มุมมอง HIV กับชุมชนมุสลิม

 

ความจริงประเด็น HIV กับอิสลามนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในไทย เพียงแต่มีการพูดถึงและสื่อสารกันอย่างน้อยมาก ปัญหาการติดเชื้อ HIV ในชุมชนมุสลิมยังถูกเก็บไว้ใต้พรมและไม่มีการเอาออกมาพูดถึง เพราะหากดูสถิติการติดเชื้อ HIV ใน  3 จังหวัดชายแดนใต้แล้วนั้น เป็นตัวเลขที่ไม่ต่ำกว่า 5,400 คน โดยแบ่งเป็นปัตตานี 1,500 คน  ยะลา 1600 คน และนราธิวาส 2,300  ซึ่งแน่นอนส่วนใหญ่เป็นคนที่นับถือศาสนาอิสลามและก็ยังเชื่อว่ายังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ยังไม่กล้าที่จะไปตรวจและยังไม่ทราบสถานะผลเลือดของตัวเอง ด้วยปัจจัยอะไรก็แล้วแต่ แต่ 1 ในปัจจัยที่ทำให้คนไม่กล้าที่จะเดินเข้าไปตรวจเลือดก็คือ มุมมองความเข้าใจที่สังคมมีต่อผู้ที่ติดเชื้อ  HIV คือเป็นคนสำส่อนทางเพศ เป็นคนที่ไม่ยึดหลักการตามหลักศาสนา แต่ในขณะเดียวกันยังมีปัจจัยอื่นๆที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ HIV ขึ้น เช่น จากอุบัติเหตุการใช้เข็มฉีดยา อุบัติเหตุการให้เลือด เป็นต้น  

ผมมีโอกาสได้ไปเข้าร่วมงาน aids conference 2016  ณ.ประเทศแอฟริกาใต้  เมื่อวันที่18 – 22 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา เป็นเวทีระดับโลกที่หลายๆ ประเทศมานำเสนองานวิชาการในการทำงานประเด็น HIV พูดคุยถกเถียงเพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหา HIV  มีช่วงหนึ่งที่มีการนำเสนอได้อย่างน่าสนใจและเป็นหัวข้อที่ท้าทายมาก คือหัวข้อ “ กลุ่มประชากรเปราะบางกับการติดเชื้อ HIV ในชุมชนอิสลาม ” ซึ่งเป็นการพูดนำเสนอการทำงานประเด็น HIV  ในประเทศโลกมุสลิม ผมจึงจับประเด็นมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

ในประเทศตุรกี  ในกลุ่มชายรักชายจะติดเชื้อ HIV 59 %  กลุ่มชายรักชาย 33 % เลือกที่จะไม่มีคู่รักยืนยาวและใช้วิธีการเสพสุขทางเพศโดยการเปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อยๆ ในปี 2015 จำนวนผู้ติดเชื้อได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในตุรกีจะพบผู้ติดเชื้อมากใน 2   กลุ่มหลักๆ คือ ในกลุ่มชายรักชายและในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีการฉีด การติดเชื้อจากทั้ง 2 กลุ่มมาจากนักท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ด้วยกลุ่มชายรักชายในตุรกีนิยมที่จะมีเพศสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยว และผู้ใช้ยาก็มีพฤติกรรมการใช้เข็มร่วมกันกับนักท่องเที่ยวในสถานการณ์ที่เมื่อผู้ใช้ยาในพื้นที่ไปซื้อยาให้กับนักท่องเที่ยวจะต้องมีการใช้ยาด้วยกันเพื่อเป็นการตอบแทน การใช้เข็มร่วมกันก็เกิดขึ้นในขณะนั้น

ในประเทศซีเรียการทำงาน HIV มีการทำงานผ่านผู้นำศาสนาด้วย สังคมมุสลิมจะถูกสื่อสารในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าเรื่องประเด็นเชิงสังคมหรือศาสนาผ่านผู้นำศาสนา ซีเรียจึงทำงานโดยการนำผู้นำที่เป็นโต๊ะอิหม่ามมาอบรมความเข้าใจเรื่อง HIV จำนวน 2,000 คน เพื่อทำให้อิหม่ามสื่อสารประเด็น HIV ในชุมชนของเขาไม่ว่าจะเป็นการพูดในมุมมองสิทธิมนุษยชน การช่วยเหลือ การป้องกัน การดูแลผู้ติดเชื้อ ซึ่งการพูดดังกล่าวจะต้องไม่มีการพูดเชิงกระบวนการรังเกียจ ว่ากล่าวโทษจากการกระทำผิด และให้ผู้นำศาสนาร่วมกันส่งเสียงคัดค้านการแยกผู้ป่วย HIV ออกจากชุมชน

