บทบรรณาธิการ วารสารฉบับที่ 17 ตุรกีกับไทย : องศาที่แตกต่าง

 

มีงานศึกษาทางด้านการเมืองเปรียบเทียบระหว่างตุรกีและไทย ที่ชื่อ Turkey and Thailand: unlikely Twins โดย Duncan McCargo and Ayşe Zarakol เมื่อปี 2012 ในวารสารอันโด่งดัง ชื่อ Journal of Demorcracy ได้ตั้งข้อสังเกตเกียวกับปัญหาลักษณะร่วมของการเมืองตุรกีและไทย ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของการก่อร่างประเทศของสองประเทศ ที่ไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศตะวันตก และชุดอุดมการณ์สร้างชาติเพื่อจะนำประเทศไปสู่ความสมัยใหม่ (Modernization)

บทความชิ้นนี้ได้กล่าวถึงบทบาทของผู้นำทั้งสองประเทศคือประธานาธิบดีตอยยิบ แอร์โดอาน ของตุรกี และอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ว่าบริบทสังคมการเมืองของสองประเทศแตกต่างกันอย่างไร และการเผชิญกับภาวะของ “อำนาจรัฐซ้อนรัฐ” ที่มีลักษณะวัฒนธรรมการเมืองของแต่ละประเทศ

ข้อสังเกตของอาทิตย์ ทองอินทร์[1] ที่สมาทานชุดความคิดของ ดันแคน แม็คคาโกร์ เรื่อง เครือข่ายราชสำนัก ( Network Monarchy)[2] ที่อธิบายว่า การเมืองไทยปัจจุบันสามารถทำความเข้าใจได้อย่างดีด้วยมุมมองแบบ “เครือข่ายทางการเมือง” ของชนชั้นนำที่มีบทบาทอย่างสูงในช่วงระหว่างพ.ศ.2516-2544 โดยมีศูนย์กลางอยู่คำว่า “Network Monarchy”  อาทิตย์ได้กล่าวว่า การเมืองไทยขณะนี้ยังไม่สามารถเรียกว่า รัฐเร้นลึก (Deep State)[3] ที่มีนักวิชาการชื่อเออเจนี เมริโอ ที่ได้ทำการศึกษา บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในบริบทของการเปลี่ยนผ่านแหล่งอ้างอิงความชอบธรรมอันเป็นเสาหลักของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

หากทว่าตอนนี้สังคมการเมืองไทยกำลังก้าวไปสู่รัฐเร้นลึกอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งห้วงเวลานี้กำลังอยู่ในเส้นทาง หมายหมุดคงต้องรอให้ถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2560 ว่าท้ายสุดเราจะต้องอยู่ในระเบียบอำนาจรัฐแบบใด

การทำความเข้าใจบริบททางการเมืองของแต่ะสังคมย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งต่อกรอบพินิจพิเคราะห์ปัญหาและตัดสินใจเลือกชุดความคิดที่เป็นเห็นเป็นผลต่อปัญหานั้นๆ 

สำหรับวารสารฉบับนี้ เราพยายามนำเรื่องที่น่าสนในทั้งข้อมูลเบื้องต้นและบทวิเคราะห์ของผู้เขียนแต่ละคน ซึ่งแน่นอนทางเราไม่อาจจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างทั้งหมดจากงานเขียนของแต่ละคน แต่เราจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้เพดานการถกเถียงทางด้านวิชาการเพิ่มสูงขึ้น และการวิพากษ์วิจารณ์ถือว่าเป็นงานลักษณะแบบหนึ่ง

แน่นอนคุณค่าและผลึกความคิดต่างๆ ก็ย่อมนำไปสู่ปฎิบัติการสร้างความเข้าใจเท่าที่เรามีความสามารถและสรรพกำลังที่พอจะทำได้ เช่นงาน เสวนา เกาะกระแส Islamophobia โรคหวาดกลัวอิสลามในสังคมไทย เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร? ที่ทางปาตานีฟอรั่มได้ลงพื้นที่ทั้ง 5 ภูมิภาคเพื่อจะรับฟังความคิดเห็นและมานำเสนอในพื้นทีสาธารณะต่อไป เพราะเราเห็นว่าองศาที่แตกต่างและสายลมที่เปลี่ยนทิศ มิอาจจะทำให้สปิริตของการตื่นรู้ของสังคมลดลงได้ มีแต่จะทำให้ความกระหายใคร่รู้เพิ่มมากขึ้น และความรู้ที่ดีก็ย่อมต้องถูกตรวจสอบจากสังคมด้วยสติปัญญา อำนาจรัฐก็เช่นกัน ! 



[1] อาทิตย์ ทองอินทร์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้บรรยายในวันที่ 14 สิงหาคม 2559 วงเวสนาวิชาการ Think Tank Forum  หัวข้อ พลวัตรทางความคิดและการต่อสู้ของฝ่ายความมั่นคงที่มีต่อขบวนการมุสลิมในประเทศไทย ณ.จังหวัดปัตตานี จัดโดย ปาตานีฟอรั่ม

[2] Duncan McCargo. Network monarchy and legitimacy crises in Thailand.The Pacific Review. 18, 4 (December 2005): pp.499-519.

[3] “Thailand’s Deep State, Royal Power and the Constitutional Court ( 1997-2015)” ของเออเจนี เมริโอ (Eugénie Mérieau) ซึ่งวารสารฟ้าเดียวกัน  ได้คัดเลือกนำมาแปลในชื่อ “รัฐเร้นลึกในไทย พระราชอำนาจ และศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2540-2558)” ในวารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 14 ฉบับ 1 “รัฐเร้นลึก”