่แบบเดิมได้แล้ว จึงต้องใช้อำนาจเผด็จการเต็มที่เพื่อคุมสังคมไม่ให้แตก คุมโครงสร้างดั้งเดิม คุมผลประโยชน์ของชนชั้นนำทั้งหลาย แต่ชนชั้นนำเองก็ไม่ลงรอยกัน มีปัญหาขัดแย้งกันตลอด ไม่สามารถที่จะหาเอกภาพได้ จึงต้องใช้อำนาจทหารเป็นอำนาจสูงสุด เราอยู่กันมาแบบนี้เรื่อยมาจน  2 ปี โดยที่ไม่สามารถนำไปสู่ระเบียบอำนาจใหม่

อาจารย์เกษียรชี้ว่าภาวะขณะนี้คือไม่สามารถไปสู่ระเบียบอำนาจใหม่ ไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ตาม อย่างเช่นร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกฉบับบวรศักดิ์ พยายามออกแบบให้ศาลมีอำนาจ  ให้คนชั้นกลางระดับบนมีอำนาจ และพยายามพ่วงเอ็นจีโอ เข้าไปด้วย พยายามที่จะให้มีสภาพลเมืองอะไรต่างๆ มีโครงสร้างเอ็นจีโอพยายามจะไปอยู่ข้างใน มีปราชญ์ชาวบ้านเป็นสมาชิกวุฒิสภา แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดเพราะฝ่ายทหารรู้สึกไม่ไว้วางใจ สุดท้ายก็คว่ำ

รัฐธรรมนูญฉบับมีชัยก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ฝากอำนาจไว้กับตุลาการ องค์กรอิสระ ทหารก็รู้สึกอึดอัด มีคำถามว่าทหารอยู่ตรงไหน หรือทหารถือปืนอยู่เฉยๆ ไม่ได้มีบทบาทส่วนแบ่งอะไร จนนำไปสู่ข้อเสนอ 5 ข้อของ คสช. สุดท้ายก็นำไปสู่การออกคำถามพ่วง ซึ่งมีเงื่อนไขที่ต้องผ่านทั้งสองอย่าง อย่างที่หนึ่งคือ ตัวรัฐธรรมนูญต้องผ่าน สอง คำถามพ่วงเติมให้สมบูรณ์คือ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้ และจะคุมอำนาจได้ต่อไป  ถามว่าโครงสร้างนี้สามารถควบคุมสังคมได้หรือไม่ ตอบว่าควบคุมไม่ได้ เพราะนี่เป็นการต่อสู้กันระหว่างรัฐพันลึกกับสังคมพันลึก อย่างที่อาจารย์เกษียรได้พูดไว้  

อีกมุมมองหนึ่งที่เสริมกันคือแนวคิดของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ว่าเราเข้าสู่ยุคการเมืองมวลชน ซึ่งไม่ว่าอำนาจส่วนบนจะออกแบบอย่างไร ก็ไม่สามารถควบคุมได้ ถ้าไม่มีมาตรา 44 รัฐบาลก็อยู่ลำบาก  ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ คนนอก สว.เลือกนายกฯ โลกปัจจุบันไม่ใช่โลกยุคพลเอกเปรม เพราะฉะนั้นจะไม่สามารถควบคุม นปช.ได้ ไม่สามารถควบคุม กปปส.ได้  ไม่มีทางคุมใครได้เลย ฉะนั้นถ้าคนไม่พอใจ มันจะออกมาในรูปแบบที่วุ่นวายมาก  ก็ยังสงสัยอยู่ว่า ต่อให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ คสช.จะเดินหน้าอย่างไร จะลงไปสู่ระบบแบบนั้นจริงๆ ไหม เพราะถ้าลงไปสู่ระบบนั้นก็อาจจะอยู่ลำบาก