ในประเทศเลบานอน มีคนจากประเทศซีเรียอพยพมาเยอะมาก ในปี 2005  เลบานอนตัดสินใจจ่ายยาต้านไวรัสเชื้อ HIV ให้กับคนที่อพยพในประเทศ และในเลบานอนมีสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของพนักงานบริการทางเพศ ในกลุ่มผู้อพยพเยอะมากด้วยสาเหตุความยากจน การกดทับและความรุนแรงทางเพศ มีความเชื่อเรื่องชายเป็นใหญ่อยู่ค่อนข้างสูง จากสถิติพนักงานบริการทางเพศจำนวนไม่น้อยที่โดนข่มขืนมาก่อนแล้วตัดสินใจขายบริการ จากข้อมูลในกลุ่มพนักงานบริการทางเพศพบว่า 85 % พนักงานบริการจะขอใช้ถุงยางอนามัยกับลูกค้าและพบว่ากว่า 65 % จะถูกปฏิเสธจากลูกค้าและไม่สามารถต่อรองได้ พบว่าในกลุ่มพนักงานบริการทางเพศชายจะใช้ถุงยางอนามัยกับลูกค้า 43 %  

      ภาพจาก http://outlookaub.com/

จากสถานการณ์  HIV ในประเทศมุสลิมก็ยังชี้ให้เห็นว่าทั่วทั้งโลกแม้แต่ประเทศมุสลิมยังคงต้องเผชิญกับ HIV และเมื่อพูดถึง HIV คงต้องมองลึกลงไปในหลากหลายมิติที่เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าประเด็นเรื่องเพศ  รสนิยมทางเพศ ความยากจน การกดทับทางเพศ ความรุนแรง ศาสนา การครองชีวิตคู่  ครอบครัว ชุมชน  ล้วนเป็นตัวแปรส่งผลที่ยึดโยงสู่การติดเชื้อ HIV เพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้ติดเชื้อไม่ได้รับการรักษา ไม่กล้ามารับยา ไม่กล้ากินยาทุกวัน ในขณะที่ผู้ติดเชื้อยังคงดำรงชีวิตอยู่กับครอบครัว การแพร่เชื้อ HIV หลักๆ จะแพร่โดยการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน อิสลามได้ห้ามการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นเพศเดียวกัน ห้ามซื้อและขายบริการทางเพศ ห้ามการใช้สารเสพติด ห้ามไปมีชู้กับคนที่ไม่ใช่คู่รักตัวเอง ด้วยเหตุผลทางสังคมคือต้องการที่จะรักษาเผ่าพันธุ์และสายเลือดของมนุษย์ไว้ให้บริสุทธิ์และไร้มลทินเพื่อที่จะสืบเชื้อสายทางตระกูลได้อย่างถูกต้อง และมีผลต่อพันธุกรรมของมนุษย์อีกด้วย ในประเทศมุสลิมยังมีกลุ่มภรรยาที่ติดเชื้อจากสามี ใช่ว่าการดำเนินชีวิตตามครรลองอิสลามแล้ว จะห่างไกลจากสิ่งนี้ได้ทั้งหมด หากไม่เป็นความประมาทที่เกิดจากการสำส่อนของแต่ละบุคคล ก็เป็นบททดสอบจากพระเจ้า ทั้งนี้นักกิจกรรมทางสังคมทั่วทั้งโลกยังคงมีการรณรงค์ส่งเสริมให้คนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไปตรวจเลือดเพื่อให้รู้สถานะผลเลือดและเข้าสู่กระบวนการรักษาหากปรากฏว่าติดเชื้อ

มีการรณรงค์ในการลดการตีตราเพื่อที่จะให้เรายังคงช่วยเหลือผู้คนให้อยู่ร่วมกันได้ในชุมชนแม้กระทั่งเธอไม่ใช่เพศหลักแม้ว่าเขาจะยังใช้สารเสพติด ซื้อขายบริการทางเพศ มีการส่งเสียงให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อไม่ว่าถุงยางอนามัยหรือเข็มสะอาดเพื่อใช้ในการใช้ยาเสพติดและมีการส่งเสียงในลักษณะดังกล่าวมากกว่าการห้ามไม่ให้มีพฤตติกรรมเสี่ยง และคนทำงานได้เรียนรู้กันว่าพวกเขาไม่สามารถห้ามได้ แต่ในขณะที่เรายังห้ามกันไม่ได้ เราจะต้องช่วยกันสื่อสาร ส่งเสียง ช่วยไม่ให้เพื่อนมนุษย์ตายด้วย HIV  เสียก่อน