แต่ในขั้นต้น คสช.ก็ต้องการให้รัฐธรรมนูญผ่าน เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญผ่าน มาตรา 44 ในบทเฉพาะกาล จะได้รับการรับรองและจะมีความชอบธรรม จากนั้นก็ค่อยว่ากันไป แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป แล้วค่อยมาดูกันว่าจะทำอะไรได้อีก จะตัดสินใจอย่างไร ค่อยดูกันอีกที แต่ก็เอารัฐธรรมนูญนี้มาตั้งเป็นตุ๊กตา เพราะ คสช.เองก็ได้รับความกดดันทั้งในประเทศและนอกประเทศที่ต้องการให้เข้าสู่การเลือกตั้ง  ถ้า คสช.ไม่ชูเรื่องการเลือกตั้งก็ไม่สามารถที่จะอยู่ยาวไปเรื่อยๆ ได้

เรื่องประชามติ ต้องดูการรณรงค์ในช่วงโค้งท้าย ๆ ว่าเป็นได้หรือเปล่าที่ประชาชนจะไม่รับ  เพราะตอนนั้นก้ำกึ่ง มีข่าวว่าหน่วยงานความมั่นคงประเมินไว้ 50/50 เคยถามพรรคเพื่อไทย ก็ประเมินใกล้เคียงกัน แต่ปัญหาของพรรคเพื่อไทยคือ อดีต ส.ส.ปลายแถวตกงานมานาน จึงรู้สึกอยากให้ประชามติผ่านเพื่อที่จะได้เลือกตั้ง แถมเรื่องอะไรที่จะไปต่อต้าน ในเมื่อต่อต้านก็จะเป็นเป้าเป็นปฏิปักษ์กับทหารสุ่มเสี่ยงเปล่าๆ ฉะนั้นอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็มีความรู้สึกแบบนี้อยู่ และประชาชนก็ถูกชักนำให้เข้าใจผิดว่า รับไปก่อนเถอะจะได้เลือกตั้งเร็ว ๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทย 17 คนออกมาแสดงจุดยืนและท่าทีที่ชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเด็ดขาด เป็นการแสดงท่าทีเพื่อให้ประชาชนเคลียร์ เพื่อ ให้มวลชนไม่รับ

ในภาพรวมขอย้อนมาที่คำพูดของ อ.เกษียรที่กล่าวถึงบทความของ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร เรื่อง “รัฐพันลึก” ซึ่งแปลจากบทความชื่อ Thailand’s Deep State, Royal Power and Constitutional Court (1997-2015) ของ เออเจนี เมริโอ  ที่ลงในมติชน

บทความนี้เปรียบเทียบกับตุรกีกับไทย ว่าความเป็นรัฐพันลึกนั้นคือพวกที่ไม่เอาประชาธิปไตย เป็นอนุรักษ์นิยมอยู่แล้วซึ่งอยู่ในโครงข่ายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตุลาการ หรืออื่นๆ  โครงสร้างเหล่านี้อยู่ในระบบราชการ ที่ฝังลึก พันลึกอยู่ มันออกมาพร้อมกัน มันจะผนึกกันเหมือนซีไอเอในอดีต มีความเป็นอนุรักษ์นิยม มีความเห็นที่คล้ายๆกัน เช่น ไม่เอาประชาธิปไตย ไม่เอาสิทธิมนุษยชน ไม่เอาอะไรต่างๆ ฉะนั้นรัฐพันลึกนี้ได้ผนึกเข้าหากันเมื่อตอนที่พวกเขารู้สึกว่ามีปัญหาและปัญหาต่างๆเหล่านั้นเกิดขึ้นในประชาธิปไตย มันรวมตัวเข้าหากันโดยอัตโนมัติ และนำไปสู่การต่อสู้กับประชาธิปไตย

ขณะที่เกษียรก็บอกว่า ประชาธิปไตยก็เป็นสังคมพันลึก คือเป็นความตื่นตัวเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย เรื่องการต่อสู้ของประชาชนซึ่งก่อตัวขึ้นโดยกลุ่มประชาชนเครือข่ายต่างๆ ที่ต่อสู้กันมานาน ตกทอดกันมาจนเป็นสังคมพันลึก ตกทอดมาตั้งแต่หลัง 2475 การต่อสู้กันระหว่างรัฐพันลึกกับสังคมพันลึกจึงมีมานานมาก

แต่ถ้าพูดแบบรูปธรรม ถามว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะนำไปสู่เหตุการณ์แบบ 14 ตุลา 16 ไหม ตอบตรงๆ ว่าไม่มีทางเกิดขึ้น  เป็นไปได้ยาก  เพราะการออกมาลุกฮือโค่นล้มอำนาจทหาร ต้องเป็นฉันทามติของสังคม รวมทั้งมีเงื่อนไขหลายอย่างในยุคนั้น  ปัจจุบันต้องอาศัยการต่อสู้ทางความคิดกันอีกช่วงหนึ่ง กว่าที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่สามารถตกผลึกซึ่งกันและกันได้ เพราะการต่อสู้กับรัฐพันลึกค่อนข้างลำบาก ผมยังคิดกันว่าจะสู้กันไปแบบนวดกันไปแบบนี้ จะเปลี่ยนกันไปทีละอย่าง โดยมีเงื่อนไขเกี่ยวข้องด้วยหลายปัจจัย


ช่วงถาม-ตอบ 

ผู้เข้าร่วม:  ตัวแปรในการกำหนดทิศทาง หรือการเปลี่ยนผ่านการการเมืองไทย ขึ้นอยู่กับสองตัวแปรคู่ขัดแย้งหลัก  คือระหว่างอำมาตย์กับทหารใช่ไหม สถานะปัจจุบันของสองตัวแปรนี้เป็นอย่างไร และโอกาสที่สองตัวแปรนี้จะแตกหักมีมากน้อยขนาดไหน เพราะเท่าที่ดูตอนนี้ยังไม่แตกหัก

ใบตองแห้ง: ผมว่าตัวแปรหลักเป็นเรื่องประชาธิปไตยมากกว่า  ไม่ได้เป็นเรื่องระหว่างพวกเขา  เรื่องระหว่างพวกเขาเป็นแค่ตัวแปรรอง แม้เราจะเห็นการขัดกันเป็นช่วง ๆ แต่ถึงที่สุดก็ประนีประนอมกัน ประเด็นที่ว่าจะแตกหักไหม ผมว่าไม่แตกหัก แต่อาจจะมีจุดที่กระทบกระทั่งกันแรง ๆ แต่สุดท้ายก็จะหาทางประนีประนอมกันให้ลงตัว เพราะพวกเขาเป็นเครือข่ายที่ใหญ่มาก และอาจจะมีชนชั้นนำหลายฝ่าย มากกว่าสองฝ่าย ซึ่งเป็นอย่างที่เกษียรพูดไว้คือไม่เป็นเอกภาพ ไม่มีประสิทธิภาพ และยุ่งไปหมด แต่ก็ร่วมมือกันเมื่อกลัวว่าประชาธิปไตยเป็นปัญหา

ผู้เข้าร่วม: สถานการณ์การเมืองในขณะนี้ฝ่ายนักกิจกรรมเองก็มีความต้องการประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์ แต่ในขณะเดียวกันในบางครั้งมันก็มีความก้ำกึ่ง คือฝ่ายประชาธิปไตยบางกลุ่มไม่สามารถที่จะแยกจากทักษิณได้ หรือพูดง่ายๆคือ ประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์อาจไม่มีทางเป็นไปได้ เป็นได้เพียงแต่จินตนาการของหลายๆคนเท่านั้นที่พยายามต่อสู้กันมา  