อาจเป็นความท้าทายใหม่ในสังคมมุสลิม เราอาจจำเป็นที่จะต้องร่วมกันส่งเสียง สื่อสารและร่วมกันช่วยเหลือผู้ติดเชื่อตามหลักมนุษยธรรมบนพื้นฐานที่ว่าพวกเขาคือคนเหมือนกันกับพวกเรา ผู้เขียนเห็นว่า ผู้ติดเชื้ออาจกระทำลงไปด้วยความผิดหรือถูกนั้นเป็นเรื่องระหว่างเขากับพระเจ้าที่ผู้กระทำเองจะต้องตอบ และพระเจ้าจะเป็นผู้ตัดสินเขาเอง ดังนั้นมุมมองประเด็น HIV ในทางสังคมนั้นคิดว่าอาจไม่สามารถไปพูดถึงการกระทำของเขาตามหลักการศาสนาได้ทั้งหมด จริงอยู่หากผู้ติดเชื้อ HIV เกิดการติดเชื่อจากการสำส่อนซึ่งโดยหลักนั้นเป็นสิ่งที่เขากระทำผิดต่อหลักการศาสนาอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เราเป็นมนุษย์ก็ต้องมีหน้าที่ในการช่วยเหลือเขาเท่านั้นโดยปราศจากการรังเกียจ ตีตรา เพราะพระเจ้ารักในกลุ่มคนที่ช่วยเหลือคนด้วยกัน จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ถึงเขาผู้นั้นจะมีการร่วมเพศกับชายด้วยกัน ใช้ยาเสพติด ขายบริการทางเพศ แต่เรามีหน้าทีของเราคือช่วยเหลือ สื่อสาร ผลักดัน ให้เขาได้รับการรักษาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในช่วงที่เขาเคยผิดพลาดพลั้งเผลอ ให้ปฏิบัติตนตามหลักคำสอนให้เป็นคนดีและมีคุณค่าต่อสังคม โดยเราไม่ไปตัดสินว่าเขาทำผิดหรือไม่

ผู้เขียนในฐานะที่เป็นผู้ทำงานดูแลผู้ติดเชื้อ HIVอาจเป็นคนที่มีอ่อนแอที่สุดตามหลักการศาสนาในเรื่องการห้ามปรามตักเตือนคนที่กระทำความผิด ซึ่งไม่สามารถไปห้ามปรามการกระทำผิดแม้แต่การห้ามปรามหรือกระทำด้วยหัวใจ ซึ่งแน่นอนผู้เขียนจะต้องตอบคำถามกับพระเจ้าด้วยตัวเอง   สาเหตุที่อ่อนแอด้วยเหตุผลที่ผู้เขียนกำลังคิดว่าสถานการณ์ ณ ปัจจุบันยังไม่สามารถพูดให้ใครเลิกพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์กับชายด้วยกันได้ในเร็ววัน ไม่สามารถห้ามให้ใครให้ซื้อขายบริการทางเพศ ยังห้ามไม่ให้ใครใช้ยาเสพติด ห้ามไม่ให้ใครนอกใจคู่รักตัวเอง และพวกเขาก็ยังมีพฤติกรรมเหล่านั้นอยู่และขณะนี้พวกเขาก็ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เราสมควรให้ทางเลือกในการป้องกันการติดเชื้อ และยังเชื่อว่าในขณะที่เขายังมีพฤติกรรมเหล่านั้นอยู่เขาไม่สมควรติดเชื้อ HIV และต้องตายด้วย HIV หากมองย้อนไปจะเห็นว่ามีการสื่อสารถึงวิธีการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ไปยังสังคมเห็นจะมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ “ ใช้ถุงยางเถอะ !!  เปลี่ยนเข็มในการฉีดเถอะ !! ”  กับการสื่อสารให้ เลิก คือ ”.. “ เลิกการมีเพศสัมพันธ์เถอะ !! เลิกใช้ยาเถอะ!! ”  เราคิดว่าการสื่อสารแบบไหนจะได้ผลเห็นผลลัพธ์มากกว่ากัน  สังคมเราส่งเสียงแบบที่ 2 มานานพอสมควร

เราได้เรียนรู้ถึงการส่งเสียงแก้ปัญหาแบบเดิมกันอย่างไรบ้าง ในขณะที่ภาพรวมตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  หรือเราต้องใช้วิธีการส่งเสียงทั้ง 2 อย่างไปพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นทางเลือกให้เขา หรือเราต้องทำงานอย่างเข้มข้นและเข้าใจปัญหาความเป็นไปของผู้คนในสังคมให้มากขึ้น และในขณะที่เขายังเลิกพฤติกรรมต่างๆ ไม่ได้  ผู้เขียนก็ยังเชื่อมั่นในฐานะที่พระเจ้าได้ส่งเขามาเป็นมนุษย์ เขายังไม่สมควรตายด้วย HIV ในขณะที่เขายังไม่สามารถเป็นคนที่ดีของพระเจ้าหรือสังคมได้  และเห็นว่าเป็นความท้าทายของสังคมมุสลิมที่จะต้องจัดการกับประเด็นเหล่านี้ให้ลงตัวบนแนวทางที่ถูกต้องตามหลักการและหลักมนุษยธรรม  

 




หมายเหตุ : ภาพประกอบภาพแรกจาก https://aids2016.smugmug.com