ใบตองแห้ง:  เป็นปัญหาที่เราต้องหาทางออกให้ได้ว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป  และถ้ามีการเลือกตั้งขึ้นเร็วๆ นี้ทักษิณก็ยังมีอำนาจสูงอยู่ เพียงแต่อาจจะไม่เหมือนเดิม เพราะทักษิณทำให้เกิดนิรโทษสุดซอยจนพัง แล้วเครดิตของนักต่อสู้ฝั่งประชาธิปไตย อย่างเช่น สองปีที่ผ่านมา การต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ของกลุ่มนักกิจกรรมอย่างพลเมืองโต้กลับ เริ่มมีเครดิตที่สูงกว่า เพราะออกหน้าถูกจับ  พรรคเพื่อไทยมีบทบาทไม่กี่คนเช่น วัฒนา เมืองสุข ในแง่ของความคิดทฤษฏี นักวิชาการประชาธิปไตย นิติราษฎร์ อย่างอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์  ก็มีคนรู้จักชื่นชมมาก เพราะฉะนั้นคำพูดต่างๆ มีน้ำหนัก มีเครดิตคัดง้างกันอยู่ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมีการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่ายที่กุมเสียง เพียงแต่สิ่งสำคัญคือเราจะทำยังไงที่จะให้นำไปสู่การเมืองมวลชน จากมวลชนย้อนกลับไปที่พรรค ซึ่งมวลชนที่เป็นผู้นำทางความคิดจะฟังเหตุผลของนักวิชาการ ของนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยมากกว่า

ผู้เข้าร่วมเสวนา:  ถามว่าสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันฝ่ายประชาชนจะนำไปสู่การจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้ เหมือนกับจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ เพราะที่ผ่านจังหวัดชายแดนใต้พยายามต่อสู้ทางการเมืองก็แล้วแต่รัฐไม่เห็นความต้องการและความตั้งใจ จึงใช้ความเด็ดขาดโดยการจับอาวุธดีกว่า  ฉะนั้นการเมืองกรุงเทพขณะนี้มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะจับอาวุธห้ำหั่น

ใบตองแห้ง: เป็นไปไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ฝ่ายประชาชนจะลุกขึ้นจับอาวุธ เพราะ ไม่มีเป้าหมาย และไม่มีอาวุธ ที่สำคัญในเชิงอุดมคติ ประชาธิปไตยไม่สามารถเอาชนะด้วยอาวุธ ขบวนการอันใดก็แล้วแต่ที่จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จะกลายเป็นผิดทันที เพราะมันจะไม่นำไปสู่ประชาธิปไตย

ขบวนการจับอาวุธต่อสู้ทั้งหมด จะไม่นำไปสู่ประชาธิปไตย และจะพังด้วยตัวเอง  พูดในฐานะคนที่เคยเข้าป่า เห็นอุดมการณ์สังคมนิยมล่มสลาย จริงๆแล้วในช่วง 40 ปี 6 ตุลา อยากที่จะพูดและนำมาคิดนำมาจัดเสวนาด้วยกันว่ามันเกิดอะไรขึ้นหลังสังคมนิยมล่มสลาย เพราะหลังจากอุดมคติสังคมนิยมล่มสลาย อุดมการณ์เปลี่ยนแปลงโลก อุดมคติปฏิวัติทั้งโลกมันเคว้งคว้างหมด และปัจจุบันก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน ส่วนหนึ่งก็ไปทางรัฐอิสลาม เมื่อก่อนมีการพูดว่าประชาชนเป็นใหญ่ ฟ้าสีทองผ่องอำไพ แต่ปัจจุบันไม่มี มีแต่ประชาธิปไตยที่ดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ผู้เข้าร่วม: เมื่อกี้มีการพูดถึงเรื่องความสับสนและเมื่อกี้ที่ใบตองแห้งพูดถึงเรื่องคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมรู้สึกว่าคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสับสนโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการประชาธิปไตย หนึ่งก็คือมุสลิมจะมีความเชื่อว่าอิสลามคือระบบทุกอย่างที่ดีที่สุดที่จะนำมาปกครอง  มุสลิมจะมีจินตนาการมีความยูโทเปียอยู่ในตัวมีความคิดฝันอยู่ลึกๆว่าเราจะใช้อิสลามเป็นระบอบการปกครองของโลกหรือของอะไรก็แล้วแต่ มันจะตั้งแง่ว่าระบบอื่นมันไม่ดีหมดเลย เพียงแต่ว่าพอเราดูกระบวนการอาหรับสปริงมันก็เห็นชัดว่าคนอาหรับเองเริ่มที่จะตามกระแสของประชาธิปไตยของโลก

สำหรับสามจังหวัด อย่างกรณีหลังรัฐประหารบรรดาปัญญาชนมุสลิมแม้กระทั่งคนทั่วไปหรือโต๊ะครูมุสลิมหลายคนสมัครเป็นสปช. แม้กระทั่งนักกิจกรรมมุสลิมหลายคน หรือแม้กระทั่งผู้มีอำนาจในบ้านเมืองที่เป็นมุสลิมก็เอาญาติพี่น้องหรือบรรดาภรรยาของตัวเองมาเป็นคณะทำงานสปช  ซึ่งมันก็ชัดเจนว่ามันเปลี่ยนไปอย่างเช่นที่ใบตองแห้งบอกว่าพวกที่เคยเข้าป่าก็เปลี่ยนมาสนับสนุนรัฐประหาร  ในวงการนักเขียนก็เหมือนกันน่าจะ 70 เปอร์เซ็นต์ที่สนับสนุนรัฐประหารมันตาลปัตรไปหมด

กรณีของสามจังหวัดมันเป็นสิ่งที่แปลกเหมือนกับ เรากำลังสนใจเฉพาะปัญหาของเราเอง เหมือนสิบปีที่ผ่านมาไม่เปลี่ยนจนถึงปัจจุบัน ส่วนการเมืองส่วนกลางเราก็ตามไม่ทันและไม่มีส่วนร่วม เราก็พยายามที่จะปกป้องความยุติธรรม ก็เข้าใจนะว่าเราโดนอะไรแบบไหนแต่ก็อยากจะให้ใบตองแห้งวิพากษ์เหมือนกันว่า มันจะทำยังไงให้คนสามจังหวัดมีสปิริตบางอย่าง คือถ้าเรามองไปยังอีสานแต่ก่อนเราก็จะมีความคิดที่ว่าอีสานเป็นคนโง่ใช่ไหม แต่ตอนนี้ผมก็รู้สึกว่าหลังจากที่รัฐประหารคนอีสานมีความเข้าใจและรู้สึกมีส่วนร่วม รู้สึกว่านี่คือพัฒนาการของประชาธิปไตย ที่คนรากหญ้าเริ่มที่จะรู้ว่าควรที่จะสนับสนุนใครและไม่สนับสนุนใคร

สำหรับกรณีสามจังหวัดก็มีคำหนึ่งในกลุ่มมุสลิมคือเราจะเอาประโยชน์ของอุมมะฮ์เป็นหลัก คือจะทำอะไรก็ได้ที่จะให้ได้ประโยชน์กับเรา ร่วมกับคสช.ก็ได้ถ้ามันเป็นประโยชน์กับมุสลิมแนวคิดนี้มันจะอยู่ในกลุ่มของชนชั้นสูงของมุสลิมทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด ถ้าเป็นสายจริยธรรมของโต๊ะครูก็เหมือนกับว่าอนุโลมให้เข้าร่วมกับสิ่งที่เลวร้ายเพื่อที่จะให้ประโยชน์กับมุสลิมความคิดของผมมันไม่ดีมากเลยมันเป็นค่านิยมที่ผิดมากๆ

ใบตองแห้ง: คือเรื่องแบบนี้มันสู้กันทางความคิดเยอะมาก ก็วิพากษ์กันอยู่แล้ว ผมคิดว่าจุดยืนเบื้องต้น ไม่ว่าคนภาคไหนควรจะมีจุดร่วมกันในเรื่องของประชาธิปไตยมากกว่า ความเชื่อเรื่องรัฐอิสลามผมไม่เข้าใจมากนักแต่เห็นว่ายังไงก็ต้องเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยให้สูง ยกตัวอย่างอิหร่าน ตอนที่มีการชุมนุมมีการปราบปราม ก็เป็นสิ่งสะเทือนใจซึ่งเราก็ไม่อยากเห็นอย่างนั้น ถ้าเป็นรัฐอิสลามก็คงต้องออกแบบให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สูงขึ้น มันจึงจะอยู่กันได้ เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปคนต้องการมีเสรีภาพมากขึ้น